26 ก.ค. 2021 เวลา 23:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
Axie Infinity ปรากฏการณ์ “เล่นเกมไปทำเงินไป”
1
Axie Infinity ปรากฏการณ์ “เล่นเกมไปทำเงินไป” โดย กวิน พงษ์พันธ์เดชา
ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่คนส่วนใหญ่กักตัวอยู่ที่บ้าน การใช้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง การสั่งอาหาร การเทรดคริปโทเคอร์เรนซี การฟาร์มดอกเบี้ยบนโลก DeFi การซื้อขายของออนไลน์ และอื่น ๆ อีกมากมาย หลายคนได้หันมาใช้เครื่องมือออนไลน์เหล่านี้ในการหารายได้เสริม นอกจากการเทรดคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว ยังมีแนวทางการหารายได้โดยการเล่นเกมบนบล็อกเชนอีกด้วย Axie Infinity ได้ใช้แนวคิด “play to earn” ในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่น่าสนใจจนมีผู้เล่นเข้ามาเล่นถึงวันละ 5 แสนคนและมีรายได้เกือบ 1 พันล้านบาทต่ออาทิตย์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในโลกนั้น
จึงทำให้เราได้เห็นเกมบล็อกเชนที่ประสบความสำเร็จเป็นรายแรก Axie Infinity มีผู้เล่นจากหลายที่ทั่วโลกแต่ได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาและมีการล็อกดาวน์อย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่ผู้เล่นสามารถหาเงินได้มากกว่าแรงงานขั้นต่ำมาเลี้ยงครอบครัวที่ลำบากอยู่ได้ หลายคนจึงตั้งคำถามว่าอะไรทำให้ Axie Infinity ประสบความสำเร็จขนาดนี้ และทำไมเกมนี้ถึงแตกต่างจากเกมที่ผ่าน ๆ มา
2
ในบทความนี้ผมจะอธิบายถึงกลไกทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ที่เกมนี้ใช้ในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เล่นสามารถทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อทำให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดและรายได้ที่มากพอที่จะเลี้ยงครอบครัวในยามวิกฤตนี้ได้
เกม Axie Infinity จะเริ่มต้นด้วยการซื้อสัตว์เลี้ยงที่เรียกว่า Axie สามตัวเพื่อที่จะสร้างทีม โดย Axie ทุกตัวจะเป็น Non-Fungible Tokens (NFTs) ซึ่งมีอัตลักษณ์ของตัวเอง และจะไม่มีซ้ำแบบเดิม จึงทำให้ Axie แต่ละตัวมีความหายากและเป็นที่หมายปองของผู้เล่นทั่วโลก Axie จะไม่สามารถเกิดเองได้และมีกระบวนการเพาะพันธุ์ พูดง่าย ๆ คือเอา Axie สองตัวมาผสมพันธุ์กันเพื่อที่จะออกลูก การเพาะพันธุ์ Axie จำเป็นต้องใช้ Smooth Love Potion (SLP) ซึ่งเป็นน้ำยาพิเศษที่ทำให้ Axie ตกหลุมรักกัน และแน่นอน SLP เป็นของหายากที่มีราคาสูง ผู้เล่นจำเป็นต้องร่วมกิจกรรมและชนะการต่อสู้ถึงจะได้มา จึงต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อของผู้เล่น
1
ปัจจุบัน 1 SLP มีราคาประมาณ 7 บาท และผู้เล่นสามารถต่อสู้เพื่อเก็บ SLP ได้วันละ 100 SLP หรือ 700 บาทต่อวัน อ้างอิงข้อมูลจาก Coingecko ปริมาณการซื้อขาย SLP ทั่วโลกอยู่ที่ 1,690 ล้านบาทต่อวัน จึงมีสภาพคล่องสูง ผู้เล่นที่มี SLP สามารถนำมาขายในตลาด และผู้เล่นที่อยากเพาะพันธุ์ Axie สามารถมาซื้อ SLP ได้โดยไม่ต้องไปเสียเวลาเล่น ซึ่งแน่นอนว่า Axie ที่พันธุกรรมดี น่ารักและเก่งในการต่อสู้ก็จะมีราคาแพงยิ่งขึ้นไป เพราะสามารถชนะการต่อสู้และหา SLP ให้เจ้าของได้มากขึ้น Axie บางตัวมีราคาซื้อขายกันถึงตัวละ 4 ล้านบาท และตัวที่ราคาถูกที่สุดปัจจุบันอยู่ที่ตัวละ 6 พันบาท
นอกจากการซื้อ Axie และ SLP แล้ว ยังมีอีกหนึ่งโทเคนที่มีความสำคัญในระบบนิเวศ Axie Infinity ชื่อโทเคน AXS ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่าง SLP กับ AXS คือหน้าที่ที่แตกต่างกัน SLP เป็นน้ำยาที่ใช้แล้วทิ้งในการเพาะพันธุ์ ส่วน AXS เป็นโทเคนที่จะได้รับแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นในเกม ในช่วงที่ผ่านมา มีปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทต่อเดือน รายได้ส่วนหนึ่งจะถูกเก็บไว้ใน treasury vault ของบริษัท และอีกส่วนจะกระจายไปยังผู้ถือโทเคน AXS เนื่องจากมีผู้เล่นจำนวนมากกว่า 5 แสนคนและทุกคนทำธุรกรรมจ่ายค่าธรรมเนียม จึงทำให้ Axie Infinity สามารถทำรายได้กว่า 1 พันล้านบาทในอาทิตย์ที่ผ่านมา หากเปรียบเทียบกับ Ethereum และ Uniswap แล้ว Axie Infinity ได้ขึ้นแท่นมาเป็นแอปพลิเคชันทำรายได้สูงสุดในโลกบล็อกเชนเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าราคาของเหรียญ AXS จะมีการเพิ่มขึ้นกว่า 115 เท่าในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา P/E ratio ของ AXS ณ ปัจจุบันยังอยู่ที่ 7.66 ซึ่งถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับ P/E ratio เฉลี่ยของหุ้น S&P500 ที่ 37.7 จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนหลายคนหันมาศึกษาและสนใจในอุตสาหกรรมการเล่นเกมบนบล็อกเชนมากขึ้น
2
ถึงแม้ Axie Infinity จะกลายเป็นเกมบล็อกเชนที่ร้อนแรงที่สุดแห่งปีและเป็นรายแรกที่สามารถทำให้เกมบล็อกเชนเป็นที่ติดตลาดได้ ผมเชื่อว่าจะมีเกมแบบนี้ออกมาอีกจำนวนมากในอนาคตที่ใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์สร้างแรงจูงใจในการเล่น พร้อมใช้เทคโนโลยี NFT ในการสร้างมูลค่าสินทรัพย์ใหม่ ๆ นอกจากจะกลายเป็นเกมที่สร้างรายได้เลี้ยงชีพให้กับผู้เล่นในประเทศที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว Axie Infinity ยังกลายเป็นโครงการที่มีผลตอบแทนให้กับนักลงทุนอย่างมาก การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนและ NFT จะกลายเป็นแบบอย่างให้กับเกมที่ต้องการสร้างชุมชนผู้เล่นที่แข็งแกร่งในอีกหลายปีข้างหน้า โลกของเกมออนไลน์ได้เปลี่ยนไปแล้ว และนักลงทุนควรหันมาศึกษาหาข้อมูลเพื่อที่จะไม่พลาดโอกาสที่ยังมีอยู่อีกมากมายนี้
2
บทความนี้เขียนโดย กวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO บริษัท บิทาซซ่า จำกัด บทความนี้มีไว้ให้ข้อมูลเท่านั้น เนื้อหาที่นำเสนอไม่ถือเป็นคำแนะนำด้านการลงทุน
โฆษณา