1 ส.ค. 2021 เวลา 06:01 • ความคิดเห็น
ความจำสามประเภท
ในภาษาอังกฤษ คำว่า “ความจำ” หรือ “ความทรงจำ” นั้นใช้คำว่า “memory” เหมือนกัน
แต่ในหนังสือ The Art of Making Memories ของ Meik Wiking ได้แบ่งความจำเอาไว้สามประเภทด้วยกันคือ episodic memory, semantic memory, และ procedural memory
Episodic memory คือความทรงจำที่เราเห็นเป็นฉากๆ เช่นความทรงจำจากทริปญี่ปุ่นก่อนจะมีโควิด
Semantic memory คือความจำที่เกี่ยวกับเรื่องราวหรือคอนเซ็ปต์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวเลย เช่นเมืองหลวงของญี่ปุ่นมีชื่อว่าอะไร
Procedural memory คือความจำเกี่ยวกับกระบวนการที่เราทำสิ่งต่างๆ โดยที่เราไม่ต้องออกแรงคิด เช่นตอนขับรถญี่ปุ่น เราจะรู้ว่าต้องเหรียบเบรคก่อนเอามือซ้ายไปขยับเกียร์ D แล้วค่อยๆ เหยียบคันเร่ง
แม้จะเรียกว่า “memory” เหมือนกัน แต่วิธีการดึงความจำแต่ละแบบนั้นใช้คนละล่วนของสมอง
การดึง episodic memory นั้น มันทำให้เราเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนกลับไปยังที่ที่เราจากมา มีทั้งภาพ เสียง กลิ่น รส หรือแม้กระทั่งสัมผัส
ในขณะที่ความจำแบบ semantic memory นั้นมันจะแห้งๆ ไร้ประสบการณ์ เราจำไม่ได้หรอกว่าเรารู้มาจากไหนว่าเมืองหลวงของญี่ปุ่นมีชื่อว่าโตเกียว
Semantic memory และ procedural memory นั้นเกิดจากการอ่านและฝึกฝนจนเราทำงานและกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตได้
1
แต่สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ Episodic memory ที่เป็นความทรงจำที่มาจากประสบการณ์ตรงของเราเอง เพราะมันจะเป็นสมบัติล้ำค่าเมื่อชีวิตเราผ่านไปและมองย้อนกลับมา
ในยุคโควิดที่เราไปไหนไม่ได้ วันทำงานอยู่แต่หน้าจอคอม วันหยุดอยู่แต่หน้าจอทีวี เราจึงไม่ค่อยได้สร้าง episodic memory ใหม่ๆ ขึ้นมา
ลองมองย้อนกลับไปก็ได้ว่าเราจำเรื่องอะไรปีที่แล้วได้บ้าง ถ้าเราไม่ค่อยได้ทำอะไรและไม่ค่อยได้ไปไหนเพราะโควิด ปีหน้าเมื่อเรามองย้อนกลับมายังปีนี้ก็จะไม่ค่อยมีอะไรให้จดจำเช่นกันเพราะโควิดต่อเนื่องและยาวนานกว่าเสียอีก
ส่วนคำถามที่ว่าเราจะสร้าง episodic memory ให้มากขึ้นได้อย่างไรในห้วงเวลาแบบนี้ ผมขอเก็บไว้เล่าหลังจากอ่านหนังสือ The Art of Making Memories จบแล้วนะครับ
โฆษณา