2 ส.ค. 2021 เวลา 00:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กองทุนแบบไหนที่ใช่สำหรับเรา??
กองทุนไม่ปันผล vs ปันผล vs auto-redemption
ในการลงทุนกองทุนรวม บางคนก็ไม่แน่ใจว่า จะเลือกกองทุนแบบมีเงินออกมาระหว่างทางดีไหม หรือจะเลือกกองทุนแบบที่ไม่มีเงินออกมาระหว่างทาง และบางกองทุนแบบเดียวกัน ก็มีหลาย class ให้เลือกลงทุนได้ว่า ต้องการแบบไหน แต่ละแบบมีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร มาอ่านกัน...
ถ้าเราแบ่งกองทุนรวมตามนโยบายการจ่ายปันผล จะแบ่งได้ 2 อย่าง คือ จ่ายปันผล กับไม่จ่ายปันผล
การจ่ายปันผล ก็จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้เงินออกมาในระหว่างทางที่ถือหน่วยลงทุนไปเรื่อยๆ แต่ข้อเสียสำคัญ ก็คือ เราจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
เช่น มานะลงทุนกองทุนรวมหุ้น ชื่อ กองทุน A
มานะมีหน่วยลงทุนทั้งหมด 20,000 หน่วย ราคาตอนที่มานะซื้อคือ 10 บาท
ต่อมาราคาหน่วยขึ้นเป็น 12 บาท กองทุน A จึงประกาศจ่ายปันผลหน่วยละ 1 บาท
มานะก็จะได้รับเงิน = 20,000 หน่วย x 1 บาท = 20,000 บาท
แต่มานะจะถูกหักภาษี 10% เงินจะมาถึงมือมานะแค่ 18,000 บาท ส่วน 2,000 บ. พี่สรรพากรเก็บไป (ซึ่งตรงนี้ถ้าเราเสียภาษีฐานน้อยกว่า 10% เราสามารถขอคืนได้เวลายื่นภาษีให้สรรพากร)
และเนื่องจากการปันผลนั้นหักมาจากสินทรัพย์ของกองทุน ดังนั้นเมื่อปันผลแล้ว มูลค่าหน่วยลงทุนมักจะลดลงพอๆ กับที่ปันผลออกมา คือ มูลค่าหน่วยลงทุนจาก 12 บาท จะเหลือประมาณ 11 บาท หลังจากที่ปันผล
ดังนั้นกองทุนรวมแบบปันผล ก็มักจะเขียนในชื่อกองทุนนั้นว่า เป็นกองทุนรวมแบบปันผล หรือ วงเล็บท้ายชื่อกองทุนแบบ “(D)” ซึ่ง D ก็คือ dividend
กองแบบปันผลนั้น เราก็ได้เงินออกมาระหว่างทาง เมื่อกองทุนได้กำไร ก็จะปันผลออกมาให้เราเอง ไม่ต้องคอยจ้องว่า ตอนนี้ได้กำไรแล้วนะ และสั่งขายกองทุนออกมา แต่เงินที่ได้ออกมานั้น ได้รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ซึ่งภาษีที่ถูกหักไปนี้ ถ้าใครเสียภาษีที่ฐาน 10% ขึ้นไปอยู่แล้ว เงินตรงนี้ก็จะไม่ได้คืนมาตอนยื่นภาษี
และอีกอย่างมูลค่าหน่วยลงทุนเราก็จะลดลงพอๆ กับเงินที่ปันผลออกมา ดังนั้นเราจะเห็นว่า กองทุนแบบปันผล มูลค่าหน่วยลงทุนมักไม่ค่อยเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เพราะต้องหักเงินส่วนหนึ่งออกมาปันผล
มาดูกองทุนแบบไม่ปันผลบ้าง
กองทุนแบบไม่ปันผลนั้น บลจ. ก็จะเขียนว่า เป็นกองทุนแบบสะสมมูลค่า หรือมี “(A)” ต่อท้ายชื่อกองทุน แบบนี้ก็ตามชื่อเลย เพราะกำไรต่างๆ ที่กองทุนทำได้ ผู้จัดการกองทุนสามารถนำเงินนั้นไปลงทุนต่อให้เราได้เลย ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นพลังของดอกเบี้ยทบต้นจากการลงทุนในกองทุนนั้นๆ ได้ชัดเจนขึ้น ดังนั้นถ้าเราต้องการเงินออกมาจากกองทุน เราต้องสั่งขายหน่วยลงทุน ซึ่ส่วนต่างกำไร (capital gain) นั้นไม่เสียภาษี
ซึ่งบางคนก็ชอบแบบสะสมไปเรื่อยๆ แต่บางครั้งถ้าตลาดผันผวนในทิศทางลง เราอาจไม่สบายใจและรู้สึกว่า น่าจะขาไปก่อนหน้านี้เพื่อให้ได้เงินกำไรออกมาบ้าง
แล้วมีกองแบบไหนไหมที่เหมือนได้เงินออกมาระหว่างทางที่ลงทุน แต่ไม่ต้องถูกหักภาษี??
จึงมีกองทุนแบบ auto-redemption ซึ่งก็คือ กองทุนที่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ กองทุนแบบนี้ บางครั้งเขาก็จะมีวงเล็บท้ายชื่อกองทุนด้วย “(R)” ซึ่งกองทุนลักษณะนี้เขาก็เขียนนโยบายไว้ว่า จะทำการ auto-redemption เมื่อไหร่ เพื่อที่จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้เงินออกมาในระหว่างทาง ซึ่งเงินที่ได้ออกมาจะเป็นเงินส่วนต่างกำไร (Capital gain) จึงไม่ถูกหักภาษี
เช่น ตัวอย่างเดิม เป็นกองทุนที่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ
กองทุนจะขายคืน 50% ของกำไร แบบตัวอย่างข้างต้น (เพราะมูลค่าหน่วยลงทุน เพิ่มมา 2 บาท ปันผล 1 บาท คือ 50% ของกำไร) กองจะทำการขายคืนหน่วยลงทุนออกไป= 20,000 บาท หารด้วยราคาต่อหน่วย 12 บาท = 1,666.83 หน่วย
ดังนั้นหน่วยลงทุนของมานะ จะเหลือ 20,000- 1666.83 = 18,333.17 หน่วย แต่มูลค่าหน่วยลงทุน จะเท่าเดิม คือ 12 บาท และมานะจะได้เงินถึงมือประมาณ 20,000 บาท อาจมีถูกหักค่าธรรมเนียมเวลาที่มีการขายคืน แต่ไม่ต้องถูกหักภาษี
ดังนั้นถ้าเราลงทุนในกองทุนรวมแบบ auto-redemption นั้น มูลค่าหน่วยลงทุนจะไม่ได้ลดลง แต่จำนวนหน่วยลงทุนเราจะลดลง เมื่อกองทุนมีการทำ auto-redemption
ได้สรุปเป็นตารางให้เข้าใจได้ง่ายๆ และเห็นภาพรวมมากขึ้น ส่วนเรื่องว่า เป็นกองทุนลักษณะไหน อาจเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาในการเลือกกองทุนรวม แต่ในการลงทุุนกองทุนรวมนั้น ต้องพิจารณาในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องของผลงานที่ผ่านมา และค่าธรรมเนียม ดัวยนะ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#กองทุนรวม
#กองทุนแบบปันผล
#กองทุนแบบไม่ปันผล
#กองทุนขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ
#AutoRedemption
โฆษณา