30 ก.ค. 2021 เวลา 07:04 • สุขภาพ
ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สำหรับสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
สตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 ได้ และมีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะการต้องรับเข้าหอผู้ป่วยวิกฤติ (Intensive care unit, ICU) การใช้เครื่องช่วยหายใจ (mechanical ventilation) การใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจ (extracorporeal membrane oxygenation, ECMO) หรือเสียชีวิต นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อผลการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิตในครรภ์ เป็นต้น
ปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนออกมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 สามารถป้องกันการติดเชื้อและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ประมาณ 2-4 สัปดาห์
ขณะนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนที่ใช้ได้อยู่ 2 ชนิด คือ Sinovac และ Astra Zeneca สตรีตั้งครรภ์ที่จะฉีดวัคซีนควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน ความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ก่อนจะตัดสินใจ จากการฉีดวัคซีนให้คนทั่วไปพบว่าวัคซีนทั้งสองชนิดปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่ไกล้เคียงกัน
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีน
ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นในระดับที่สูงเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการเจ็บป่วย ช่วยลดความรุนแรงของโรคหรือลดการเสียชีวิตลงได้ ประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิด มีความแตกต่างกันเล็กน้อย วัคซีนของ Astra Zeneca ป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 54.1 ป้องกันโรคแบบมีอาการร้อยละ 70.4 ป้องกันโรครุนแรงหรือเสียชีวิตร้อยละ 100 ส่วนวัคซีน Sinovac ป้องกันโรคที่มีอาการตั้งแต่น้อยมากร้อยละ 50.4 ป้องกันโรคแบบมีอาการร้อยละ 65.3-91.2 ป้องกันโรครุนแรงหรือเสียชีวิตร้อยละ 100
ผลข้างเคียงของวัคซีน
อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับในผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เป็น อาการปวด เมื่อย บวม แดง กดเจ็บตรงตำแหน่งที่ฉีด บางรายมีปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ไข้ขึ้น กรณีที่มีไข้ แนะนำให้รับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล มีน้อยรายที่อาจจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น มีผื่นลมพิษ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันโลหิตตก หมดสติ ชัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง หลังฉีดวัคซีนจะมีการเฝ้าสังเกตอาการนาน 30 นาที และติดตามอีกที่ 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน กรณีที่เกิดปัญหา จะมีทีมแพทย์และพยาบาลให้การดูแลรักษาทันที
ความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19
สตรีตั้งครรภ์แต่ละคนมีความเสี่ยงที่จะติดโรคไม่เท่ากัน โอกาสสูงที่จะติดเชื้อ ถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือมีคนที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกันเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานในสถานที่ต้องดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคสูง ต้องติดต่อหรือสัมผัสกับคนอื่นนอกบ้าน บ่อย ๆ ไม่สามารถเว้นระยะห่างจากคนอื่น ๆ ได้ อาศัยอยู่ในบ้านหรือสถานที่มีผู้คนแออัด
ความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรง
สตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่โรคจะเป็นรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในรายที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคไต ภูมิต้านทานผิดปกติ ไทรอยด์ อ้วน (ดัชนีมวลกายเกิน 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
 
ท่านมีทางเลือกอย่างไร
1. ฉีดวัคซีน
2. รอให้มีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนในสตรีตั้งครรภ์มากขึ้น
ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ท่านยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและมาตรการอื่น ๆ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ลงทะเบียนเมื่อเข้าไปยังสถานที่ เป็นต้น
หากท่านมีคำถาม ข้อสงสัย ต้องการคำแนะน าหรือข้อมูลเพิ่มเติม โปรดสอบถามแพทย์หรือพยาบาล ณ สถานที่ให้บริการฉีดวัคซีน
ข้อมูลโดย ศ.พญ.สายพิณ พงษธา
สูตินรีแพทย์ ประจำศูนย์ศรีพัฒน์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
"เพราะเราห่วงใย และอยากให้คุณสุขภาพดี"
สามารถติดตามศูนย์ศรีพัฒน์ฯ เพิ่มเติมได้ที่
• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
โฆษณา