31 ก.ค. 2021 เวลา 11:45 • ท่องเที่ยว
ท่องทะเลสาบอินเล … ดูบัลเลย์แห่งชีวิตลูกผู้ชาย
เราจองเรือซึ่งคนขับจะเป็นไกด์ให้กับเราด้วยจากเกสต์เฮ้าส์ในราคาเหมาลำ 20 USD … คนขับเรือมารับเราถึงที่พัก แล้วเดินเท้ามุ่งหน้าไปทีท่าเทียบเรือ … เมื่อมาถึงท่าเรือที่จอแจ มีเรือหางยาวจอดเรียงกันเป็นแพ บ่งบอกถึงความคึกคักของธุรกิจท่องเที่ยวว่าบูมสุดขีด
ฉันกับเพื่อนก้าวเท้าลงเรือ นั่งบนเก้าอี้ไม้หันหน้าไปสู่เวิ้งน้ำ ข้างกราบเรือมีร่มที่สามารถกันแดดกันฝนได้ หรือแม้แต่ละอองน้ำที่อาจจะกระเด็นมาโดน วางอยู่ให้เราได้หยิบฉวยมาใช้เมื่อต้องการ
เรือหางยาววิ่งพลิ้วไปตามสายน้ำ … คลองที่เรือของเราแล่นไป มีลักษณะเป็นเส้นตรง ไม่คดเคี้ยวและกว้างพอสมควร ฉันคิดเอาเองว่าคงจะเป็นคลองที่ขุดเชื่อมต่อกับทะเลสาบ … สองข้างคลองทั้งซ้ายขวา มีการยกร่องปลูกพืช เลี้ยงเป็ด และทำกิจกรรมทางน้ำ บางช่วงเราผ่านศาลาไม้เล็กๆ ที่คงจะเป็นศาลาสารพัดประโยชน์ ทั้งเป็นท่าเทียบเรือ อาบน้ำ และซักเสื้อผ้า
สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาฉัน คือ ภาพของนกน้ำ และนกชายเลนหลายชนิดที่ออกมาเยื้องย่างจับปลากินตามริมคลอง และป้ายบอกว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่รักษาพันธ์สัตว์และนก รวมถึงเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ … ภาพของนกนางนวลบินร่อนไปมา ท้าทายสายตาและเลนส์กล้องมากมาย … เข้าใจว่านกนางนวลลงหลักปักฐานอยู่แถบนี้ ไม่ใช่นกอพยพเหมือนที่บ้านเรา
เรือของเราแหวกสายน้ำออกมาจากคลองเชื่อม เข้าสู่เวิ้งน้ำกว้างใหญ่ … ทะเลสาบอินเลยามนี้กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ชวนให้เราตื่นเต้นมากมาย ในที่สุดความฝันที่จะได้มาสัมผัสทะเลสาบแห่งนี้ก็เป็นความจริง
เราเห็นเรือ 2-3 ลำ แล่นอยู่ในน้ำ โดยมีคนพายเรือด้วยท่าทางแปลกตา … พวกเขาใช้เท้าพายเรือค่ะ โดยยืนอยู่ที่ปลายด้านหนึ่งของเรือ มือที่ว่างอยู่สามารถใช้ทำอย่างอื่นได้สะดวก น่าทึ่งค่ะ … ชาวเลของทะเลสาบแห่งนี้เรียกตัวเองว่า ชาว “อินทา”
ภาพชีวิตของลูกทะเลสาบที่ยืนขาเดียวบนเรือ แล้วใช้เท้าอีกข้างต่างมือในการจ้วงพาย บังคับเรือให้แล่นไปข้างหน้า ถอยหลัง เบี่ยงซ้าย ป่ายขวาได้ดังใจ ขณะที่อีกมือหนึ่งขยับสุมเตรียมจับปลา … อาจจะแปลกตาสำหรับเรา จนต้องเบนทิศทางของกล้องระดมถ่ายรูปเก็บไว้มากมาย ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะนำไปเผยแพร่ในวงกว้าง … ด้วยเหตุที่การแจวเรือด้วยเท้าไม่มีที่ไหนในโลก มีเพียงที่นี่แห่งเดียว
ฉันถามนายท้ายเรือว่า “อินทา” หมายถึงอะไร … เขาบอกว่า หมายถึง “ลูกทะเลสาบ” เป็นชนเผ่าที่ไม่รู้แน่ว่ามีที่มาอย่างไร …
แต่จากภูมิหลังของประวัติศาสตร์ที่บอกให้เรารู้ว่า มนุษย์มีการอพยพเคลื่อนย้ายกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลหลายพันปีมาแล้ว ตั้งแต่ยังอาศัยอยู่ในถ้ำ ด้วยเหตุผลจากเรื่องของการทำมาหากิน การหลีกลี้จากภัยต่างๆ ทั้งจากธรรมชาติและการรุกรานของพวกที่มีกำลังมากกว่า …
จึงมีการคาดว่า “อินทา” เป็นกลุ่มคนที่อพยพหนีความแห้งแล้งและภัยสงครามมาจากพุกาม และตามผู้นำมาจนถึงเมืองทวาย (ชาวอินทา จึงมีภาษาพูดคล้ายกับชาวทวาย) จนกระทั่งมาปักหลักอยู่รอบๆทะเลสาบอินเลนี่แหละค่ะ แม้ว่าในเวลานั้นทะเลสาบอินเล ที่แม้จะสงบและไม่มีใครอยู่มาก่อน ด้วยทำมาหากินลำบาก ทีทางที่จะทำการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกผักเลี้ยงชีวิตก็ไม่มี … แต่พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะลงรากฐานกันที่นี่
เรือหางยาวพาเราแล่นไปข้างหน้าเรื่อยๆ … ทะเลสาบอินเลมีพื้นที่ 158 ตารางกิโลเมตร มีด้านยาวราว 21 กิโลเมตรซึ่งถูกประกบโดยภูเขาสูงเสียดฟ้า ภาพชีวิตของชุมชนในทะเลสาบอินเล ปรากฏโฉมให้เราได้เห็น เรือหางยาวหลายลำแล่นผ่านเราไป บรรทุกผู้คนและสินค้าที่เป็นเรื่องชินตาของคนที่นี่ เรือที่เราสนใจมากมาย เป็นเรือที่ดูเหมือนว่าคนในเรือกำลังเก็บพืชบางชนิดจากทะเลสาบ
สาหร่ายและวัชพืชน้ำ … เป็นส่วนเกินที่ไร้คุณค่าและประโยชน์ในหลายชุมชนทั่วโลก หากแต่ที่นี่ วัชพืชเหล่านี้คือ “ขุมทองและชีวิต” … ผืนแผ่นดินดั้งเดิมคือดินตะกอนที่ไหลจากภูเขาลงมาทับถมกันด้วยเวลายาวนาน แต่มันไม่เพียงพอสำหรับชาวอินทาทุกคนในการสร้างบ้านแปงเมืองเป็นที่อยู่อาศัย และปลูกผักเลี้ยงชีพ
บริเวณรอบๆทะเลสาบที่ถึงแม้จะไม่ลึก และเป็นแหล่งการประมงที่สำคัญ สร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้คนในชุมชนมหาศาล แต่ที่ราบมีน้อยมากๆ และชาวอินทาต้องการพื้นที่ปลูกบ้านพักอาศัย และแหล่งเพาะปลูกพืชทางการเกษตรต่างๆ …
พวกเขาจะใช้วัชพืชเหล่านี้ไปกองสุมกัน เป็นรองพื้นขนาดใหญ่ก่อนที่จะโกยดินตะกอนจากก้นทะเลสาบ (ที่อยู่ไม่ลึกดังกล่าวมาแล้ว) มาโปะลงไปแปลงโฉมพื้นที่นั้นๆเป็นแปลงผักลอยน้ำขนาดใหญ่ โดยมีเสาไม้ไผ่ปักลงไปในดินยึดโยงแปลงผักไม่ให้ลอยออกไปตามกระแสน้ำที่พัดผ่าน … แปลงผักของที่นี่ใช้ปลูกดอกไม้ พืชชนิดต่างๆโดยไม่ต้องรดน้ำ เพียงแค่ต้องเอาใจใส่ถอนวัชพืช ..
ผลิตผลที่ออกมา พวกเขาเก็บเอาไว้กินเอง รวมถึงส่งขายนำรายได้สู่ชุมชน เช่นพริกโดยเฉพาะมะเขือเทศนั้น ที่นี่เป็นแหล่งผลิตใหญ่มาก และส่งไปขายทั่วทั้งพม่า นำเงินทองกลับมา จนใครๆอิจฉา …
…ด้วยเหตุที่ชาวอินทา “รวย” กว่าชนเผ่าอื่นๆในจำนวน 126 ชนเผ่าในรัฐฉานของพม่าชนิดเทียบกันไม่ติด แถมยังมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าชาวพม่า จนเป็นชนเผ่าเดียวในประเทศพม่าที่สามารถจ้างชาวพม่ามาเป็นลูกจ้างเก็บใบยาสูบ และทำงานในสวนผัก ในขณะที่ชนเผ่าอื่นต้องไปเป็นลูกจ้างของชาวพม่าเสียเป็นส่วนมาก
ภูมิปัญญาของชาวอินทา น่ายกย่องและชื่นชม ในการต่อสู้ พลิกเกมที่ดูเหมือนจะเป็นข้อด้อย ให้แปรเปลี่ยนมาเป็นข้อดี ส่งเสริมชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้น
เรือแล่นแหวกสายน้ำของทะเลสาบอินเลที่กว้างใหญ่ ที่มีภูเขาสีฟ้าเทาเป็นฉากหลังที่สวยงามมาได้ไม่นาน เราก็เห็นเสาหงส์อยู่เหนือทะเลสาบ อันเป็นสัญลักษณ์ว่าเรากำลังเข้าเขตชุมชนของชาวมอญ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา