5 ส.ค. 2021 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
ถกลเกียรติ วีรวรรณ : เมื่อช่องวัน 31 ไม่ใช่ช่องทีวี แต่คือ Content Creator
“ยังมีคนดูทีวีอยู่อีกเหรอ?” คงเป็นคำถามที่โลกแตกพอสมควรสำหรับใครหลายๆ คน แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าหลากหลายกระแสในโลกออนไลน์ก็ล้วนมาจากหน้าจอโทรทัศน์แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระแสตอบรับ การชื่นชม หรือแม้กระทั่งการสร้างมูลค่าต่างๆ สื่อโทรทัศน์ล้วนยังมีความสำคัญอยู่มากๆ
วันนี้ส่องสื่อมีโอกาสได้จับเข่าพูดคุยกับ “คุณบอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ ที่เราจะมาไขความสำเร็จและเส้นทางผลงานตลอด 30 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงเรื่องราวที่เขาอยากจะบอกกับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาด้วยว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ต่อยอดไปได้คืออะไร? วันนี้มาร่วมไขคำตอบกันจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลย
มุมมองในชีวิตที่ผ่านมาในการทำงานระยะเวลา 30 กว่าปี เป็นอย่างไรบ้าง?
“ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ผมคิดว่ามันอยู่ที่ความพร้อมของตัวเราด้วย มันอยู่ที่สภาพของตัวเราด้วย มันอยู่ที่ใครมาทำงานกับเราด้วย มันอยู่ที่สภาพของสังคมด้วย มันอยู่ที่เทคโนโลยีด้วย วิธีคิดมันก็เปลี่ยนไป เฉพาะงานแต่ละงานก็จะเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านั้น เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนไปให้ได้ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน”
คุณบอยมองอุตสาหกรรมละครโทรทัศน์ ละครเวทีเปลี่ยนไปยังไงบ้างไหม?
“เปลี่ยนครับ เพราะว่าเมื่อสังคมเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน ละครก็เปลี่ยน เพราะสุดท้ายละครก็เป็นเหมือนกระจกสะท้อนชีวิตของคนในแต่ละยุคสมัย บางสิ่งของคนที่เปลี่ยนไป ความคิดของตัวละครก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย มันถึงมีละครพีเรียด กับละครไม่พีเรียด มันก็อยู่ที่ว่าเราจะหาโอกาสยังไง แล้วจะสร้างสมดุลกันยังไงมากกว่าครับ”
พอเป็นละครเวทีกับละครโทรทัศน์ มันมีความยากง่ายของแต่ละประเภทยังไงบ้าง?
“จริง ๆ แล้วมันเป็นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการแสดงคนละแบบกันเลย เพราะว่าละครโทรทัศน์มันเป็นพล็อตของการถ่ายทำ พอถ่ายทำเสร็จมันบันทึกไว้หมดแล้ว เอาไปตัดต่อได้ แต่ละครเวทีมันเล่นสดทุกรอบ ไม่มีการบันทึก ถ้าบันทึก ก็บันทึกความเข้าใจของนักแสดงและทีมงานมาเล่นแล้วเหมือนกันในแต่ละรอบ”
มีช่วงที่ผ่านมาที่ทำ เมืองมายา live เพราะอะไรที่มาทำเป็นละครสด แล้วอะไรที่ทำให้ไม่ถูกไปต่อจากโปรเจคที่วางไว้ทั้งหมด?
“คือตอนนั้นเราก็หาอะไรที่จะลองดู ถ้าทำแบบนั้นออกมามันเป็นยังไง เสร็จแล้วก็ดู ผลตอบรับว่าคนดูให้แต้มกับมันมากน้อยเพียงไหน ถ้าเผื่อสมมุติว่าเราทำแล้วลงของเยอะมาก แล้วคนดูให้แต้มกับมันมาก เราก็อาจจะทำต่อ แต่ถ้าเราลงของเยอะมาก แต่คนดูให้แต้มน้อยกว่าของที่เราลง เราก็ต้องมาดูความคุ้มหรือไม่คุ้ม มันไม่ใช่แค่เงิน แต่มันรวมถึงเวลาที่เสียไป มันก็มีอีกหลายปัจจัย
คือผมเป็นคนที่ค่อนข้างที่จะมีความฝันก็จริง แต่ผมก็ต้องสมดุลระหว่างความฝันกับความเป็นจริงว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรทำแค่นี้พอแล้ว อะไรทำอีกนิดหน่อย ผมว่าจริง ๆ แล้ว วงการบันเทิงมันก็อยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างความฝันกับความจริง”
อะไรที่เป็นจุดเด่นของช่องวัน 31 ในช่วงปีที่ผ่านมาบ้างไหม?
“มีมากครับ (หัวเราะ) ผมว่ามันเป็นการลองผิดลองถูก ตอนแรกผมมองว่าเราโชคร้ายมากที่ประมูลทีวีดิจิทัลมา ปรากฏมันกลายมัน digital disruption ในไม่กี่เดือน กลายเป็นตกใจว่ายังไง แต่มันอาจจะเป็นผลดีก็ได้ เพราะกลายเป็นว่าเราเรียนรู้ไปพร้อมกันกับมัน มันก็อยู่ที่ว่าเรามองในมุมไหน เพราะมันเริ่มด้วยความ disruption ก็เลยเหมือนกับเรามีภูมิคุ้มกันที่ดี เราก็จะไม่เหลิง ไม่เกินเลย เราก็ค่อยเป็นค่อยไป เราอยู่กับมันตั้งแต่ต้น เราเห็นว่าเทรนด์มันเป็นยังไงไปยังไง จะอยู่กับมันยังไง แล้วจะประคองไปยังไง
แล้วมันมีโอกาสยังไง คือ disruption ไม่ได้แปลว่าห่างหาย ร่ำลา เมื่อมันมีการเปลี่ยนแปลง มันก็มีโอกาสอะไรเพิ่มขึ้นมา อันนี้ต่างหากที่เราต้องมองหาด้วย แต่ไม่ใช่ล้มไปให้หมดแล้วก็หาใหม่ มันทำให้รากฐานที่เราทำกันมาไม่มีประโยชน์ไปเลย ซึ่งมันไม่ใช่ รากฐานในชีวิตยังสำคัญอยู่ เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่มีรากก็โตไม่ได้ แต่ว่าในวันที่ภูมิทัศน์สื่อมันเปลี่ยนไป คุณจะตัดเล็มกิ่งก้านมันยังไงให้มันเท่าภูมิทัศน์สื่อที่มันเป็นอยู่น่ะครับ ผมว่าอันนี้ต่างหากที่เราดูแล มันคือการสร้างสมดุลมากกว่า”
1
วิธีการปรับของช่องวัน 31 กับที่อื่นมันเป็นยังไง?
“ผมว่ามันเป็นกรณีๆ ไปนะ ถ้าเกิดคุณมองว่ามันเป็นเทรนด์ ยังไงมันก็เป็นเทรนด์ แต่ถ้าคุณมองว่ามันเป็นโอกาส มันก็เป็นโอกาส เราก็ต้องหาโอกาส อย่างที่ผมบอกว่าการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้แปลว่าหายหมด มันแปลว่าแล้วมันมีตรงอื่นยังไง เราก็ต้องดูสิ บวกกับสิ่งที่เรามีอยู่แล้วเป็นต้นทุน ซึ่ง 30 ปีที่เราทำ ต้นทุนมหาศาลมาก 30 ปีในวงการ 30 ปีของประสบการณ์ในการทำสื่อบันเทิง มันก็เป็นทรัพยากรที่ไม่มีอะไรซื้อได้เลย มันอยู่ที่ว่าเราจะหยุดแค่นั้นเหรอ เราก็คงไม่หยุดไง เราก็ต้องต่อยอดให้มัน เพื่อให้มันเดินไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมให้ได้ อันนั้นต่างหากที่จะเป็นโอกาส”
มีละครเรื่องไหนที่ในใจพี่บอยรู้สึกชื่นชอบ?
“ถ้าผมจะเอา 30 ปีที่ผ่านมา ผมว่าสามหนุ่มสามมุมมันก็เป็น masterpiece ในยุค 30 ปีที่แล้ว สามหนุ่มสามมุมที่ทำใหม่อาจจะไม่ masterpiece เหมือนยุคนั้น ก็ต้องรับได้ เข้าใจได้ หลังจากนั้นก็มี เพื่อเธอ, อยากจะหยุดตะวันไว้ที่ปลายฟ้า ตอนนั้นผมก็ถือว่าเป็น masterpiece ในยุคนั้น ถ้ามาถึงยุคนี้ผมก็จะบอกว่า วันทอง คือ masterpiece มันก็ต่างกันในแต่ละยุคสมัยนะครับ เราไม่ได้ยึดติดแต่เราต้องไม่ลืม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นราก แล้วมันก็เป็นบทเรียนได้เสมอ
ถ้าพูดถึงละครเวทีผมก็จะบอกว่า สี่แผ่นดิน The Musical คือ masterpiece มาก ๆ หรืออย่างบัลลังก์เมฆ ก็เป็น masterpiece มาก ๆ แล้วพอบัลลังเมฆกลับมาทำใหม่ ก็เป็น another masterpiece ที่ผมก็ชื่นชอบ เหมือนกับ แม่นาคพระโขนง The Musical พวกนี้ครับ คือสิ่งที่เราทำแล้วรู้สึกดีกับมันมาก ๆ รู้สึกว่ามันเติมเต็มแล้วมันก็ให้อะไรกับคนดู ผมคิดว่างานแต่ละอย่าง ก็จะมองว่ามันเติมเต็มยังไงบ้าง มันเติมเต็มเราในการทำงาน หรือเติมเต็มคนดู หรือเติมเต็มเพื่อนร่วมงานที่ทำงานนั้น ๆ ผมคิดว่าแต่ละเรื่องที่ผมพูดมามันก็เติมเต็มได้หลาย ๆ คน”
ถ้าย้อนไปวันแรกที่เริ่มต้นทำงานด้านละครโทรทัศน์ จนถึงวันนี้เติบโตมากน้อยแค่ไหน?
“เติบโตเยอะสิ เพราะเราก็เรียนรู้มากขึ้น เราก็รอบรู้มากขึ้น แล้วเราก็ปรับไปตามสถานการณ์ ผมว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่จบสิ้นครับ เหมือนตอนเราเด็กที่เราอาจจะบอกว่าเราไฟแรงมาก เราต้องทำอย่างนี้ เราอาจจะทำได้ครึ่งหนึ่งหรือเกินครึ่ง มันก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ แต่อีกครึ่งหนึ่งหรือส่วนหนึ่งที่เราทำไม่ได้ เราก็ต้องเรียนรู้กับมันด้วย ผมคิดว่าเราต้องเรียนรู้กับทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวด้วย ไม่ว่าละครเรื่องนี้จะสำเร็จหรือจะล้มเหลว เราต้องมานั่งวิเคราะห์ว่า มันสำเร็จเพราะอะไร และมันล้มเหลวเพราะอะไร เราก็ต้องมาวิเคราะห์
ถ้าล้มเหลว เราทำจะทำแตกต่างแบบไหนมันจะไม่ล้มเหลว เราก็ต้องมานั่งวิเคราะห์ว่าควรจะอยู่บนพื้นฐานของอะไร ประสบการณ์อื่น ๆ หรือสิ่งที่เราสังเกตเห็นได้ในโลกปัจจุบัน อันนี้คือสิ่งที่ผมทำมาตลอด 30 ปี เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมก็เหมือนเด็กจบใหม่ทุกคน ผมจะปฏิวัติวงการละครของประเทศไทย ผมก็มีความตั้งใจอย่างนั้น แต่พอเข้ามาดู ถามว่ามันทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์อย่างที่เราคิดไหม มันอาจจะทำได้ประมาณ 50 หรือ 60 แต่ที่เหลืออีก 40 นั่นคือสิ่งที่เราต้องเคารพนะ มันจะทิ้งหมดไปเลยแล้วไม่ได้
ผมถึงบอกว่าเรามีเป้าหมายได้และต้องไฟแรงด้วยนะ แล้วเราต้องมีเป้าหมายว่าเราอยากจะไปให้ถึง แต่สุดท้ายแล้วคุณก็ต้องดูความเป็นไปได้จริงด้วย ไม่งั้นคุณจะกลายเป็นฝันเฟื่อง แล้วคุณจะทำไม่ได้ แล้วสุดท้ายคุณจะมาโทษนู่นนั่นนี่ ยกเว้นโทษตัวเอง ซึ่งอันนี้ผมว่าไม่ได้ ก่อนที่เราจะอะไรซักอย่าง กลับมาดูที่ตัวเราเองก่อนว่าเราคืออะไร ไม่งั้นก็กลายเป็นโทษคนอื่นได้ โทษนั่นโทษนี่ได้ได้ ผมไม่เคย ถ้าผมจะล้มเหลว ผมโทษตัวเองว่าผมคิดอีกแบบหนึ่ง ผมคิดผิด ถ้าเป็นอย่างนั้นผมจะแก้ยังไง เราเปลี่ยนตัวเองได้ครับ อะไรที่เป็นสิ่งที่ควบคุมได้เราทำได้ ถ้ามันควบคุมไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปควบคุมมัน แต่เราต้องอยู่กับมัน เราต้องไปกับมันให้มันได้ แล้วสุดท้าย 30 ปีมันพิสูจน์อะไร ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ทุกวันนี้ผมอยู่ตรงนี้ มันก็เป็นบทพิสูจน์อะไรบางอย่างไง ใช่ไหมครับ (หัวเราะ)”
ในฐานะที่เป็นผู้บริหารช่อง content อะไรที่เรามองว่ามันยากที่สุด?
“ยากหมดนะครับ (หัวเราะ) ผมว่ามันไม่มีอะไรง่ายเลย มันยากหมดนะครับ ผมว่าเราก็ต้องดูต้องศึกษากับมันเยอะมาก กับทุก ๆ อย่างครับ ถ้าพูดถึงข่าว ทุกวันนี้เราจะรู้ได้ไง ข่าวสารเต็มไปหมดเลย สักพักนึงมันก็มา มันก็เด้งฟีดมาแล้วในโทรศัพท์ ข่าวลวงก็เยอะ อะไรจริง อะไรไม่จริง แล้วเราจะไปรู้ได้ไง เราก็ต้องหาข้อมูลกันยังไงที่เราต้องมีความไม่อคติ เพราะสุดท้ายแล้วคนอยากฟังความจริงนะครับ แต่มันก็มีหลายประเภทไง คนอยากฟังความจริง หรือคนอยากฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากฟัง อันนี้ก็เราเลือกที่จะนำเสนอว่าให้กับคนที่อยากฟังความจริงดีกว่า เพราะว่าถ้าเกิดคนอยากฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน มันก็ไม่ใช่ข่าวนะครับ เพราะงั้นมันก็เราก็ต้องไปหาข้อมูลที่มันถูกต้อง มันถึงจะมาอย่างนี้ได้
แต่ถ้าเกิดเราหาแล้วไม่รู้ บางทีเราก็ต้องหยุดก่อน อย่าเพิ่งนำเสนอ เพราะทุกวันนี้ถ้าเป็นเรื่องของความเร็ว ยังไงคุณสู้ Social media ไม่ได้หรอกครับ ผมอยากได้ความถูกต้องมากกว่าความเร็ว เพราะว่าความเร็วบางทีมันทำให้เกิดหายนะได้ คุณขับรถไป ขับรถเร็วเกินแล้วรถพลิกคว่ำ มันไม่คุ้มกันหรอก ก็อาจจะต้องดูแลกันดี ๆ อันนี้ในเรื่องของข่าว
ในเรื่องของละครเองก็ต้องดู เพราะว่าละครก็จะใช้คนเยอะมาก แต่ละคนก็จะเข้าใจเหมือนที่เราเข้าไหม แต่ถ้าเกิดเขาเหมือนกับเราหมดก็น่าเบื่อสิ ก็จะไม่มีอะไรใหม่ ๆ ก็ต้องค้นหา หาหลากหลายความคิดของคนเอามาทำงาน แต่ให้มันไปอยู่ในทิศทางที่เราคิดว่า อย่างนี้น่าจะดี ผมว่ามันก็คือการสร้างสมดุลว่าเรามีจุดยืนแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกันเรามีหลักการแบบนี้ แต่เราก็ต้องไม่ปิดกั้นความคิดของคนอื่น ความคิดใหม่ ๆ หรืออะไรยังไง ผมว่าการบริหาร อย่างละครมันคือการบริหารศิลปินนะ บริหารศิลปินทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เสร็จแล้วจะจัดการกับมันยังไงอันนั้นก็เป็นแผนกจัดการไป แต่ว่าเราก็ต้องรับฟังเยอะแยะมากมาย ไม่งั้นกลายเป็นเราก็อาจจะตกเทรนด์ แต่ถ้าเผื่อเราไม่มีจุดยืนเราก็จะสะเปะสะปะ (หัวเราะ) รายการก็เหมือนกัน ผมว่ารายการกับละครก็คล้าย ๆ กันในหลากหลายมุมมอง”
อะไรที่คนรุ่นใหม่ที่ต้องเติมอะไรเข้าไปในการที่เขาจะเข้ามาในวงการบันเทิง?
“รากฐาน สิ่งที่มันน่ากลัวอยู่ทุกวันนี้ ด้วย Social media มันไปเร็วมาก แล้วมันทำให้คนรู้สึกว่าฉันรู้เยอะแล้ว แต่ว่าสิ่งที่คุณรู้นั้นมันรู้จริงหรือเปล่า หรือคุณรู้แค่ผิวเผิน และอย่างที่บอกว่า Social media มันมีทั้งข้อดีและมีทั้งข้อเสีย มันทั้งสร้างและทั้งทำลาย คุณต้องรอบรู้ในหลาย ๆ มุมมอง หลาย ๆ ทิศทางนะครับ ผมยังเชื่อในทฤษฎีกฎ 10,000 ชั่วโมง คือถ้าคุณจะสำเร็จกับการทำอะไรได้ คุณต้องทำมัน 10,000 ชั่วโมง คุณนับไปสิกี่ปี 1 วันคุณทำงาน 8 ชั่วโมง คุณคูณไปสิ เป็นกี่ปี ตรงนั้นแหละคุณถึงจะถือว่าคุณมีรากฐานที่แข็งแรงกับงานนั้น ๆ ที่คุณทำ ไม่ใช่แค่วงการนะ งานนั้น ๆ นะ แล้วงานนั้นมันต่อยอดเป็นงานอะไรนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ไม่ใช่ ก็นี่ไงฉันทำงานมา 10,000 ชั่วโมง กี่ปีสิบปีไม่รู้ แต่คุณมาทำอีกแบบหนึ่ง มันคนละงานกันนะ บางทีมันไม่เหมือนกันนะ
แต่แน่นอนว่าคุณจะใช้รากฐานของมันมาต่อยอดยังไงได้ เพราะฉะนั้นเราถึงบอกว่า โอเค คุณทำงาน 10,000 ชั่วโมงก็จริง แต่คุณก็ต้องยับยั้ง ต้องเรียนรู้ไปอีกเยอะ ๆ เพราะว่าโลกมันก็เปลี่ยนไปอีก เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว ผมอยากให้เด็กรุ่นใหม่ยังต้องตระหนักถึงตรงนี้ว่ามันเหมือนดูง่าย แต่มันไม่ง่าย ผมไม่เชื่อว่าสิ่งที่ได้มาง่าย ๆ มันจะอยู่ได้ยาว เอาอย่างนี้ดีกว่านะ เพราะว่า อย่างที่ผมบอกแหละ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ทุกวันนี้บางทีผมก็เห็นว่า บางคนคิดว่าทำไมได้เงินง่ายเหลือเกิน รีวิวนิดเดียวก็ได้เงินละ ในการทำ YouTube Channel ถ้าคนชอบก็ดี
แต่อย่าลืมกรณีศึกษามัน อย่าเหลิงกับมัน ความหายนะมาจากการเหลิง ฉันรู้ฉันเป็นแล้วได้เงินเยอะแยะ ถ้าอยู่ได้ยาวก็ดีไป แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ยาวอันนี้น่ากลัว เพราะเราไม่รู้ว่าโลกมันจะเปลี่ยนไปอีกแค่ไหน อะไรมันจะเปลี่ยนแปลงไปอีกแค่ไหน เราตามมันทันเปล่า มันไม่ได้แปลว่ามีสิ่งที่คุณไม่ตาม ไม่ได้แปลว่าไม่มีนะ อันนี้สำคัญมากนะครับ คือบางทีมันเหมือนคนรุ่นใหม่บอก ฉันไม่ดูทีวีแล้ว ฉันดูแต่สื่อสังคมออนไลน์ แต่มันก็มีจำนวนคนอีกไม่น้อยในประเทศนี้ที่ยังดูทีวีกันนะ แน่นอน คนดูทีวีน้อยลง แต่ไม่ใช่ไม่มีเลย ยังมีอยู่ แต่พอผมถามว่า สิ่งที่ทำให้เกิดกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ได้ หลายครั้งมันมาจากทีวีนะ ไม่งั้นวันทองก็ไม่กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้างนะ
หรือกระเช้าสีดา ถ้าไม่มีทีวี ก็ไม่มีทางเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ได้ เพราะฉะนั้น อะไรก็แล้วแต่ อย่างที่ผมบอกว่าอะไรคือโอกาส มันต่อยอดได้ไหม เหมือนกับละครทุกวันนี้ที่เราทำออกอากาศในทีวีก็จริง แต่มันจะต่อยอดตรงไหนได้อีก เราก็ต้องมองหาโอกาส แล้วก็อะไรที่ บางคนก็อาจคิดว่าไม่ได้เป็นกระแสในโอกออนไลน์แปลว่ามันไม่เกิด อันนี้ผิด อันนี้เขาเรียกว่าหลงตัวเองเกิน เพราะกลายเป็นว่าคุณมองอยู่มุมเดียว ไม่มองมุมอื่น อย่างนี้มันหัวชนฝา มันก็จะไม่โตนะครับ
อย่างที่ผมบอก มันก็ย้อนกลับไปสมัยที่ผมจบใหม่ ผมจะไฟแรง ผมมีความฝันแค่ไหน แต่ผมก็ต้องดูความเป็นจริง ซึ่งมันมาจากไหนอะไรยังไง แล้วสร้างสมดุลมันยังไง แต่ถามว่าผมทิ้งความฝันไหม ผมไม่เคยทิ้งนะ แล้วถามว่าฝันของผมมันได้มากมายแค่ไหน ก็ดูเอาเองแล้วกัน ผลงานที่ผ่านมาก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าผมฝันอยากทำนั่นอยากทำนี่ แล้วถามว่าผมทำได้ไหม ผมทำได้ สำหรับผม ผมเคยพูดว่า คนเราทำความฝันได้ แต่มันไม่ใช่ความฝันที่เป็นจริง มันเป็นทำความจริงให้ไปถึงฝัน อันนี้สำคัญมากนะครับ”
การลองผิดลองถูกคือสิ่งที่สำคัญ เหมือนเป็นการเรียนรู้ของเราเองถูกไหม?
“ใช่ครับ เราต้องไม่คิดว่าเราน้ำเต็มแก้ว มันมีอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ แล้วเราต้องเรียนรู้ ผมว่ามันเป็นอะไรที่น่ากลัวสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอมือถือแล้วคิดว่ารู้ทุกอย่าง อันนี้น่ากลัว เพราะจะกลายเป็นกลวง รากฐานมันจะไม่แข็งแรง อันนี้คือสิ่งที่มันน่ากลัวแล้ว มันก็จะเป็นต้นไม้แล้วมันล้มลุก วันนี้มันสวยนะ แต่มันก็เป็นไม่ล้มลุกนะ ไม่ใช่ไม้ยืนต้น อันนี้คือสิ่งที่ต้องระวัง ผมว่ามันคือธรรมชาตินะครับ ยังไงมันก็คือธรรมชาติ คุณจะอะไรยังไงก็ได้ แต่คุณไปแทนธรรมชาติไม่ได้ เหมือนทุกวันนี้คุณห้ามฝนไม่ให้ตกไม่ได้ คุณห้ามไม่ให้ใครตายไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ มันก็คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราก็ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน แต่อยู่ที่ว่า ตอนที่ยังอยู่ เราจะทำให้มันดีที่สุดอย่างไร แล้วถ้าเกิดบอกว่าอยู่ไปเดี๋ยวก็ตายแล้วมันก็ไม่ใช่ไง อันนี้เกิดมาเสียชาติเกิดสิ (หัวเราะ)”
การแข่งขันของทีวีดิจิทัลในปี 2021 มันดุเดือดมากขนาดไหน?
“ก่อนที่เราจะไปสู้กับคู่แข่ง เราจะทำยังไงกับธรรมชาติดีกว่าไหม (หัวเราะ) เราจะมีกลยุทธ์ยังไงที่จะทำให้เราอยู่กับสถานการณ์โควิดได้ อันนี้ต่างหาก ก่อนที่เราจะไปคิดถึงคู่แข่ง เพราะอันนี้คือคู่แข่งตัวใหญ่เลย ซึ่งอย่างที่เราบอกว่าเราห้ามไม่ได้ไง แต่เราจะอยู่กับมันได้ยังไง เราจะมีกลยุทธ์ยังไงที่จะอยู่กับมันไง อันนี้ต่างหากครับที่สำคัญ มันก็ไม่ต่างอะไรกับเริ่มช่องทีวีดิจิทัล อ้าว digital disruption ก็ไม่ต่างกัน มันก็คือกลยุทธ์ที่เราคิดว่าด้วยสถานการณ์โควิด เอาแบบนี้แล้วกัน คือถ้าในสถานการณ์ปกติ เราก็แบบเรตติ้งเราควรจะขึ้นไปอันดับเท่านั้นเท่านี้ พอสถานการณ์โควิด เราก็เดี๋ยวก่อน อันดับช่างมันก่อน เอาให้อยู่รอดก่อนไหม (หัวเราะ)
คือมันไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เหมือนเวลาคุณป่วย ก่อนที่คุณจะทำอะไรได้ คุณต้องรักษาตัวเอง ให้ออกจากโรงพยาบาลให้ได้ก่อน ถูกไหมครับ? อันนี้ผมว่าก็เหมือนกัน แล้วเราก็ต้องประคอง โอเค แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป อันนี้ล่ะความยาก มันจะสมดุลกันยังไง มันจะมีกลยุทธ์ยังไงที่จะประคองทุกสิ่งทุกอย่างให้มันดี เพราะฉะนั้นมันคือรายละเอียดในแต่ละวันว่าเราจะทำมันยังไง เดี๋ยววันนี้มีประเด็นนี้เราจะปรับยังไง เราจะแก้ยังไง เราจะเลี้ยวยังไง”
พอเจอโควิด-19 เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งเหล่านี้?
“เรียนรู้เยอะว่าในโลกนี้เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีใครอยู่คนเดียวได้ นึกออกมะ ถ้าพูดถึงโควิด เราปลอดภัยคนเดียวแต่คนอื่นไม่ปลอดภัย ยังไงภัยก็มาถึงตัวเรา (หัวเราะ) เราเซฟตัวเองแต่คนอื่นไม่เซฟ ยังไงภัยก็มาถึงตัวเรา เพราะฉะนั้นเราถึงบอกว่า เราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป เราต้องประคับประคองซึ่งกันและกัน อันนี้สำคัญมาก คือบางทีผมรู้นะว่าบริษัทสื่อบันเทิงหลาย ๆ บริษัท เหมือนไม่สนใจคนอื่น กูเอาตัวกูรอด มันเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะถ้าคุณคิดจะเอาตัวคุณรอด ถ้าวงการไม่รอด คุณก็ไม่รอด เพราะมันใช้บุคลากรร่วมกันเยอะมาก อย่างเช่น ดาราตัวท็อป พระเอกนางเอก อาจจะเซ็นกับช่องนั้นช่องนี้ก็ว่ากันไปนะครับ แต่ตัวรอง ตัวพ่อตัวแม่ ไม่ได้เซ็นกับใครนะ เขาไปเล่นทั่วเลยนะ
แต่ถ้าเกิดกองนี้สาธารณสุขเราดูเข้มงวดมาก แต่ดาราคนนี้เขาไปอีกกองหนึ่งที่ปล่อยปะละเลยไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยกัน สุดท้ายเขากลับมาเล่นกับเรา เขาก็เป็นพาหะมาติดคนของเราได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ที่เขาบอก Nobody is safe until everyone be safe. นั่นคือความจริง ผมว่านั่นคือสัจธรรมของชีวิตนะครับ อันนี้คือสิ่งที่ผมเรียนรู้จากโควิด มันบอกตรงนี้เยอะมาก ผมว่ามันก็ support กับสิ่งที่ผมคิดมาตลอดนะครับ ว่ามันจะทำยังไงให้อุตสาหกรรมมันดีขึ้นกว่านี้ เราก็อยากจะให้อุตสาหกรรมมันดีขึ้นกว่านี้ แต่บางทีมันก็พูดยาก เพราะว่าวิธีคิดของแต่ละองค์กรมันก็มีความคิดที่แตกต่างกัน มันก็ประมาณนี้ ก็โอเค ก็ไม่เป็นไร ก็ต้องอยู่กับมัน มันเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เราก็ต้องทำให้มันดีที่สุด แต่ต้องทำ ทำให้เห็น ไม่ใช่มัวแต่ไปโทษคนนู้นคนนี้ อันนี้ยังไงมันก็จะไม่เกิด”
ก้าวต่อไปของช่อง one 31 ในฐานะของผู้นำคอนเทนต์จะเป็นอย่างไร?
“ก้าวต่อไปผมว่าไม่มีใครเปิดทีวีแล้วดูช่องเปล่า ๆ ไม่มีใครเปิดดู color bar เพราะฉะนั้นคอนเทนต์จึงสำคัญมาก เราไม่ใช่แค่ช่องทีวี เราเป็น content creator ที่มีช่องทีวีอยู่ด้วย แต่ว่าไม่ได้มีแค่ช่องทีวีไง เราก็ยังไม่ทิ้งโอกาสในการที่จะเอาคอนเทนต์ของเราไปต่อยอดในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ใน Social media ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ ในโลกดิจิทัลที่มีในทุกวันนี้ แล้วเราก็มองหาโอกาสตลอดว่ามันจะไปต่อยังไงได้ แต่คอนเทนต์ต่างหากที่มันเป็นสิ่งที่คุณต้องมีก่อน คุณถึงจะไปต่อยอดได้ แต่ถ้าคุณไม่มีคอนเทนต์ก็จบ ก็เจ๊ง
เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่าเราเป็น content creator มันสำคัญมาก เราต้องย้อนกลับมามองตัวเราเองก่อนว่า เราเป็นใคร เราถึงจะเข้าใจได้ว่าอนาคตเราจะเดินไปทางไหนได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าเราบอกว่าเราเป็น content creator มันทำคอนเทนต์แล้วมันไปออกตรงไหนได้บ้าง? แต่ถ้าเราบอกว่าเราเป็นช่องทีวี เด็กรุ่นใหม่ก็ถาม พี่ ใครเขาดูทีวีกันวะ ถึงบอกว่าเรากลับมามองว่าเราเป็นใคร เราเป็น content creator แต่เรายังดีกว่า content creator อีกหลายคน ที่เรามีช่องของเรา เราออกเองได้ด้วย แล้วมันก็มีรายได้เข้ามาได้ ก็จะได้เป็นการสร้างรากฐานให้เราทำคอนเทนต์ต่อไปที่จะต่อยอดไปได้อีก อันนี้ไม่ดีกว่าเหรอ (หัวเราะ) ถูกไหมครับ
เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่บางคนเวลากลับบ้านกับผมจะชอบถาม อ้าวพี่ แล้วทีวีมันจะตายแล้วมันยังไงต่อ? หลายคนเป็น content creator แต่ผมเหนือกว่า content creator คนอื่น ๆ ที่ผมมีช่องทีวีของผมเองด้วย แต่ไม่ได้แปลว่าผมจะออกแค่ช่องทีวีไง ผมไปออกตรงไหนได้อีกเยอะแยะไปหมด แล้วตรงนี้คือมูลค่า ทำไมทุกวันนี้ซีรีส์วายหลายเรื่องมันดังในออนไลน์ก็จริง แต่ทำไมเขาต้องมาเช่าช่องทีวีผม เพราะถ้ามันมีช่องทีวีแล้วเขาขายสปอนเซอร์ได้เยอะขึ้นไง ก็ได้กำไรเพิ่มขึ้นไง แล้วคุณจะมาบอกว่าทีวีไม่มีมูลค่าได้ยังไง ก็ตราบใดที่ยังมีอยู่ ก็ทำมันยังนี้สิ
เราก็ดูแลรักษามันสิ คุณก็บริหารให้มันดีสิ แต่ผมถึงบอกว่า คุณต้องแยกแยะระหว่างโอกาสกับสิ่งที่คุณมี แล้วมันจะไปตามหาโอกาสได้ต่อไปยังไง แต่ว่าคอนเทนต์เป็นสิ่งสำคัญไง ไม่ต้องอะไรหรอก ที่ผมบอกว่าไม่มีใครเปิดมาดู color bar ไม่ใช่แค่ในทีวีนะ ใน YouTube ก็ไม่มีใครดู color bar เปล่า ๆ นะ (หัวเราะ) ถูกเปล่าล่ะ คิดแค่นี้มันก็ง่ายละ ก็เราเป็นใครไง เราถึงบอกว่าต้องกลับมาถามตัวเองว่า เราเป็นใคร คำถามที่สำคัญที่สุดเลย มันก็คือรากฐาน”
พี่บอยอยากบอกอะไรพวกเขาบ้างไหมครับว่ามันมีทางเลือกอาชีพอีกมากมายที่ได้เลือกอีกเยอะในนิเทศศาสตร์?
“คือคุณอยากเป็น youtuber คุณอยากจะเป็นนักแสดง ไม่ผิดหรอกนะครับ แต่คุณต้องเรียนรู้ว่ารากฐานของมันจริง ๆ มันคืออะไร คุณเป็นนักแสดงเพราะว่าคุณอยากดัง แต่ถ้าคุณไม่ได้เรียนรู้ถึงพื้นฐานการแสดงเลย คุณได้อยู่ไม่กี่ปีหรอก คุณจะหน้าหล่อหน้าสวยแค่ไหน แปปเดียวคุณก็ไป เพราะจะมีหน้าหล่อหน้าสวยมากกว่าคุณ ที่หน้าเด็กกว่าคุณมาแทนคุณได้เสมอ ถ้าคุณไม่รู้จักที่จะไขว่คว้าหารากฐานที่แข็งแรงจริง ๆ ของการแสดงนั้น แปปเดียวคุณก็ไป มันมีให้เห็นมากเป็นร้อยปีแล้ว มันไม่เปลี่ยนหรอกอันนี้ อันนี้คือธรรมชาตินะ คุณหน้าเด็กอย่างนี้ไม่ได้ตลอด จำไว้ (หัวเราะ)
คุณดูดาราเกาหลีตั้งหลายคน อุ้ย 10 ปีผ่านไปทำไมมันอย่างนี้แล้วล่ะ หรือไม่ต้องเกาหลีหรอก ทั้งโลกแหละ อุ้ย ทำไมตอนนี้มันเป็นอย่างนั้น แล้วคุณคิดว่า YouTube มันจะอยู่กับคุณไปนานแค่ไหน ผมก็ไม่รู้ ผมตอบไม่ได้ ถ้าถามผมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ใครจะตอบได้ว่าทีวีจะเปลี่ยนไปเป็นแบบนี้ แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าต่อไป YouTube จะไม่เปลี่ยน แล้วถ้าคุณไม่รู้หลักการทำคอนเทนต์ที่แท้จริง คุณแค่แบบว่าเผิน ๆ อยู่กับมันไปเรื่อย ๆ แล้ววันหนึ่ง เกิด youtuber ที่เกิด YouTube disruption ขึ้นมา คุณจะทำยังไง (หัวเราะ) ถูกไหมฮะ
คุณต้องเรียนรู้รากให้มันแข็งแรงก่อนหรือเปล่า ว่ามันคืออะไร มันมาจากไหน แล้วอะไรมาปรับใช้กับปัจจุบัน กับ ณ เวลานั้น ๆ ได้แค่ไหน มันก็ต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ นะครับ แต่รากฐานสำคัญมาก มันก็เหมือนคุณเล่นกีฬา ถ้าคุณจะเป็นนักกีฬา สมมุติว่าคุณอยากจะเป็นนักวอลเล่ย์บอล คุณไม่ต้องคุมอาหารเหรอ คุณไม่ต้องกายบริหารด้วยการวิ่งเหรอ คุณไม่ต้องออกกำลังกายอื่น ๆ เหรอ ก่อนที่คุณจะมาเล่นวอลเล่ย์บอลได้ คุณอาจจะบอกว่าก็วอลเล่ย์บอลไม่เห็นมีใครต้องวิ่งอะไรเลย แต่วิ่งมันก็คือรากฐานเพื่อให้ร่างกายคุณพร้อมทั้งหมด ถึงแม้วอลเล่ย์บอลไม่ต้องวิ่งก็ตาม แต่นักวอลเล่ย์บอลก็ต้องออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ก่อนที่จะมาเล่นวอลเล่ย์บอลอะไรได้หรือเปล่าอะไรอย่างนี้ เพื่อให้ร่างกายมันแข็งแรงไง คุณอาจจะต้องทำอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง ที่มันมองไม่เห็น อย่ามองแค่ผลลัพธ์”
อะไรคือจุดอ่อนที่เราต้องพัฒนาเพิ่มเติมไหม?
“ผมว่าจุดอ่อนจุดแข็งมันก็ไปด้วยกันแหละครับ (หัวเราะ) มันมีจุดแข็งมันก็มีจุดอ่อน เราก็ต้องรู้ตลอดเวลาว่า อันนี้เราดีอยู่นะ แต่เราก็ขาดตรงนี้นะ มันไม่มีอะไร 100% หรอก ยิ่งงานสายบันเทิงนะครับ มันไม่ใช่แบบว่าหาสูตรน้ำอัดลม 1 สูตร แล้วขายได้เป็น 10-50 ปี มันก็คงไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเป็นละครเราก็ต้องเปลี่ยนละครทุก ๆ 2 เดือน มันคนละแบบกัน ถ้าเป็นรายการอาจจะอยู่ได้ยาวหน่อย แต่ในแต่ละตอน แต่ละสัปดาห์ คุณจะมีรายละเอียดอะไร มันจะมีลูกเล่นอะไรที่มันจะดูแล้วทุกสัปดาห์มันไม่ได้เหมือน มีความเหมือนและมีความต่าง ผมว่ามันมีจุดแข็งและมีจุดอ่อนที่มันไปด้วยกัน มันต้องทำตลอดทุกวันอยู่แล้วครับ”
ทำไมละครต้องเกิดการ remake กันขึ้นเป็นจำนวนมาก?
“ผมว่ามันอยู่ที่เป้าหมายในการ remake ตั้งแต่แรกก่อนนะครับ ว่ามันมีมุมมองอะไรที่ต่างหรือไม่ หรือถ้าอยาก remake มัน ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ เลย พอผมพูดว่าจะทำวันทองขึ้นมา มันมีสองกระแส ก่อนที่ละครจะฉาย กระแสหนึ่ง เฮ้ย ในยุค 2021 มันจะเป็นยังไง มุมมองใหม่ ตีความใหม่ในวันทอง ก็น่าติดตามดู อันนี้ก็เป็นทางบวก ในขณะเดียวกันก็มี feedback บางอันว่า เราไม่อยากดู จะทำอีกทำไมวันทอง ฉันรู้เรื่องขุนช้างขุนแผนหมดแล้วจะทำทำไม เราก็ต้องบอกว่าเราทำวันทอง เราไม่ได้ทำขุนช้างขุนแผน เขาจะบอกแล้วมันต่างกันยังไง ก็รอดูสิครับ มันพูดถึงวันทองไง มันเป็นอีกแบบหนึ่งไง แล้วเราก็มีอีกมุมมองหนึ่งไง ที่ทำไมวันทองถึงเป็นแบบนี้ แล้วเหตุและผลไงว่าทำไมวันทองถึงเป็นแบบนั้น
สุดท้ายพอละครฉาย ก็ได้สองกระแสอีก กระแสชื่นชมเยอะมาก ที่ เออ ใหม่มากเลย เรื่องเก่าที่เขียนใหม่ มุมมองใหม่ เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่เคยเห็น ชื่นชอบก็เยอะ ในขณะเดียวกันก็มีอีกส่วนหนึ่ง ฉันอยากได้ยินคำกลอนสวย ๆ ของขุนช้างขุนแผน ทำไมไม่มี ก็จะมีการต่อว่ามาแบบนี้ ก็เราไม่ได้ตั้งต้นจะทำแบบนั้นไง ก็อยู่ที่วิธี approach เราแต่แรกว่าเราอยากจะทำอะไร ก็เราอยากทำวันทอง เราไม่ได้อยากทำขุนช้างขุนแผนนี่ แล้วผมว่าอันนี้ต่างหากที่จะทำให้เกิดศิลปะร่วมสมัย ศิลปะแบบดั้งเดิมก็มี ศิลปะที่มันจะร่วมสมัย ที่พัฒนาไปแต่ละยุคสมัย มันก็ต้องทำได้ ไม่งั้นมันจะติดแต่รูปธรรม ซึ่งมันตายได้
แฟชั่นมันเปลี่ยนไปทุกปี มันก็มีวัฎจักรของมันแบบนี้ มันก็อยู่ที่ว่าเรามองอะไร เรามองในมุมอะไร หรือเรื่องกระเช้าสีดา ก็ remake นะ แต่ถ้าย้อนกลับไปดูเวอร์ชั่นเก่า ๆ บางคนไม่เด่นเลยนะ เวอร์ชั่นนี้อำพลเด่นมาก ก็เป็นวิธีมุมมองที่จะเล่าอีกแบบหนึ่ง เข้าใจว่ามันจะ remake แต่ remake ออกมามันเป็นยังไงนั่นอีกเรื่องหนึ่งสิ อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นมุมมอง แต่มันก็แล้วแต่ ก็อาจจะแบบ remake แล้วมันเหมือนเดิม มันก็อาจจะเป็นมุมมองที่ก็อยากนำเสนอ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นก็ได้เหมือนกัน มันแล้วแต่มุมไงว่าเราจะต้อง approach อะไร ทำอะไรยังไงนะครับ อาจจะแบบว่าอยากได้มุมเดิมเนี่ยแหละ แต่ด้วยเทคโนโลยีของสมัยนี้มันทำได้หวือหวากว่าก็เป็นไปได้ ผมว่าจะ remake หรือไม่ remake อยู่ที่ว่าเรื่องนั้น ๆ มันไปอยู่ในปีที่คุณนำเสนอได้หรือเปล่า แล้วคุณจะปรับมันยังไง ผมว่ามันอยู่ตรงนี้เนี่ยแหละ”
ฝันที่พี่บอยอยากทำในอนาคตคืออะไรครับ
“พัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ และหาความเป็นไปได้กับสิ่งใหม่ ๆ แล้วก็ไม่ยึดติด แต่ไม่ลืมรากฐานกับสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ที่เรามี แต่รวมไปถึงกับวิธีคิดก็ดี กับวิธีการที่เราเรียนรู้ กับบุคลากรหรืออะไรต่าง ๆ ก็ดี แล้วก็หาโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาเสมอนะครับ”
ระหว่างการเป็น content creator ที่เช่าเวลาช่องอื่นแบบสมัยก่อน กับในยุคนี้ที่มี channel เป็นของตัวเอง บริหารจัดการยากง่ายต่างกันไหม?
“ถูกที่ถูกเวลา ผมว่าอันนี้สำคัญมาก ของมันต้องถูกที่ถูกทาง ของอันนี้เหมาะกับอยู่ที่ไหน ก็ให้มันอยู่ตรงนั้นแล้วมันจะ สร้างได้ดีที่สุด มันจะอยู่ตรงไหน ให้มันอยู่ตรงนั้น ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันไปอยู่ตรงอื่นได้ไหมเพื่อเป็นการต่อยอด หรือเป็นการวางหมาก เราต้องชัดเจนว่าอันนี้วางเพื่ออะไร คอนเทนต์นี้วางตรงนี้เพื่ออะไร อันนี้ก็สำคัญมาก เพราะถ้าเกิดอยู่ผิดที่ผิดทางมันไม่เกิด”
อยากมีอะไรจะบอกกับแฟน ๆ ช่องวัน หรือคนที่เข้ามาอ่านแล้วอยากจะเปิดใจดูช่องวัน?
“ก็มันเป็นการโตไปด้วยกัน ถ้าพูดถึงมันก็เป็นช่องใหม่ แต่เริ่มในยุคที่ digital disruption แต่เราก็สร้างมันมาจากโครงสร้างนั้น แล้วเราก็เรียนรู้กันไป จนกระทั่งในวันนี้เป็นช่องที่ทำออกมา ในขณะเดียวกันก็จะมีตรงรากฐานที่แข็งแรง ที่เราไม่ได้เพิ่งมาเริ่มที่ช่อง แต่อย่าลืมว่าเราเป็น content creator มาเกือบ 30 ปีแล้วก่อนหน้านั้น เพราะฉะนั้นเราก็เอาตรงนี้มาปรับใช้ แล้วก็ไม่ลืมที่จะมองหาโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาแล้วก็ต่อยอดว่ามันไปต่อได้อีกยังไง แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รากฐานและประสบการณ์ที่มันมากกว่า 10,000 ชั่วโมงแล้วไง (หัวเราะ)”
CONTENT : KRITTHANAN DITTHABANJONG
#ส่องสื่อ : NEXT GENERATION, NEXT MEDIA.
ติดตามเราได้ทาง www.songsue.co
ติดต่อโฆษณา-ลงข่าวประชาสัมพันธ์ - kritthanan@songsue.co
โฆษณา