3 ส.ค. 2021 เวลา 19:48 • ปรัชญา
“เรื่องของกฎแห่งกรรม”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๔ สิงหาคม ๒๕๖๔
คำว่า “กรรม” นี้เป็นคำกลางๆ แปลว่า “การกระทำ” ไม่ได้เป็นบุญหรือเป็นบาป แต่ภาษาไทยเรามักจะขอยืมคำว่า “กรรม” มาใช้แทนคำว่าบาปกัน แทนที่จะพูดว่าบุญบาป เรามักจะพูดว่าบุญกรรม เป็นเรื่องบุญเรื่องกรรมไป แต่ความจริงคำว่ากรรมนี้ไม่ได้แปลว่าบาป แปลว่าการกระทำ ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป ถ้าทำดีทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นเราก็เรียกว่า “บุญ” ถ้าทำโทษทำความเสียหายให้แก่ผู้อื่นเราก็เรียกว่า “บาป” แต่เรามักจะใช้คำว่ากรรมแทนคำว่าบาปกัน
แต่ขอให้เข้าใจว่าเวลาที่เราพูดกฎแห่งกรรม หรือพูดว่ากรรมคือการกระทำนี้ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นบุญหรือเป็นบาป เพราะไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป ต้องบ่งอีกทีถึงจะรู้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นบุญหรือเป็นบาป เช่น ถ้าเราไปฆ่าสัตว์หรือลักทรัพย์นี้ เรียกว่าเป็นการกระทำที่เป็นบาป ถ้าเราไปช่วยเหลือผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยากเดือดร้อน ก็เรียกว่าเราไปทำบุญ และผู้กระทำไม่ใช่ร่างกาย
ร่างกายเป็นพียงเครื่องมือของผู้กระทำ ผู้กระทำนี้ไม่มีรูปร่างหน้าตา ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ก็เลยต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการไปทำบุญหรือการไปทำบาป แล้วพอทำเสร็จแล้วผู้ที่รับผลบุญผลบาปไม่ใช่ร่างกาย ผู้ที่รับผลบุญผลบาปคือใจคือความรู้สึกสุขหรือทุกข์ ร่างกายอาจจะเป็นผู้ที่เคราะห์ร้าย อาจจะเป็นผู้ตกกระไดพลอยโจนไปกับใจ เช่น เวลาเขาจับไปลงโทษ เขาก็ลงโทษใจไม่ได้ เขาก็เลยต้องลงโทษร่างกายไป แต่ความจริงการลงโทษร่างกาย ก็เท่ากับลงโทษจิตใจ เพราะเวลาร่างกายถูกลงโทษ จิตใจก็เจ็บขึ้นมาเหมือนกับร่างกายเจ็บ เพราะจิตใจยังหลงคิดว่าตนเป็นร่างกายอยู่
นี่คือเรื่องของกฎแห่งกรรม เป็นเรื่องของความจริง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นนิยาย ที่พระพุทธเข้าทรงแต่งขึ้นมาเพื่อหลอกให้พวกเรามาทำความดีกัน เพื่อให้เราอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขเท่านั้น มีผลต่างๆ ตามมาอีกมากมาย หลังจากที่ร่างกายเราตายไปแล้ว ผลแรกก็คือนี่ไปเป็นดวงวิญญาณที่สุขหรือทุกข์ แล้วนอกจากนั้นยังพาไปเกิดใหม่อีก ไปเกิดไปมีร่างกายอันใหม่ ไปหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรส ผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็ไปรับความทุกข์จากการเกิดแก่เจ็บตาย ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีวันจบ
ธรรมะบนเขา
วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
โฆษณา