28 ก.ค. 2021 เวลา 08:25 • ธุรกิจ
ทำไมรัฐบาลจีน จึงกำราบ Didi
2
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
การเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Didi ขึ้นลงเร็วเหมือนรถไฟเหาะ Didi เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม โดยระดมทุนได้กว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทจีนที่เข้าตลาดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา
แต่ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน ทางการจีนกลับสั่งให้ถอด App ของ Didi ออกจาก App Store ในประเทศจีน เท่ากับระงับไม่ให้มีผู้ใช้บริการรายใหม่ โดยให้เหตุผลว่า Didi เก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการอย่างผิดกฎหมาย!
3
Didi เป็น App เรียกรถอันดับ 1 ของจีน คล้ายๆ กับบริการของ Grab หรือ Uber ในต่างประเทศ โดย Didi มีฐานผู้ใช้งานมหึมากว่า 377 ล้านคน ในประเทศจีน
หลายคนประเมินมูลค่าของ Didi ว่าสูงทะลุฟ้า สาเหตุสำคัญก็คือ ในบรรดาบริษัทเทคโนโลยีของจีนทั้งหมดนั้น Didi น่าจะเป็นบริษัทที่มีข้อมูลของผู้ใช้บริการมากที่สุด เรียกได้ว่า ยิ่งกว่าอาลีบาบา ยิ่งกว่าเทนเซนต์เสียอีก แต่อนิจจาจุดแข็งดังกล่าวกลายเป็นดาบสองคมที่กลับมาทิ่มแทงตัวเอง
6
มาดูกันครับว่า Didi มีข้อมูลที่ล้ำค้ายิ่งกว่าทองคำ ได้แก่อะไรบ้าง
1. ผู้ใช้งาน Didi ต้องให้เบอร์โทรศัพท์มือถือ ในประเทศจีน เบอร์โทรศัพท์มือถือสามารถเชื่อมโยงกับตัวตนและเลขบัตรประชาชนได้ ว่ากันว่า Didi น่าจะมีข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานได้ในจำนวนมากกว่าที่ Tiktok และ Wechat มีเสียอีก
2
2. ผู้ใช้งาน car-sharing จะต้องให้ถ่ายรูปใบหน้าของตน รวมทั้งประวัติอาชญากรรมและใบขับขี่รถยนต์
2
3. สำหรับคนขับจำนวน 13 ล้านคนในแพลตฟอร์มของ Didi จะถูกเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ได้แก่ ชื่อจริง บัตรประชาชน ใบหน้า ยี่ห้อ/รุ่น/สีของรถ ป้ายทะเบียนรถ ใบขับขี่ บัตรธนาคาร ประวัติอาชญากรรม
3
4. ที่น่าทึ่ง คือรถของ Didi มีการติดตั้งกล้องถ่ายภายในรถและถ่ายเส้นทาง โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
4
5. และที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้น ก็คือ ข้อมูล map เพราะ Didi เป็นเพียงบริษัทเทคโนโลยีไม่กี่บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนให้จัดทำบริการ map ในจีน ข้อมูลแผนที่และภาพถ่ายจากดาวเทียมย่อมมีข้อมูลฐานทัพและหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะถูกแบล็คเอาท์ใน App โดยในจีนนั้น บริษัทต่างชาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจ map ในจีน
11
ข้อมูลมหาศาลในมือเหล่านี้กลายมาเป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลจีนไม่สบายใจที่ Didi ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และเกรงว่าจะเกิดการรั่วไหลของข้อมูลเหล่านี้ให้กับต่างชาติ
9
ลองนึกภาพง่ายๆ ครับว่า ถ้าข้อมูลบันทึกภาพบนถนนรอบๆ จงหนานไห่ (ทำเนียบผู้นำจีน) หลุดออกไป หรือถ้าข้อมูล map ที่มีข้อมูลละเอียดอ่อนเกี่ยวกับที่ตั้งของหน่วยงานความมั่นคงเกิดรั่วไหล นี่ยังไม่นับข้อมูลของผู้ใช้งานปริมาณมหาศาลที่มีทั้งข้าราชการ นักธุรกิจชั้นนำ ไปจนถึงคนทั่วไป พวกเขาเดินทางไปไหนบ้าง เมื่อไหร่ อย่างไร เป็นต้น
9
สงครามเทคโนโลยียุคใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจ เท่ากับเป็นเรื่องของความมั่นคง โดยจุดชี้ขาดชัยชนะ ก็คือ ความสามารถในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลทั้งของตนและของฝ่ายตรงข้าม ความปลอดภัยของข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลให้อยู่ภายในประเทศ จึงกลายมาเป็นประเด็นร้อนแรง
5
ข้อนี้ไม่ใช่ความหวาดกลัวของจีนฝ่ายเดียวนะครับ สหรัฐฯ เองก็มีความกังวลคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับการใช้เครือข่าย 5G ของหัวเว่ย หรือแม้กระทั่งการใช้ App Tiktok ในสหรัฐฯ เองก็ตาม เพราะสหรัฐฯ กลัวเรื่องการจัดเก็บและความปลอดภัยของข้อมูลของบริษัทจีน และเกรงว่าข้อมูลที่อาจละเอียดอ่อนของฝั่งสหรัฐฯ จะรั่วไหลไปอยู่ในมือของบริษัทจีน และสุดท้ายอาจถึงมือรัฐบาลจีน
5
ในจีน มีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า บริษัทเทคโนโลยีจีนต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนในเรื่องความมั่นคง (แปลง่ายๆ ว่าถ้ารัฐบาลจีนต้องการข้อมูลอะไร บริษัทจีนต้องให้)
2
ในจีนตอนนี้มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ล่าสุดว่า ปัจจัยการผลิตในโลกยุค 5.0 ไม่ได้มีเพียงทุน ที่ดิน แรงงาน และเทคโนโลยีแต่เพียงเท่านั้น แต่ต้องเพิ่มไปอีกหนึ่งปัจจัยคือข้อมูล (data)
6
คนที่เก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้เยอะ ย่อมขึ้นเป็นผู้ชนะในเกมการแข่งขันปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพราะยิ่ง AI มีข้อมูลเยอะ ยิ่งจะฉลาดและแม่นยำ
6
ตัวอย่างเช่น บริษัทที่มีเทคโนโลยีจดจำและแยกแยะใบหน้าที่ดีที่สุดก็คือบริษัทที่สามารถเก็บข้อมูลใบหน้าคนได้เยอะที่สุดมาให้ AI เรียนรู้และวิเคราะห์
2
ข้อมูล (data) จึงกลายเป็นขุมทรัพย์ เป็นเสมือนทองคำ เป็นประดุจน้ำมันที่หล่อเลี้ยงและขับเคลื่อนโลกดิจิทัล หากในโลกอดีต ผู้ที่มีอำนาจแท้จริงในด้านการเมืองและเศรษฐกิจคือ ผู้ที่สามารถผูกขาดทุน ที่ดิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี ผู้ที่มีอำนาจตัวจริงเสียงจริงในโลกยุค 5.0 ก็คือ ผู้ที่กุมข้อมูลนั่นเอง
7
จึงไม่ต้องสงสัยที่รัฐบาลจีนจะเข้ามากำกับและควบคุมข้อมูล เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จีนออกกฎหมายความปลอดภัยของข้อมูลฉบับใหม่ และรัฐบาลจีนเพิ่งเพิ่มเงื่อนไขว่า บริษัทเทคโนโลยีจีนที่จะไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ต่อไปนี้ต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลจีนเสียก่อน
4
ต่อไปนี้เราน่าจะเห็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนน้อยรายเลือกไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะไม่ใช่เพียงจะต้องผ่านด่านรัฐบาลจีนเท่านั้น แต่ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ฝั่งสหรัฐฯ เองก็จะมีการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จำกัดธุรกิจของบริษัทจีนหรือบีบให้บริษัทจีนต้องเปิดเผยข้อมูล
2
ดังนั้น หลายบริษัทน่าจะเลือกจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงแทน เพราะถือว่าอยู่ภายในจีน และไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดเหมือนการไปจดทะเบียนในตลาดต่างประเทศ
1
กฎเกณฑ์เรื่องการจัดการและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ออกมาใหม่เท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุนธุรกิจให้กับบริษัทเทคโนโลยีจีน
2
เราน่าจะเห็นผู้เล่นเทครายใหม่ของจีนเติบโตเป็นยักษ์ใหญ่ได้ช้าลง แตกต่างจากในอดีตที่เป็นยุคฟรีสไตล์ ทุกคนเก็บข้อมูล ใช้ข้อมูล โตจากข้อมูลได้อย่างเสรีจนเกิดนวัตกรรมและยักษ์ใหญ่อย่างรวดเร็วและมากมาย
6
บัดนี้ รัฐบาลจีนมองว่าถึงจุดที่ตลาดและเทคโนโลยีอิ่มตัวระดับหนึ่ง สามารถแตะเบรกและเข้ามาจัดระเบียบและกำกับขุมทรัพย์ข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อให้ปลอดภัยจากมือต่างชาติ และให้รัฐบาลสามารถร่วมใช้ประโยชน์ได้
4
ดังที่บริษัทเทคโนโลยีหลายเจ้าเริ่มนำเสนอโครงการที่จะนำข้อมูลของตนมาช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำจัดความยากจน การแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ การสร้างสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น
7
ชัดเจนว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ต้องการทำลายล้างหรือดับลมหายใจบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เพียงแต่จะหมดยุคที่บริษัทเหล่านี้จะโตชนิดหวือหวาฟรีสไตล์เช่นในอดีต
4
ที่ผ่านมา ในการกำราบอาลีบาบาเรื่องการผูกขาด ในการสั่งแอนท์ไฟแนนเชียลให้ไปวางโครงสร้างกิจการใหม่เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน การจัดการเหล่านี้ของรัฐบาลไม่ได้กระทบกับมูลค่าพื้นฐานของอาลีบาบาหรือแอนท์
4
มองในแง่ดีก็คือ ต่อไปนี้ยักษ์เหล่านี้จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ที่ชัดเจนและคาดเดาได้มากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าตนทำอะไรสุ่มเสี่ยงอยู่หรือไม่และเมื่อไหร่รัฐบาลจีนจะเข้ามาจัดการหรือกำราบแบบช็อคโลกและคาดคิดไม่ถึงอีก
2
ในประเทศอื่นนั้น ทุนมักกำกับรัฐ แต่ในจีนนั้น หลักเด็ดขาดคือ รัฐกำกับทุน รัฐใหญ่กว่าทุนเสมอ วันนี้ต้องเพิ่มหลักอีกข้อว่า รัฐต้องเข้ามากำกับเทคโนโลยีและข้อมูล ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตของโลกยุค 5.0 ด้วย ไม่ใช่ให้นายทุนเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและข้อมูลแต่เพียงผู้เดียว
10
โฆษณา