14 ส.ค. 2021 เวลา 13:04 • ท่องเที่ยว
พระธาตุอินทร์แขวน … เส้นทางสายบุญครั้งหนึ่งในชีวิต
ภาพพระเจดีย์สีทองเหลืองอร่ามที่ตั้งสงบนิ่งอยู่บนก้อนหินทรงกลมกลืนสีเดียวกัน อยู่บนหน้าผาสูงชันราวกับพร้อมที่จะลื่นไถลลงมาได้ทุกเมื่อ ได้กลายเป็นภาพคุ้นตาของนักท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปแสวงบุญในพม่า … แต่สำหรับชาวพม่านั้น เจดีย์แห่งนี้มีความหมายมากกว่านั้น
คนพม่าเชื่อว่า เกิดมาชาติหนึ่งจะต้องหาโอกาสมาไหว้ “พระธาตุไจก์ทิโย” ให้ได้อย่างน้อยสักครั้งในชีวิต พระธาตุนี้คนไทยรู้จักกันในชื้อ “พระธาตุอินทร์แขวน” ตามตำนานที่ว่า พระอินทร์เป็นผู้สร้าง
พรธาตุอินทร์แขวนยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีจอ หลายคนโดยเฉพาะคนล้านนาจึงหวังนักหนาและถือเป็นพันธะของชีวิตที่จะต้องไปไหว้พระธาตุบนหน้าผาแห่งนี้ให้ได้ ด้วยความเชื่อตามตำนานล้านนาที่ว่า คนเกิดปีจอให้ไหว้พระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ จึงต้องตั้งจิตอธิษฐานกราบไหว้ในใจ หรือท่านให้ไปไหว้ “ไจก์ทิโย” ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระธาตุที่พระอินทร์สร้างแขวนไว้บนหน้าผาแห่งดินแดนพม่านี่แหละ เพื่อให้มนุษย์ได้กราบไหว้แทนพระเกศแก้วจุฬามณี
การเดินทางขึ้นเขาไปนมัสการพระธาตุอินทร์แขวนต้องใช้บริการของรถบรรทุกที่จัดไว้เท่านั้นค่ะ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเดินทางมาด้วยพาหนะอะไร ก็ต้องเปลี่ยนมานั่งรถบรรทุกขึ้นเขาไปค่ะ … อันตรายมากหากจะขับไปเอง และทางการพม่าไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นด้วยค่ะ
สถานีรถบรรทุกพิเศษที่ใช้เพื่อขนคนขึ้นสู่ภูเขาอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุโดยเฉพาะ อยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก หลังอาหารกลางวัน เราออกเดินทางมุ่งสู่องค์พระธาตุในช่วงเวลาบ่ายโดย … ความโกลาหลเกิดขึ้นเล็กน้อยเมื่อผู้คนทั้งชายหญิง เด็ก ผู้ใหญ่กรูขึ้นรถโดยสาร โดยไม่มีการจัดการ หรือจัดคิว
รถบรรทุกที่ว่านี้ เป็นรถบรรทุก 6 ล้อ ดัดแปลงให้มีที่นั่งด้านหลัง โดยพาดไม้แผ่นกว้างแค่คืบ พอที่จะนั่งได้แค่ครึ่งก้น มี 6แถว แถมบังคับให้นั่งแถวละ 6 คน จึงรู้สึกว่าแน่นขนัดมาก ส่วนใครขายาวก็ต้องหาพื้นที่เอาเอง (หากอยากจะได้รับบริการพิเศษด้วยการนั่งคู่ไปกับคนขับรถด้านหน้า ต้องจ่ายในอัตราพิเศษมากๆค่ะ) … แต่คนพม่าก็ดูจะยิ้มแย้มสบายๆ แถมยังช่วยเหลือเกื้อกูลคนต่างชาติอย่างเราด้วยดี
“พี่เป็นคนไทยใช่ไม๊ครับ?” เสียงเด็กชายอายุคงประมาณ 10-12 ปีถามเพื่อนฉันด้วยภาษาไทยชัดแจ๋ว
“ใช่ เป็นคนไทย แล้วทำไมเราพูดไทยชัดจัง?” เพื่อนฉันถามหนุ่มน้อย
“ผมเรียนภาษาไทยบนเขาครับ พอจะพูดได้บ้าง ผมจะเป็นปอดี้การ์ดให้พี่นะครับ” หนุ่มน้อยตอบพร้อมกับรับอาสาทำหน้าที่คอยปกปักรักษาความปลอดภัยให้ … ในพม่าไม่มีอะไรที่น่ากลัว หรือต้องเป็นห่วง แต่ด้วยความเอ็นดูหนุ่มน้อยนัยน์ตาใสแจ๋วคนนั้น เพื่อนฉันเลยบอกว่า ให้เดินคุยกันไปเรื่อยๆเมื่อไปถึงก็แล้วกัน
“Where’re you from?” เสียงหนุ่มๆกลุ่มหนึ่งข้างหลังถามมาอีก
“Thailand, and you?” ฉันถามกลับไปบ้าง
“Myanmar” เด็กหนุ่มคนนั้นตอบกลับมา … ฉันเลยถามไปว่า เป็นคนพม่าแล้วทำไมไม่นุ่งโสร่ง? … เด็กหนุ่มคนนั้นยิ้มกว้างขวางก่อนที่จะหยิบโสร่งจากในถุงออกมาให้ดู แล้วเล่าว่าเขาจะไปนอนค้างบนเขา เขาถามต่อว่าจะไปนอนค้างไม๊?
ฉันบอกว่าไม่มีที่พัก เขารีบแนะนำว่า .. เรื่องนี้ไม่มีปัญหา ยูไปบอกพระบนเขา แล้วขอยืมเครื่องนอนของวัด นอนบนลานวัดได้สบายๆ แถมเพื่อนเยอะอีกต่างหาก เงินก็ไม่ต้องเสีย … ฉันขอบคุณในคำแนะนำและความหวังดี ก่อนจะบอกว่า เอาไว้โอกาสหน้าก็แล้วกันจะเอาถุงนอนมาด้วย แล้วไปนอนนับดาวบนฟ้า ใต้บารมีของ “ไจก์ทิโย”
ฉันรู้สึกได้โดยไม่ต้องพยายามเลยว่า คนพม่าสั่งสมความศรัทธามาตั้งแต่เด็ก ผ่านการสั่งสอนอบรมและทำเป็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่ในครอบครัว จนศรัทธาที่แรงกล้าเกิดขึ้นและสั่งสมโดยไม่รู้ตัว ..
เด็กๆเหล่านี้จะเป็นผู้ทะนุบำรุงพระศาสนาเฉกเช่นที่บรรพบุรุษของเขาได้กระทำติดต่อกันมาแล้วหลายชั่วอายุคน และสำหรับการเดินทางมาสักการะสักครั้งของชาวพม่านั้น ว่ากันว่าสำหรับบางคนต้องใช้เวลาในการเก็บเงินทองเกือบทั้งชีวิต เพราะระยะทางราว 180 กิโลเมตรจากนครย่างกุ้งนั้น นอกจากจะไม่ราบเรียบแล้ว ยังต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงทีเดียว
หลังจากคนโดยสารเต็มจนแน่นแล้ว รถหกล้อก็ออกเดินทางพาเราไต่ขึ้นไปตามทางลาดชัน … ตอนนี้เองที่ฉันรู้สึกว่า การที่คนเบียดกันแน่นรถก็มีผลดี เพราะเวลาที่รถแล่นแล้วทิ้งโค้งเวลาเลี้ยว ทำให้ตัวเราไม่ไถลไปมา หรือถูกเหวี่ยงไปตามแรงของรถ … นั่งมาสักพัก ความรู้สึกอึดอัดหายไป กลายเป็นความสนุกอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่าง
พระธาตุอินทร์แขวน ตั้งอยู่บนภูเขาที่ความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ถ้าจะเดินขึ้นไปเองตามถนนที่รัฐบาลพม่าทำเอาไว้ เหมือนคนพม่าที่เคร่งศาสนา ระยะทางก็ประมาณ 9.5 กิโลเมตร แต่ถ้าเลือกนั่งรถหกล้ออย่างที่เราทำ รถจะแล่นมาราว 8.5 กิโลเมตร ส่วนอีก 1 กิโลเมตรสุดท้ายต้องลงเดินเอง … นัยว่า 1 กิโลเมตรที่เหลือเป็นการพิสูจน์แรงศรัทธา
ที่ลานจอดรถ … ผู้แสวงบุญชาวคนพม่าหอบลูก จูงหลาน หิ้วอาหารการกินและเสื่อหมอนเครื่องนอน เดินตามๆกันไปตามทางลาดชันที่ตรงขึ้นไปสู่ยอดเจดีย์ … ด้วยความเชื่อที่ว่า ผู้ใดเดินขึ้นพระธาตุ ผู้นั้นจะก่อเกิดความมั่งคั่งนัก
สำหรับคนที่เดินไม่ไหว หรืออยากจะลองเอนกายไปบนเสลี่ยงที่หน้าตาคล้ายกับเก้าอี้ผ้าใบชายหาดแต่พนักตั้งตรงกว่า มีไม้ไผ่ท่อนใหญ่ผูกติกสองข้างเป็นคานสำหรับหาม โดยมีชาย 4 คนแบกขึ้นไปราวกับเป็นนางพญา ที่นี่ก็มีบริการในราคา 8,000 จั๊ด
หากมีสัมภาระมากชิ้น ก็ต้องจ้างให้ชาวพม่าขนขึ้นไปให้อีกต่างหาก คิดตามน้ำหนักของสิ่งที่จะต้องแบกขนขึ้นไป … ฉันไม่ได้หวังความมั่งคั่ง แต่อยากลองเป็นนางพญาสักครั้งในชีวิต เลยขอใช้บริการของเสลี่ยง โดยเพื่อนร่วมทางเลือกที่จะเดินขึ้นเขาไปเรื่อยๆกับบอดี้การ์ดของเธอที่คะยั้นคะยออาสาที่จะแบกเป้ให้ เพื่อให้เธอถ่ายรูปได้สะดวก
ความรู้สึกยามนั่งบนเสลี่ยงนั้นดูแปลกๆ … รู้สึกหวาดเสียวในช่วงแรก แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มจะชินกับจังหวะการเดินของคนทั้ง 4 ที่เดินไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียง ก้าวซ้ายและขวาพร้อมกันราวกับได้รับการฝึกมาอย่างดี แต่ความรู้สึกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ ฉันรู้ว่าเป็นบริการที่พยายามจะให้นักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยกับการเดินขึ้นเขาบนทางลาดชันได้รับความสะดวกและสบาย โดยคนงานพม่าต้องใช้แรงกายเข้าแลกกับเงินเล็กน้อย …
แต่เมื่อเห็นความเหนื่อยอ่อนของพวกเขา และการที่ต้องวางเสลี่ยงเพื่อพักดื่มน้ำเป็นระยะๆนั้นสร้างความอึดอัดให้กับฉันไม่น้อย รู้สึกว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ไม่ควรทำหรือเปล่า หรือว่าเรากำลังช่วยสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น …
คนไทยกลุ่มใหญ่ที่มาถึงช่วงเย็นและจะมาค้างคืนที่โรงแรมบนยอดเขา ซึ่งคงจะมีโอกาสได้ตักบาตรยามเช้าไปด้วย … เกือบจะทุกคนใช้บริการเสลี่ยงในการขึ้นไปที่ยอดเขา คนพม่าบอกว่า พวกเขาดีใจทุกครั้งที่มีทัวร์คนไทยมาค่ะ
ตลอดทางช่วงสุดท้ายมีร้านขายหมวก ขายไม้เท้า น้ำดื่ม และขนมสารพัด รวมถึงดอกไม้ ธูปเทียน ของที่ระลึกเกี่ยวกับพระธาตุอินทร์แขวน ทั้งโปสเตอร์ ลูกประคำ ไม้หอม เป็นต้น แต่ไม่มีพระเครื่องค่ะ ไม่ต้องหาให้ยาก
ตำนานของพระธาตุอินทร์แขวนมีอยู่ว่า … มีพิทยาธรคนหนึ่ง (พม่าเรียก “ซอว์จี”) เป็นลูกศิษย์ของพระฤษีผู้มีอาคมแก่กล้าอยู่ในป่าลึก ต่อมาพิทยาธรได้พบรักกับนาคีผู้มีฤทธิ์ ได้แปลงตนเป็นหญิงสาว จนมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง ให้ฤษีช่วยเลี้ยงจนเติบใหญ่ได้เป็นกษัตริย์ครองเมือง นามว่า “พระเจ้าติสสะ”
วันหนึ่งพระฤษีรู้ว่าตนจะละสังขาร จึงถวายพระเกศาของพระพุทธเจ้าที่ตนได้มาเมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จมาโปรดถึงในถ้ำ และฤษีได้เก็บไว้ในมวยผมเป็นเวลานาน … มอบให้แก่พระเจ้าติสสะ โดยมีข้อแม้ว่าพระเจ้าติสสะจะต้องหาก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะของตน และสร้างเจดีย์ไว้บนหินก้อนนั้น เพื่อเก็บพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้า
มาถึงตรงนี้ บางคนก็ว่าพระอินทร์ บางคนก็ว่า นัต มาช่วยค้นหาตามก้นมหาสมุทร จนพบก้อนหินที่มีรูปร่างตามเงื่อนไข แล้วนำมาวางไว้บนหน้าผา … ขณะที่กำลังสร้างพระเจดีย์อยู่นั้น พระเจ้าติสสะพบรักและอภิเษกสมรสกับ “ชเวนันจิน” ธิดาของหัวหน้าชาวกะเหรี่ยงที่มีถิ่นฐานในบริเวณนั้น จนกระทั่งนางตั้งครรภ์แล้วป่วยกระเสาะกระแสะ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะนางไม่ได้ไหว้ผีบรรพบุรุษก่อนแต่งงาน
พระเจ้าติสสะจึงทรงอนุญาตให้นางกลับไปไหว้บรรพบุรุษ ทว่าตอนที่เดินทางกลับ ผ่านป่า มีนัตตนหนึ่งแปลงกายเป็นเสือ กระโจนมาขวางทางไว้ พ่อและพี่ชายของนางวิ่งหนี … นางชเวนันจินครรภ์แก่จะวิ่งหนีก็วิ่งไม่ไหว ได้แต่นั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนา ตาจ้องมองไปที่เจดีย์ที่พระสวามีทรงสร้าง ด้วยแรงศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า … ที่สุดเสือตัวนั้นก็หนีไปโดยไม่ทำอันตรายต่อนาง
ชเวนันจิน กระเสือกกระสนปีนขึ้นไปจนถึงฐานของ “ไจก์ทิโย” ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้อยู่ใกล้องค์พระธาตุอินทร์แขวนตลอดไป จากนั้นก็ทอดกายลงสิ้นลมอย่างสงบ ครั้งพระเจ้าสิตตะเสด็จมาถึง ศพของนางก็ได้กลายเป็นหินไปแล้ว นางได้กลายเป็นตำนานแห่งเทพธิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตาและความดีงาม ผู้คอยพิทักษ์รักษาพรธาตุอินทร์แขวน หรือ “ไจก์ทิโย” สมคำอธิษฐาน
ชาวมอญและพม่าจึงเชื่อสืบต่อมาว่า การได้เดินปีนเขาขึ้นมากราบพระธาตุศักดิ์สิทธิ์บนหน้าผานี้ นอกจากจะเป็นการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์และมั่นคงในศรัทธาแล้ว ยังเสมือนได้ก้าวตามรอยบุญแห่งพระนางชเวนันจินอีกด้วย ทว่าหมายถึงการเดินจากเชิงเขาขึ้นมาถึงยอดเขา ไม่ใช่การเดินเพียงแค่ 1 กิโลเมตร หรือเดินจากจุดที่เสลี่ยงจอดส่ง นะคะ
เวลาผ่านไปสักพักใหญ่ เสลี่ยงก็นำฉันมาจนถึงทางที่ฉันจะต้องเดินเท้าต่อไปอีกเล็กน้อย … ฉันจ่ายเงินแปดพันจั๊ดให้ชายที่พาฉันขึ้นมา แต่เขาบอกว่าต้องจ่ายเพิ่มอีก 4,000 จั๊ดเป็น “Gift” ให้พวกเขา 4 คน … ด้วยความประหลาดใจที่มีการบังคับจ่ายเช่นนี้ ฉันเลยบอกว่าฉันมีเงินเหลือแค่ 2,000 (เพื่อนให้เงินติดตัวไว้หนึ่งแสนก่อนขึ้นเสลี่ยง) ให้ได้เท่านี้ จะเอาก็ได้ หรือจะไม่รับก็ดี … ผลลัพธ์คงไม่ต้องบอกก็ได้ ใช่ไม๊คะ?
แสงแดดยามบ่ายที่สาดกระทบก้อนหินสีทองขนาดใหญ่ที่ปรากฏในสายตาดูน่าอัศจรรย์ยิ่ง ด้วยองศาที่ก้อนหินเอียงอย่างหมิ่นเหม่ ยิ่งเดินเข้าไปใกล้หินก้อนนั้นก็ยิ่งโดดเด่น … แม้จะตระหนักถึงคำอธิบายของนักวิทยาศาสตร์ในเรื่องทฤษฎีของจุดศูนย์ถ่วง แต่ภาพที่เห็นก็ยังทำให้อึ้งไปหลายนาทีค่ะ …
ยิ่งเห็นแรงศรัทธาแรงกล้าของชาวพม่าไม่ว่าจะเป็นคนแก่เฒ่า หรือเด็กๆที่ล้วนมีใบหน้าอิ่มเอิบกับ “บุญ” ที่ได้ดั้นด้นมาทำ ฉันก็เลยเต็มใจโยนทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ทิ้งไปเลยค่ะ … อ้าแขนรับตำนานละศรัทธาอันแรงกล้าที่ได้หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของชาวพม่าและชาวมอญมาแล้วเนิ่นนานอย่างเต็มใจดีกว่า
คำว่า “ไจก์” เป็นภาษามอญ แปลว่า “เจดีย์” ส่วนคำว่า “ทิโย” หมายถึง “ฉัตร” ซึ่งฉันคิดว่าคงเรียกตามรูปลักษณะของพระเจดีย์ทรงมอญองค์เล็กๆ มีแตรครอบ ที่ประดิษฐานพระเกศธาตุ สร้างไว้บนก้อนหินขนาดสูงท่วมหัว คือสูง 18 ฟุต มีเส้นรอบวงราว 50 ฟุต ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 3,000 ฟุต
ทางการพม่าได้สร้างชานชาลาเป็นวงกลมให้ผู้คนสามารถเดินลงไปชมและมองเห็นพระธาตุอินทร์แขวนในมุมเงยได้อย่างชัดเจน ในระดับความสูงจากชานชาลา 80 ฟุต
ควันธูปกระจายไปทั่วลาน ดอกไม้เครื่องบูชามากมายราวกับว่าศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลกกำลังมุ่งมาที่นี่ .. ความงดงามของเจเดีย์ขนาดเล็กบนยอดก้อนหิน และสีทองมลังเมลืองของก้อนหิน ทำให้ฉันกดชัตเตอร์กล้องอย่างไม่ยั้ง แม้แสงยามบ่ายจะไม่เป็นใจ และไม่ถูกใจช่างภาพหลายๆคน … เรารอแสงเย็นเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามกว่านี้ไม่ได้ ด้วยต้องกลับลงไปตามเวลาที่กำหนดเพื่อให้ทันรถโดยสารเที่ยวสุดท้ายที่จะลงจากยอดเขา
การเข้าไปปิดทององค์พระธาตุนั้น อนุญาตให้เข้าไปได้เฉพาะผู้ชาย ผู้หญิงถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่รอบนอกของรั้วเจดีย์เท่านั้น ถ้าอยากจะแขวนระฆังหรือปิดทองที่องค์เจดีย์ ต้องไหว้วานให้บุรุษเพศเป็นผู้นำแผ่นทองไปปิดแทน ก่อนที่จะขอจับมือเพื่อถ่ายทอดพลังแห่งศรัทธาเมื่อเขากลับออกมา …
 
แผ่นทองแต่ละแผ่นนั้นถึงแม้จะเล็กกว่าหัวแม่มือ แต่แผ่นทองทั้งหมดก็สามารถบดบังเนื้อหินจนไม่มีช่องว่างเหลือแม้แต่น้อย ซึ่งคงต้องใช้เวลามากมายในการทำได้เช่นนี้จากจุดเริ่มต้น … ฉันรู้สึกว่าอีกไม่นานหินก้อนนี้ก็คงจะเหมือนผิวของพระมหามุนีที่มัณฑะเลย์ คือจะมีความหยุ่นที่ผิวจนรู้สึกได้ยามกดนิ้วสัมผัส ด้วยความหนาของแผ่นทองคำเปลวที่ถูกทับซ้อนลงแผ่นแล้วแผ่นเล่าด้วยแรงศรัทธา
คนบอกว่า หากนำเงินทำบุญเสียบไม้แล้วนำไปค้ำไว้ใต้ก้อนหิน ลองดันหินดู หินจะโยกขยับได้ แต่ฉันไม่ได้ลองให้ใครทำให้ดู … ไม่อยากมีความรู้สึกว่า เงินง้างได้ทุกสิ่งค่ะ
คนพม่าเชื่อว่าการมาสักการะพระธาตุอินทร์แขวนนั้น ต้องมาให้ครบ 3 ครั้งใน 1 ปีจึงจะสมบูรณ์ แต่สำหรับคนไทยที่มีโอกาสเพียงคืนเดียวนั้น 3 ครั้งที่ว่า ก็คือ การขึ้นไปเพื่อไหว้ให้ถูกต้องตามวิธีการ รวมทั้งซื้อระฆังอธิษฐานไปแขวนไว้รอบๆเจดีย์ หลังจากนั้นอาจจะกลับลงมา แล้วขึ้นไปอีกเป็นครั้งที่ 2 พร้อมกับนั่งสมาธิหรือสวดมนต์ท่ามกลางความสงบเงียบยามค่ำคืน … และตบท้ายครั้งที่ 3 ด้วยการขึ้นไปตักบาตรพระธาตุในช่วงเช้ามืดของวันถัดไป
ฉันเดินไปหามุมสงบนั่งมองพระธาตุอินทร์แขวน … ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยไม่สนใจกับความเคลื่อนไหวรอบข้าง ในใจคิดถึงวรรณกรรมเรื่องหนึ่งจากปลายปากกาของมาลา คำจันทร์ “ เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” ซึ่งเรื่องราวของเจ้าจันทร์ผมหอม ที่ดั้นด้นจากเชียงใหม่ บุกป่าฝ่าดง ผ่านความยากลำบากแสนสาหัส เพื่อขึ้นมาสักการะพระธาตุอินทร์แขวน นางตัดผมแล้วอธิษฐานให้เส้นผมสามารปูลอดพระธาตุไปด้วยดี … อันจะเป็นนิมิตรหมายว่าความรักของนางกับเจ้าหล้าอินทะ จะผ่านพ้นอุปสรรคและสมหวัง … โลกในความเป็นจริง กับโลกในความฝันของนาง ไม่ใช่โลกใบเดียวกัน
“… ผมลอดบ่ได้ ลอดแล้วลอดเล่า ผมบ่เข้าแผ่พื้น หน้าตื่นใจเสีย เจ้าแก้วเหย เจ้าแว่นฟ้าทิพย์เทพนางตนประเสริฐนี้เฮย เจ้าก็ร่ำไห้ดุจดั่งคนบ้า ..”
ฤาบุญได้ร่มผ้า ผืนเดียว
บาปแบ่งสองขาดเกลียว แฝดฟั่น
พระเอยน้องจักเหลียว เหลียวหาก ลับเฮย
จักตายก้มหน้ากลั้น เท่ากลั้นใจตาย
(มาลา คำจันทร์ “เจ้าจันทร์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน” หน้า 110)
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา