31 ก.ค. 2021 เวลา 11:14 • สุขภาพ
"ทำไมฉีดวัคซีนแล้ว ยังเสี่ยงติดโควิด-19"
🔅ทำไมคนที่รับวัคซีนแล้ว ยังตรวจพบเชื้อโควิด-19 อยู่?
ถึงแม้ว่าวัคซีนจะเป็นเหมือนเกราะป้องกันอาการป่วยที่รุนแรงที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีวัคซีนตัวใดที่ป้องกันการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะไปติดเชื้อไวรัส หรือมีการแพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่นได้ และยิ่งมีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในชุมชนเป็นวงกว้าง ก็จะยิ่งมีโอกาสในการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และก็พบส่วนน้อยที่อาการป่วยจะรุนแรงถึงขั้นวิกฤติ
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ ที่จะต้องเผชิญกับผลพวงระยะยาวจากการติดเชื้อโควิด-19 เช่น อ่อนเพลีย หายใจลำบาก และยังมีอาการเจ็บป่วยระยะยาวอื่นๆ ที่มักจะพบในผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากอาการโควิด-19 ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันอาการเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด
🔅 ปัจจัยหลักสำคัญ 3 ประการที่ทำให้เกิดการติดเชื้อกับผู้ที่รับวัคซีนแล้ว
💉 ปัจจัยประการแรกคือ ตัวของไวรัส :
การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เกิดการระบาดได้มากขึ้น และยังสามารถปรับตัวหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น ซึ่งทั่วโลกต่างก็เจอเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่หลากหลาย ทำให้ยากต่อการสกัดการระบาด
💉ปัจจัยประการที่ 2 คือ ตัวของวัคซีน :
โดยวัคซีนที่มีใช้งานกันอยู่ปัจจุบันนี้ เป็นวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ป้องกันอาการป่วยรุนแรงโดยเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีการระบาดทั่วไป ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยล่าสุดวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA อย่างของค่ายโมเดอร์นา ไฟเซอร์ ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้มากที่สุดในเวลานี้
โดยผลวิจัยยังแนะนำชัดเจนว่าการที่จะให้วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงสุดจะต้องได้รับวัคซีนให้ครบโดส ซึ่งระยะห่างระหว่าง 2 เข็มจะแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ 2 สัปดาห์จนถึง 12 สัปดาห์
ตามแต่ชนิดของวัคซีน และก็อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ ราว 2 สัปดาห์ หรืออาจจะถึงเดือนจากการรับวัคซีนเข็มสุดท้ายก่อนที่วัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่วัคซีนอาจจะด้อยประสิทธิภาพลงจากปัญหาในขั้นตอนการผลิต หรือการเก็บรักษาและการขนส่งที่ไม่เหมาะสม
💉ปัจจัยประการที่ 3 การตอบสนองของวัคซีนของแต่ละบุคคล :
แม้ว่าบางคนจะได้รับวัคซีนที่ได้ชื่อว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าภูมิคุ้มกันของผู้รับจะขึ้นในระดับสูงเหมือนกันทุกคน เนื่องจากร่างกายของบางคนไม่ตอบสนองต่อวัคซีน ทำให้ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นถึงระดับที่จะป้องกันไวรัสได้
ซึ่งมักจะเกิดกับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่ต้องกินยาบางอย่าง หรือแม้แต่คนที่มีภูมิคุ้มกันดี ก็อาจมีแนวโน้มที่ภูมิจะตกลงเมื่อเวลาผ่านไป แต่นักวิจัยเองก็ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าภูมิจะลดลงในระยะเวลาเท่าใด
🔅การติดเชื้อสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วพบมากน้อยเพียงใด?
เป็นการยากที่จะติดตามตัวเลขนี้ เพราะหลายประเทศเริ่มมีการตรวจคัดกรองเชื้อกันลดลง หลังจากที่มีการกระจายวัคซีนให้ประชาชนได้มากขึ้น อย่างในสหรัฐอเมริกา มีรายงานผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากรับวัคซีนแล้ว 10,262 ราย ในช่วงระยะเวลา 4 เดือนจนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในขณะที่มีชาวอเมริกันได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ไปแล้ว 133 ล้านคน
1
ซึ่งนับเป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 10,000 ราย แต่เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่าที่รายงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอีกจำนวนมาก ขณะที่ผลการศึกษาจากเรือนจำในโรดไอแลนด์ ที่มีการตรวจคัดกรองเชื้อให้กับนักโทษและผู้คุมเป็นประจำทุกสัปดาห์ พบว่า มีผู้ที่ติดเชื้อโควิดแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว 27 คนจากทั้งหมด 2,380 คน ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา
🔅เรารู้อะไรเกี่ยวกับการติดเชื้อของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วบ้าง?
มีหลักฐานบางส่วนที่ยืนยันว่า ผู้ที่ติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนแล้วจะมีอาการป่วยรุนแรงน้อยลง โดยนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ได้หยุดการติดตามยอดผู้ติดเชื้อในหมู่ผู้ที่รับวัคซีนแล้ว โดยนับจนถึง 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา
พบผู้ติดเชื้อในกลุ่มคนที่รับวัคซีนที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 3,733 คน และมีผู้เสียชีวิต 791 ศพ ขณะที่ภาพรวมของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโรคโควิด-19 ราว 97 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยจนถึงขณะนี้ยังมีประชากรชาวอเมริกันอีก 44 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนสักโดสเดียว
🔅ข้อมูลผู้รับวัคซีนที่ติดโควิดจากประเทศต่างๆ
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อิสราเอลเป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนมากที่สุดในโลก แต่ก็มีรายงานผู้ที่รับวัคซีนแล้ว ติดเชื้อโควิด และต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจนถึงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาเกือบ 400 ราย ในจำนวนนี้มีอาการป่วยรุนแรง 234 รายและเสียชีวิต 90 ศพ
ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลด้วยว่าครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อที่รับวัคซีนแล้ว มีความเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากอาการป่วยที่มีอยู่เดิม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจล้มเหลว เช่นเดียวกับการกินยารักษาอาการอื่นๆ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
🔅วัคซีนต้านโควิดมีประสิทธิภาพในการปกป้องได้แค่ไหน?
ในขั้นตอนการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 จะพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพตั้งแต่ 50-95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการวัดจากกลุ่มอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมทดลอง แต่หากดูเป็นรายบุคคลตัวเลขประสิทธิภาพที่ระบุว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จะหมายถึง ความเสี่ยงที่บุคคลคนนั้นจะล้มป่วยจะอยู่ที่ราว 20 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนในโลกของความเป็นจริง อาจจะไม่ได้ตรงกับตัวเลขของการทดลองที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อมเสมอไป และทั้งประสิทธิภาพ และประสิทธิผลก็สามารถแตกต่างกันออกไปตามแต่กลุ่มของประชากร ช่วงเวลา และสถานการณ์แวดล้อมอื่นๆ อย่างเชื้อกลายพันธุ์ และระบบสาธารณสุขของพื้นที่นั้นๆ
🔅 การแพร่กระจายเชื้อหรือไม่ ?
จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่รับวัคซีนแล้วมีโอกาสที่จะแพร่กระจายเชื้อได้น้อยกว่าคนที่ยังไม่รับวัคซีน โดยผลจากการศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในสกอตแลนด์ ในช่วงปลายปี 2020 และต้นปี 2021 พบว่าการติดเชื้อภายในครัวเรือนของบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว น้อยกว่าครัวเรือนของกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนถึง 30 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่การศึกษาในอังกฤษที่มีการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่าสมาชิกในบ้านของคนไข้ที่รับวัคซีนแล้วมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าคนไข้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนราว 40-50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รับวัคซีนแล้ว ยังมีระยะเวลาสั้นลง และมีปริมาณเชื้อไวรัสน้อยกว่า จึงช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไปยังผู้อื่นได้ดีขึ้น
🔅วัคซีนเข็มสามกระตุ้นภูมิจะใช่คำตอบหรือไม่?
หลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำลังเร่งหาวัคซีนทางเลือกเพื่อมาใช้เป็นวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิ หลังจากที่ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์มจากจีนเข็ม 1 และ 2 ไปแล้ว แม้จะยังมีหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการรับวัคซีนเข็มที่ 3
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน และสาธารณสุขระบุว่า แม้ว่าในอนาคตอาจจะจำเป็นต้องใช้วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 แต่ก็ยังคงไม่มีข้อมูลที่เพียงพอที่จะสรุปได้ในเวลานี้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขยังคงถกเถียงกันในประเด็นนี้ และยังมองว่าควรจะต้องนำวัคซีนที่มีไปฉีดให้แก่คนทั่วโลกที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวก่อนหรือไม่.
ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล
ที่มา : บลูมเบิร์ก, ฟอร์จูนดอมคอม
โฆษณา