31 ก.ค. 2021 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
ทำไมตอน “เปิด” ธุรกิจ ต้องคิดถึงตอน “ปิด” กิจการด้วย
1
หนึ่งในเรื่องสำคัญที่คนทำธุรกิจต้องรู้ ไม่แพ้วิธีการก่อร่างสร้างกิจการขึ้นมา นั่นก็คือ “วิธีการปิดกิจการ” เพราะโลกธุรกิจนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
และถ้าหากเราไม่รู้มาก่อน ว่าช่วงปิดกิจการจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อเจอกับอะไรบ้าง เราอาจจะเจ็บแบบทวีคูณไปจนถึงวินาทีสุดท้าย ก็เป็นได้..
หากเราคิดว่า ธุรกิจของเราอาจจะต้องปิดตัวสักวันหนึ่ง
แล้วอะไรมันจะเกิดขึ้นต่อ หลังจากความคิดนี้..
- เราอาจไม่อยากทุ่มทุนไปกับ “ต้นทุนการผลิต” มากจนเกินพอดี
หากเราเกิดความคิดที่ว่า สินค้าที่เราคิดค้นขึ้นมานี้มันเจ๋งมาก ๆ การจะขายให้ได้เป็นแสน ๆ ชิ้น คงไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก ซึ่งหากความคิดนี้เกิดขึ้นมา เราจะต้องระมัดระวังให้ดี เพราะว่ามันเจ๋งสำหรับเรา แต่สำหรับตลาดมันอาจจะยังไม่ใช่
และถ้าเราด่วนตัดสินใจ รีบสั่งผลิตและสต็อกสินค้าเป็นแสน ๆ ชิ้น ซึ่งมันจะไม่ใช่แค่การต้องควักเงินเอามาจ่ายให้กับซัปพลายเออร์หรือกระบวนการผลิต แต่เราจะต้องลงทุน เพื่อให้มีที่เก็บของ ไม่ว่าจะเป็นโกดัง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ข้าวของไม่เสียหาย ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนยิ่งเพิ่มขึ้นตามจำนวนสินค้า
และเมื่อถึงวันที่ธุรกิจไม่มีรายได้ ต้องปิดกิจการ สินค้าเหล่านี้ต้องมีการระบายออก หากทำโปรโมชันลดราคาแล้วสินค้าไม่หมด ก็ต้องมีต้นทุนในการนำสินค้าเหล่านี้ไปทำลายทิ้ง
ซึ่งเรื่องนี้เราสามารถดูกรณีศึกษาได้จาก คุณปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช หรือคุณซารต์ ที่เป็นยูทูบเบอร์ช่อง Bearhug และเป็นเจ้าของแบรนด์ชานม Bearhouse
โดยก่อนหน้านี้เธอก็ได้ผลิตชานมไข่มุก Sunsu จำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น
แต่เมื่อขายไม่ได้ เธอก็ต้องหาวิธีที่จะทำลายสินค้าที่มีจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจให้เราได้ศึกษาว่า จะปิดกิจการ ก็ไม่ได้จะปิดกันง่าย ๆ และมีความยุ่งยากมากกว่าที่เราคิด
สามารถฟังเรื่องราวของเธอเพิ่มเติมได้ที่คลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=AOYRnBpbQQ4&vl=th
- เราอาจไม่อยากทุ่มทุนไปกับ “การตกแต่งหน้าร้าน” จนเกินความจำเป็น
รู้หรือไม่ว่า การเช่าพื้นที่กับ Landlord หรือเจ้าของพื้นที่ มีรายละเอียดในเรื่องของสัญญาเช่ามากมาย โดยในบางสัญญา หากเราต้องการจะปิดกิจการ เราจะต้องคืนพื้นที่ให้กับเจ้าของในสภาพเดิม
นั่นก็แปลว่า ถ้าวันแรกที่เราเปิดร้าน เราตกแต่งภายในร้านอย่างสวยหรูดูยิ่งใหญ่
ทำพื้นกระเบื้องสวยงาม ราคาเป็นแสน ๆ ซึ่งในวันที่เราต้องปิดกิจการ เราจะต้องโละทั้งหมดที่เราตกแต่งทิ้ง ทำทุกอย่างให้กลับสู่สภาพเดิมตามสัญญา
ซึ่งหากถึงเวลานั้น แค่การต้องจ่ายค่าทุบกระเบื้อง ก็หมดไปหลายหมื่นไปจนถึงหลักแสนแล้ว ไม่ต้องคิดเลยว่า ถ้ามีครัว โต๊ะ เสา ที่ Build in หรือผนังที่อลังการ ราคาที่ต้องจ่ายตอนจบ จะเจ็บหนักแค่ไหน
ดังนั้นถ้าเราตั้งต้นว่า ธุรกิจมีความไม่แน่นอนสูง เราอาจจะเปลี่ยนรูปแบบการตกแต่งร้าน จาก Build in เป็นการนำสิ่งของหรือนำฉากมาตกแต่งร้านแทน
ซึ่งเรื่องนี้เราสามารถศึกษาได้จากกรณีของ คุณต่อ เพนกวิน เจ้าของร้านอาหารที่ได้ทำการตกแต่งร้าน Penguin Eat Shabu ไว้ที่สาขาสยาม และเมื่อถึงวันที่ต้องปิดสาขา เนื่องจากวิกฤติโควิด 19 เขาก็ต้องรื้อทุกอย่างออกหมดให้กลับไปเป็นสภาพเดิม เพื่อส่งคืนให้เจ้าของที่ตามสัญญา โดยมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียมากมาย
สามารถชมกรณีศึกษาเรื่องนี้ได้จากคลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=oa5QqGaLqvA
- เราจะทำให้ธุรกิจตัวเบาที่สุด
บางทีเมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะโรคระบาด น้ำท่วม เราอาจจะไม่ได้ถึงขั้นปิดกิจการ
แต่อาจจะต้องมีโมเดลธุรกิจที่เหมาะกับการปรับตัวให้ไว เคลื่อนตัวให้เร็ว หรือไม่เน้นที่ตั้ง ที่ต้องจ่ายค่าเช่าที่แพง ๆ เพราะเป็นทำเลทองเสมอไป
เช่น กระจายความเสี่ยง ไม่ได้มีหน้าร้านแค่เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง โดยเลือกโมเดล Cloud Kitchen หรือเข้าร่วมทำครัวกลางเพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าแทน
หรือเน้นทำการตลาดออนไลน์ให้เยอะ และมีสินค้าที่เหมาะสำหรับการดิลิเวอรีมากขึ้น เพราะถึงแม้จะไม่มีหน้าร้าน หรือไม่ได้อยู่ในทำเลทองแล้ว แต่ก็ยังสามารถต่อลมหายใจให้กับธุรกิจได้
เป็นเรื่องปกติที่คนทำธุรกิจจะคิดแต่เรื่องของ “การเติบโต” แต่ในวันนี้เราก็คงจะเห็นแล้วว่านับวันความผันผวนและความไม่แน่นอนมันยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก
จากเมื่อก่อนเราอาจจะวางแผนว่า ธุรกิจจะต้องอยู่ไปอีก 10-20 ปี
แต่ทุกวันนี้ เราอาจจะต้องเผื่อใจว่า ธุรกิจอาจอยู่ได้แค่ 3 ปี หรือเปิดให้ถึงวันที่คืนทุน ให้ได้ก็พอ
แล้วเราจะไม่เจ็บหนัก แม้ถึงวันสุดท้ายที่ต้อง ปิดกิจการ..
โฆษณา