2 ส.ค. 2021 เวลา 09:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Sputnik Moment ของจีน
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
เมื่อตอนที่สหภาพโซเวียตยิงดาวเทียมดวงแรกของโลกชื่อ “สปุตนิค” ขึ้นไปโคจรในอวกาศนั้น ได้เกิดเป็นกระแส “Sputnik Moment” ขึ้นในสังคมสหรัฐฯ
เมื่อคนอเมริกันเปิดโทรทัศน์เห็นภาพความก้าวหน้าด้านอวกาศของสหภาพโซเวียต ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันในสังคมว่า หากสหรัฐฯ ไม่รีบพัฒนาเทคโนโลยี สุดท้ายอาจต้องยกธงขาวให้สหภาพโซเวียตในอนาคต
ความรู้สึกกดดัน นำไปสู่การประกาศเป้าหมายจะไปดวงจันทร์ของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ องค์การนาซาของสหรัฐฯ เองทุ่มสุดตัวให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และได้รับการสนับสนุนไม่อั้นจากรัฐบาล
การพัฒนาเทคโนโลยีวงจรรวม (Integrated Circuit) ของสหรัฐฯ ในทศวรรษ 1960 จนสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของโลก ก็มาจากการทุ่มเงินไม่อั้นของลูกค้ารายใหญ่ คือ นาซา ที่ต้องการพัฒนาชิปที่ประมวลผลได้รวดเร็วเพียงพอที่จะยิงจรวดไปดวงจันทร์
บัดนี้ คำว่า “Sputnik Moment” เป็นคำที่ใช้แพร่หลายในวงการเทคโนโลยีของจีนเช่นเดียวกัน โดยหมายถึง จุดที่กดดันว่า หากไม่ปรับตัวและเร่งพัฒนา จะตกขบวนและพ่ายแพ้แก่คู่แข่ง
1
ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา หลายคนเปรียบเทียบสงครามเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ กดดันจีนว่าเป็นเสมือน “Sputnik Moment” ของประชาชาติจีน
1
หากจีนไม่เริ่มคิดเองจาก 0 ไป 1 เอาแต่เก่งในเรื่อง “copy and development” จาก 1 ไป 2 เช่นที่ผ่านมา ถึงวันหนึ่งเมื่อสหรัฐฯ ไม่ยอมให้จีนใช้เทคโนโลยีพื้นฐาน บริษัทจีนก็จะล้มพังเป็นลูกโซ่ เพราะเป็นปราสาททรายของจริง ตั้งอยู่บนรากฐานเทคโนโลยีที่ตนเองไม่ใช่คนคิดค้นและไม่ได้เป็นเจ้าของ
2
ความคิดว่าต้องพยายามพัฒนาพื้นฐานเทคโนโลยีด้วยตนเองเป็นความคิดใหม่ สมัยก่อน แม้ว่ารัฐบาลจีนจะย้ำถึงความสำคัญที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง แต่ไม่มีบริษัทเทคโนโลยีจีนเอาด้วย เพราะซื้อของฝรั่งมาพัฒนาต่อยอดถูกกว่าและมีประสิทธิภาพกว่า
1
แดน หวาง นักวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีจีนชื่อดัง ได้อธิบายในบทความล่าสุดในวารสาร Foreign Affairs ว่า ในอดีตนั้น ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีของรัฐบาลจีนและรัฐวิสาหกิจจีนจริงๆ แล้วไม่ค่อยออกดอกผลเท่าไหร่
1
ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี 5.0 ของจีนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเอกชน และส่วนใหญ่เป็นความก้าวหน้าในระดับเทคโนโลยีประยุกต์ ไม่มีความแข็งแกร่งในเรื่องเทคโนโลยีระดับรากฐาน
2
แต่การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาห้ามไม่ให้บริษัทสหรัฐฯ หรือบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ขายเทคโนโลยีให้กับบริษัทจีน กำลังทำให้เกิดผลตรงกันข้ามกับที่สหรัฐฯ คาดหวัง เพราะกลับบีบให้ภาคเอกชนจีนหันมาร่วมมือกับรัฐบาลจีนในการยืนบนลำแข้งตนเองให้ได้ในทางเทคโนโลยี
3
แดน หวางเปรียบเทียบอย่างคมคายว่า เสมือนผลักให้หัวเว่ยเล่นบทเหมือนองค์การนาซาในทศวรรษ 1960 ที่ตอนนั้นนาซากลายมาเป็นผู้ซื้อและผู้สนับสนุนรายใหญ่ให้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน วันนี้หัวเว่ยเองก็พร้อมทุ่มไม่อั้นเพื่อสนับสนุนบริษัทเซมิคอนดัคเตอร์ของจีนให้ทลายวงล้อมของสหรัฐฯ ให้ได้
2
ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ที่การมีดีมานด์ เพราะหากเทคโนโลยีนั้นไม่มีตลาด ก็ไม่มีเงินรายได้มาทุ่มกลับให้กับการทำการวิจัยคิดค้น (R&D) ต่อไปได้
1
แต่เดิมอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของจีนไม่มีดีมานด์ เพราะแม้แต่บริษัทจีนเองก็ยังซื้อชิปจากต่างประเทศ ไม่ใช้ของจีน จึงแทบไม่มีความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของจีนจะพัฒนาขึ้นมาได้
แต่วันนี้นโยบายกดดันจีนของสหรัฐฯ กลับเท่ากับบีบให้เกิดดีมานด์แก่บริษัทจีนเหล่านี้ ทำให้บริษัทเทคโนโลยีจีนต่างต้องส่งเสริมกันเองและสร้างห่วงโซ่ที่สมบูรณ์ภายในจีน
การเดิมพันของสหรัฐฯ คือมองว่า การสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์ชั้นแนวหน้าและวัฒนธรรมเปิดและเสรี สิ่งเหล่านี้มีพร้อมในสหรัฐฯ แต่ไม่มีในจีน เพราะคนจีนที่เก่งที่สุดต่างก็ยังเลือกไปทำงานในสหรัฐฯ
แต่ในช่วงนี้บรรยากาศต่อต้านจีนในสหรัฐฯ รวมทั้งการปิดกั้นนักศึกษาจีนหรือระแวงว่าบางคนอาจเป็นสายลับรัฐบาล ก็น่าจะทำให้เกิดปรากฎการณ์สมองไหลกลับเข้าจีนไม่น้อย
1
และหากดูประวัติศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีในอดีตแล้ว เราแทบไม่เคยเห็นว่าประเทศมหาอำนาจใดหรือบริษัทใดที่สามารถผูกขาดและเป็นผู้นำเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้ตลอด โดยไม่มีคู่แข่งหรือไม่ถูกล้มยักษ์
1
ถ้าเป็นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ กรณีศึกษาที่ชวนคิดเช่นศึกระหว่างบริษัท Intel กับบริษัท ARM หากย้อนเวลาไปไม่กี่ปี ทุกคนในวงการจะทราบว่า Intel เป็นผู้ครองตลาดและมีเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าที่สุด แทบจะมองไม่เห็นโอกาสที่จะมีผู้เล่นรายอื่นขึ้นมาเป็นคู่แข่งได้ แต่ทราบไหมครับว่าวันนี้ชิปในสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ Intel แต่ใช้เทคโนโลยีของบริษัทน้องใหม่ม้ามืดอย่าง ARM
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ARM สามารถเปลี่ยนเกม โดยมาเน้นที่ต้นทุนถูก ประหยัดพลังงาน และเน้นตอบโจทย์ความต้องการของสมาร์ทโฟน โดยเปิดให้บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสามารถพัฒนาจากฐานเทคโนโลยีของ ARM ได้อีกด้วย
ข้อคิดจากเรื่องนี้ที่เล่าปลุกใจกันในวงการเทคโนโลยีของจีนก็คือ จีนมีโอกาสที่จะทลายวงล้อมเทคโนโลยีสหรัฐฯ และปฏิวัตินวัตกรรมใหม่ได้ หากจีนพยายามมองลู่ทางหรือโมเดลใหม่เหมือนที่ ARM เคยทลายวงล้อมของ Intel ได้สำเร็จ
2
กลับมามองที่สหรัฐฯ หลายคนบอกว่าบัดนี้เป็น “Sputnik Moment” ของสังคมสหรัฐฯ อีกครั้งเช่นกัน
เมื่อสหรัฐฯ เห็นจีนเริ่มขยับขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 หายใจรดต้นคอเบอร์ 1 ในหลายอุตสาหกรรมเทคโนโลยียุคใหม่ จนประธานาธิบดีไบเดนออกมาประกาศเป้าหมายยืนหยัดการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซมิคอนดัคเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ แบตเตอรี่ยุคใหม่ โทรคมนาคม 5G ฯลฯ พร้อมกับออกแผนการทุ่มเงินมหาศาลโดยรัฐบาลในการวิจัยและคิดค้นเพื่อปฏิวัตินวัตกรรมอีกรอบให้จีนตกขบวน
ศึกนี้ผลแพ้ชนะคงออกมาแตกต่างกันในแต่ละสมรภูมิ คงถึงจุดที่ยากที่ฝั่งใดจะชนะได้ในทุกเทคโนโลยี
แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน คือ ทั้งสองฝ่ายจะพึ่งพิงภายในห่วงโซ่บริษัทเทคโนโลยีของตนมากขึ้น แนวโน้มจะเกิดเป็นสองห่วงโซ่เทคโนโลยี ในขณะเดียวกัน สปีดของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็จะทวีความเร็วขึ้นจากการวิ่งแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างสองมหาอำนาจ
แล้วไทยหรือบริษัทไทยเองมี “Sputnik Moment” กันบ้างหรือยังครับ หรือยังค่อยเป็นค่อยไปไว้ค่อยปรับเช่นเดิม
2
โฆษณา