22 ก.ย. 2021 เวลา 05:57 • ครอบครัว & เด็ก
คำแนะนำเมื่อกลับบ้านสำหรับเด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
คำแนะนำเมื่อกลับบ้านสำหรับเด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
เด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย หมายถึง เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวเมื่อแรกเกิดน้อยกว่า 2,500 กรัม การทำงานของระบบต่าง ๆ ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่สามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อกลับไปอยู่กับคุณพ่อ คุณแม่ ที่บ้านควรระมัดระวังเรื่องต่อไปนี้เป็นพิเศษ
1. การให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
เด็กยังไม่สามารถปรับอุณหภูมิในตัวเองได้ดีพอ
ดังนั้นจึงควรใช้ผ้าอ้อมห่อตัวเด็ก และห่มผ้าหนาๆ ให้อบอุ่นอยู่เสมอ
เพราะความเย็นมาก ๆ อาจทำให้เด็กหายใจได้ไม่ดีนัก และยังส่งผลให้ตัวเย็น ผิวซีด ซึมลง รวมไปถึงน้ำหนักตัวที่อาจจะไม่เพิ่ม หรือเพิ่มยาก และอาจจะนำไปสู่อาการป่วยได้ง่ายขึ้น ในที่สุด
2. การอาบน้ำสระผม
จริงๆแล้วควรอาบน้ำสระผมแค่เพียงวันละ 1 ครั้ง (เวลา 13.00 - 14.00 น.) ก็พอเพียงแล้ว และหากว่าในวันเวลาที่มีอากาศเย็นเกินไป ไม่ควรอาบน้ำโดยการแช่ตัวเด็กในอ่างน้ำ แต่ให้ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ ชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวเด็กแทน และควรใช้เวลาทั้งหมดไม่เกิน 1 นาที
เมื่อเสร็จแล้วรีบเช็ดตัวให้แห้งโดยเร็ว และรีบห่อตัวเด็กให้อบอุ่นทันที
3. การให้นม
ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวใน แรกเกิด - 6 เดือนแรก (ยกเว้นบางกรณีที่มีความจำเป็นต้องเลี้ยงนมผสม)
คุณแม่ควรให้นมอย่างเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก โดยในแต่ละครั้งเด็กอาจจะต้องการประมาณน้ำนมอยู่ที่ 30 - 60 ซีซี และประมาณวันละ 6 - 8 ครั้ง (จริงๆก็ตามความต้องการของเด็ก)
หลักในการให้นม
ไม่ว่าจะให้นมแม่หรือนมผสม คุณพ่อ คุณแม่ควรอุ้มเด็กป้อนนมทุกครั้ง โดยไม่ควรที่จะให้เด็กนอนราบดูดนม เพราะเด็กอาจสำลักได้ และควรจะอุ้มเด็กให้เรอทุกครั้ง หลังจากเด็กกินนมจนอิ่มแล้ว นอกจากจะช่วยให้เด็กสบายท้องแล้ว ที่สำคัญการอุ้มเด็กบ่อยๆ จะทำให้เด็กได้รับสัมผัสที่อบอุ่น จริงใจ และอ่อนโยน อันจะเป็นการช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม ให้ดีขึ้น
4. การรับวัคซีน
เด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรควัณโรค โรคตัวอักเสบบี เข็มที่ 1 จากโรงพยาบาล แล้วพาเด็กไปรับวัคซีนเข็มต่อไปที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน
5. เด็กได้รับการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ แรกเกิดแล้วถ้าผลผิดปกติจะมีจดหมายตามให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป
6.ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ในกรณีที่แพทย์นัด เพื่อแพทย์จะได้ตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง
7. ให้สังเกตอาการเด็กดังนี้คือ เด็กมีอาการซึม มีไข้ ไม่ยอมดูดนม หายใจลำบากหรือหายใจอกบุ๋ม ให้พาเด็กไปพบแพทย์ทันที
8. ให้รับประทานยา ให้ครบตามขนาดและตรงตามเวลาที่ระบุไว้ (ถ้ามี)
หวังว่าบทความนี้น่าจะพอมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
โฆษณา