28 ก.ค. 2021 เวลา 01:56 • ไลฟ์สไตล์
“พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล” เปิดภารกิจ “ตำรวจไทย” รับมือ “อาชญากรรมไซเบอร์”
หมายเหตุ : “ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล” ที่ปรึกษาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สบ9) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐ” ถึงภารกิจ แนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รองรับกับโลกยุคใหม่ ควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ปราบปรามปัญหาอาชยากรรม มีสาระที่น่าสนใจดังนี้
การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนี้ไปในยุคนิวนอร์มอล จะเป็นอย่างไรบ้าง
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวไว้ว่า ตำรวจต้องทำงานเชิงรุก คำว่าทำงานเชิงรุก คืออะไร ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 จะมองเห็นได้ว่า มี ประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการว่างงาน สภาวะเศรษฐกิจถดถอย หนี้ครัวเรือนหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้น เป็นกันทั่วทั้งโลก ดังนั้นวันนี้สถานะของประชาชน ของประเทศไทยถือว่าเศรษฐกิจ ย่ำแย่ สิ่งที่จะตามมาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นห่วงนั่นคือปัญหาอาชญากรรม การลัก วิ่ง ชิงปล้นต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจโดยตรง
แต่สิ่งที่จะทำให้ประชาชนสัมผัสได้ก็คือ การทำงานเชิงรุก คือการทำงานในด้านการป้องกันปราบปราม การที่เราป้องกันไม่ให้เหตุเกิด หรือว่ามีการลัก วิ่ง ชิง ปล้น รายการป้องกันปราบปรามดียิ่งกว่าเหตุเกิดแล้ว จะมาสืบสวนจับกุม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน อย่างมากมายมหาศาล
วันนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เน้นในเรื่องของการทำงานเชิงรุก คือการป้องกัน ซึ่งจะตรงใจประชาชน ใช้งบประมาณน้อย ทำให้ผู้ต้องหาไม่ล้นคุก ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งการทำงานของตำรวจ จะต้องกลับมาในรูปแบบ ที่เรียกว่า “ตำรวจคือประชาชน และประชาชนคือตำรวจ ประชาชนทุกคนคือตำรวจ” หมายความว่า ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม และมีส่วนรับผิดชอบในชุมชนของตนเองที่อาศัยอยู่ ในชุมชน ตำบลหมู่บ้าน
เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือตำรวจจะต้องทำให้ประชาชนไว้ใจยิ่งขึ้น เมื่อความห่างระหว่างตำรวจกับประชาชนน้อยลง ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตำรวจ ก็จะมากขึ้น เพราะฉะนั้นความร่วมมือร่วมใจ ที่จะเป็นหูเป็นตา และแจ้งเบาะแส คนร้าย ที่จะนำข้อมูลข่าวสารส่งมาให้
เช่นกรณีเกิดเหตุในหมู่บ้าน วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทุกคนมีหน้าที่หมด เพราะว่าทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของพื้นที่ นอกจากที่ทำการของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบในหมู่บ้าน แล้ว วินมอเตอร์ไซค์ ก็มีหน้าที่ช่วยกันดูแลประชาชนในซอยท้องถิ่น นอกเหนือจากตำรวจ ด้วยเหตุนี้เอง
ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ริเริ่มโครงการ Smart Safety Zone 4.0 เพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปตามความต้องการของประชาชน โดยก่อนเริ่มได้มีการตรวจสอบ โดยใช้แบบ สอบถาม people poll เป็นการวัดผลในลักษณะ Google form ในการวัดผลแบบ Real Time ทำให้ การบริหารงานปราบปรามเป็นไปตามสภาพในความเป็นจริง และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนจริงๆ
จากการสำรวจแบบสอบถามของประชาชน วันนี้จะเห็นได้เลยว่า ภัยที่ประชาชนกลัวมากที่สุดอันดับ 1 ภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ และ Social Media เป็นอาชญากรรมสมัยใหม่ เช่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งโรแมนซ์สแกม เป็นภัยที่ประชาชนกลัวมากที่สุด และสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก ในลำดับต้นๆเช่นเดียวกัน และอีกภัยหนึ่งคือ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ซึ่งมักจะปรากฏให้เห็นว่าประชาชนกลัว ภัยวิ่งราวทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ มากกว่าการฆ่าคนตายด้วยซ้ำ
ถามว่าเหตุใดการสำรวจจึงสะท้อนมาในภาพเหล่านี้ เพราะสิ่งที่สะท้อนออกมาจาก การวัดผลแบบ Real Time จากเดิมสมัยก่อน ในการวัดผลเราวัดผลกันปีละครั้ง แต่ขณะนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ปรับเปลี่ยนใหม่ มีการวัดผล ในลักษณะ Google poll และ Google form ผลแบบ Real Time ส่วนนี้จะทำให้สามารถนำข้อมูล ตามความต้องการของประชาชน มาใช้ในการบริหารงาน ได้อย่างตรงใจของประชาชน
ด้วยเหตุนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.สุวัฒน์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ริเริ่มนำร่อง โครงการ Smart Safety Zone 4.0 ในพื้นที่กรุงเทพฯและหัวเมืองหลัก ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นแลนด์มาร์คของประเทศไทย เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ โคราช ปากช่อง ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ของคนไทยและ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ที่จังหวัดพิษณุโลกซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปและชาวจีน ชาวตะวันตก ในอดีตที่ผ่านมาได้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว มากราบไหว้พระหลวงพ่อพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมือง สำหรับในเขตกรุงเทพฯก็มีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน นั่นคือลุมพินี แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองหลวง เป็นแลนด์มาร์ค สำคัญของประเทศ ที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และย่านห้วยขวาง ซึ่งมีสถานที่สำคัญอย่างเช่น สถานทูตจีน และร้านอาหารต่างๆจำนวนมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนมักจะหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่ยอมรับว่าปัจจุบันนี้เรายังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในขณะนี้ เพราะว่าขณะนี้ทั่วประเทศ ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นการทำ Smart Safety Zone 4.0 เริ่มต้นที่พื้นที่หลักและเมืองสำคัญ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม สำหรับการรองรับที่จะเปิดประเทศ อีก 120 วันข้างหน้านี้ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพราะฉะนั้นในวันนี้แล้ว บ้านเรายังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา การจัดระเบียบและการรักษาความสะอาด สุขอนามัย การสร้างพื้นที่ปลอดภัย เรานี้เป็นมาตรการที่เราต้องเตรียมความพร้อม ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกัน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข, ผู้ว่าการการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมาตรการที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ ส่งผลเป็นอย่างมาก ซึ่ง Smart Safety Zone 4.0 ในพื้นที่ปลอดภัย
มีการนำเทคโนโลยี เข้ามาร่วมด้วยหรือไม่
ทุกวันนี้ต้องเข้าใจว่า ผบ.ตร. ได้นำ AI เข้ามาใช้ จากการสำรวจความต้องการของประชาชน จะเห็นชัดเจนได้ว่า ประชาชนมีความต้องการกล้อง และมีความเชื่อมั่นในเรื่องของกล้องวงจรปิด เพราะว่ากล้องสามารถบันทึกภาพได้ และสามารถย้อนหลังไปดูได้ และได้ติดตั้งกล้องเป็นของขวัญเพื่อประชาชน จำนวน 9,000 กว่ากล้อง และเตรียมที่จะติดเพิ่มอีกจำนวน 1,000 กว่ากล้อง ซึ่ง ผบ.ตร.มอบเป็นของขวัญให้กับประชาชน เพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ในปี 2565 การนำเอาระบบ AI อัจฉริยะประดิษฐ์เข้ามาใช้ คือการทำกล้องให้ฉลาดขึ้น เพื่อให้รองรับกับ Smart Safety Zone คำว่า Smart ก็คือความเป็นอัจฉริยะ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้กล้อง AI สามารถจดจำใบหน้าได้ และติดตามได้ แยกสีเสื้อและจดจำป้ายทะเบียนรถได้ หรือกลุ่มบุคคลและสิ่งของต้องสงสัย ที่วางไว้นานเกินไป และผิดสังเกต ก็จะมีการเตือน รวมทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ต้องสงสัย วันนี้การนำร่อง ของ AI จะเริ่มนำร่องในเขตพื้นที่ลุมพินี ห้วยขวางและภาษีเจริญ
ถามว่าทำไมต้องเป็นเขตภาษีเจริญ เพราะภาษีเจริญจะมีคลอง ภาษีเจริญมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนและยุโรปชอบเดินทางมาท่องเที่ยว มีตลาดน้ำเหล่านี้เป็นมาตรการในการเตรียมความพร้อมทั้งสิ้น และเป็นช่วงที่รองรับในสถานการณ์ covid -19 เศรษฐกิจที่จะส่งผล โอกาสที่จะเกิดอาชญากรรม เพราะฉะนั้นแล้ว เรื่อง Kick Off จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 สิงหาคมที่จะถึงนี้ เราจะวัดผลตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึง เดือนธันวาคม เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบสถิติอาชญากรรม ในเดือนสิงหาคมปีนี้ กับในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ว่าสถิติอาชญากรรมจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ การปลอดภัย สถิติอาชญากรรมจะต้องลดลงให้มากที่สุด แทบจะเป็นศูนย์ เพื่อ จะให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นศูนย์ ก็ตามแต่ก็จะพยายามทำให้ลดลงให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชน มีความปลอดภัยเชื่อมั่นและศรัทธา
เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน
อีกส่วนหนึ่งท่าน ผบ.ตร. เน้นในการมีส่วนร่วมของประชาชน ความเป็นเจ้าของ ในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ราชประสงค์ ซึ่งเป็น Landmark เศรษฐกิจที่ดี เช่นเจ้าของเซ็นทรัลเวิลด์ พารากอน หรือเอ็มโพเรียม ต่างๆ ซึ่งเป็นใจกลางเมือง (downtown) ของประเทศไทย ซึ่งเจ้าของดังกล่าว เราได้นำเข้ามาเป็นภาคีเครือข่าย โดยให้ทุกคนมีหน้าที่ทั้งหมด โดยใช้หลักของการมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนที่มีฐานะเศรษฐกิจดี รวมถึง ผู้ประกอบอาชีพ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เหล่านี้มีหน้าที่หมด ทั้งที่ตนเองประกอบกิจการอยู่
ยกตัวอย่างเช่นกรณีมีคนร้ายเข้าบ้าน เราให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม Application ของ Smart Safety Zone เมื่อคนร้ายเข้าบ้านก็จะมีสัญญาณมาเตือนยัง มือถือสมาร์ทโฟนของเจ้าของบ้าน และไปโชว์ที่คิวมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่อยู่บริเวณปากซอยเรา สิ่งเหล่านี้คือการเป็นเจ้าของร่วมกัน
ภายใต้หลักของประชาชนคือตำรวจ ตำรวจคือประชาชน เป็นโครงการที่ผมเชื่อมั่น ว่าหลังจากที่มีการ Kick Off แล้วทั่วประเทศ วันที่ 1 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ว่าอย่างน้อยๆพื้นที่เซฟตี้โซนก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น ตัวอย่างผู้หญิง 1 คนเดินในพื้นที่ เวลากลางคืน ซึ่งเป็นสถานที่เปลี่ยวได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจ ฝากประชาสัมพันธ์ถึงพี่น้องประชาชน วันที่ 1 สิงหาคม พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะทำพิธี Kick Off พร้อมกันทั่วประเทศ
สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ความต้องการของประชาชนในยุคนิวนอร์มอล
เราเชื่อว่าประชาชนต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ดูแลในการป้องกันปราบปราม อาชญากรรมในทางเทคโนโลยี ในการหลอกลวงให้ลงทุนก็ดี ถูกหลอกให้เปิดบัญชี และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งสร้างความเสียหายมาให้อย่างยาวนาน ที่ผ่านมามีการปราบปรามกันอย่างจริงจัง และเงียบหายไปจากนั้นก็เริ่มหวนกลับคืนขึ้นมาใหม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของคนไทยหลอกคนไทยด้วยกันเอง โดยการตั้งฐานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และใช้โปรไฟล์ รูป บุคคลหน้าตาดี ฐานะดี แชตผ่านทาง facebook และโทรศัพท์เข้ามาหลอกลวงคนไทยในประเทศ
ผมยืนยันได้เลยว่า ถ้าคนไทยไม่หลอกลวงกันเองใครก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะว่าคอลเซ็นเตอร์เป็นวิธีการหลอกลวงโดยอาศัยคนไทย หลอกลวงให้โอนเงินไปยังต่างประเทศ วันนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เพิ่มผู้ช่วยผู้บัญชาการแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงาน ปปง. และกรมสรรพากร ด้วยการใช้มาตรการการยึดทรัพย์การดำเนินคดีฐานฟอกเงิน และการสมคบร่วมกันต่างๆ สู่การยึดทรัพย์ ดังนั้นทุกวันนี้ตำรวจจะทำงานอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบถึงการ หลอกลวงต่างๆ แม้ว่าทุกวันนี้คนไทยจะใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน work from home อาจจะมีเวลาเยอะ ทำให้เข้าไปชมออนไลน์หรือ Social Media ทำให้ถูก พวกมิจฉาชีพหลอกให้ร่วมลงทุน ได้มากขึ้น
ขอฝากถึงประชาชนพี่น้อง ประชาชนว่าในช่วงนี้ถ้าเห็นอะไรที่ขึ้นมาทางสมาร์ทโฟน ในโทรศัพท์ของท่าน ในการชักชวนร่วมลงทุน หรือให้โอนเงิน ขอเตือนว่าท่านอย่าเพิ่งทำ ขอให้ตรวจสอบ กับทางธนาคารที่ต้องการให้โอนไป ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีศูนย์ปราบปรามทางเทคโนโลยีอยู่แล้ว หากไม่สะดวกสามารถตรวจสอบได้กับทางสถานีตำรวจที่อยู่ใกล้บ้านท่าน ก่อนที่จะทำรายการเหล่านี้
โฆษณา