1 ก.ย. 2021 เวลา 08:35 • การศึกษา
ตอบปัญหาธรรมะ
การเจริญสมาธิภาวนา เป็นทางลัดที่สุดที่จะทำให้เกิดความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ถ้ามีความบริสุทธิ์มาก บุญกุศลก็เกิดขึ้นมาก ถ้ามีความบริสุทธิ์น้อย บุญกุศลก็ลดหย่อนลง ความบริสุทธิ์เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข เป็นสิ่งที่สั่งสมได้ การเจริญภาวนาทุกๆวัน เป็นการเพิ่มเติมความบริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้เราเข้าถึงความสุขที่แท้จริง อันเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตล้วนแสวงหา เราจึงควรหมั่นเจริญภาวนา เพื่อให้ชีวิตของเราเข้าถึงความสุข และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง
มีเนื้อความใน อรกานุสาสนีสูตร ว่า…
ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในสังสารวัฏทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก พึงกระทำแก่เหล่าสาวก เราตถาคตก็ได้กระทำกิจเหล่านั้นแก่พวกเธอทั้งหลายแล้ว ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในสังสารวัฏทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลาย จงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย นี้คืออนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย
วิวัฒนาการของโลก ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่บ่งบอกถึงความสามารถที่ไม่มีขีดจำกัดของมนุษยชาติ แต่ก็มีหลายสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ยังไม่ได้รับการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นเท่าที่ควร เพราะการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นนั้น ต้องเริ่มจากการพัฒนาใจให้สูงส่ง สูงจากเรื่องที่ชาวโลกทั่วไปเขาข้องเกี่ยวกัน คือ เรื่องของการหมกมุ่นอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ต่างๆที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร เป็นบ่วงที่ทำให้เกิดความเป็นห่วงเป็นใย เป็นกังวลอยู่ตลอดเวลา
การมุ่งขจัดกิเลสอาสวะออกจากใจ ด้วยการหมั่นฝึกฝนใจให้สะอาดบริสุทธิ์หยุดนิ่งนั้น เป็นสิ่งที่พระบรมศาสดาทรงตอกย้ำ ทั้งตรัสเป็นอนุศาสนี คือ ตามสอนแล้วสอนอีก ตลอดพระชนมายุของพระองค์ เมื่อได้บำเพ็ญอัตตหิตประโยชน์ ด้วยการแสวงหาหนทางหลุดพ้นได้แล้ว ทรงบำเพ็ญปรหิตประโยชน์ เพื่อสันติสุขของชาวโลก และสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่า อาศัยมหากรุณาอันไม่มีประมาณ สั่งสอนเหล่าเวไนยสัตว์ให้ตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ ได้เข้านิพพานกันนับไม่ถ้วน
แม้มนุษยโลกยังเป็นกามาวจรภูมิ ที่ยังข้องเกี่ยวอยู่กับเรื่องกาม กิน เกียรติยศ ชื่อเสียงต่างๆ ซึ่งยังมีความเกี่ยวพันอยู่กับเบญจกามคุณ อันเป็นเหยื่อล่อของพญามาร ให้ลุ่มหลง ให้ยึดติด เหมือนลิงติดตัง ที่ไม่สามารถสลัดให้หลุดจากยางเหนียวได้ ถ้าหากมนุษย์รู้วิธีการดำเนินจิตเข้าสู่กลางของกลางภายใน เอาใจเข้าไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย ยึดติดในพระรัตนตรัยภายใน เมื่อนั้นมนุษย์ก็จะเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง เป็นผู้ที่พญามารบังคับบัญชาไม่ได้
พระพุทธองค์จึงทรงสอนว่า “นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง โน่นลอมฟาง พวกเธอทั้งหลายจงหมั่นประกอบความเพียร อย่าประมาทในชีวิต จะได้เป็นผู้ไม่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง”
ในสมัยพุทธกาล เป็นยุคของผู้มีบุญลงมาเกิด เมื่อรู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ได้มีผู้ตัดสินใจสละโลก ออกบวชเป็นภิกษุภิกษุณีตามพระพุทธองค์ เพื่อศึกษาสาระที่แท้จริงของชีวิตกันมากมาย เพราะรู้ว่าชีวิตมิใช่เกิดมาเพียงเพื่อทำมาหากินเท่านั้น แต่เกิดมาเพื่อแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้น แสวงหาพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันประเสริฐ เพื่อชีวิตจะได้ปลอดภัยจากวัฏทุกข์นั่นเอง
ครั้งนั้น มีลูกของเศรษฐีได้สนทนากันในเรื่องที่ว่า ทำอย่างไรจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อไม่รู้วิธี จึงได้ชักชวนกันออกแสวงหาธรรมะกับครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เมื่อได้รับการแนะนำจากอาจารย์ให้มาถามปัญหาธรรมะกับพระบรมศาสดา จึงพากันมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทุกคนต่างมาพร้อมกับคำถามที่ค้างคาใจมานาน อยากจะสนทนาธรรมกับพระพุทธองค์ ด้วยหวังว่า เมื่อได้ฟังคำตอบแล้ว จะได้นำไปประพฤติปฏิบัติตาม
นันทมาณพ ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สมณพราหมณ์บางพวก กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าว เป็นต้น เป็นอันมาก สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตน ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์นั้น ข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างไหม ขอพระองค์ได้ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์ ด้วยเถิด”
พระบรมศาสดาตรัสว่า “ดูก่อนนันทะ ผู้กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวบ้าง ชนเหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตน ตามที่เห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ก็จริง แต่ชนเหล่านั้นยังข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ คนเหล่าใดละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดี อารมณ์ที่ได้รับรู้แล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมดก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้น เป็นอันมาก ทั้งหมดก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่านั้นแล ข้ามห้วงน้ำ คือ โอฆะ ได้แล้ว”
เหมกมาณพ ทูลถามปัญหาว่า “เมื่อก่อนอาจารย์บางพวก ได้พยากรณ์ลัทธิของตนแก่ข้าพระองค์ว่า เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ๆ จักเป็นอย่างนี้ๆ คำพยากรณ์ของอาจารย์ไม่ถูกต้องไปทั้งหมด และไม่แจ่มแจ้ง คำพยากรณ์นั้นกลับเป็นเครื่องนำความฟุ้งซ่านให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกำจัดตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆในโลกนี้ แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อนเหมกะ ชนเหล่าใดได้รู้ทั่วถึงบท คือ นิพพานอันไม่แปรผัน เป็นที่บรรเทาฉันทราคะในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง และสิ่งที่ได้รับรู้ เป็นผู้มีสติ มีดวงตาเห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นสงบระงับแล้ว มีสติข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆในโลกได้แล้ว”
ชตุกัณณีมาณพ ทูลถามปัญหาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระเนตร คือ พระสัพพัญญุตญาณอันเกิดพร้อมแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกทางสันติแก่ข้าพระองค์ตามความเป็นจริงด้วยเถิด เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีเดช ครอบงำกามทั้งหลาย เหมือนพระอาทิตย์มีเดช คือ รัศมี ครอบงำมณฑลปฐพี ล่องลอยไปในอากาศ ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเครื่องละชาติและชราแก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิดพระเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อนชตุกัณณี ท่านได้เห็นซึ่งเนกขัมมะโดยความเป็นธรรมอันเกษมแล้ว จงนำความกำหนัดในกามทั้งหลายออกไปเสียให้สิ้นเถิด กิเลสชาติเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้แล้ว ด้วยอำนาจตัณหาและทิฐิซึ่งควรจะปลดเปลื้องเสีย อย่ามีแล้วแก่ท่านอีกต่อไปเลย กิเลสเครื่องกังวลใดไม่มีแล้วในกาลก่อน ท่านจงทำกิเลสเครื่องกังวลนั้น ให้เหือดแห้งเสียเถิด กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง อย่าได้มีแก่ท่าน ดูก่อนชตุกัณณี เมื่อท่านปราศจากความกำหนัดในนาม และรูปโดยประการทั้งปวงแล้ว อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจของมาร ก็จะไม่บังเกิดขึ้นแก่ท่านอีกต่อไป”
นอกจากนี้ ยังมีการผลัดเปลี่ยนกันถามปัญหาพระพุทธองค์ จนครบทุกคน พระบรมศาสดาทรงเมตตาตอบทุกเรื่อง เพราะเห็นว่าทุกคำถาม ล้วนเป็นไปเพื่อให้ได้มรรคผลนิพพานทั้งสิ้น จากนั้นพระองค์ได้แสดงธรรมที่ลึกซึ้งลุ่มลึกลงไปตามลำดับ ทำให้มาณพทุกคน ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์สมความปรารถนากันทุกคน
นี่เป็นเรื่องราวตัวอย่างของผู้ปรารถนาความหลุดพ้น ที่ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า และได้บรรลุธรรม เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิตกัน ดังนั้นการสนทนาเรื่องทำอย่างไรใจจะหยุด ทำอย่างไรใจจึงจะนิ่ง เป็นกรณียกิจที่สำคัญที่พวกเราควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ใจของเราจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หลงใหลไปตามกระแสโลก
ถ้ามนุษย์หันกลับมาสนทนาในเรื่องการพัฒนาจิตใจอย่างแท้จริง โลกนี้จะศิวิไลซ์ น่าอยู่น่าอาศัย เป็นสถานที่เหมาะต่อการสร้างบารมีมากกว่านี้อีกหลายเท่า อีกทั้งวัตถุประสงค์ในการเกิดมาของมนุษย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น จะเป็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๕ หน้า ๔๒๐ -๔๒๗
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
มาณพถามปัญหา เล่ม ๔๗ หน้า ๙๒๔
โฆษณา