24 ก.ค. 2021 เวลา 00:00 • สัตว์เลี้ยง
การทำหมันในสุนัขและแมว
มีความเชื่อคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำหมันที่เจ้าของมักมาสอบถามหมอบ่อย ๆ เช่น หลายคนเชื่อว่าควรปล่อยให้สุนัขหรือเเมวเพศเมียมีลูกไปก่อนซักคอก จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนขึ้น และลดการเป็นมะเร็งเต้านม หรือ บางคนมีความเชื่อว่าการทำหมันตัวผู้ตั้งแต่อายุยังน้อย จะทำให้ขนาดของอวัยวะเพศเล็กลงไป และส่งผลต่อการขับถ่ายปัสสาวะได้ เจ้าของจึงมักรอให้สัตว์ถึงวัยเจริญพันธ์ุ หรือบางคนรอให้สัตว์เลี้ยงมีลูกผ่านไปอย่างน้อย 1 คอกก่อน จึงนำมาทำหมันกับสัตว์แพทย์
==========
บทความสรุปข้อซักถามเกี่ยวกับการทำหมัน
1. การทำหมันสัตว์คืออะไร
การหยุดวงจรการสืบพันธุ์ของสัตว์ โดยสัตว์เพศเมียจะใช้วิธีการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกไป ทำให้ไม่พบลักษณะการเป็นสัดและไม่สามารถตั้งท้องได้อีก ส่วนการทำหมันในสัตว์เพศผู้ คือการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออกไป ทำให้ตัวผู้ไม่มีอสุจิในการสืบพันธุ์ต่อได้อีก
2. ทำไมเราจึงควรพิจารณาทำหมันในสัตว์เลี้ยง
เพราะการทำหมันจะช่วยลดโอกาสในการเกิดเนื้องอกหรือมะเร็งเต้านมของตัวเมีย รวมถึงลดโอกาสของการเกิดมดลูกอักเสบด้วย ข้อดีอีกอย่างของการทำหมันตัวเมียคือ เราสามารถควบคุมจำนวนประชากรสัตว์ได้ เพราะในแต่ละครั้งของตั้งท้อง สัตว์เลี้ยงมีโอกาสให้ลูกต่อคอกได้ 1-3 ตัวขึ้นไป
ส่วนการทำหมันในตัวผู้ นอกจากจะช่วยลดโอกาสของการเกิดเนื้องอก-มะเร็งที่ลูกอัณฑะรวมถึงปัญหาต่อมลูกหมากโตแล้ว ยังช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวในตัวผู้ได้อีกด้วย ซึ่งเจ้าของจะเห็นว่าภายหลังการทำหมัน สุนัขตัวผู้จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น อยู่ติดบ้านมากขึ้น ลดการทะเลาะกันในหมู่สุนัขตัวผู้ รวมถึงลดพฤติกรรมการปัสสาวะเพื่อแสดงอาณาเขตในบริเวณที่อยู่อาศัยด้วย
ในสุนัขเพศผู้บางตัวยังพบอีกว่า พฤติกรรมที่เคยแสดงในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เช่น ส่งเสียงเห่าโวยวายและไม่กินอาหาร เมื่อทำหมันแล้วพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะหายไปเช่นกัน
3. เมื่อไหร่ควรพาสัตว์เลี้ยงไปทำหมัน
หากเจ้าของต้องการทำหมันให้กับสัตว์เลี้ยง อายุที่หมอแนะนำให้เริ่มต้นพิจารณาคือ ประมาณ 5-6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่สัตว์มีกระบวนการโตเต็มวัยสมบูรณ์แล้ว (sexual maturity)
สำหรับสัตว์เลี้ยงที่อายุมาก (8-10 ปี) หากต้องการทำหมันก็ยังสามารถทำได้ โดยให้ปรึกษากับสัตวแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพสัตว์ในเบื้องต้น เช่น ตรวจเลือดเพื่อดูความพร้อมในการวางยาสลบ ซึ่งในปัจจุบันนี้แนวทางการผ่าตัดนิยมใช้การดมยาสลบ ซึ่งเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง
4. ข้อควรระวังที่ต้องรู้ภายหลังสัตว์เลี้ยงทำหมัน
4.1 หลังจากการผ่าตัด เมื่อเจ้าของนำสัตว์เลี้ยงกลับมาดูแล ให้พาสัตว์เลี้ยงไปนอนพักในห้องที่มิดชิด ไม่มีสัตว์อื่นเข้ามารบกวน และในช่วงแรกของการพักฟื้น สัตว์เลี้ยงมักมีภาวะที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เนื่องจากฤทธิ์ของยาสลบ ให้ระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการตะกุยไปมาของสัตว์
4.2 ฤทธิ์ของยาสลบมักอยู่ประมาณ 24 ชม. ดังนั้นให้เจ้าของวางน้ำไว้ใกล้ ๆ บริเวณสัตว์เลี้ยงนอน เพื่อให้สัตว์สามารถลุกขึ้นมาเลียน้ำกินเองได้เมื่อยาสลบหมดฤทธิ์ลงไปแล้ว โดยให้ควบคุมปริมาณน้ำที่กิน อย่าให้มากจนเกินไป แต่ให้ในปริมาณน้อย ๆ และบ่อยครั้ง
4.3 การให้อาหารมื้อแรกหลังผ่าตัด แนะนำให้ปริมาณเพียงครึ่งนึงของปริมาณปกติที่สัตว์เลี้ยงเคยได้รับ จากนั้นสามารถปรับปริมาณน้ำและอาหารมาเป็นปกติในวันรุ่งขึ้น
4.4 สำหรับแผลผ่าตัดให้หมั่นดูแลทำความสะอาด อย่าให้แผลเปียกน้ำและสกปรก ในแมวให้ขยันเปลี่ยนทำความสะอาดกระบะทรายซึ่งเป็นที่ขับถ่ายประจำของแมว
4.5 การปัสสาวะหลังผ่าตัดพบว่าวันแรกอาจมีเลือดปนได้ แต่หลังจากนั้นสัตว์เลี้ยงจะเริ่มกลับมาปัสสาวะเป็นสีปกติ ส่วนการถ่ายอุจจาระก็เช่นกันอาจพบปัญหาท้องผูกในวันแรก ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะกลับมาเป็นปกติใน 24 ชม. แต่หากพบว่ามีการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีอุจจาระเหลว หรือ ท้องผูกต่อเนื่องเกิน 24 ชม. ควรรีบทำการปรึกษาสัตวแพทย์ที่ทำการผ่าตัดโดยด่วน
4.6 หลังจากทำหมันประมาณ 7-10 วัน สัตวแพทย์จะทำการตัดไหมที่เย็บไว้ที่แผลผ่าตัด และตรวจดูสภาพแผลอีกครั้ง
เจ้าของที่พาสัตว์เลี้ยงไปทำหมันจะสังเกตได้ว่า “หลังทำหมันไปซักระยะ สัตว์เลี้ยงจะอ้วนได้ง่ายขึ้น” นั่นเป็นเพราะว่าขบวนการเผาผลาญอาหารในสัตว์จะเริ่มลดลงภายหลังการทำหมัน ดังนั้นสิ่งที่เจ้าของสัตว์ควรระมัดระวัง คือ ปริมาณอาหารที่ให้กินในแต่ละมื้อ จำเป็นต้องมีการควบคุมให้มากขึ้น หรือ ปรับสูตรของอาหารมาเป็นสูตรสำหรับสัตว์ที่ทำหมันแล้ว เช่น การปรับไปใช้อาหารสูตร Satiety Weight Management ของ Royal Canin ที่มีโปรแกรมการคำนวณปริมาณอาหารต่อวันตามน้ำหนักและหุ่น (Body Condition Score) ของสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะทำให้การควบคุมอาหารเป็นไปตามที่เจ้าของต้องการ และสัตว์เลี้ยงยังได้รับโภชนาการที่ดีและเหมาะสมอีกด้วย
สำหรับสูตรอาหารสามารถเข้าไปดูที่นี่
สนใจการคำนวณสูตรเพื่อลดน้ำหนักสัตว์เลี้ยง สามารถติดต่อ
หมอหวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านนะคะ
สพ.ญ. กรกช ศิริวิบูลย์ไชยกุล
============
👉 Deemmi
ที่ปรึกษาออนไลน์เพื่อคนเลี้ยงสัตว์ (Televetmed)
ให้คำแนะนำโดยคุณหมอจากโรงพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศ
👉 พบกับเราเร็ว ๆ นี้ผ่านช่องทาง
Website: www.deemmi.com (เร็ว ๆนี้)
Line: @deemmi
FB: Deemmi
โฆษณา