25 ก.ค. 2021 เวลา 00:18 • การเมือง
จับสัญญาณ “บิ๊กตู่” หวังยึด “สมรภูมิการเมือง” กลับคืน !?
“ ผมไม่คิดว่าเป็นเวลาของการเล่นการเมืองนะ ถ้าท่านจะออกจากผมก็แล้วแต่ ผมก็จะทำงานของผมต่อไป ผมไม่ทิ้งคุณ พวกคุณจะทิ้งผมก็ตามใจ”
“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมครม. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ค.64 ที่ผ่านมา จนทำให้กลายเป็นประเด็นร้อน เกิดคำถามตามมาว่า บิ๊กตู่ ต้องการ “ส่งสาร” ไปถึงใคร และจุดประสงค์ที่อยู่ในสารนั้น ต้องการสื่อถึงอะไร ?
การรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เมื่อเกิดการระบาดเป็นระลอกที่สาม ตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.จนถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่าความรุนแรงของปัญหาไม่มีแผ่วลง มิหนำซ้ำยังดูเหมือนว่า ท่ามกลางการรบในสงครามอันยืดเยื้อเช่นนี้ ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของรัฐบาลลดลงไปอย่างต่อเนื่อง
เมื่อทั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ถูกถล่มไม่เว้นแต่ละวัน ดังนั้นคงไม่ต้องถามว่า สภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. และ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะอ่วมอรทัยกันแค่ไหน !?
แต่ถึงกระนั้น การรับมือกับศึกโควิด ยังไม่ทันคลี่คลาย ก็กลายเป็นว่า “ฝ่ายค้าน” มองเห็นโอกาสทองที่จะ “คว่ำรัฐบาล” ลงได้ ด้วยข้อหาความผิดพลาด ล้มเหลวของรัฐบาล ในการแก้ปัญหาสำคัญระดับชาติ แล้วยังเผยให้เห็นถึง “จุดอ่อน” อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลไก การทำงานภายใต้การกำกับดูแลของพล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น กทม. , กระทรวงสาธารณสุขและศบค. ด้วยกันเอง
เท่ากับว่า แม่ทัพใหญ่ อย่างพล.อ.ประยุทธ์ ต้องรับทั้ง “ศึกนอก -ศึกใน” จังหวะเดียวกัน เมื่อคนของพรรคพลังประชารัฐ เปิดวิวาทะรายวันกับ คนของพรรคภูมิใจไทย ไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และจี้ให้รัฐบาล “ขยับ” เร่งหา “วัคซีนคุณภาพ” เข้มข้นมากเท่าใด ยิ่งกลายเป็นปัจจัย ที่กดดัน กระทบกันถ้วนหน้า
แม้ในพรรคร่วมรัฐบาลจะ “ปีนเกลียว” กันลึก ๆ แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่ใช่ เรื่องเล็ก เพราะอย่าลืมว่า นอกเหนือไปจากการอยู่ร่วมกันเป็นรัฐบาลแล้ว ทั้งพลังประชารัฐ ทั้ง ภูมิใจไทย หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ต่างจำเป็นต้อง “รักษาที่ยืน” ให้กับตัวเอง เพราะอย่างน้อยที่สุด นี่คือ “ผลงาน” ที่จะทำให้พรรครัฐบาลสามารถนำไปใช้ “หาเสียง” เมื่อการเลือกตั้งครั้งหน้ามาถึง
แต่การอยู่ร่วมกันบนเรือเหล็ก ที่เคยเชื่อมั่นว่าแข็งแกร่ง เพราะมี “กองทัพ” เป็นเสาค้ำยัน เพราะมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่ “ผู้จัดการรัฐบาล” ชนิดที่เรียกว่าตัวจริง เสียงจริง นั้นกำลังกลายเป็นเรือที่เจอกับ “มรสุม” หนักหนาสาหัสมากกว่า “คลื่นลมแรง” เหมือนที่เคยเกิดขึ้น หลังการยึดอำนาจใหม่ๆในปี 2557
เมื่อแกนหลักของรัฐบาล อย่างพล.อ.ประยุทธ์ ถูกโจมตีด้วย “การเมือง” จาก “ฝ่ายตรงข้าม” ผสมปนเปไปกับปัญหาที่เกิดจากการบริหารนโยบายที่ผิดพลาดจาก “สงครามโควิด” โดยเฉพาะการจัดซื้อวัคซีนเพื่อเตรียมเอาไว้ให้ประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างพอเพียง ยังห่างไกลกับเป้าหมายที่นายกฯ เคยประกาศเอาไว้ว่าจะต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนคนไทยให้ได้ 50 ล้านคน ใน 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้
เมื่อหัวขบวนถูกถล่มรายวัน ประกอบกับ “ความขัดแย้ง” ภายในพรรคร่วมรัฐบาลที่ก่อตัวขึ้นมาก่อนหน้านี้ กลับปะทุขึ้นเป็นระยะ ๆ ความผิดพลาดที่ว่าด้วยเรื่องการจัดหาวัคซีน กลายเป็นหัวข้อหลักที่ถกเถียงกันว่า “ใครผิด”
เมื่อภูมิใจไทย ออกมาโวยว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการ “รวบอำนาจ” การสั่งการเอาไว้ที่นายกฯ แต่เมื่อเกิดปัญหา กลับกลายเป็น คนชื่ออนุทิน ต้องมากลายเป็น “แพะรับบาป”
อย่างไรก็ดี หากจับสัญญาณ ที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดในที่ประชุมครม. ครั้งล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 20 ก.ค.64 นั้นดูเหมือนว่าจะ “แข็งกร้าว” ไม่สนใจว่า ใครจะอยู่ด้วย แต่ประโยคต่อมา เมื่อจบลงตรงที่ “แต่ผมไม่ทิ้งใคร จะทำงานต่อไป” จึงคล้ายกับทอดไมตรี ไม่ได้ปิดประตูตายชนิดที่เรียกว่าตัดขาดกันอย่างสิ้นเชิง
หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ใช่ว่าความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ในยามวิกฤตนั้นไม่เคยเกิดขึ้นทำให้ “คอการเมือง” ได้เคย “มีลุ้น” กันมาก่อนหน้านี้ หากแต่ที่ผ่านมา จะหนักไปที่ปัญหาทางการเมือง ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทว่าครั้งนี้มี “ชีวิตผู้คน” และ “เศรษฐกิจ” ของประเทศ เป็น “เดิมพัน”
การส่งสัญญาณ ของพล.อ.ประยุทธ์ จึงอาจมีความแตกต่าง และเป็นไปได้ว่าไม่ตัดรอน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง “ถอยร่น” กลายเป็นผู้นำรัฐบาลที่อ่อนแอ ถูกกดดันด้วยการเมืองภายในรัฐบาลด้วยกันเอง แต่อย่างใด
สถานการณ์ในห้วง 14 วันของการล็อคดาวน์ ในพื้นที่ 13 จังหวัด ที่มีระบาดของไวรัสโควิด อย่างรุนแรง จนล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ โพสต์เฟสบุคเมื่อค่ำคืนของวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมาขอให้ประชาชนอดทน สามัคคีร่วมใจกับ ยึดเอา “13 จังหวัด” ที่เปรียบเสมือน “สมรภูมิรบ” ให้กลับมาจนทำให้เราเป็นฝ่ายชนะได้สำเร็จ ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามโควิด -19 จึงไม่ใช่เพียงเพื่อพลิกสถานการณ์จากร้ายให้กลายเป็นดีเท่านั้น
หากแต่ยังจะถือเป็นห้วงเวลาอันสำคัญที่พล.อ.ประยุทธ์ จะยึดเอา “สมรภูมิการเมือง” ให้กลับมาอยู่ในมือ เพื่อลดอำนาจต่อรอง และแรงต้านไปด้วยในคราวเดียวกัน !
โฆษณา