15 ก.ย. 2021 เวลา 05:46 • ครอบครัว & เด็ก
การเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อยวัยขวบปีแรก
เริ่มจากน้ำหนัก
เมื่อทารกคลอดครบกำหนด จะมีน้ำหนักลดลงได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักแรกเกิด แล้วจะมีน้ำหนักกลับมาเท่ากับน้ำหนักแรกเกิด (ประมาณ 3-3.5 กิโลกรัม) ภายในอายุ 2 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับตัวเด็กว่าจะสามารถปรับตัว กับการรับสารอาหารจากภายนอกได้เร็วช้าแค่ไหน)
ลูกน้อยจะมีน้ำหนักเป็น 2 เท่าของแรกเกิดเมื่ออายุ 4-5 เดือน และควรมีน้ำหนักเป็น 3 เท่าของแรกเกิดเมื่ออายุ 1 ปี
ความยาว (ส่วนสูง แต่ตอนเด็กจะนับเป็นความยาว)
ลูกน้อยจะมีความยาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในขวบปีแรก จากความยาวแรกเกิดประมาณ 50 เซนติเมตร ไปจนถึง 75 เซนติเมตร
เรื่องของสมอง
สมองของลูกน้อยก็จะมีการเจริญเติบโตมากขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งทราบได้จากเส้นรอบศรีษะที่จะเพิ่มขึ้นจาก 35 เซนติเมตรเมื่อแรกเกิด เป็น 45 เซนติเมตรเมื่ออายุครบขวบปีแรก
การขึ้นของฟัน
ลูกน้อยจะเริ่มมีฟันหน้าขึ้นซี่แรกเมื่ออายุ 6 เดือน ซึ่งมักจะขึ้นบริเวณขากรรไกรล่างก่อน หลังจากนั้นฟันจะขึ้นเป็นคู่ๆ เริ่มจากตรงกลางไปทางด้านข้าง จนมีฟันน้ำนมประมาณ 1-12 ซี่เมื่ออายุ 1 ปี
พ่อแม่ควรทำความสะอาดช่องปากและฟันของลูกน้อยตั้งแต่วัยทารก โดยอาจจะเริ่มจากแปรงฟันให้ลูก โดยที่ยังไม่ต้องใช้ยาสีฟัน
และเมื่อลูกน้อยเริ่มมีฟันขึ้น หรือมีอายุครบขวบปีแรก พ่อแม่ควรพาลูกไปพบหมอฟันครั้งแรกตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้นเพื่อตรวจ และให้ฟลูออไรด์เสริม
นอกจากนี้ยังช่วยทำให้ลูกน้อยเกิดความคุ้นเคย ไม่กลัว และร่วมมือในการตรวจมากขึ้น (ซึ่งขึ้นอยู่กับน้องแต่ล่ะคนด้วยนะครับ)
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยมีการเจริญเติบโตเป็นปกติหรือไม่
อันดับแรกควรสังเกตโดยเปรียบเทียบกับเด็กอื่นที่อยู่ในวัยเดียวกัน และควรติดตามการเจริญเติบโต
โดยบันทึกน้ำหนัก ความยาว และเส้นรอบศรีษะอย่างต่อเนื่องลงบนกราฟการเจริญเติบโตในสมุดสุขภาพเด็ก หรือสมุดวัคซีน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้พ่อแม่ได้รู้ถึงการเจริญเติบโตของลูกน้อย
พัฒนาการของลูกน้อยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่
เริ่มจากการชันคอ การพลิกคว่ำหงาย คืบ คลาน นั่ง เกาะยืน เกาะเดิน จนเดินได้เมื่อครบขวบปีแรก
ส่วนของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ก็มีพัฒนาการเป็นลำดับ จากการคว้าจับของเล่นไม่ได้ เป็นคว้าได้ จารสามารถทำได้ทีละมือ ก็มาคว้าจับได้ทั้งสองมือ เปลี่ยนมือถือของได้ หยิบของเล่นชิ้นใหญ่โดยใช้ทั้งฝ่ามือ ไปจนหยิบของเล่นชิ้นเล็กด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้
โดยทำงานประสานกับสายตาที่มีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันได้ในที่สุด
ภาษาเป็นพัฒนาการที่สำคัญ และเป็นรากฐานของการพัฒนาความสามารถทางสติปัญญาต่อไป
เมื่อแรกเกิดลูกน้อยจะสามารถตอบสนองต่อเสียงได้ โดยหยุดฟัง หรือเคลื่อนไหวมากขึ้น
เมื่ออายุ 4-6 เดือน
ลูกน้อยจะสามารถหันเมื่อเรียกชื่อได้ สำหรับการพูดสื่อสารนั้นลูกน้อยจะมีพัฒนาการเริ่มจากการเล่นเสียงในลำคอ เป็นเสียงพยัญชนะบริเวณฝีปากเช่น “บา บา” จนสามารถทำเสียงซ้ำๆ เรียกพ่อแม่ได้ พูดคำที่มีความหมายอื่นได้อย่างน้อย 1 คำ และทำตามคำสั่งที่มีท่าทางประกอบได้ เช่น สอนให้ลูก “บ๋ายบาย” พร้อมทำท่าให้ดู แล้วให้ลูกน้อยทำตาม
ที่อายุ 1 ปี พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูควรพูดคุยสื่อสาร กับลูกน้อยด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการสื่อสารได้อย่างเหมาะสมมากขึ้นต่อไป
สำหรับพัฒนาการทางด้านสังคม
ลูกน้อยจะค่อยๆ มีความผูกพันทางอารมณ์กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู
ในขณะเดียวกันผู้เลี้ยงก็จะมีความผูกพันกับเด็ก ถ้าพ่อแม่สังเกตความต้องการและสามารถตอบสนองต่อสัญญาณต่างๆ ของลูกน้อย ที่แสดงผ่านการร้องไห้ เคลื่อนไหว หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม จะทำให้ลูกน้อยมีความไว้วางใจต่อพ่อแม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานของพัฒนาการขั้นต่อไป
เมื่ออายุ 6-12 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มกลัวคนแปลกหน้า ดังนั้นถ้าพ่อแม่เข้าใจถึงพัฒนาการที่ปกตินี้จะสามารถตอบสนองด้วยท่าทีที่อบอุ่น และทำให้ลูกน้อยมั่นใจในตนเองมากขึ้น
ลูกน้อยในช่วงขวบปีแรกยังชอบเล่น “จ๊ะเอ๋” “ตบมือ” และ “บ๋ายบาย” ได้ ถ้าพ่อแม่สามารถแบ่งเวลามาเล่นกับลูกน้อยไปด้วย จะทำให้ลูกน้อยพัฒนาการทักษะทางด้านสังคมนี้อย่างต่อเนื่องและมีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเติบโตขึ้น
ลูกน้อยวัยขวบปีแรกเรียนรู้ผ่านการเล่น และการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ตาดู หูฟัง จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส และผิวหนังรับสัมผัส ในวัยนี้ลูกน้อยมักชอบนำของทุกชนิดเข้าปาก โดยใช้ปากในการสำรวจของนั้นๆ ทั้งดูด เลีย อม พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูควรส่งเสริมให้ลูกได้ใช้ทักษะเหล่านี้โดยหาของเล่นที่มีขนาดเหมาะมือ น้ำหนักเบา ขนาดไม่เล็กจนเกินไป ปลอดภัย ล้างทำความสะอาดง่าย
เพื่อให้ลูกน้อยได้ฝึกทักษะในการใช้มือและตาประสานกันในการคว้าจับ เขย่า เอาเข้าปาก พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูไม่ควรดึงมือ หรือของเล่นออกจากปากของลูกน้อย เพราะจะทำให้หงุดหงิด อารมณ์เสีย และขาดโอกาสในการใช้ปากสำรวจเพื่อการเรียนรู้
และที่สำคัญพ่อแม่ควรพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้อยขณะชี้ชวนให้ลูกเล่นอีกด้วย อย่าปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียว หรือดูทีวีตลอดเวลาโดยไม่มีใครคอยชี้แนะ ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนพัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกน้อยอย่างมากและอาจส่งผลถึงปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรมได้อีกด้วย
ซึ่งการเรียนรู้ของลูกน้อยในวัยนี้ต้องการบุคคลที่จะเล่นด้วย มีปฏิสัมพันธ์ด้วย และต้องการสำรวจตรวจค้นสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดหรือพี่เลี้ยงควรเข้าใจในพฤติกรรมของเด็กและส่งเสริมการเรียนทักษะเหล่านี้ให้ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งดูแลเรื่องความปลอดภัยในการเล่นของลูก
โดยเฉพาะอุปกรณ์การเล่น ควรที่จะมีขนาดใหญ่ (ถ้ามีสีต้องแน่ใจว่าสีนั้นปลอดภัย) จับและกำได้ถนัดมือ สามารถให้เด็กได้สัมผัสผ่านการกัด ดูด เลียได้ ขนาด และน้ำหนักต้องเหมาะสมกับเด็กแต่ละคน สามารถล้างหรือซักอุปกรณ์ของเล่นได้เมื่อสกปรก ตลอดทั้งพ่อแม่ควรมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กระหว่างการเล่นอีกด้วย อย่าปล่อยให้ลูกน้อยเล่นคนเดียว เพราะลูกน้อยยังไม่รู้ว่าของเล่นแต่ละชิ้นมีวิธีการเล่นอย่างไร และเล่นอย่างไร จึงจะปลอดภัย
การส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกน้อยวัยขวบปีแรก
พ่อแม่ควรส่งเสริมพัฒนาการให้กับลูกวัยขวบปีแรก โดยการกระตุ้นผ่านระบบประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่
การมองเห็น
กระตุ้นให้ลูกน้อยจ้องมองหน้าและสบตาแม่ โดยแม่ควรให้เสียงเรียกลูกน้อย พร้อมกับมองไปที่ตาของลูกก่อน จนลูกน้อยสามารถจับจ้องตาของแม่ได้
ซึ่งหน้าแม่ควรห่างจากใบหน้าลูกประมาณ 8-12 นิ้ว เพื่อกระตุ้นให้ลูกจ้องมอง และแม่ควรชวนลูกคุยทำเสียงนุ่มนวลน่าฟัง เพื่อให้เด็กสามารถจับจ้องตาของแม่ได้นานๆ นอกจากนี้แม่อาจฝึกการมองตามของลูกโดยค่อยๆ เลื่อนตาของแม่ไปทางด้านข้างทีละน้อยตามแนวราบ หรือแขวนโมบายที่สามารถเคลื่อนไหวได้ช้าๆ
ซึ่งสามารถฝึกการมองเห็นให้แก่ลูกน้อยได้เช่นกัน จนเมื่อลูกน้อยเริ่มโตขึ้นอายุประมาณ 6 เดือน จึงฝึกโดยให้มองวัตถุชิ้นเล็กๆ เช่น ลูกเกดหรือของเล่นที่มีขนาดเล็ก แต่พ่อแม่ควรอยู่เล่นกับลูกด้วย เพราะในช่วงนี้ลูกน้อยสามารถหยิบของชิ้นเล็กที่ตกอยู่ตามพื้นมาเข้าปาก อาจเป็นอันตรายทำให้เกิดการสำลักตามมาได้
การได้ยิน ขณะอุ้มลูกน้อยแนบอกในระหว่างให้นมลูกจะเป็นการฝึกให้ลูกน้อยรับฟังเสียงเต้นของหัวใจแม่ หรือฝึการได้ยินโดยผ่านการฟังเสียงทำนองดนตรีได้ พ่อแม่ควรพูดคุยเล่นเสียงกับลูกโดยทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ นุ่มนวลชวนฟัง เช่น เมื่อลูกน้อยอายุ 3 เดือน พ่อแม่ควรทำเสียงอืออาเพื่อกระตุ้นให้ลูกน้อยพูดสื่อสารเล่นเสียงตามและเมื่อลูกน้อยเริ่มเล่นเสียงอ้อแอ้ก่อน แม่ควรเข้าไปคุยกับลูกเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกน้อยพูดเล่นเสียงบ่อยๆ และเรียนรู้ทักษะการสื่อสารเบื้องต้น หรือเมื่อลูกน้อยอายุ 6 เดือน พ่อแม่ควรเล่นเสียงพยัญชนะกับลูก เช่น พูด “ บา ปา มา จา วา” หรือฝึกให้ลูกเป่าน้ำลาย เดาะลิ้น ตามพ่อแม่จะเป็นการฝึกทักษะการสื่อสารที่ซับซ้อนมากขึ้น
การสัมผัสทางผิวหนัง โดยผ่านการอุ้ม กอด หรือการนวดสัมผัสร่างกาย
 
การดมกลิ่น โดยผ่านการได้กลิ่นตัวแม่ขณะอุ้มลูก ได้กลิ่นนมที่ลูกน้อยกำลังดูด
 
การรับรส โดยฝึการรับรสนมแม่หรือขณะเอาของเล่นชนิดต่างๆ เข้าปากหรือเมื่อให้ลูกน้อยรับประทานอาหารเสริม
 
เมื่อพ่อแม่มีความเข้าใจในการเจริญเติบโตและพัฒนาการปกติตามวัยแล้ว จะสามารถนำความรู้ต่างๆ มาประยุกต์ในการดูแลลูกน้อยวัยนี้ได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น เช่น ถ้าลูกน้อยมีน้ำหนัก ความยาว เส้นรอบศีรษะ หรือการขึ้นของฟันไม่เป็นไปตามปกติ หรือถ้าลูกไม่มีพัฒนาการในด้านต่างๆ ตามลำดับขึ้น และมีพัฒนาการไม่สมวัยเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ผิดปกติต่อไป
โฆษณา