8 ส.ค. 2021 เวลา 01:09 • ท่องเที่ยว
🙏สุดสัปดาห์พาเที่ยว🙏
ไหว้พระที่มัณฑะเลย์ เมียนมาร์
พระพุทธรูปที่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพม่า เพื่อนบ้านทางทิศตะวันตกของประเทศไทย
“พระมหามัยมุนี”
พระมหามัยมุนี
“มหามัยมุนีเจ้า จอมสงฆ์
เมืองเก่ามัณฑะเลย์คง คู่หล้า
รุ่งอรุณร่วมกันสรง พระพักตร์
ผุดผ่องเด่นดวงหน้า นอบน้อมเศียรถวาย
มุ่งหมายบุญกุศลสร้าง สำเร็จ
พระเกศมาลาเพชร เพริศแพร้ว
มหามัยมุนีเสด็จ สถิตอยู่
นำสู่สุขเกษมแล้ว ปกหล้าร่มเย็น”
อัญเชิญบทโคลงแต่งโดย พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ ที่ได้ฟังแล้วตรงกับความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าที่ได้เข้าร่วมพิธีสรงพระพักตร์พระมหามัยมุนี ทุกเช้า เวลา ตี 4
1
พระมหามัยมุนี เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของพม่า เปรียบได้กับ พระแก้วมรกต ของไทยเรา
1
มหามัยมุนี (มหามิมุนี ในภาษาพม่า)แปลว่า ผู้รู้อันประเสริฐ เดิมอยู่ที่เมืองยะไข่ สร้างตั้งแต่สมัยพุทธกาล ทำด้วยทองคำสำริด สูง 12 ฟุต 7นิ้ว หนัก 6.5 ตัน
กษัตริย์ยะไข่สุบินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทานพร ในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ให้เป็นตัวแทนของพระองค์เพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาสืบไป
ภาพเขียนที่ระเบียงรอบพระอุโบสถ เกี่ยวกับการสร้างพระมหามัยมุนี by เขียนตามใจ
แม้ยะไข่จะถูกโจมตีหลายครั้ง แต่ผู้ชนะก็ไม่สามารถเคลื่อนย้าย มหามัยมุนีออกจากเมืองได้ จนเมื่อพระเจ้าปดุงตียะไข่ได้ ได้อัญเชิญองค์พระออกมาจากยะไข่เมื่อปี พ.ศ. 2327 ล่องไปตามแม่น้ำอิรวดี มาประดิษฐานที่ มัณฑะเลย์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
พระเจ้าปดุงอัญเชิญ พระมหามัยมุนี มาตามแม่น้ำอิรวดี
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
ครั้งนี้เป็นการมานมัสการพระมหามัยมุนี เป็นครั้งที่ 3 ครั้งแรกเมื่อ 18ปีก่อนเมื่อพศ 2545 ที่เขาเพิ่งเริ่มเปิดประเทศใหม่ๆ ครั้งที่ 2 เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ปี2557ได้เข้าชมพิธีล้างพระพักตร์ แต่อยู่ห่างไกลมาก จำรายละเอียดไม่ได้เลย
ครั้งล่าสุดได้เดินทางไปเมื่อเดือน มกราคม 2562 จำได้ว่าช่วงนั้นฝุ่นพีเอ็ม2.5 ขึ้นระดับสูงสุด พี่เขียนและเพื่อนๆนัดกันไปเที่ยวพม่าหนีฝุ่นกัน
จัดนำเที่ยวโดยเพื่อนที่เคยไปกับไกด์ท้องถิ่น ชื่อนัน กับกลุ่มอื่น แล้วติดใจในอัธยาศัยและความเอาใจใส่ของเธอ จึงให้นันนำเพื่อนกลุ่มนี้ไปเที่ยวอีกครั้ง
ไกด์นันพาพวกเราออกจากโรงแรมตั้งแต่ ตี 3 45 นาที กะว่าจะไปยืนรอเป็นกลุ่มแรกๆ รถถึงหน้าวัด เขายังไม่เปิดประตูเลยค่ะ
เช้ามืดอากาศเย็นๆ บรรยากาศรอบตัวทำให้ใจเราสงบนิ่งได้ส่วนหนึ่งแล้ว
เดินเท้าเปล่า สัมผัสกับพื้นที่มีฝุ่น ดินกรวดแข็งๆ ต้องเดินอย่างระมัดระวัง พอเข้าเขตวัด พื้นปูกระเบื้องก็รู้สึกถึงความเรียบ และเย็นทันที
เราไปยืนรอหน้าประตูเหล็กที่กั้นทางเดินสู่วิหารที่ประดิษฐานพระมัยมุนี เป็นกลุ่มแรก สักพักชาวบ้านจึงเริ่มทะยอยมา มีหญิงสาวนุ่งซิ่นสีชมพูบานเย็น ปักลายดอกไม้ จูงเด็กมาด้วยแต่เช้า
เมื่อประตูเปิดออกเราจึงได้เดินผ่านโถงยาว ลอดใต้ซุ้มโค้งที่ฉลุลายงดงาม ไปนั่งแถวหน้าสุดของผู้หญิง มีโต๊ะยาวเตี้ยๆสำหรับวางของถวายกั้นเขตไว้ ถัดจากตรงนั้นเข้าไป ให้เข้าได้เฉพาะผู้ชาย
ภาพถ่ายจากด้านหลัง โดย เพื่อนที่ไปด้วยที่ไม่ได้เป็นพุทธศาสนิกชน
ฉันก้มลงกราบสามครั้งก่อนจะลงนั่งขัดสมาธิ มองไปด้านหน้าพระมหามัยมุนี มีโต๊ะยาวพาดไปบนพระเพลาของท่าน วางพานใส่ดอกไม้และขันสีทองใส่น้ำสรงพระพักตร์ มีผู้ชายนุ่งห่มสีขาว 4 คนคอยจัดเตรียมข้าวของ
เวลาผ่านไปอย่างช้าๆ ทุกคนดูไม่เร่งรีบ ไม่มีเสียงดังเอะอะ ถึงแม้จะมีผู้คนมานั่งรวมกันจำนวนมาก มีเพียงเสียงเครื่องดนตรี. เสียงระฆัง และเสียงสวดมนต์ฉันจึงได้ใช้เวลานี้นั่งสงบ ไม่ได้เอามือถือเข้ามาเลย ดูด้วยตากับใจเท่านั้น
เริ่มมีเสียงสวดมนต์ของชาวบ้าน ดังเบาๆอยู่ข้างขวาในกลุ่มที่นั่งอยู่ด้วยกัน
 
ท่านเจ้าอาวาส เดินขึ้นบันไดไปที่โต๊ะ ที่วางตามยาว เอาผ้าสีเหลืองห่มคลุมองค์พระก่อนที่จะเริ่มพิธีสรงพระพักตร์
ที่ต้องมีพิธีนี้ทุกวันตอนเช้ามืด เพราะเชื่อกันว่า พระมหามัยมุนีเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต พระพุทธเจ้าได้ประทานลมหายใจเอาไว้ให้ ถึง 7 ครั้ง เมื่อตอนสร้างเสร็จแล้ว จึงทำพิธีปิดพระเศียรได้สำเร็จ
1
ทุกๆอิริยาบถของท่านเจ้าอาวาส ซะยาดอว์ ตั้งแต่การสีพระทนต์ ท่านค่อยๆทำช้าๆ มั่นคงแต่ยังดูอ่อนโยน รับรู้ได้ว่าท่านเปี่ยมด้วยเมตตา
ท่านค่อยๆนำผ้าชุบน้ำที่ปรุงด้วยแป้งทานาคา ที่ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันฝนจากท่อนไม้ในวันก่อน เช็ดพระพักตร์ เริ่มจากหน้าผาก รอบดวงเนตร แก้ม คาง จมูก
1
การได้เฝ้ามองท่านทำพิธีนี้ เหมือนหนึ่งเราได้น้อมนำจิตเข้าสู่สมาธิไปด้วย
วันที่เราฝนไม้ทานาคา เปรียบกับการฝนกิเลส ความอยากได้ใคร่มีของเราทั้งหลาย ต้องฝนมันให้ออกไปทุกวัน วันละเล็กละน้อย เหมือนแป้งที่ละลายออกมาจากเปลือกไม้
วันนี้น้ำแป้งทานาคา ได้มาสัมผัสพระพักตร์ของพระมหามัยมุนี แล้วได้รับการเช็ดออกด้วยความอุตสาหะ ของพระสงฆ์ เปรียบดัง กับ การน้อมนำพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาขัดเกลากิเลสของเรามนุษย์ธรรมดาๆให้ค่อยๆน้อยลงทุกๆวัน
เราควรจะมีความเพียรในการกำจัดกิเลสในใจของเราทุกวันเช่นเดียวกับ การสรงน้ำล้างพักตร์พระมหามัยมุนีที่ทำมาทุกวันเป็นเวลากว่าร้อยปี
ช่วงบ่ายวันที่เดินทางถึง มีโอกาสได้ฝนไม้ทานาคา เพื่อนำน้ำไปล้างพระพักตร์ พระมหามัยมุนี
ด้านนอกบริเวณลานวัด พระมหามัยมุนี
โฆษณา