26 ก.ค. 2021 เวลา 09:33 • ไลฟ์สไตล์
รู้ทันมิจฉาชีพในญี่ปุ่น !!
พูดถึงคนไม่ดี ที่ไหน ๆ ก็มีเหมือนกัน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น 🇯🇵
วันนี้จะมานำเสนอการต้มตุ๋นของพวกมิจฉาชีพที่ญี่ปุ่น ในรูปแบบต่าง ๆ 5 ประเภท ที่ได้รับการเปิดเผยในเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น
ก่อนอื่น ขอแนะนำคำศัพท์ คำว่า 詐欺 (さぎซะหงิ) ที่แปลว่า การต้มตุ๋น ก่อนนะคะ😄
เมื่อนำคำว่า 詐欺 (さぎ ซะหงิ) นี้ไปวางไว้หลังวิธีการที่ใช้ในการหลอกลวง ก็จะแปลว่า การต้มตุ๋นโดยวิธี …. เช่น
1) オレオレ詐欺 (おれおれさぎ โอะเระ โอะเระ ซะหงิ)
โอะเระ เป็นคำเรียกแทนตัวเองของผู้ชาย (ที่ไม่ค่อยสุภาพ) มักใช้กับคนสนิทหรือคนในครอบครัว
วิธีนี้จึงหมายถึง การหลอกว่าเป็นคนในครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนต้องการเงินด่วน
วิธีการหลอกของพวกนี้คือ จะโทรไปหาคนแก่ แกล้งเรียกแทนตัวเองว่า โอะเระ โอะเระ (พูดเร็ว ๆ รีบ ๆ ประมาณว่าผมเอง ๆ )
แล้วก็หลอกว่า กำลังมีปัญหาต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้เงินด่วน
เช่น ทำงานผิดพลาด หรือขับรถชนคน พอคนแก่ได้ยิน อาจจะด้วยความไม่ได้เจอลูกหลานนาน หรืออาจจะด้วยความตกใจ ก็กลัวลูกหลานถูกจับดำเนินคดี สุดท้ายจึงหลงให้เงินคนร้ายไป
1
2) 預貯金詐欺 (よちょきんさぎ โยะโจะคิงซะหงิ)
โยะโจะคิง ก็คือเงินฝากหรือเงินออม วิธีนี้คนร้ายจะอ้างว่าเป็นพนักงานธนาคาร หรือเป็นตำรวจมาหลอกว่าบัญชีของเหยื่อกำลังถูกใช้เพื่อก่ออาชญากรรม
จะต้องเอาบัตรเอทีเอ็มไปตรวจสอบ หรือต้องบอกรหัสเพื่อตรวจสอบ ทำให้เหยื่อหลงกล เป็นต้น
3) 架空料金請求詐欺 (かくうりょうきんせいきゅうさぎ คะคูวเรียวคิงเซคิวซะหงิ)
คะคูวเรียวคิงเซคิว แปลว่า เรียกเก็บเงินที่ไม่มีอยู่จริง
วิธีนี้คนร้ายจะโทรหรือส่งข้อความไปหลอกเหยื่อว่า เหยื่อเคยเข้าไปดูเว็บไซต์ที่ต้องจ่ายเงินแล้วยังไม่ได้จ่าย หากไม่จ่าย จะฟ้องศาล ทำให้เหยื่อกลัวจึงยอมจ่ายไป เป็นต้น
4) 還付金詐欺 (かんぷきんさぎ คัมพุคิน ซะหงิ)
คัมพุคิน แปลว่า เงินที่จะได้คืน ไม่ว่าจะเป็นจากภาษี ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประกัน ฯลฯ
โดยคนร้ายจะหลอกว่าเหยื่อจะได้รับเงินคืน แต่ให้ไปทำรายการหน้าตู้เอทีเอ็มตามที่บอก พอรู้ตัวอีกทีกลายเป็นว่าเหยื่อหลงโอนเงินให้คนร้ายเสียแล้ว เป็นต้น
5) 融資保証金詐欺 (ゆうしほしょうきんさぎ ยูวชิ โฮะโชวคิง ซะหงิ)
ยูวชิ แปลว่า การปล่อยเงินกู้เพื่อการลงทุน โฮะโชวคิง แปลว่า เงินค้ำประกัน
ยูวชิโฮะโชวคิงซะหงิ ก็คือการหลอกเอาเงินค้ำประกัน โดยมาหลอกว่าจะให้กู้เงินได้ง่าย ๆ แต่ต้องจ่ายเงินค้ำประกันก่อน
พอจ่ายไปแล้วกลับไม่ได้เงินที่จะกู้นั้น (กู้ทิพย์ แทนที่จะได้เงิน กลับต้องเสียแทน) เป็นต้น
นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นค่ะ ในเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ยังมีรายละเอียดการหลอกลวงแบบอื่นๆ อีก
แต่จะว่าไป วิธีก็คล้าย ๆ กับพวกมิจฉาชีพที่ไทยนะคะ 😅
สังคมทุกวันนี้อันตรายกว่าที่เราคิด สิ่งที่เราทุกคนสามารถป้องกันไม่ให้ถูกหลอกได้ ก็คือต้องมี สติ อยู่กับตัวตลอดเวลา
ขอให้ทุกคนปลอดภัยทั้งจากคนร้าย และเชื้อโรคร้าย ๆ นะคะ
อ้างอิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น
โฆษณา