16 ส.ค. 2021 เวลา 03:39 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ดิจิทัลหยวน (E-CNY) อีกก้าวของสังคมไร้เงินสดของจีน
1
หนึ่งในศัพท์ฮอตฮิตติดกระแสที่ผู้ติดตามพัฒนาเศรษฐกิจจีนได้ยินกันบ่อยครั้งในช่วงนี้คงไม่พ้นคำว่า เงินหยวนดิจิทัล หรือ E-CNY ซึ่งเป็น Digital Currency ของจีน (Central Bank Digital Currency: CBDC) และปัจจุบันได้เริ่มทดลองใช้แล้วในหลายเมือง ทางทีมงานศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณสุพัฒน์ อำไพธนากร หัวหน้าสำนักงานตัวแทนอาวุโส สำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยกรุงปักกิ่ง ซึ่งได้ช่วยแนะนำและตอบคำถามไขข้อสงสัยเกี่ยวกับดิจิทัลหยวนของจีน
ภาพคุณสุพัฒน์ อำไพธนากร หัวหน้าสำนักงานตัวแทนอาวุโส สำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยกรุงปักกิ่ง
ดิจิทัลหยวน (E-CNY) คืออะไร
ดิจิทัลหยวน (E-CNY) หรือชื่อทางการคือ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) คือ เงินหยวนในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC) ที่สามารถชำระหนี้ได้เสมือนเงินสด เพียงแต่เปลี่ยนจากการใช้เงินที่เป็นเหรียญหรือธนบัตร (Fiat Money) มาเป็นเงินในรูปแบบดิจิทัล (Digital Money) เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งรูปแบบทางเลือกให้กับประชาชนใช้เป็นสื่อกลางในการใช้จ่ายและหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจควบคู่กับเงินหยวนในรูปแบบดั้งเดิม (ธนบัตรและเหรียญ) และ E-CNY เป็นสกุลเงินดิจิทัลเดียวที่ถูกกฎหมายในประเทศจีน
เงินหยวนดิจิทัลออกแบบมาให้ใช้ได้หลากหลายช่องทาง เช่น ผ่านแอพพลิเคชั่น E-CNY หรือใช้งานผ่านบัตรเงินสดทั้งบัตรธรรมดาและบัตรอัจฉริยะ (มีหน้าจอแสดงยอดเงินคงเหลือและสามารถใส่รหัสสำหรับการชำระเงินได้) โดยเงินหยวนดิจิทัลนี้จะครอบคลุมการชำระเงินธุรกรรมต่าง ๆ ภายในจีน รวมถึงการทำธุรกิจของจีนกับนักลงทุนต่างชาติ และในอนาคตอาจมีบทบาทมากขึ้นในระดับการค้าระหว่างประเทศ การผลักดันเงินหยวนดิจิทัลนี้จึงนับเป็นนวัตกรรมการเงินครั้งสำคัญที่ไม่ใช่แต่หน่วยงานภาครัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธนาคารพาณิชย์ไทย แต่ผู้ประกอบการไทยก็น่าจะเริ่มศึกษาและจับตามอง เพื่อปรับตัวรองรับกับทั้งโอกาสและความท้าทายในอนาคต
ภาพรูปแบบเงินหยวนดิจิทัลในระบบแอพพลิเคชั่น E-CNY ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพรูปแบบเงินหยวนดิจิทัลในระบบบัตรเงินสดอัจฉริยะ E-CNY ที่มา: ccdi.gov.cn และ chinanews
แล้ว E-CNY มีความแตกต่างกับ Mobile Banking หรือการจ่ายเงินผ่าน WeChat หรือ Alipay และเงินสกุล Cryptocurrency อื่น ๆ อย่างไร
1
ประการแรกเลยคือ E-CNY เป็น Digital Currency หรือ เงินหยวนในรูปแบบดิจิทัลที่ออกใช้โดยธนาคารกลางของจีน โดย E-CNY มีค่าคงที่และทำหน้าที่เท่ากับเงินสด (ถ้าตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คือนับว่าเป็น M0) และมีการตั้งจำนวนเงินสำรองแบบ 1:1 ในขณะที่ Cryptocurrency อื่น ๆ ไม่ได้ออกโดยธนาคารกลาง (เช่น Bitcoin หรือ Ethereum) ดังนั้น ระบบหลังบ้านจึงไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารกลาง อีกทั้งยังไม่ได้รับการค้ำประกันจากภาครัฐแต่อย่างใด Cryptocurrency ดังกล่าวจึงมีมูลค่าไม่คงที่หรือมีราคาผันผวนตามทิศทางการขึ้นลงของตลาด จึงถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน (Financial asset) มากกว่าการเป็น Digital Currency เนื่องจากมีโอกาสเก็งกำไรเหมือนสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่น ๆ
1
ประการที่สอง E-CNY เป็นตัวเงินหยวนในรูปดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง แตกต่างจาก WeChat และ Alipay ที่เป็นเพียงกระเป๋าตังค์ที่เรียกว่า e-wallet เท่านั้น ดังนั้น E-CNY จึงสามารถเป็นตัวเงินที่ถูกเก็บอยู่ในกระเป๋าตังค์ WeChat หรือ Alipay ได้
ประการที่สาม E-CNY ต่างจากเงินในแอพพลิเคชั่นของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปตรงที่ E-CNY ด้วยตัวของมันเองนับเป็น M0 เช่นเดียวกับธนบัตรและเหรียญที่ไม่มีดอกเบี้ย ดังนั้น การมีเงิน E-CNY ในกระเป๋าตัง
(e-Wallet) จึงไม่ได้รับดอกเบี้ย แต่ถ้าผู้เป็นเจ้าของ E-CNY ต้องการได้รับดอกเบี้ย ก็เพียงโอนย้ายเงิน E-CNY จากกระเป๋าตัง (e-Wallet) ไปฝากในบัญชีเงินฝากของธนาคารที่มีดอกเบี้ย ก็จะได้รับดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากที่มีดอกเบี้ยนั้น เช่นเดียวกับปัจจุบันที่ประชาชนมีธนบัตรและเหรียญในมือก็ไม่มีดอกเบี้ย แต่สามารถจะได้รับดอกเบี้ยได้ด้วยการนำธนบัตรและเหรียญนั้นไปฝากในบัญชีเงินฝากของธนาคารประเภทที่มีดอกเบี้ย ก็จะสามารถได้รับดอกเบี้ยนั้น ๆ ได้
นอกจากนี้ E-CNY สามารถใช้งานได้ทั้ง online และ offline จาก Mobile application และบัตรเงินสด E-CNY หรือแม้กระทั่งการใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีการฝัง Digital token ไว้เพื่อใช้แทนเงินสด เช่น ถุงมือ ผ้าพันคอ เข็มกลัด นาฬิกา เป็นต้น
อะไรเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิด e-CNY
ธนาคารกลางจีน (PBOC) ตระหนักถึงการเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเกิดแพลตฟอร์มดิจิทัลมากมายในชีวิตประจำวันและการพัฒนาด้านการชำระเงินออนไลน์อย่าง WeChat และ Alipay รวมถึงการเกิดสกุลเงิน Cryptocurrency มากมายที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain เช่น Bitcoin และ Libra ซึ่งหากธนาคารกลางไม่มีการปรับตัวรองรับสังคมดิจิทัลก็จะเป็นเรื่องยากในการกำกับดูแลและออกกฎระเบียบ รวมถึงอาจจะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินในอนาคต นอกจากนี้ อาจคำนึงถึงการลดช่องทางที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อของโรคระบาด เช่น เงินสด
1
ภาพรูปแบบเงินหยวนดิจิทัลในระบบแอพพลิเคชั่น E-CNY ที่มา: Plenum
ปัจจุบันที่จีนมีการทดลองใช้ E-CNY อย่างไร
ธนาคารกลางจีนเริ่มจัดตั้งโครงการเงินหยวนดิจิทัลตั้งแต่ปี 2557 และพัฒนามาจนปี 2560 จึงได้มีการทดลอง[1]ในรูปแบบ Retail[2] ซึ่งทดลองเฟสแรกตั้งแต่ปี 2562 เช่น ในเมืองซูโจวมีการทดลองการจ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงบางส่วนให้ข้าราชการเป็น E-CNY ซึ่งข้าราชการสามารถใช้ E-CNY นี้ที่ร้านสะดวกซื้อ Starbucks KFC หรือแมคโดนัลได้ หรือที่เมืองเซินเจิ้น มีการทดลองสุ่มแจก E-CNY มูลค่า 200 หยวน ให้กับประชาชนทั่วไปได้ทดลองใช้ที่ร้านสะดวกซื้อเช่นกัน และ ณ เดือน มีนาคม 2564 มีการทดลองใช้ในประชาชนทั่วไปที่ นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง และเฉิงตู ซึ่งมีความแตกต่างจากเฟสก่อนหน้าคือมีการเพิ่มลูกเล่น เช่น สามารถใช้จ่าย E-CNY ผ่าน e-commerce แพลตฟอร์ม เช่น JD.com และสามารถถอนเป็นเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม
ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังไม่มีทีท่าว่าจะประกาศใช้ E-CNY อย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ แต่นักวิเคราะห์ในตลาดต่างคาดว่า E-CNY น่าจะสามารถพร้อมใช้ในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแข่งขัน Winter Olympic 2022
1
[1] จีนมีการทดลองเงินดิจิทัลหยวนแล้วใน 4 เมือง ได้แก่ (1) เมืองเซินเจิ้น (2) เมืองซูโจว (3) กรุงปักกิ่ง และ (4) นครเฉิงตู ซึ่งมีการทดลองรวม 7 ครั้ง และมีมูลค่ารวมกว่า 150 ล้านหยวน
[2] รูปแบบของการชำระเงินจากมิติขนาดการชำระเงิน แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) Wholesale คือ การชำระเงินในธุรกรรมขนาดใหญ่ เช่น สถาบันการเงิน และ 2) Retail คือ การชำระเงินในธุรกรรมรายย่าย ที่ธนาคารกลางของ ภาคธุรกิจและประชาชน
ภาพการจ่ายเงินหยวนดิจิทัลผ่านระบบแอพพลิเคชั่น E-CNY ที่มา: sohu.com
ปัจจุบัน จีนเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้วและมีพฤติกรรมคุ้นชินกับการใช้ QR code จากแอพพลิเคชั่น WeChat และ Alipay จึงเกิดคำถามว่าแล้วมีความจำเป็นอย่างไรถึงต้องใช้ E-CNY อะไรจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนจีนหันมาใช้ E-CNY
อย่างแรกเลยคือ ปัจจุบันเรามีเงิน e-Money อยู่ในกระเป๋าตัง e-Wallet ของ WeChat หรือ Alipay อยู่แล้ว การโอนเงิน e-Money จากกระเป๋าตัง e-Wallet ของ WeChat หรือ Alipay กลับเข้าบัญชีธนาคาร จะต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่การโอนเงิน E-CNY กลับเข้าบัญชีธนาคารจะไม่มีค่าธรรมเนียมใด ๆ และ E-CNY นี้สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายระยะใกล้ (Near Field Communication : NFC) [3] ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถแลกเงินสดเป็นบัตรดิจิทัลหยวนและถือบัตรนี้ไปซื้อของที่ร้านค้า โดยแค่แตะบัตรเข้ากับเครื่องรับเงิน E-CNY ก็สามารถชำระเงินได้เลยในทันที จึงเป็นทางเลือกในการชำระเงินที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า WeChat และ Alipay
[3] เทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายระยะใกล้ (Near Field Communication : NFC) เป็นหนึ่งในระบบโปรโตคอล Mobile Payment ที่เพียงแค่นำมือถือมาแตะกันเท่านั้นสามารถรับ/จ่ายเงินได้
ภาพแอพพลิเคชั่นการชำระเงินออนไลน์ (e-Payment) ในจีน WeChat (ซ้าย) Alipay (ขวา) ที่มา: baidu.com
แล้วนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่มีบัญชีธนาคารในจีน จะสามารถใช้ E-CNY ได้หรือไม่
ใช้ได้ครับ เขาจะมีระบบรองรับต่างชาติที่ไม่มีบัญชีธนาคารจีน โดยสามารถถือบัตรเครดิตหรือเงินสดไปแลกบัตรเงินสด E-CNY ได้ที่เคาท์เตอร์สนามบินได้เลย รูปแบบนี้ก็คือเราจะได้รับบัตรเงินสด E-CNY ที่เป็น Token มาถือครองไปใช้จ่ายตามร้านค้าที่มีสัญลักษณ์บริการ E-CNY หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเลือกโหลดแอพพลิเคชั่น E-CNY เข้าในโทรศัพท์ Smart phone และเติมเงิน E-CNY เข้า Smart phone ได้ จากนั้น ก็ใช้ Smart phone ที่มี E-CNY นี้ในการชำระค่าสินค้าและบริการตามร้านค้าที่มีสัญลักษณ์บริการ E-CNY ได้เช่นกัน และในช่วง Winter Olympic 2022 จะมีประเด็นที่น่าสนใจคือการเอาชิปการ์ดดิจิทัลหยวนไปฝังใน Token อื่น ๆ ซึ่งสามารถตอบโจทย์สนับสนุนงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวได้ เช่น การฝังชิปการ์ดดิจิทัลหยวนไว้ในของที่ระลึกอย่างเข็มกลัด หมวก หรือถุงมือ เพื่อใช้ชำระเงินในร้านค้าต่าง ๆ ได้
E-CNY มีข้อดี ข้อเสียหรือความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างไรบ้าง
ถ้ามองจากมุมมองของภาครัฐ มีข้อดีคือ ธนาคารกลางจีนจะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเงินที่ถูกเปลี่ยนมือระหว่างผู้ใช้ได้ทั้งหมด ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็หมายถึงการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคด้วย ซึ่งแตกต่างจากเงินสดที่แทบจะไม่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเงินได้เมื่อเงินสดมีการเปลี่ยนมือ ดังนั้น ในมุมมองข้อนี้ จึงทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมการชำระเงินในธุรกรรมที่ผิดกฎหมายได้ เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ซึ่งจะสามารถควบคุมดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก รวมถึงเพิ่มความโปร่งใส่ ลดโอกาสการหนีภาษีและการฟอกเงิน และยังลดต้นทุนการผลิตเงินในรูปแบบกระดาษอีกด้วย
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์การลงทุนหลายรายในตลาดยังเชื่อว่าการใช้ E-CNY อาจจะช่วยเพิ่มโอกาสผลักดันสกุลเงินหยวนให้เป็นที่ยอมรับของโลกมากขึ้น แต่อาจมีข้อที่น่ากังวลในด้านอื่น ๆ ที่ตามมาด้วย เช่น การควบคุมความเสี่ยงด้านอาชญากรรมไซเบอร์ และความท้าทายในการบริหารการชำระเงินระหว่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในด้านผู้ประกอบการ จะมีข้อดีคือ เพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงิน สามารถโอน/รับเงินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยลดต้นทุนหรือค่าธรรมเนียมการโอนเงิน เพราะว่า E-CNY ไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัวรองรับระบบดิจิทัล แต่ยังเป็นที่น่ากังวลถึงการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของภาครัฐจีนเช่นกัน
1
E-CNY ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่ได้ใช้งานอย่างจริงจัง ยังเพียงอยู่ที่ขั้นการทดสอบ แต่ผู้ประกอบการควรศึกษาทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมปรับตัวและนำมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ เนื่องจากนวัตกรรมเงินสกุลดิจิทัลนี้อาจมีผลช่วยลดต้นทุนทางธุรกรรมการเงิน ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจต่าง ๆ อย่างมาก
จัดทำโดย : อังศุมา รัตนโกสินทร์ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งข้อมูล :
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์คุณสุพัฒน์ อำไพธนากร หัวหน้าสำนักงานตัวแทนอาวุโส สำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทยกรุงปักกิ่ง
ที่มาภาพ : https://m.sohu.com/a/450925708_267106
ติดตามข้อมูลข่าวสารด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ และการลงทุนในจีนได้ทาง www.thaibizchina.com
ไม่พลาดเรื่องราวที่น่าสนใจ สมัครรับ e-newsletters (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ทาง https://thaibizchina.com/about-us/newsletter/
#ThaiBizChina
#เพื่อนคู่คิดเพื่อธุรกิจไทยในจีน
โฆษณา