13 ส.ค. 2021 เวลา 07:36 • ความคิดเห็น
🤷‍♀️🤦‍♂️ เคยไหม ? ที่บางครั้ง ต้องทำงานร่วมกับคนที่เหมือนพูดกันคนละภาษา เหมือนมาจากคนละดาว ถามสี่ตอบแปด ถามช้างตอบม้า
4
ถ้าเลือกได้คุณคงเดินหนี แต่ถ้าเลือกไม่ได้ คุณจะจัดการกับความรู้สึกอึดอัดแบบนี้อย่างไร ?
😲👂 แค่รู้จักวิธีรับรู้ข้อมูลของตัวเอง จะช่วยให้คุณทำงานง่ายขึ้น การประชุมจะจบลงอย่างสวยงาม โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา ที่รูปแบบการเรียนรู้จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนได้เป็นอย่างดี
หรือแม้จะทำงานคนเดียว คุณก็สามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองได้เช่นกัน แค่รู้จักตัวเองให้มากขึ้น
🤭 คำเตือน : บทความนี้ค่อนข้างยาว แต่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มาก สำหรับคนที่ต้องการพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นคนทำงาน, นักเรียน, ฟรีแลนซ์ หรือแม้แต่คุณแม่ที่ต้องการให้ลูกพัฒนาขึ้น ลองใช้เวลาซักนิด แล้วบทความนี้ อาจเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาล
🧠💭อ่างสมองลองมาแล้ว วิธีช่วยพัฒนาตัวเองได้จริง ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เรียนดีขึ้น ทำงานง่ายขึ้น การประชุมราบรื่นมากขึ้น มันช่วยเปลี่ยนหลาย ๆ เรื่องในชีวิตจริง ๆ ค่ะ
🤓 Learning Styles (รูปแบบการเรียนรู้) หรือ Mind Styles Model (รูปแบบการรับรู้ข้อมูลของจิตใจ) ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
ซึ่งคนหนึ่งอาจมีหลายรูปแบบซ่อนอยู่ นั่นทำให้แต่ละคนมีเอกลักษณ์ และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยวิธีต่างกัน
Anthony F. Gregorc, Ph. D. ได้แบ่งการรับรู้ข้อมูล หรือ Gregorc's Learning Styles
ไว้เป็น 4 รูปแบบ
โดยแบ่งลักษณะย่อยไว้เป็น S, R, C, A
ที่มา : https://www.anthonyfgregorc.com/
1️⃣ แบ่งตามกระบวนการรับรู้ข้อมูล (Process) คือ ลักษณะการสื่อสารข้อมูลของคนนั้น ๆ
❤️ S, Sequence : ชอบวิธีที่เป็นลำดับขั้นตอน
เป็นคนชอบฟังหรือชอบเล่าข้อมูล แบบเป็นลำดับ (Step-by-step) มีความสุขที่ได้ทำงานแบบมีแผน มีขั้นตอนให้ทำตามได้อย่างชัดเจน มากกว่าทนฟังเรื่องราวในที่ประชุม ที่มีแต่ความเห็นลอยฟุ้งในอากาศ แบบจับต้นชนปลายไม่ได้
หรือถ้าเป็นวัยเรียน ก็จะมีความสุขที่ได้ฟังเลกเชอร์ แบบที่อาจารย์เล่าตั้งแต่ 1..2..3 จนถึง 10 มีการเกริ่นนำหัวข้อก่อนพูด ถ้าเป็นแบบนี้ คนที่เป็น S จะแฮปปี้มากเลยทีเดียว
💚 R, Random : ชอบวิธีที่ไม่มีรูปแบบตายตัว
คนกลุ่ม R ชอบวิธีการนำเสนอหรือรับข้อมูลแบบเป็นชิ้น ๆ เป็นเรื่อง ๆ แบบไม่มีลำดับขั้นตอน ชอบนำเสนอส่วนที่สำคัญ หรือส่วนที่คิดว่าน่าสนใจก่อน ถ้าอยู่ในที่ประชุมวางแผนทำงบประจำปี คนกลุ่มนี้อาจกระโดดไปพูดถึงงบก้อนโต มากกว่าจะเริ่มเล่าถึงแผนงานในภาพรวมก่อน
หรือถ้า R จะเม้าท์กับเพื่อนถึงซีรีย์ที่กำลังติดเทรนด์ คุณอาจยิงตรงไปฉากที่พระเอกตาย มากกว่าการเล่าที่มาที่ไปของสาเหตุที่พระเอกตาย แบบที่ S ต้องการ
😂 แค่มี S และ R อยู่ในที่ประชุมเดียวกัน ก็เริ่มเห็นความปั่นป่วนแล้วมั้ยล่ะคะ ?
1
2️⃣ แบ่งตามลักษณะเนื้อหา (Content)
💛 C, Concrete : เน้นรูปธรรม
เป็นคนที่ชอบเนื้อหาแบบชัดเจน จับต้องได้ ชอบการได้ใช้สัมผัสทั้งรูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส คุณเชื่อว่า "It is what it is." คือเห็นว่าเป็นอย่างไร มันก็ควรต้องเป็นแบบนั้น
เช่น ถ้าคุณกำลังประชุมจัดการ รพ.สนาม คนกลุ่ม C อยากฟังว่า เตียงมีกี่เตียง มากกว่าได้ยินว่า เตียงเยอะ เพราะเยอะมันจับต้องไม่ได้ว่า มีกี่เตียง หรือ รพ.สนามที่ว่าใหญ่ มีขนาดเท่าไหร่ กี่ตารางเมตร
2
ถ้าต้องการชักชวนคนกลุ่มนี้ซื้อบ้าน ถ้าคุณเริ่มเล่าว่า บ้านหลังนี้สวย พักอาศัยแล้วเหมือนอยู่ในฝัน แบบนั้นคือจบ ปิดจ๊อบได้เลย ! กลับกันคุณอาจต้องเล่าว่า บ้านหลังนี้มีต้นไม้ร่มรื่น หันหน้าบ้านทางทิศตะวันออก ตอนเย็นจะไม่ร้อนมาก ทำให้บ้านน่าอยู่ ถ้าแบบนี้ C จะโอเคมากเลย
💜 A, Abstract : เน้นนามธรรม
สำหรับ A ชอบฟังเรื่องที่เป็นนามธรรม เน้นจินตนาการ, สัญชาตญาณ และความคิดสร้างสรรค์ คนกลุ่มนี้ชอบค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราว หรือสิ่งของต่าง ๆ เพราะเชื่อว่า "It is not always what it seems." สิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
ถ้านั่งประชุมกับคนกลุ่มนี้ อาจต้องเน้นเรื่องการสร้างสรรค์ไอเดีย พูดถึงอารมณ์ความรู้สึก พูดถึงบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ เช่น บริษัทกำลังจะจัดงานสัมมนา มีเอาท์ติ้งที่จะช่วยหลอมรวมจิตใจคนในองค์กร ให้เป็นหนึ่งเดียว ถ้าเล่าแบบนี้คนกลุ่ม A นั่งฟังได้ทั้งวัน ขณะเดียวกันลองเหลือบไปมอง C อาจเห็น C ผู้รักในรูปธรรมนั่งกลอกตามองบนอยู่ก็ได้ 🤣
ทีนี้นำทั้ง 4 รูปแบบมารวมกัน เราจะได้ Learning Styles 4 แบบ ซึ่งเป็นลักษณะของคนส่วนใหญ่ ที่พบได้ทั่วในสังคม
4 Learning Styles [ที่มา : https://therapeuticliteracycenter.com/learning-style-difference]
🔥รูปแบบการเรียนรู้ (Leaning styles) 4 แบบ🔥
1️⃣ CS : Concrete, Sequence 💛❤️
คนกลุ่มนี้ชอบรับข้อมูลที่เป็นรูปธรรม มีลำดับขั้นตอนชัดเจน รู้จักการวางแผน ลองสังเกตคนที่มาประชุมเป็นคนแรก รักษาเวลา ชอบจดการประชุมเป็นลำดับ มีตัวเลข 1, 2, 3.. มี Bullets หัวข้อ หรือคนที่เพื่อนขอยืมเลกเชอร์ไปลอกบ่อย ๆ นั่นแหละค่ะ คนกลุ่ม CS
✔️ คนกลุ่มนี้จะทำงานได้ดี เมื่อมีแผนงานกำหนดให้ชัดเจน มีแผนรองรับการแก้ปัญหา เริ่มงาน และเลิกงานตรงเวลาตามแผน
❌ คนกลุ่มนี้จะรู้สึกอึดอัด เมื่อต้องทำงานเป็นกลุ่ม หรือเมื่อมีคนในที่ประชุม ดึงออกนอกหัวข้อสนทนาที่วางแผนไว้ จะเบื่อคนที่พูดวกวนไม่เป็นลำดับขั้นตอน เบื่อสถานการณ์ที่ไม่มีคำตอบถูกผิดชัดเจน หรือเครียดมากเมื่อถูกสั่งให้ไปทำงาน ที่ต้องใช้จินตนาการหรือความสร้างสรรค์
📌 ถ้าคุณเป็นคนกลุ่มนี้ แล้วต้องประชุมงาน ร่วมกับคนที่ชอบเล่าเรื่องแบบ R, Random ลองถอดคำพูดเหล่านั้น ออกมาเป็นหัวข้อ แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ความคิด จากนั้นค่อยเพิ่มหัวข้อย่อย เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม แบบนี้จะช่วยให้คุณทำงานง่ายขึ้น และรู้สึกอึดอัดน้อยลง
2️⃣ AS : Abstract, Sequence 💜❤️
คนกลุ่มนี้มีความคิด มีจินตนาการ แต่ข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้ฟุ้งอีรุงตุงนังในสมอง แต่กลับถูกเรียงลำดับไว้อย่างชัดเจน หรืออาจมีโครงข่ายความคิด สร้าง Mapping เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน มักประชุมแบบไม่สนใจข้อจำกัดด้านเวลา เลิกเมื่อไหร่ก็ได้
หรือถ้าเป็นนักเรียน สมุดบันทึกของคนกลุ่มนี้ จะมีแค่หัวข้อใหญ่ที่เป็นประเด็นสำคัญเท่านั้น ลืมเรื่องการจดรายละเอียดยิบย่อยได้เลย เพราะข้อมูลเหล่านั้น ถูกเก็บเป็นภาพในหัวเรียบร้อย
AS ช่างคิด ชอบสร้าง Mapping
✔️ คนกลุ่มนี้ทำงานได้ดี ถ้าที่ประชุมมีประเด็นที่จะพูดถึงชัดเจน ชอบที่จะวิเคราะห์ข้อมูล แล้วหาหนทางแก้ไขปัญหา มีแผนงานจำลองในหัว แบบเป็นลำดับขั้นตอน แล้วถ้ามีแหล่งข้อมูลหรือผู้เชี่ยวชาญให้ซักถาม คนกลุ่มนี้สามารถจมอยู่กับข้อมูลได้ทั้งวัน แบบไม่สนใจเรื่องเวลาเลย
ในที่ประชุม คนกลุ่มนี้ต้องได้คำตอบที่สงสัย ต้องมีข้อมูลที่อยากรู้เพียงพอ ไม่ได้ไม่เลิก ใครอธิบายไม่เคลียร์ จะถูก AS ซักจนขาวแน่นอน ถ้าอยากพัฒนาตัวเอง ลองวาด Mind Mapping ถอดความคิดออกมาเป็นรูปภาพ จะช่วยทำให้สมองทำงานเหนื่อยน้อยลง
❌ คนกลุ่มนี้จะอึดอัดมาก ถ้าต้องทำงานที่มีข้อกำจัดของเวลา จะรู้สึกว่า ยังหาข้อมูลไม่พอ หรือต้องให้ทน อยู่ในที่ประชุมที่พูดเรื่องเดิมซ้ำไปมาแบบไม่มีทางออก แล้วถ้าต้องให้คนกลุ่มนี้บรรยายอารมณ์ความรู้สึก อาจให้เขียนเป็นคำ ๆ จะดูง่ายกว่าเยอะเลย
📌 ถ้าคุณเป็นคนกลุ่มนี้ คุณอาจคุยกับ CS รู้เรื่อง เพราะมีลำดับขั้นตอนเหมือนกัน แต่คุณอาจต้องสรุปความคิด ออกมาเป็นหัวข้อให้ CS เห็น และต้องรักษาเวลาให้มากขึ้น โดยอาจมีไทม์ไลน์ กำหนดเวลาการทำงานของตัวเองให้ชัดเจน คุณจะได้ไม่จมในกองข้อมูล และส่งงานได้ตามกำหนดเวลา
3️⃣ AR : Abstract, Random 💜💚
คนกลุ่มนี้เน้นการใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เน้นการใช้อารมณ์ความรู้สึก สัญชาตญาณ ถนัดงานด้านศิลปะ หรือถ้าทำงานออฟฟิศ อาจเห็นคนกลุ่มนี้ฟังเพลงไปด้วย ทำงานไปด้วย เพลงไม่มางานไม่เดิน ชอบฟังคนอื่นพูด เป็นคนประสานรอยร้าวในทีมได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นนักจับความรู้สึกตัวยง
AR ชอบรับความรู้สึก มีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการเก่ง
✔️ คนลักษณะนี้ชอบทำงานเป็นกลุ่ม ชอบการทำงานที่ใช้จินตนาการ หากจะให้คนกลุ่มนี้ทำงาน แค่บอกหัวข้อคร่าว ๆ แล้วให้เวลาไปใช้ความคิดอย่างเต็มที่ คนกลุ่มนี้จะทำได้ดีมาก แล้วยิ่งถ้าให้บรรยายความรู้สึก จากการพบปะลูกค้า เชื่อเถอะคนกลุ่มนี้เล่าได้ทั้งวัน และมักมี sense ที่พึ่งพาได้เลยทีเดียว
แต่ถ้าอยากพัฒนาตัวเองมากขึ้น คุณอาจลองถอดคำพูดตัวเองออกมาเป็นภาพวาด หรือลองจนสิ่งที่พูดออกมาคร่าว ๆ จะทำให้คุณทำงานร่วมกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น
❌ คนกลุ่มนี้ไม่ชอบการตัดสินถูกผิด ไม่ชอบการแข่งขัน การต้องฟันธงสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง หรือมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่าง ๆ จะทำให้ AR รู้สึกอึดอัดมาก หรือถ้าต้องให้คนกลุ่มนี้บรรยายการทำงาน แบบเป็นขั้นตอนไล่ลำดับ 1, 2, 3, 4 ใส่รายละเอียดของงาน คนกลุ่มนี้อาจอกแตกตาย
📌 ไม่ว่าจะในที่ทำงาน, ที่เรียน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน สังเกตเถอะว่า คนกลุ่ม AR คือไม้เบื่อไม้เมาขาประจำกับ AS เป็น Abstract เหมือนกัน แต่คุยกันไม่ได้นาน เพราะ AR จะบรรยายสิ่งต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ ตามความรู้สึก อาจเริ่มจากประเด็นหลักก่อน แบบไม่มีขั้นตอน นั่นทำให้ AS อึดอัด และรู้สึกเหมือนว่า กำลังฟังเรื่องมโน และมักจะเบรกการเล่าเรื่องของ AR และพาเข้าสู่ลำดับขั้นตอนอยู่เสมอ
ถ้าคุณเป็นประธานการประชุมหรือเป็นหนึ่งในวงสนทนา ลองกำหนดหัวข้อใหญ่ตั้งแต่ก่อนเริ่มประชุม แล้วพอถึงรายละเอียด ก็ปล่อยให้ AR ได้บรรยายพอประมาณ จากนั้นก็นำเข้าสู่หัวข้อถัดไป แบบนี้จะเป็นการประนีประนอมกับทั้ง AR และ AS
4️⃣ CR : Concrete, Random 💛💚
คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มที่พบได้น้อยสุด อาจเรียกว่าเป็นพรสวรรค์ก็คงไม่ผิดนัก เพราะมีความสามารถในการจับประเด็นที่ดี มีความสามารถในการรวบรวมข้อมูลจากหลายฝ่าย ถ้ามีใครซักคนนั่งเงียบในที่ประชุม นั่งชิลฟัง AR, AS ตีกัน และมองดู CS ที่จดบันทึกไปเรื่อย ๆ
ซักพักหนึ่งเมื่อโอกาสเหมาะ CR จะสามารถสรุปประเด็นที่ทุกคนพูด มารวมไว้ได้ย่างครบถ้วน แบบไม่มีน้ำผสม มีทั้งข้อมูลและสัญชาตญาณในการแก้ปัญหา
CR นั่งฟังได้เรื่อย ๆ นานจะสรุปประเด็นครั้งนึง
✔️ คนกลุ่มนี้ชอบฟัง ฟังได้ทั้งข้อมูลที่วุ่นวายและแบบเป็นที่เป็นลำดับขั้น สามารถสรุปเอามารวมไว้ ทำให้ทุกคนเห็นพ้องกับบทสรุปได้ เป็นนักแก้ปัญหาที่ดี แต่ไม่ค่อยสามารถบอกวิธีคิด ที่ทำให้ได้แนวทางการแก้ปัญหาได้ ถ้าต้องให้คิดเริ่มงานใหม่ คนกลุ่ม CR สามารถทำได้อย่างดี และถ้ามีการแข่งขันด้วยแล้ว คนกลุ่มนี้สู้ตายเลยทีเดียว
❌ ฟังดูเหมือนคนกลุ่มนี้มีข้อดี แต่ไม่ใช่ทั้งหมด หากต้องให้ CR ทำงานซ้ำเดิมทุกวัน มีแต่งาน Routine, ให้พิมพ์รายงานทางการ ที่ต้องบรรยายรายละเอียดข้อมูล หรือให้แก้งานที่ทำเสร็จแล้ว คนกลุ่มนี้จะรู้สึกอึดอัดและทำได้ไม่ดี เพราะเป็นนักคิด ไม่ใช่นักเขียน ไม่นิยมใช้อารมณ์ความรู้สึก
แล้วอย่าส่งคนกลุ่มนี้ไปพบลูกค้าเชียวนะ ถ้าไม่อยากให้งานล่ม เพราะเน้นเหตุผล ตรงไปตรงมา และจับอารมณ์ไม่เก่งเลยทีเดียว
📌 ถ้าคุณเป็นคนประเภท CR อาจต้องรู้จักจดบันทึกบ้าง อาจเลือกจดแต่หัวข้อสำคัญก็ได้ แล้วพยายามใส่ข้อมูลย่อย เพื่อให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ส่วนคนที่มีคนกลุ่มนี้อยู่ในที่ประชุม อาจต้องกระตุ้นถาม หากต้องการได้ความเห็นจากคนกลุ่มนี้ หรือให้เวลาคนกลุ่มนี้เพื่อแสดงความเห็นบ้าง เพราะการพูดแทรกระหว่างที่คนอื่นกำลังคุยกันนั้น CR รู้สึกว่าไม่จำเป็น
เมื่ออ่านถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะเริ่มเข้าใจแล้วว่า ตัวเองมี Learning Styles แบบไหน จะเป็น CS, AS, AR, CR ทุกแบบมีข้อเด่นและข้อด้อย
ถ้ารู้จักนำข้อเด่นออกมาใช้ และพัฒนาต่อยอด จะทำให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น หรือหากคุณต้องทำงานร่วมกับคนต่าง Type คุณจะเข้าใจเค้า และสามารถหาวิธีประนีประนอม ให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้
🔥 สรุป 🔥
💛❤️ CS ผู้รักษาเวลา และยอดนักจดบันทึก ที่ต้องฝึกฝนการใช้จินตนาการ และเพิ่มความยืดหยุ่นให้มากขึ้น
💜❤️ AS คนที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูล เป็นยอดนักเชื่อมโยง เก่ง Mapping แต่มีปัญหาเรื่องการจัดการเวลา และการรับรู้อารมณ์
💜💚 AR ยอดนักจับความรู้สึก มีความสร้างสรรค์สูง รักงานศิลปะ ชอบเข้าสังคม แต่ทำอะไรเป็นลำดับขั้นตอนไม่ได้
1
💛💚 CR ยอดนักจับประเด็นแห่งยุค สามารถสรุปข้อมูลที่วุ่นวาย ให้จบได้ในไม่กี่คำ แต่อย่าให้บรรยายขั้นตอนการแก้ปัญหา หรืออย่าให้บรรยายอารมณ์เลยนะ จบเห่!
1
ถ้าคุณเป็นคนดำเนินการประชุม แล้วเข้าใจในความแตกต่างเหล่านี้ รู้ว่าใครอึดอัดตรงจุดไหน หรือใครเก่งเรื่องอะไร คุณจะสามารถมอบหมายงาน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ จะได้ผลงานที่ดีที่สุดจากทีมเวิร์คนั้น ไม่มีประชุมล่มแน่นอน
โดยที่คนหนึ่ง อาจมี Learning style หลายแบบได้ แต่โดดเด่นไม่เท่ากัน จริง ๆ ลองดูวิธีเขียนบทความของแต่ละคน ก็พอเดาได้แล้วนะคะ 🤭
หรือใครไม่แน่ใจ ลองทำแบบทดสอบนี้ดูได้ค่ะ
📌 แบบทดสอบ Learning Styles เบื้องต้น เลือก 2 คำตอบในแต่ละข้อ ที่ใกล้เคียงตัวเองมากที่สุด 👇
นำคำตอบที่ได้ มารวมคะแนน ดูว่าเด่นข้อไหนมากที่สุด (I, II, II, IV) จากนั้นจะได้ Learning Styles ของตัวเอง
📌 อีกหนึ่งแบบทดสอบ
ยินดีที่อ่านมาถึงตรงนี้นะคะ
เชื่อเถอะค่ะว่า คุณจะดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
คุณเป็นแบบไหน แชร์ให้อ่างฟังบ้างสิคะ 🤗
ขอบคุณค่า
อ่างสมอง 🧠 🙏
โฆษณา