2 ส.ค. 2021 เวลา 13:30 • หนังสือ
‘ทำไม เราจึงควรอ่านนิยาย’
เอครับ บีลูก…
แม่หายไปนานด้วยเหตุหลายเรื่อง และหลายเรื่องนั้นทำให้แม่รู้สึกเหมือนกับว่าแม่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นไปอีกขั้น
เอและบีคงค้านเสียงขรม “ที่ผ่านแม่ แม่ยังแก่ไม่พออีกเหรอ”
😂
แม่เป็นแอดมินเพจโรงพยาบาลมาเกินปี เป็นแอดแนวเล่าสู่กันฟัง
แม่เขียนไปเรื่อยโดยมีเป้าว่าจะเป็น story teller ให้โรงพยาบาล
ในเรื่องจริงนั้นมีแอบแฝงการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร ไปถึงการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
เดือนที่ผ่านมา แม่ไปช่วยยุ่งกับวัคซีนทางเลือก วุ่นวายสื่อสารให้ลูกเพจทราบความเคลื่อนไหวล่วงหน้าก่อนหน้า 2-3 สัปดาห์
ในฐานะเป็นแอดมิน แม่เพิ่งได้รู้ว่าการสื่อสารกับคนหลายหมื่นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ยิ่งเมื่อวันจองเข้าจริง เว็บดันล่ม
ก้อนหินเลยประดังประเดเข้ามา รับกันไม่หวาดไม่ไหว
ทั้งคนจองได้และจองไม่ได้ ต่างก็โวยวาย
ในเวลานั้น แม่ได้เห็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นผู้แก่กว่า เก๋ากว่า
บิ๊กบอสของแม่ นิ่งมากกกกกก…
นิ่งคนเดียวไม่พอ คุณลุงยังเดินเข้ามานั่งคุยในห้องทำงานแม่ อย่างคนที่รู้ว่า ควรจะคุยให้ลูกน้องฟังอย่างไรในภาวะการณ์แบบนั้น เพื่อลูกน้องอย่างแม่จะได้ไม่เซ็ง ไม่ท้อถอย และนิ่งได้แบบคุณลุง
คุณลุงว่า “ที่ผ่านมาเราให้ข้อมูลเขาครบแล้วหรือยัง ถ้าครบแล้ว เราทำเต็มที่แล้ว ที่เหลือเราก็ปิดได้เลย ปิดการรับรู้ของเรา และมองให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ปกติที่จะตามมา
เป็นปกติที่จะเป็นเช่นนั้น เป็นไปตามธรรมชาติความความผิดหวัง”
แม่เลยได้มองคุณลุงใหม่อีกที
แม่ว่าในช่วงเวลา 35 ปีของการก่อตั้งโรงพยาบาล คงมีเรื่องมากระทบตลอดเส้นทาง บางเรื่องที่กระทบในทางลบนั้น คุณลุงเคยวิจารณ์ในทางบ่นๆอยู่เหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดคุณลุงมักสรุปให้แม่ฟังว่า “บ่นได้ แต่เราก็อย่าไปทุกข์กับมัน ที่ผมพูดนี่ ก็ไม่ได้จะเก็บไปทุกข์”
แม่มองคุณลุงในแบบที่ถอยออกมาห่างๆ
หรือคนที่มีประสบการณ์ควรคิดให้ได้แบบนี้ คนที่สูงวัยแล้วควรคิดให้ได้แบบนี้ ?!!
แล้วแม่ก็นึกขึ้นมาได้ว่า นิยายของคุณ ว.วินิจฉัยกุล เคยเล่าถึงผู้สูงวัยกับความคิดที่ตกผลึก และดูจะเป็นแนวทางให้แม่ได้ อีกทางหนึ่ง
แม่เลยไปรื้อตู้หนังสือมาอ่าน
ว่ากันตามที่จริง แม่ทิ้งไว้นานเพราะแม่เห็นว่า เป็นแนวชีวิตที่ไม่แฮปปี้
มันเหมือนจริงเกินไป …
“มาลัยลายคราม” “เส้นไหมสีเงิน” “วงศาคณาญาติ”
แม่รีวิวแบบยำใหญ่ไปเลยนะ
แต่ละเล่มเล่าถึงผู้หญิงหลายคน ทุกคนอายุเกิน 60 ปี
(แม่ยังไม่ถึงหรอกนะ ยังอีกนาน (ฮา))
‘คุณหญิงฉัตรกนก’ มีลาภ-ยศ-สรรเสริญ อย่างบริบูรณ์ตามที่ใจใคว่คว้า
แต่อย่างที่เราคาดเดาได้ มีลาภก็เสื่อมลาภ
ปลายทางเลยทุกข์เพราะทำใจไม่ได้
‘ประพิณ’ เป็นคนมองโลกแคบๆ
โอกาสป้าแกเยอะ แต่แกตัดโอกาสนั้นเสีย เลยตัดสินใจเรื่องการเลือกคู่ผิดมาตลอด ปลายทางเลยทุกข์ใจ พาให้กายทุกข์ตาม
‘จิตรี’ มีชีวิตที่โลดโผนมาก เหมือนป้าแกกระโดดข้ามรั้วลวดหนามมาเป็นระยะ หนามขูดเกี่ยวเนื้อตัวจนเลือดซิบๆมาตลอดทาง
ข้อดีประการเดียวที่แม่เห็นคือแกเป็นคนไม่ทุกข์ร้อน ไม่คิดย้อนไปย้อนมาให้ตัวเองช้ำชอก
แกมองชีวิตไปเบื้องหน้า
‘บุญชื่น’ คนนี้สิอาภัพของแท้ แต่ชีวิตในชุมชนแออัดของแกนั้นเต็มไปด้วยน้ำใจ แม่อ่านไปแบบมีน้ำตาคลอ
“สายสมร” ป้าแกเป็นสายแข็ง
ทั้งใจแข็ง ใจดำ ใจเค็ม ปากคอเหลือร้าย
“บุหงา” ป้าแกน่ารัก แต่ลำบากเพราะลูก
ดีที่ตอนปลายแกเก่งขึ้นมาก ไม่งั้นไม่มีบ้านอยู่
‘คุณย่าของพริม’ ความทุกข์ของผู้ดีที่มีต้นเหตุมาจากความยึดมั่นถือมั่นเรื่องชาติตระกูล
แม่อ่านนิยายแล้วได้อะไร ?
ได้เห็นชีวิตที่มีอุปสรรคไงลูก
แต่ละคนมีปัญหามากระทบ และตัดสินใจกันไปตามนั้น
การตัดสินใจในครั้งนั้น ส่งผลไปอีกทาง ชีวิตหันเหไปอีกแบบ
ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว เราเห็นได้เลยว่าปัญหาของเรา เล็กมากกกกกก…
ลูกคงถามว่า “มีไหมแม่ ชีวิตที่ไม่มีปัญหา”
ไม่มีปัญหา ก็ไม่ใช่ชีวิตซีลูก
เอและบี อย่าเพิ่งหาว่าแม่เล่นคำ
ลองนึกตามแม่แบบนี้
สมมุติว่าเอและบีเป็นคนที่เสกให้ตัวการ์ตูนมีชีวิตขึ้นมาได้เหมือนพินอคคิโอหรือ’Toy story’
พอเสกปุ๊บ ‘บัซ ไลท์เยียร์’ ของลูกก็เดินออกมาจากกล่อง
ก้าวขาออกจากกล่องปุ๊บ ก็มีตัวการ์ตูนอีกตัวบังเอิญเดินมาชน ชนแล้วยังด่าว่าเดินซุ่มซ่ามออกมาทำไม บัซโกรธเลยด่ากลับ ทะเลาะกันไปมาจนสนิทกันเป็นเพื่อนรักกัน
เดินไปอีกพักเจอบาร์บี้แสนสวย สองคนชอบผู้หญิงคนเดียวกัน แข่งกันจีบเลยผิดใจกัน บัซภูมิใจมากที่บาร์บี้เลือกตัวเอง ในที่สุดก็แต่งงานกัน เมื่อมีลูก บัซยิ่งมีความสุขมาก แต่เมื่อลูกป่วยบัซก็กังวล ลูกจะไปเที่ยวกับเพื่อน บัซก็กังวลและกลัวเลยไม่ให้ไป ลูกโกรธบัซ บาร์บี้โกรธบัซ …
ยิ่งบัซก้าวออกจากกล่องแล้วเจอคนเยอะ เรื่องของบัซก็ยิ่งยาว
ความทุกข์ กังวล เหงา เศร้า สนุกเฮฮา ตามมาอีกยาว
ภาพหมุนย้อนให้บัซถอยหลังไปอยู่ในกล่องของเล่น แล้วเอกับบีเอาไม้กายสิทธิ์มาเสก ‘ปิ๊ง’ ใหม่อีกที
แต่คราวนี้บัซ ไม่ยอมก้าวออกมา
“ทำไมล่ะบัซ ทำไมไม่ออกมาจากกล่อง ฉันเสกให้นายมีชีวิตแล้วนะ ออกมาสิ”
บัซส่ายหน้า “ไม่เอาแล้ว แม้จะสนุกเฮฮาหลายครั้ง แต่มีบางครั้งที่ฉันเศร้า ฉันไม่อยากมีความทุกข์แบบนั้น ฉันไม่ออกจากกล่องแล้ว”
“ได้ไงเล่าบัซ ถ้านายแค่เดินได้ นายจะเป็นแค่ตุ๊กตาไขลาน
นายต้องเจอทุกความรู้สึกแบบนั้นนั่นแหละ จึงจะเรียกว่า ‘มีชีวิต’”
โฆษณา