1 ส.ค. 2021 เวลา 07:16 • กีฬา
สิ่งที่ฆ่าความภาคภูมิใจของนักกีฬาคือคำว่า
“ปาฎิหาริย์”
เส้นทางของนักกีฬาไม่ใช่เส้นทางแสนหวาน และสวยงาม และหลายคนต้องแบกหลายสิ่งหลายอย่างไว้บนบ่าตลอดเส้นทางนั้น น้องเทนนิสให้สัมภาษณ์ในวันที่ได้รับเหรียญทองเหรียญแรกให้กับวงการเทควันโด้ไทยเมื่อไม่กี่วันก่อน กล่าวไว้ว่า
“สิ่งที่ยากที่สุด น่าจะเป็นการซ้อมที่โหดหินมาก เก็บตัวซ้อมเหนื่อยมาก โค้ชบอกว่าน้ำตาที่เสียไปตอนซ้อมก็เพื่อวันนี้ ลงไปเล่นให้เต็มที่ ตอนลงไปเล่นก็คิดถึงความยากลำบากกว่าจะถึงวันนี้ เราต้องซ้อมเป็นพันครั้ง และซ้อมกับผู้ชาย”
และในวันที่คีรินนักวิ่งทีมชาติไทยรุ่น 10,000 เมตร ที่พาธงชาติไทยบนหน้าอกไปยืนอยู่ที่เส้นสตาร์ทเป็น 1 ใน 25 นักวิ่งที่เร็วที่สุดของโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ในงานโอลิมปิก 2020 ก็กล่าวเมื่อมีคนค่อนขอดว่าทำไมเข้าเป็นที่สุดท้าย
“อย่าบอกว่าง่าย ถ้ายังไม่เห็นความพยายามของผม”
นักกีฬากว่าจะเดินทางมาถึงการแข่งขันระดับโลกอย่างโอลิมปิก ใช้เวลาและสะสมพลังการทำลายล้างอย่างยาวนาน เสียทั้งหยาดเหงื่อและหยาดน้ำตากว่าจะเหยียบเข้าสู่เส้นทางนี้ได้ คำว่า “ปาฎิหาริย์” ทำให้ทุกอย่างที่เสียไปทั้งหมดสูญเปล่า
1
ดร. แอนนา คีเซนโฮเฟอร์ (Anna Kiesenhofer) นักปั่นจักรยานวัย 30 ชาวออสเตรีย ที่เพิ่งคว้าเหรียญทองโอลิมปิกแบบพลิกโผ ถูกเสนอข่าวในเชิงที่ว่าเธอเป็นเพียงนักปั่นสมัครเล่น ด้วยลำดับ 88 ของโลก แต่สามารถคว่ำมือเต็งอันดับหนึ่งของโลกไปได้อย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ในความจริงแล้ว แม้ดร.แอนนา จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้านคณิตศาสตร์และไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพ การมาแข่งในสนามโอลิมปิกครั้งนี้ด้วยตนเองไม่สังกัดทีมใด ก็ใช่ว่าการคว้าเหรียญทองครั้งนี้จะเกิดขึ้นเพราะปฎิหาริย์
ดร. แอนนา ไม่ใช่นักปั่นโนเนม แต่มีดีกรีแชมป์ระดับประเทศสามสมัย
🏅 National Road Race Championships ปี 2019
🏅National Time Trial Championships ปี 2019,2020,2021

เธอหลงรักกีฬาและลงแข่งขันในประเภท ไตรกีฬา และ ทวิกีฬา ตั้งแต่ปี 2011 จนถึง 2013 แต่เกิดอาการบาดเจ็บจนทำให้ไม่สามารถวิ่งระยะไกลได้ดีเท่าเดิม จึงหันมาให้ความสนใจกับกีฬาปั่นจักรยานอย่างเดียวอย่างจริงจัง
ในปี 2015 เธอก็เข้าสู่วงการแข่งขันจักรยานอย่างเต็มตัว ลงงานใหญ่ระดับโลกมากมาย ในปี 2016 เธอก็คว้าอันดับที่ 2 ของงานใหญ่อย่าง Tour Cycliste Féminin International de l’Ardèche
ปี 2017 เธอตัดสินใจลาออกจากทีม Belgian Lotto Soudal Ladies หลังจากเข้าร่วมเพียงไม่กี่เดือน และหันมาวางแผนฝึกฝนด้วยตนเอง แม้เธอไม่เคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลจริงจัง แต่ก็สามารถจับประเด็นในการให้สัมภาษณ์ย่อย ๆ ได้ว่า เธอน่าจะเจอปัญหากับการวางแผนของทีมโค้ชจักรยานในอดีต
“ตอนคุณยังเด็ก คุณไม่ค่อยจะรู้อะไรนัก จากนั้นจะมีโค้ชหรือคนที่พูดว่า - ฉันรู้เรื่องนี้แล้ว คุณต้องทำแบบนั้นแบบนี้ - ซึ่งฉันก็เชื่อ แต่ตอนนี้ฉันแก่แล้ว ฉันอายุ 30 แล้ว และตระหนักว่า คนที่พูดว่ารู้ พวกเขารู้ไม่จริง หลายคนไม่รู้ ส่วนคนที่รู้ก็บอกว่าคนเองไม่รู้” 

เมื่อนักข่าวถามว่า เธอมีคำแนะนำอะไรให้กับนักปั่นรุ่นใหม่ที่กำลังมุ่งมั่นในสายกีฬานี้บ้าง เธอตอบโดยไม่ลังเลว่า “Don’t trust authority too much”
ดร.แอนนาพักการแข่งขันกีฬายาวปีกว่าหลังออกจากทีม ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่เธอเริ่มวางแผนจัดการเทรนด้วยตัวเองทั้งแผนการซ้อมและโภชนาการ
ปี 2019 เธอกลับมาลงสนามอีกครั้งและก็คว้าตำแหน่งแชมป์ระดับประเทศไปครอง
การเข้าเป็นตัวแทนประเทศออสเตรีย แบบไม่สังกัดทีม ไม่มีสปอนเซอร์ และอยู่อันดับ 88 ของโลก ทำให้เธอไม่อยู่ในสายตาของคู่แข่ง แต่เบื้องหลังของดร.แอนนา คือการวางแผนชัยชนะมาอย่างดี โดยเฉพาะการฟิตซ้อมร่างกายให้รับกับอากาศร้อนของกรุงโตเกียว เธอฝึกซ้อมสลับทั้งอากาศร้อนและอากาศหนาว แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และปรับแผนการแข่งขันเพื่อจะทำเวลาให้ได้ดีที่สุด
ชัยชนะของ ดร.แอนนา ในโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้อาจจะทำให้ใครหลายต่อหลายคนช็อค แต่มันไม่ใช่เรื่องของปาฏิหาริย์
เหรียญทองที่เธอได้มาครอบครอง ผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเองมาอย่างหนักด้วยการศึกษาสภาพร่างกายของตนเองและพัฒนาด้วยความรู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง ผ่านการมองเกมส์การแข่งขันด้วยสายตานักคณิตศาสตร์ระดับดอกเตอร์คิดคำนวนและวางแผนแนวทางการแข่งอย่างเป็นระบบ
หลายคนมองว่าเธอเป็น Underdog แต่ถ้ามองข้ามไหล่เธอไปจะเห็นว่าเบื้องหลังของเธอคือแชมป์ระดับประเทศสามสมัยติดต่อกัน ทำไมจะเป็นแชมป์ระดับโลกบ้างไม่ได้ ??
สิ่งที่สั่นสะเทือนวงการนักปั่นน่าจะเป็นความเชื่อในเรื่องของการ self training มากกว่า ดร.แอนนา กำลังพิสูจน์ให้เห็นความกล้าที่จะลุกขึ้นมา Solo เดี่ยวและไม่พึ่งพาตารางเทรนของทีมองค์กรกีฬา สิ่งนี้น่าจะสั่นคลอนและถูกตั้งคำถามในอนาคตมากทีเดียว
แม้จะถูกมองว่า Under radar หรือไม่อยู่ในสายตาของนักปั่นมืออาชีพ แต่จากที่ดร.แอนนาบอกกับสื่อว่า “in my head cycling takes up a huge space” และ “cycling takes up a lot of space in my life” และจากผลงานการปั่นแบบพายุที่โหมกระหน่ำไม่มีแผ่วในสนาม บอกเราได้อย่างดีว่า คนที่ชีวิตมีแต่เรื่องปั่น ในสมองคิดแต่เรื่องปั่น ไม่ว่าป้ายที่ห้อยคอจะเรียกเธอว่ามืออาชีพ หรือ มือสมัครเล่น นั้นไม่สำคัญเท่ากับผลงานที่ออกมาในท้ายที่สุด และสำหรับเธอแชมป์สามสมัยระดับชาติ และหนึ่งเหรียญทองโอลิมปิก บอกทุกอย่างได้เป็นอย่างดี
“there are no shortcuts, there are no miracles”
“มันไม่มีทางลัด และไม่มีปาฏิหาริย์”
ดร​.แอนนา คีเซนโฮเฟอร์
1
โฆษณา