28 ก.ค. 2021 เวลา 01:30 • ไลฟ์สไตล์
เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร? ค้นพบความสุขและความหมายของชีวิตด้วยหลักการ Ikigai
1
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร?”
.
เป็นคำถามที่มักถูกถามอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่เมื่อตอนเรายังเป็นเด็ก
.
เวลาเขียนเรียงความวิชาภาษาไทยในหัวข้อนี้สมัยประถม ก็ดูไม่ใช่เรื่องยากอะไรนักกับการบรรจงเขียนเล่าเรื่องราวความฝันในอนาคตของตัวเองลงบนสมุดบันทึกส่งคุณครู ตอนนั้นเรายังสามารถจินตนาการ วาดฝันอะไรตามใจลงไปก็ได้ เพราะยังคงมองว่า การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ดูเป็นเรื่องในอนาคตที่ไกลตัว และเราในตอนนั้นยังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจความจริงของโลกใบนี้ ยังคงไม่ต้องกังวลถึงข้อจำกัดที่กีดขวางเส้นทางความฝันของตัวเอง
.
แต่นับวันเมื่อยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ การพูดถึงอนาคตข้างหน้ากลับกลายเป็นคำถามสุดหิน แม้แต่จะถามตัวเองว่า “เรามีชีวิตอยู่ทุกวันนี้เพื่ออะไร?” ยังตอบคำถามนี้กันแทบไม่ได้ เพราะในช่วงวัยที่เริ่มเห็นคนรอบข้างประสบความสำเร็จในชีวิต เติบโตในหน้าที่การงาน มีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่งงานมีครอบครัว เป็นไปตามบรรทัดฐานที่สังคมคาดหวัง พอย้อนกลับมามองตัวเราที่ยังคงเดินเคว้งคว้างอยู่ท่ามกลางความว่างเปล่า ตอบคำถามตัวเองแม้แต่ “ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่” และ “อยากจะทำอะไรต่อไป” ยังไม่ได้ด้วยซ้ำ
.
.
เห็น ‘คุณค่า’ จากการเริ่มหา ‘ความสุข’
.
นิยามความสุขของแต่ละคนแตกต่างกัน สำหรับบางคน ความสุขคือการได้เจอหน้าคนที่รัก การเล่นกับหมาที่บ้าน การได้ฟังเพลงวงดนตรีที่ชอบ หรือคือการได้กินอาหารอร่อยๆ ตบท้ายด้วยขนมหวาน สิ่งเหล่านี้ก็นับว่าเป็นความสุขของวันนั้นได้แล้ว
.
แต่แน่นอนว่าความสุขจากสิ่งเหล่านี้อาจเป็นความรู้สึกแค่ช่วงเวลาหนึ่งและไม่สามารถมีได้ในทุกวัน หากมีความสุขที่ ‘ยั่งยืน’ ได้จริงๆ คงต้องเป็นความสุขที่มาจากภายใน ‘จิตใจ’ มากกว่าสิ่งที่ยึดติดกับวัตถุภายนอก
.
.
ในญี่ปุ่น ประเทศที่ได้รับชื่อว่าประชากรมีอายุยืนที่สุดในโลก มีมุมมองการใช้ชีวิตที่ถูกปลูกฝังไปเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งเป็นวิธีการสร้างความสุขอย่างยั่งยืน จากปรัชญาการใช้ชีวิตที่เรียกว่า ‘Ikigai’
.
คำว่า Ikigai (生き甲斐) Iki หมายถึง ‘มีชีวิต’ และ Gai หมายถึง ‘คุณค่า’ รวมกันจึงหมายถึง ‘คุณค่าของการมีชีวิตอยู่’ Ikigai จึงเรียกได้ว่าเป็น ‘เหตุผลของการมีชีวิตอยู่’ หรือคือเหตุผลที่ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาในทุกเช้าของแต่ละวัน
.
.
การหา Ikigai ของตัวเอง สามารถเริ่มได้จากการตอบคำถามในวงกลม 4 วง ประกอบไปด้วย
.
วงกลมที่ 1: What you love
อะไรคือสิ่งที่คุณชอบ ‘ทำ’ มากที่สุด
.
วงกลมที่ 2: What you are good at
อะไรคือสิ่งที่คุณถนัด สามารถทำได้ดี เป็นทักษะหรือความสามารถพิเศษของตัวเอง
.
วงกลมที่ 3: What you can be paid for
อะไรคือสิ่งที่ทำแล้วจะได้รับเงินเพื่อใช้ในการเลี้ยงชีพต่อไป
.
วงกลมที่ 4: What the world needs
อะไรคือสิ่งที่โลกต้องการ สิ่งที่คุณอยากทำการเปลี่ยนแปลง เน้นสร้างประโยชน์ให้แก่คนรอบข้าง
.
เมื่อหาจุดร่วมตรงกลางที่ซ้อนทับกันของวงกลมทั้ง 4 ได้แล้ว ก็จะทำให้ได้ Ikigai ของ ‘อาชีพในสิ่งที่รัก’ ออกมา
.
จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อใครได้ไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น มักจะต้องกลับมาพร้อมความประทับใจในสินค้าและบริการที่ใส่ใจลูกค้าในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อยู่เสมอ นั่นก็เพราะวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกให้คนในประเทศตระหนักถึง Ikigai ในการทำงานของตัวเอง
.
.
ความสุขเล็กๆ น้อยๆ เกินไปกว่าเส้นขอบของวงกลม
.
การหา Ikigai ของตัวเองจากวงกลม 4 วง อาจช่วยหา ‘อาชีพ’ ที่เป็น Ikigai ของตัวเองเจอ แต่ความจริงแล้ว เราสามารถมี Ikigai ในชีวิตประจำวันของเราเองได้เลย จากการทำตามใจความหลักของ Ikigai ก็คือ ‘การปลดปล่อยตัวเอง’
.
การปลดปล่อยตัวเอง คือ การหันมาโฟกัสที่ผู้อื่นมากยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนความคิดเวลาทำอะไรก็ตาม จาก “ฉันจะได้อะไร” เป็น “ฉันจะให้อะไร” แล้วตั้งใจทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดก็พอ เช่น การทำงานเป็น Call Center ถ้าคุณคิดว่า ‘ทั้งเดือนนี้โดนลูกค้าด่ามาเป็นพันครั้ง’ คุณก็จะไม่สามารถมีความสุขหรือเห็นคุณค่าของงานที่ทำอยู่ได้ แต่ถ้าปรับความคิดมาเป็น ‘เดือนนี้ทั้งเดือนเราสามารถช่วยคนที่เดือดร้อนได้กว่าพันคน’ ก็จะทำให้คุณได้เห็นถึงคุณค่าของงานที่ทำอยู่ และมีความสุขไปกับสิ่งที่ทำต่อไป ความรู้สึกนี้เองคือ Ikigai เมื่อคุณรู้สึกถึง Ikigai ได้แล้ว ก็จะทำให้คุณรู้สึกได้ว่า ‘ชีวิตนี้มีคุณค่า’ จากความรู้สึกที่อย่างน้อยตัวเราก็สามารถเป็นประโยชน์ให้กับใครสักคนได้
.
นอกจากนี้ Ikigai คือการมีความสุขกับปัจจุบัน เมื่อคุณสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่แล้ว ก็อย่าลืมหันกลับมาให้กำลังใจ และชื่นชมตัวเอง ต่อยอดไปสู่การทำเพื่อคนอื่นต่อไป
.
การได้รับรู้ว่าตัวเองสามารถเป็นประโยชน์ให้ใครสักคน คือ ความสุขที่แท้จริงตามหลักการ Ikigai ไม่ใช่การทำอะไรไปโดยไม่นึกถึงคนอื่น เห็นแต่ประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง จนคนร่วมกันก่นด่าสาปแช่งไม่เว้นแต่ละวัน นั่นก็คงจะไม่สามารถทำให้คุณรู้สึกได้ถึงความสุขที่แท้จริงได้จริงๆ
.
.
ถึงแม้การรักตัวเองโดยคำถึงความรู้สึกตนเองก่อนจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราก็สามารถเลือกทำสิ่งที่ตัวเองสบายใจ และสร้างประโยชน์แก่คนอื่นไปพร้อมๆ กันได้ เพราะถ้าไม่มีใครนึกถึงคนรอบข้างบ้างเลย ต่างคนต่างสนใจแต่เรื่องของตัวเอง เราคงจะไม่สามารถหา ‘ความสุข’ และ ‘คุณค่า’ หรือ ‘ความหมาย’ ของการมีชีวิตอยู่ของตัวเองได้เหมือนกัน
.
.
แล้วอิคิไกของคุณล่ะ มีอะไรบ้าง?
.
.
อ้างอิง:
.
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#selfimprovement
2
โฆษณา