2 ส.ค. 2021 เวลา 09:45 • กีฬา
ไม่มีเรื่องไหน ในโอลิมปิกที่จะร้อนแรง เท่าเหตุการณ์ "แบ่งเหรียญทอง" ในกีฬากระโดดสูง
4
เกิดอะไรขึ้นกับ จานมาร์โก ตัมเบรี่ และ มูตาซ บาร์ชิม ชายสองคนที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักกระโดดสูงอันดับ 1 ของโลก แต่สุดท้ายพวกเขาตัดสินใจยอมเป็น "ที่ 1 ร่วม" วิเคราะห์บอลจริงจัง จะเล่าแบ็กกราวน์ของเรื่องนี้ให้ฟัง
4
จานมาร์โก ตัมเบรี่ เกิดในครอบครัวนักกระโดดสูง คุณปู่บรูโน่ เป็นนักกระโดดสูงทีมชาติอิตาลี เช่นเดียวกับคุณพ่อมาร์โกก็เป็นนักกระโดดสูงทีมชาติเช่นกัน
ตัมเบรี่ จึงเติบโตมาด้วยพื้นฐานนักกีฬาที่ดี จริงๆเขาชอบเล่นบาส และเป็นแฟนของฮุสตัน ร็อคเกตส์ แต่สุดท้ายลูกไม้ก็หล่นไม่ไกลต้น เขาตัดสินใจเลือกเล่นกระโดดสูงตามคุณปู่ และคุณพ่อ
คุณพ่อของตัมเบรี่ เคยไปแข่งโอลิมปิกที่มอสโกในปี 1980 ได้อันดับ 15 แต่จากนั้นก็ไม่ได้ไปแข่งอีก เพราะโดนรถบรรทุกชนจนบาดเจ็บหนักต้องรีไทร์ไป อย่างไรก็ตาม เขาก็เอาความรู้ที่ตัวเองมีมาถ่ายทอดให้ลูกชาย พร้อมส่งต่อความหวังว่าสักวัน ลูกชายอาจเป็นคนแรกของตระกูลที่ไปถึงเหรียญโอลิมปิกได้
2
จานมาร์โก ตัมเบรี่ เป็นคนมีพื้นฐานกีฬาที่ดีก็จริง แต่ในช่วงต้นๆ ของอาชีพ เขาไม่ค่อยโด่งดังเท่าไหร่ เพราะมีผู้เล่นเจเนเรชั่นเดียวกัน ที่โดดเด่นกว่าอย่างเห็นได้ชัดมาก คนคนนั้น คือมูตาซ บาร์ชิม นักกระโดดสูงชาวกาตาร์
1
บาร์ชิม เกิดปี 1991 ส่วนตัมเบรี่เกิดปี 1992 อายุห่างกันไม่ถึง 1 ปี ทั้งสองคนจึงเป็นคู่ปรับกันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็มักจะเป็นบาร์ชิมที่ทำผลงานได้ดีกว่าเสมอ
1
ตัวอย่างเช่นในปี 2012 ในขณะที่ตัมเบรี่มีเวิลด์แรงค์กิ้ง อยู่อันดับ 100 ของโลก และได้อันดับ 21 ในโอลิมปิกที่ลอนดอน แต่บาร์ชิมไปไกลถึงขนาดได้เหรียญทองแดงโอลิมปิกมาแล้ว ดังนั้นในสายตาของตัมเบรี่ ก็มีบาร์ชิมนี่แหละ ที่เป็นแรงผลักดันให้เขาพัฒนาฝีมือขึ้น
1
ในปี 2014 บาร์ชิมไปสู่จุดสูงสุด เริ่มจากคว้าเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ที่อินชอน ตามด้วยคว้าแชมป์โลกในรายการเวิลด์ อินดอร์ แชมเปี้ยนชิพ โดยกระโดดได้สูงถึง 2.38 เมตร ก่อนปิดท้ายด้วยแชมป์ไดอาม่อนด์ ลีก ที่บรัสเซลล์ ด้วยความสูงที่เหลือเชื่อมาก นั่นคือ 2.43 เมตร
โดยสถิติโลกตลอดกาลของกระโดดสูง เป็นของฮาเวียร์ โซโตมายอร์ จากคิวบา ที่ 2.45 เมตร ที่ทำไว้ในปี 1989 และจากนั้นมา ไม่เคยมีมนุษย์คนไหน ใกล้เคียงกับสถิตินั้นอีกเลย จนมาบาร์ชิมนี่แหละ ที่เข้าใกล้สถิติโลกได้มากขนาดนั้น
3
ไม่ว่าจะลงแข่งรายการไหน บาร์ชิมเก็บเรียบ ซึ่งด้วยผลงานขนาดนี้ ใครๆก็บอกว่า ไม่ช้าก็เร็ว บาร์ชิมคนนี้ จะคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้อย่างแน่นอน เพราะในเจเนเรชั่นใกล้ๆกัน เขาคือเบอร์ 1 แล้ว
1
บาร์ชิมอธิบายเคล็ดลับว่า "กระโดดสูงเป็นกีฬาที่พิเศษ ผมคิดว่ามันเป็นเหมือนงานศิลป์ กล่าวคือคุณต้องต่อจิ๊กซอว์ทุกอย่างเข้าด้วยกัน คุณต้องการความเร็วเพื่อวิ่งเข้ามาก่อนกระโดด แต่ก็ห้ามเร็วมากเกิน คุณต้องการพลังในการเทกตัว แต่ก็ออกแรงเกินไม่ได้ กีฬาชนิดนี้ แข็งแรงกว่า ไม่ได้แปลว่าจะชนะ แต่คุณต้องมีเทคนิคที่สมบูรณ์จริงๆ"
20
ในขณะที่โลกจับตาบาร์ชิม ทางฝั่งตัมเบรี่ ก็พัฒนาฝีมือขึ้นมาอย่างน่าประทับใจ จากที่เคยกระโดดได้สูงแค่ 2.21 เมตรในโอลิมปิกที่ลอนดอน แต่เวลาผ่านไป เขาค่อยๆ ทำความสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นนักกีฬาแถวหน้าคนหนึ่งของยุโรป โดยในปี 2016 ตัมเบรี่ ถึงจุดพีกของตัวเอง ด้วยการคว้าแชมป์เวิลด์ อินดอร์ ที่สหรัฐฯ ด้วยความสูง 2.36 เมตร
4
จากดาวรุ่งที่ไม่ค่อยมีคนจับตา ตัมเบรี่เก่งขึ้น มั่นใจขึ้น และกลายเป็นนักกระโดดสูงในกลุ่ม Elite ของโลก
2
บาร์ชิมก็เก่ง ตัมเบรี่ก็เยี่ยม เท่ากับว่า ณ เวลานี้ โลกกำลังจับตามองอยู่ว่า ระหว่างสองคนนี้ ที่เกิดในเจเนเรชั่นเดียวกันและกำลังท็อปฟอร์มเหมือนกัน ใครกันแน่ ที่จะเป็นคนกำชัยในโอลิมปิกที่ริโอ เด จาเนโร
7
ก่อนแข่งโอลิมปิกที่ริโอ 3 สัปดาห์ ในการแข่งรายการสุดท้ายที่โมนาโก ตัมเบรี่อยู่ในฟอร์มที่ดีมาก เขากระโดดผ่าน 2.39 เมตร ได้อย่างสวยงาม ทำสถิติกระโดดสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศอิตาลี
3
แม้จะทำลายสถิติของประเทศแล้ว จริงๆ เขาสามารถหยุดแค่นั้นได้ แต่ตัมเบรี่กำลังมั่นใจ จึงขอไปต่อเพื่อทำสถิติเพิ่ม และเรียกความสูงเพิ่มเป็น 2.41 เมตร
1
แต่ในการกระโดดครั้งนี้ ทุกอย่างมันผิดพลาดไปหมด ตัมเบรี่กระโดดแล้วลงผิดจังหวะ จนเอ็นข้อเท้าซ้ายฉีกขาด และแพทย์ยืนยันว่าต้องพักยาว 4 เดือน
5
ตัมเบรี่กล่าวว่า "ตอนคุณรู้สึกดีๆ ว่าคุณทำสถิติได้แน่ คุณก็ต้องลอง มันไม่มีทางจินตนาการได้หรอก ว่าสุดท้ายตัวเองต้องมาบาดเจ็บแบบนั้น"
แน่นอนว่าการเจ็บ 4 เดือน ทำให้เขาพลาดไปแข่งขันโอลิมปิก และต้องเข้าเฝือกที่ขาซ้าย ซึ่งทันทีที่แพทย์คอนเฟิร์มแล้วว่า เขาหมดสิทธิ์แข่งที่ริโอ 100% ตัมเบรี่ โพสต์ในอินสตาแกรมว่า "ลาก่อนริโอ ตอนนี้ฉันทำได้แค่นอนร้องไห้"
4
เมื่อไม่มีตัมเบรี่ ชื่อของบาร์ชิม จึงกลายเป็นตัวเต็งทันที โดยแอธเลติก วีคลี่ นิตยสารกรีฑาชื่อดัง ได้ฟันธงก่อนการแข่งที่ริโอจะเริ่มว่าใครจะได้เหรียญทอง ซึ่งก็ฟันธงว่า มูตาซ บาร์ชิม ไม่พลาดแน่ โดยอาจจะมีบอนดาเรนโก้ของยูเครน และ ดรูอิน ของแคนาดาเป็นตัวสอดแทรก
2
อย่างไรก็ตาม ก่อนแข่งมีนักข่าวไปถามตัมเบรี่ว่า ใครจะได้เหรียญทองในโอลิมปิกที่ริโอ เขาตอบว่า "ตัวเต็งของผมคือบอนดาเรนโก้ ส่วนคนที่น่าจะสอดแทรกได้คือ ดรูอิน จากแคนาดา, กาซาลจากซีเรีย และ คีนาร์ด จากอเมริกา ส่วนบาร์ชิม ผมว่าไม่มีเหรียญ"
1
ด้วยคำตอบแบบนี้ คนก็เอาไปจับประเด็นกันใหญ่ว่า ตัมเบรี่ไม่ชอบหน้าบาร์ชิมหรือเปล่า ทำไมคิดว่าบาร์ชิมที่เป็นแชมป์โลก จะไม่มีเหรียญในริโอได้ล่ะ
การแข่งขันที่ริโอ เริ่มต้นขึ้น บาร์ชิมทำผลงานได้ตามมาตรฐาน กระโดดผ่านทุกครั้งจนถึงระยะ 2.36 เมตร
1
แต่เมื่อถึงระยะ 2.38 เมตร ด้วยความกดดันกับความคาดหวังในฐานะตัวเต็ง ทำให้เขาช็อต หลุดฟอร์มไปดื้อๆ กระโดดไม่ผ่านทั้งสามครั้ง ส่งผลให้ดรูอิน จากแคนาดาที่กระโดดระยะ 2.38 เมตรผ่าน ได้เหรียญทองไปเลย ปล่อยให้บาร์ชิมได้แค่เหรียญเงินเท่านั้น
4
จริงๆ เหรียญเงินก็ถือว่าน่าดีใจ เพราะเขาเป็นนักกีฬาคนแรกของประเทศกาตาร์ที่คว้าเหรียญเงินโอลิมปิกได้ แต่เจ้าตัวไม่ได้แฮปปี้นัก เพราะต้องการเป็นอันดับ 1 เท่านั้น
3
บาร์ชิมกล่าวว่า "ผมต้องการสร้างประวัติศาสตร์ เป้าหมายของผมคือเหรียญทอง ความฝันของผมมีอย่างเดียว คือแท่นยืนสูงสุดบนโพเดี้ยม"
6
ลอนดอน 2012 ได้ทองแดง จากนั้นริโอ 2016 ได้เหรียญเงิน เป้าหมายของบาร์ชิมในโตเกียว 2020 ชัดเจนมากว่าต้องเหรียญทองเท่านั้น "นั่นคือเป้าหมายเดียวที่ผมวางไว้ จริงอยู่ว่าการทำลายสถิติโลก อาจเป็นสิ่งที่ทุกคนในโลกปรารถนาถึง แต่สำหรับผม เกียรติยศที่สูงที่สุดคือเหรียญทองโอลิมปิก"
5
หลังจบโอลิมปิกที่ริโอ ได้พักใหญ่ ตัมเบรี่เอาเฝือกที่ข้อเท้าซ้ายออก โดยบนเฝือกเขาเขียนคำว่า ROAD TO TOKYO 2020 เป็นการเตือนใจตัวเองว่า เขาต้องไม่ยอมถอดใจง่ายๆ และกลับมาลุ้นเหรียญทองให้ได้ ในโอลิมปิกครั้งหน้า
8
แต่ความยากคือ หลังจากหายเจ็บ เขาต้องกลับมารื้อฟื้นใหม่ และใช้เวลานานมาก กว่าที่ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง
1
อย่างในปี 2017 การแข่งชิงแชมป์โลกที่ลอนดอน เขากระโดดได้เพียงแค่ 2.29 เมตรเท่านั้น และได้อันดับ 13 ซึ่งถ้าคุณคิดจะได้เหรียญโอลิมปิก ต้องกระโดดสูงในระดับ 2.36 ขึ้นไป แค่ 2.29 เมตร ไม่มีหวังจะได้เหรียญอะไรหรอก
2
ตัมเบรี่ ทั้งเครียด ทั้งกลุ้มใจกับผลงานอันย่ำแย่ของตัวเอง และนี่เอง ที่เป็นจังหวะที่ ตัมเบรี่ได้มารู้จักกับบาร์ชิมอย่างจริงๆจังๆ จากที่เมื่อก่อน เป็นแค่เพื่อนร่วมอาชีพ และคู่แข่งกันเท่านั้น
5
ตัมเบรี่เล่าว่า "ผมจำได้ว่าตอนที่ไปแข่งที่ปารีส แล้วมีผลการแข่งขันที่เลวร้ายมาก ผมรีบกลับห้องพัก เข้าไปนอนแล้วไม่อยากคุยกับใครเลย แต่มูตาซ มาเคาะประตูห้องผม แล้วตะโกนว่า 'จิมโบ้ จิมโบ้ ขอร้อง ฉันมีเรื่องอยากคุยกับนาย' พอเขาพูดแบบนั้นผมเลยเปิดประตูห้องให้เขาเข้ามา"
1
"เขาบอกผมว่า 'นายอย่าใจร้อนสิ นายเพิ่งเจ็บหนักมา แล้วรีบกลับมาแข่งทันที อย่าไปกดดันตัวเองมากขนาดนั้น จำไว้ นายอย่าไปแบกรับความคาดหวังของใคร นายแค่ต้องทำเพื่อตัวเอง เพราะฉะนั้น ใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบ ไปตามจังหวะของตัวเอง' "
16
เมื่อตัมเบรี่รับฟัง เขาก็ค่อยๆ มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นกว่าเดิม และจากจุดนั้นมา ตัมเบรี่ก็สนิทกับบาร์ชิมขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นคู่แข่งกัน ทั้งสองคนก็เริ่มซ้อมด้วยกัน และโทรคุยกันเรื่อยๆ ทุกสัปดาห์ เพื่ออัพเดทความเคลื่อนไหว แนะนำเทคนิคระหว่างกัน ไปๆ มาๆ กลับสนิทกันเฉยเลย
5
ตัมเบรี่เชื่อในสิ่งที่บาร์ชิมบอก เขาค่อยๆ ไปตามจังหวะของตัวเอง และผลงานก็ดีขึ้นอีกครั้ง จนในที่สุดก็กลับมากระโดดได้สูงถึง 2.38 เมตรอีกครั้ง ในที่สุดเขาก็พร้อมแล้ว ที่จะไปแข่งในโอลิมปิก ที่โตเกียวในปี 2020
5
แต่ยังไม่ทันที่จะได้ไปแข่ง ความโชคร้ายก็มาถึง เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด จนผู้จัดโอลิมปิกแจ้งว่าขอดูสถานการณ์ก่อนว่าจะแค่เลื่อนหรือต้องยกเลิกไปเลย
ตัมเบรี่กล่าวว่า "ผมรอคอยโอลิมปิกมา 8 ปี ตอนที่รู้ว่าการแข่งขันเลื่อนและอาจโดนยกเลิก ผมหัวใจแทบหยุดเต้น เพราะอาจไม่มีโอกาสลงแข่งอีกแล้ว" แต่สุดท้ายโชคดีของตัมเบรี่ ที่การแข่งแค่เลื่อนเท่านั้น ทำให้เขาต้องรักษาสภาพความฟิตของตัวเองเอาไว้ เพื่อให้พร้อมที่สุดในการแข่งปี 2021
2
เฝือกที่เขาใส่ในปี 2016 ที่เขียนไว้ว่า ROAD TO TOKYO 2020 ตัมเบรี่จึงขีดฆ่าเลข 2020 แล้วเขียนทับไปใหม่ว่า 2021 เขารอมานานแล้ว อีกแค่ปีเดียวเขาทนได้
2
เข้าสู่ปี 2021 ตัมเบรี่ กำลังมั่นใจสุดขีด เขาคว้ารองแชมป์ยุโรปที่โปแลนด์ ด้วยสถิติ 2.35 เมตร คือก็ถือว่าพอใช้ได้ ตอนนี้พร้อมแล้วที่จะไปแย่งชิงเหรียญทอง ที่โตเกียว
3
แต่เคราะห์ร้ายก็ยังไม่หมด เพราะก่อนโอลิมปิกเริ่มไม่กี่เดือน ตัมเบรี่ติดเชื้อโควิด-19 จนมีข่าวว่าอาจจะหายไม่ทันไปแข่งไม่ทัน
2
เรียกได้ว่า คนเราอะไรจะซวยซ้ำซวยซ้อนขนาดนั้น ก่อนริโอก็เจ็บ ปีก่อนร่างกายพร้อมๆ ก็เลื่อนแข่ง จากนั้นก็มาติดโควิดก่อนโอลิมปิกที่โตเกียวอีก ดวงชะตาจะไม่ให้เขาได้ลงแข่งเลยจริงๆใช่ไหม
1
ตัมเบรี่ไข้ขึ้นสูง 39.9 องศา และปวดหัวอย่างหนัก จนร่างกายหมดสภาพ กว่าเชื้อจะหายขาด ก็ใช้เวลานานมาก แต่โชคดีที่ยังหายทันก่อนโอลิมปิกจะเริ่มเล็กน้อย
ในที่สุด หลังจากพลาดการดวลกันในริโอ 2016 ตัมเบรี่ ได้โอกาสมาดวลกับคู่ปรับ และเพื่อนสนิทของเขา นั่นคือบาร์ชิม ที่โตเกียว 2020
5
สำหรับบาร์ชิม หลังจบโอลิมปิกที่ริโอ ชีวิตของเขาก็ไม่ได้สวยงามด้วยกลีบกุหลาบขนาดนั้น นั่นเพราะเขาได้รับบาดเจ็บหนักที่บริเวณข้อเท้า ในการแข่งขันที่ฮังการีในปี 2018 และต้องพักยาว 1 ปีเต็ม
5
เหตุการณ์เกิดขึ้น เพราะบาร์ชิมกระโดดคว้าเหรียญทองไปแล้วที่ระยะ 2.40 เมตร ดังนั้นเขาจึงต้องการทำลายสถิติโลก ที่ความสูง 2.46 เมตร แต่ไม่สามารถทำได้ และข้อเท้าลงผิดจังหวะ จนได้รับบาดเจ็บจนต้องพักยาว
3
แต่บาร์ชิมก็ค่อยๆ ใช้เวลา ฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บ และกลับมาคว้าแชมป์โลกที่โดฮาในปี 2019 ดังนั้นเขาจึงมาแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียวอย่างมั่นใจ
1
สิ่งที่ตัมเบรี่ กับ บาร์ชิมรู้ดี นั่นคือ นี่เป็นโอกาสสุดท้ายของทั้งคู่แล้ว ในการจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิก
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? เพราะประวัติศาสตร์ของกระโดดสูงชาย ไม่เคยมีนักกีฬาคนไหน ที่อายุมากกว่า 30 ปี แล้วคว้าเหรียญทองได้ เพราะถึงแม้กีฬานี้จะใช้เทคนิคเยอะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณต้องมีพลังในการกระโดดเช่นเดียวกัน และยิ่งอายุเยอะ พลังเหล่านี้ก็จะลดลงไปเรื่อยๆ
2
นั่นแปลว่าด้วยอายุของตัมเบรี่ (29 ปี) และ บาร์ชิม (30 ปี) ถ้าไม่ได้เหรียญทองครั้งนี้ ก็คงหวังครั้งต่อไปยากแล้ว อีก 3 ปีข้างหน้าที่ปารีส ทั้งคู่จะมีอายุเพิ่มขึ้นเป็น 32 ปี และ 33 ปีตามลำดับ ก็ดูจะไม่แข็งแกร่งพอ ที่จะชนะในโอลิมปิกได้แล้ว
10
เดิมพันของทั้งสองคนก็มีสูงลิบพอๆ กัน ฝั่งตัมเบรี่ เขาคือความหวังของครอบครัว สิ่งที่คุณปู่ และคุณพ่อไม่เคยทำได้ เขาอยากจะไปไกลที่สุด ถึงเหรียญทองโอลิมปิกไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่เพื่อวงศ์ตระกูลด้วย
3
ส่วนบาร์ชิมนั้น ก่อนโอลิมปิกที่โตเกียวจะเริ่ม กาตาร์ ยังไม่เคยได้เหรียญทองจากกีฬาอะไรเลยแม้แต่เหรียญเดียว ดังนั้นเขาจึงเป็นความหวังของคนทั้งประเทศ ถ้าไม่ได้เหรียญคราวนี้ คนกาตาร์จะต้องรอคอยไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้
3
ชื่อ มูตาซ (Mutaz) ในภาษาอารบิก แปลได้ว่า Pride (ศักดิ์ศรี) ดังนั้นฉายาของมูตาซ บาร์ซิม คือ The Pride of Qatar นี่คือตัวแทนแห่งศักดิ์ศรีและความภูมิใจของประเทศ เขาคือฮีโร่ของชาติ และฮีโร่ของชาติก็ควรสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองให้ได้ด้วย
6
ทั้งคู่ต่างมีเหตุผลของตัวเอง และเหตุผลที่น่าสนใจอีกอย่าง คือพวกเขาต้องการจะวัดกันไปเลยด้วย ว่าในบรรดานักกระโดดสูงเจเนเรชั่นเดียวกัน ใครกันแน่ ที่ควรจะเป็นอันดับ 1 ตัวจริง
1
ถามว่าทั้งสองคนเกลียดชังกันไหม แม้จะเป็นคู่แข่งของกันและกันขนาดนี้ คำตอบคือไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะทั้งคู่สนิทกันมากๆ ยิ่งเคยเจออาการบาดเจ็บแบบเดียวกัน ยิ่งกลายมาเข้าอกเข้าใจกันดี
4
บาร์ชิมกล่าวว่า "ผมกับตัมเบรี่ เราอาจเป็นนักกระโดดสูงแค่ 2 คนบนโลก ที่ต้องต่อสู้กับอาการบาดเจ็บที่หนักที่สุดของกีฬาชนิดนี้" ดังนั้นมันจึงมีมิตรภาพที่งอกงามเกิดขึ้นระหว่างกัน ทั้งคู่เรียกกัน "Bro" ตลอด
4
อย่างในเดือนมิถุนายน ในการแข่งไดอาม่อนด์ ลีกที่อิตาลี ซึ่งเป็นรายการอุ่นเครื่องก่อนโอลิมปิก ตัมเบรี่ก็ยังชวนบาร์ชิมไปกินข้าวกับครอบครัว คือทั้งคู่สนิทกันไม่ใช่แค่ในสนาม แต่เป็นวิถีชีวิตนอกสนามด้วย
4
แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ ในบรรยากาศของความเป็นเพื่อน ก็มีความรู้สึกแข่งขันกันด้วย พวกเขาทั้งคู่ ต่างอยากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้นมันเป็นความสัมพันธ์ที่มีความซับซ้อนพอสมควร
1 สิงหาคม 2021 ในที่สุดวันชี้ชะตาก็มาถึง ศึกกระโดดสูงชาย มี 2 คน คือมูตาซ กับ ตัมเบรี่ นี่ล่ะ ที่ไล่บี้กันมาตลอดทางอย่างเข้มข้น
1
2.24 เมตร - กระโดดทีเดียวผ่าน ทั้งคู่
2.27 เมตร - กระโดดทีเดียวผ่าน ทั้งคู่
2.30 เมตร - กระโดดทีเดียวผ่าน ทั้งคู่
1
2.33 เมตร - กระโดดทีเดียวผ่าน ทั้งคู่
2.35 เมตร - กระโดดทีเดียวผ่าน ทั้งคู่
2.37 เมตร - กระโดดทีเดียวผ่าน ทั้งคู่
1
ตอนนี้นักแข่งคนอื่นๆ ร่วงตกรอบไปหมดแล้ว ส่วนใหญ่จะไปตาย ในความสูง 2.37 เมตร เหลือรอดมาแค่ 3 คน คือ ตัมเบรี่, บาร์ชิม และอีกคนคือ มักซิม เนดาเซเกา จากเบลารุส โดยทั้งสามคนเริ่มต้นแข่งขันในความสูง 2.39 เมตร
1
เนดาเซเกา กระโดด 3 ครั้งไม่ผ่าน เป็นที่แน่นอนแล้วว่าเขาได้แค่เหรียญทองแดงเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ มีกระโดดพลาดมาบ้าง ไม่ได้ทีเดียวผ่านเหมือน 2 คนแรก ดังนั้นเหรียญทองจึงเป็นการวัดกันตัวต่อตัว ของตัมเบรี่ กับบาร์ชิม
2
2.39 เมตร ครั้งที่ 1
- บาร์ชิม กระโดดพลาด
- ตัมเบรี่ กระโดดพลาด
2.39 เมตร ครั้งที่ 2
- บาร์ชิม กระโดดพลาด
- ตัมเบรี่ กระโดดพลาด
2.39 เมตร ครั้งที่ 3
- บาร์ชิม กระโดดพลาด
- ตัมเบรี่ กระโดดพลาด
โดยปกติแล้ว มันยากมากที่นักกีฬา 2 คน จะไม่พลาดเลยสักครั้งตลอดการกระโดด แล้วมาพลาดพร้อมกัน 3 ครั้ง ในระยะความสูงเท่ากัน
5
ที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นในโอลิมปิก ดังนั้น ตัวนักกีฬาเองก็ยังไม่แน่ใจว่ามันควรจะตัดสินอย่างไร
1
พอตัมเบรี่พลาดครั้งสุดท้าย เขาเดินเข้าไปกอดกับบาร์ชิม นี่เป็นการต่อสู้กันอย่างยาวนานเหลือเกิน ซึ่งตอนแรกทั้งคู่เข้าใจว่า "ต้องแข่งต่อ" แบบ Sudden Death หาผู้ชนะเหรียญทองแค่คนเดียว
2
ระหว่างที่ทั้งคู่กอดกัน ฝ่ายจัดการแข่งขันเดินมาเพื่อถามทั้งคู่ว่า "พวกคุณจะเลือกอะไร ระหว่าง Jump-Off กับแบ่งเหรียญทองกันไปเลย"
4
Jump-Off คือกฎ Sudden Death ของกระโดดสูง ทั้งคู่ต้องผลัดกันกระโดดคนละที ถ้ามีใครสักคนโดดพลาด แล้วอีกคนโดดผ่าน ก็จบเลย คนชนะก็ได้เหรียญทองไป
ส่วนการแบ่งเหรียญทองนั้น ทั้งคู่ไม่เคยได้ยินกฎนี้มาก่อน จนบาร์ชิม ต้องสะกิดบอกตัมเบรี่ให้ตั้งใจฟัง
1
แม้จะเป็นสถานการณ์ที่เกิดได้ยาก แต่สหพันธ์กรีฑาโลก มีกฎระบุไว้อยู่แล้ว ในข้อ 26.8.4 มีเนื้อความว่า "ถ้าคู่แข่งขันไม่ยอม Jump-Off ให้ยึดผลการแข่งขันอันดับ 1 ไว้ตามที่เป็น" แปลว่า ถ้านักกีฬาทั้ง 2 คนยอมรับ ก็ได้เหรียญทองทั้งคู่ไปเลย แต่ถ้ามีคนใดคนหนึ่งไม่ยอม อยากจะหาที่ 1 แบบคนเดียวให้ชัดๆ ก็ต้องแข่งกันต่อจนกว่าจะหาคนชนะได้
5
"เราสามารถได้เหรียญทองพร้อมกันได้หรือ?" บาร์ชิม ถามผู้จัดการแข่งขัน
1
"ใช่ ถ้าพวกคุณเห็นด้วยตรงกั.. " ซึ่งผู้จัดยังไม่ทันตอบจบประโยค ทั้งบาร์ชิมกับตัมเบรี่ ก็มองหน้ากัน และแท็กมือกันอย่างสะใจสุดขีด ก่อนที่จะสวมกอดกันอย่างมีความสุขที่สุด มันหมายความว่า ทั้งสองคนจะแบ่งเหรียญทองกัน และแชร์โมเมนต์แห่งชัยชนะร่วมกัน
17
หลายคนอาจจะคิดว่า แล้วมันแปลกตรงไหน โอกาสได้เหรียญทองพร้อมกันแบบนี้ ก็ต้องคว้าเอาไว้สิ จะไปเสี่ยงกระโดดทั้งคู่ แล้วมีโอกาสได้เหรียญเงินทำไมล่ะ ถ้าคิดตามคอมม่อนเซนส์ก็น่าจะเป็นแบบนั้น
1
แต่ถ้ามองในมุมของนักกีฬาทั้งสองคน ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็น "ที่สุดของโลก" อยากอยู่จุดสุดยอดในกีฬาประเภทนี้สักครั้งในชีวิต ต้องการเป็นคนเดียวที่ได้ยืนบนจุดสูงสุดของโพเดี้ยม และต้องการให้ธงชาติของตัวเอง อยู่สูงที่สุดเหนือกว่าชาติอื่นๆ
5
การยอมลดโมเมนต์ความยิ่งใหญ่ ที่ควรจะเป็นของตัวเองคนเดียว แล้วแบ่งโมเมนต์เหล่านั้นกับอีกคน พร้อมทั้งยอมถูกเรียกว่า "เจ้าของเหรียญทองร่วม" ไปตลอดชีวิต ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่งทีเดียว
13
เมื่อทั้งคู่กอดกันแล้ว ต่างคนก็ต่างไปดีใจกับกองเชียร์ของตัวเอง บาร์ชิมเข้าไปหยิบธงชาติกาตาร์เอามาโบก ในที่สุดเขาก็ได้เหรียญครบคอลเล็กชั่น ตั้งแต่ทองแดง เงิน และปิดท้ายด้วยทอง ชีวิตการเป็นนักกีฬาของเขาถึงจุดสมบูรณ์แล้ว
5
ขณะที่ตัมเบรี่ ก็สะใจล้มกลิ้งไปกองกับพื้น แล้วโชว์ให้เห็น "เฝือก" ที่เขียนคำว่า ROAD TO TOKYO 2021 เขาเอาติดตัวมาที่ญี่ปุ่นด้วย เพื่อคอยเตือนใจตัวเองว่า จากความเจ็บปวดที่ริโอ เขาไม่ยอมแพ้ และกลับมาคว้าเหรียญทองได้จริงๆ แม้จะไม่มีใครเชื่อมั่นเขาเลยก็ตาม
5
โดยบนอัฒจันทร์นอกจากคู่หมั้นของเขาแล้ว ก็ยังมีคุณพ่อมาร์โกที่บินมาดูความสำเร็จของลูกอยู่ด้วย ในที่สุดความฝันของครอบครัวตัมเบรี่ ก็เป็นจริงแล้ว
3
ต่างคนต่างมีความสุข มันเป็นภาพที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในโอลิมปิก ที่มีคนสะใจพร้อมกันสองคนในเวลาเดียว จนกล้องถ่ายทอดสดต้องสวิตช์กลับไปกลับมาตลอด เพราะไม่รู้จะไปโฟกัสที่ใครดี
2
หลังจากผ่านโมเมนต์แห่งความสะใจแล้ว ตัมเบรี่ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมคงไม่มีวันแชร์เหรียญทองกับใครถ้าไม่ใช่มูตาซ เพราะเราเป็นนักกีฬาแค่ 2 คนบนโลกในกระโดดสูงที่ผ่านอาการเจ็บหนักแบบเดียวกัน พวกเราทั้งคู่ฝันถึงเหรียญทองกันมาตลอดชีวิต และยอมสละทุกอย่างเพื่อมาถึงจุดนี้ การได้แชร์ความสำเร็จนี้กับเพื่อน มันยิ่งทำให้ชัยชนะนี้สวยงามยิ่งขึ้น"
8
ส่วนบาร์ชิมกล่าวว่า "อะไรที่ดีกว่า 1 เหรียญทองงั้นหรือ เฉลย 2 เหรียญทองพร้อมกันไงล่ะ!"
13
บทสรุปของเรื่องนี้ สื่อต่างประเทศใช้คำว่าทั้งคู่ยินดีที่จะ Called it a draw หรือตัดสินใจ ให้ผลลัพธ์ออกมาเป็น "เสมอ"
2
ซึ่งแน่นอนล่ะ ไม่ใช่นักกีฬาทุกคนในโลกที่จะยอมดึงเสมอแน่ เพราะการแข่งขันโอลิมปิก มันไม่ใช่แค่ "เหรียญทอง" เท่านั้น แต่มันคือเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นเลิศ ว่าคุณได้เป็นที่สุดในชนิดกีฬานั้นๆ
5
อย่างไรก็ตามเคสของบาร์ชิม กับ ตัมเบรี่ ทำให้โลกได้เห็นว่า ก็จริงอยู่ ที่การแข่งขันกีฬาเป้าหมายคือการเป็นที่ 1
5
แต่มันก็ไม่ได้แปลว่า คุณจะต้องเป็นที่ 1 แค่คนเดียวนี่นา
10
#SHARINGISCARING
โฆษณา