16 ส.ค. 2021 เวลา 12:20 • อาหาร
นมถั่วเหลือง นมสีขาวจากธรรมชาติ
ภาพโดย bigfatcat จาก Pixabay
นมจากพืช สีขาวสวยมาจากธรรมชาติ รสชาติดี เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี มีมานานหลายชั่วอายุคน ประโยชน์เทียบเท่านมวัวแต่มีไขมันน้อยกว่า เหมาะสำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง หรือ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักและผู้ที่ไม่บริโภค อุปโภคสัตว์กินได้โดยไม่ต้องลังเลและยังมีประโยชน์อีกมากมายจากถั่วเหลือง
#นมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้คืออะไร
นมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ คือนมที่มาจากการนำถั่วเหลืองไปบดและนำไปต้มกรองจนเจือจางลง และอาจจะปรุงด้วยน้ำตาลและอื่นๆ สามารถทานได้ทันที อาจจะมีการดัดแปลงเพิ่ม เช่น ใส่ลูกเดือย ถั่วแดงหรืออะไรต่างๆ ให้เป็นน้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง มักจะนิยมทานเป็นอาหารเช้า คู่กับอิ่วจาก้วย(ก็คือปาท่องโก๋นั้นแหละ แต่จริงๆแล้วปาท่องโก๋ คือ เค้กน้ำตาลทรายขาวส่วนอิ่วจาก้วยคือแป้งทอด)
#ของที่นำมาทำนมถั่วเหลืองคืออะไร?
ถั่วเหลือง เป็นพืชล้มลุก มีต้นกำเนิดที่ไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่า อาจจะเกิดที่ประเทศจีน เพราะมีการรายงานเรื่องถั่วเหลือง ในประเทศจีนเมื่อเกือบ 5,000 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าส่วนใดของประเทศจีน แต่ที่ยอมรับกันโดยทั่วไปก็คือ บริเวณหุบเขาแม่น้ำเหลือง เพราะว่าอารยธรรมของจีนได้ถือกำเนิดที่นั่น และประกอบกับมีการจารึกครั้งแรกเกี่ยวกับถั่วเหลือง เมื่อ 2295 ปีก่อนพุทธกาล ที่หุบเขาแม่น้ำเหลือง จากนั้นถั่วเหลืองได้แพร่กระจายสู่ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น เมื่อ 200 ปีก่อนคริสตกาล แล้วเข้าสู่ยุโรปในช่วงหลัง พ.ศ. 2143 และไปสู่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2347
ถั่วเหลืองของไทยส่วนมากปลูกแถบภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน นิยมเรียกกันโดยทั่วๆไป หลายชื่อเช่น ถั่วพระเหลือง ถั่วแระ(ถั่วเหลืองและถั่วแระคือพืชชนิดเดียวกัน เพียงแต่วิธีการเก็บไม่เหมือนกันเท่านั้น) ถั่วเหลืองจะเก็บตอนที่เมล็ดแก่ ส่วนถั่วแระจะเก็บตอนที่ถั่วยังอ่อนๆอยู่
ในถั่วเหลืองมีน้ำมันและโปรตีนมีอยู่ในถั่วเหลืองทั้งคู่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของถั่วเหลืองโดยน้ำหนัก โปรตีน 40 เปอร์เซ็นต์ น้ำมัน 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นคาร์โบไฮเดรต 35 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นพืชที่มีโปรตีนสูงชนิดหนึ่ง
#ความนิยมของนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้
ในประเทศไทย ถ้านึกถึงบรรยากาศตลาดตอนเช้าๆ หลายๆคนก็คงนึกถึง ร้านที่ขายน้ำเต้าหู้กับปาท่องโก๋ที่ทอดเสร็จใหม่ๆ คนวัยทำงาน เด็กนักเรียนแม้กระทั่งผู้สูงอายุ มักจะทานเป็นอาหารเช้าก่อนไปทำงานหรือก่อนไปโรงเรียน จนเป็นเรื่องที่เห็นได้ชินตาแล้วและในบางครั้งปาท่องโก๋ อาจจะมีการดัดแปลงไปจิ้มกับ สังขยาใบเตย นมข้นหวาน หรือบางคนก็ทานเปล่าๆกับกาแฟ น้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองจริงๆแล้วก็นิยมมานานหลายยุคหลายสมัยแล้ว จนถึงตอนนี้ก็ยังได้รับความนิยมไม่ต่างจากเมื่อก่อน
ในต่างประเทศ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย อย่างประเทศ จีน ไต้หวัน เวียดนาม ส่วนใหญ่ก็ทานกันเป็นเรื่องปกติ ถ้าอย่างในประเทศในยุโรปหรืออเมริกา ก็ได้รับความนิยมจากผู้ที่ไม่ทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ก็ทานนมถั่วเหลืองทดแทนนมวัวได้หรือผู้ที่แพ้นมวัวอาจจะทานนมถั่วเหลืองทดแทนได้
#การทำนมถั่วเหลือง จากเว็บหมอชาวบ้าน
แช่ถั่วเหลือง1 ถ้วย พอรุ่งเช้าก็จะได้ถั่วเหลืองเกือบ3 ถ้วย
ปั่นกับน้ำ 1.5ลิตรและกรองด้วยผ้าขาวบาง ก็จะได้น้ำนมถั่วเหลืองเข้มข้น
นำมาต้มพอเดือด (ใช้ไฟอ่อนไม่อย่างนั้นจะล้น) คอยคนอยู่เสมอ พอหมดฟองก็ใช้ได้
หากชอบหวานก็เติมน้ำตาลตามชอบแต่หากจะทานเพื่อสุขภาพ ไม่ควรใส่น้ำตาลมากหรือไม่ใส่เลยจะดีที่สุด หากใครอยากจะทำครั้งละมากๆ ก็มีสูตร คือ ถั่วเหลือง 1กิโลกรัมต่อน้ำ10 ลิตร
ภาพโดย ally j จาก Pixabay
#นมถั่วเหลืองกับความเชื่อเรื่องฮอร์โมน
ในน้ำนมถั่วเหลืองมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (hormone estrogen) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับเพศหญิง ซึ่งมีประโยชน์สำหรับเพศหญิง ที่มีประจำเดือน ทำให้ผิวพรรณดี เพิ่มระดับฮอร์โมน
ซึ่งก็ทำให้ผู้ชายหลายคนกังวลกับเรื่องนี้เพราะมีเรื่องที่บอกว่า ถ้าดื่มน้ำเต้าหู้จะไปเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ระดับเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น จะทำให้มีปัญหาเบี่ยงเบนทางเพศ เรื่องนี้ ไม่เป็นเรื่องจริง เพราะความเป็นจริงคือ มีรายงานหนูที่กินไฟโตเอสโตรเจนมากๆ ทำให้เป็นหมันแต่ยังไม่เคยพบปัญหานี้ในมนุษย์และลิง บางงานวิจัยพบว่า การบริโภคนมถั่วเหลืองมากเกินไป ในเพศชายนั้นอาจส่งผลต่อการผลิตน้ำอสุจิได้ ในน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง จะมีสารไอโซฟลาโวน ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ประโยชน์ของสารตัวนี้สามารถลดอาการร้อนวูบวาบของหญิงวัยหมดประจำเดือนได้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นกลุ่มฮอร์โมนเพศที่พบได้ทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย มีหน้าที่ทำให้ร่างกายพัฒนาเจริญเติบโตพร้อมแสดงลักษณะเด่นของเพศหญิง คือทำให้ร่างกายสะสมไขมัน ช่วยให้ตับสร้างโปรตีน เพิ่มการสะสมแคลเซียมในกระดูก เร่งกระบวนเผาผลาญของร่างกาย
#ประโยชน์ของนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้
ผู้ที่แพ้นมวัวหรือย่อยแลคโตสไม่ได้และผู้ที่ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สามารถนำมาทานเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์หรือนมวัวได้
ลดความอ้วน ลดน้ำหนัก และไขมัน
มีงานวิจัยหนึ่งที่ทดลองประสิทธิผลของนมวัว นมถั่วเหลืองปรุงแต่ง และอาหารเสริมแคลเซียมที่มีผลต่อการลดไขมันในผู้หญิงก่อนวัยทองที่มีภาวะอ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน พบว่าการบริโภคนมไขมันต่ำอย่างนมถั่วเหลืองปรุงแต่ง ช่วยลดภาวะอ้วนและภาวะอ้วนลงพุงในกลุ่มตัวอย่างทดลองได้อย่างมีนัยสำคัญ
อีกหนึ่งการทดลองได้เปรียบเทียบประสิทธิผลของน้ำเต้าหู้กับนมวัวขาดมันเนยกับระดับไขมันในเลือดและการทำปฏิกิริยากับผนังเซลล์ไขมัน ในผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ผลลัพธ์ที่ได้ชี้ว่าน้ำเต้าหู้มีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในเลือดและลดการเกิดปฏิกิริยาที่สารอนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับกรดไขมันไม่อิ่มตัวในผนังเซลล์ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูง
ส่วนการทดลองเพื่อหาประสิทธิผลในการลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายด้วยเครื่องดื่มที่ทำมาจากถั่วเหลือง โดยทำการทดลองในกลุ่มตัวอย่างชาวฝรั่งเศสที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงในกลุ่มความเสี่ยงระดับปานกลาง ผลที่ได้คือ การบริโภคเครื่องดื่มจากถั่วเหลืองที่มีสารแพลนท์ สเตอรอล ช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลชนิดเลว ลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า น้ำเต้าหู้อาจช่วยควบคุมและลดระดับไขมันในผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงที่อยู่ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง
การบำรุงกระดูก
การทดลองเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของนมถั่วเหลืองที่มีสารไอโซฟลาโวนที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตและกระบวนการสร้างหรือสลายกระดูกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนชาวสเปน พบว่าการบริโภคนมถั่วเหลืองช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดี และช่วยลดกระบวนการสลายกระดูก นอกจากนั้น การบริโภคสารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองเพิ่มเติม อาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่างได้ และช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกได้อีกด้วย
เรื่องความดันโลหิต
มีงานทดลองที่ศึกษาผลลัพธ์จากการบริโภคน้ำเต้าหู้ที่สัมพันธ์กับระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะไตผิดปกติร่วมด้วย พบว่าการบริโภคน้ำเต้าหู้มีผลต่อการควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มนี้
ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
มีบางการศึกษาระบุว่า การบริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย และมะเร็งเต้านมในเพศหญิงวัยที่ยังมีประจำเดือน แต่อาจเพิ่มโอกาสของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในเพศหญิงวัยที่หมดประจำเดือนแล้วได้ ซึ่งเป็นผลมาจากสารไฟโตเอสโตรเจน แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน และยังไม่สามารถระบุได้ว่า ถั่วเหลืองสามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ ช่วยป้องกันโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อระบบสืบพันธุ์ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันการเกิดโรคมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งช่องคลอด มะเร็งต่อมลูกหมากและจากงานศึกษาในประเทศญี่ปุ่นและจีนพบว่า
ผู้ที่กินซุปเต้าเจี้ยวมากจะมีอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่ำกว่า
ผู้ที่ชอบรับประทานซุปที่ทำจากถั่วเหลือง จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเพียง 1 ใน 3 ของผู้ที่ไม่ได้รับประทาน
ผู้ที่รับประทานเต้าหู้มากจะมีอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหารต่ำ
ผู้ที่กินถั่วเหลืองมากกว่า 5 กิโลกรัมต่อปี จะมีอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารลดลง 40%
ผู้ชายที่กินเต้าหู้มากกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะมีอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ชายที่กินเต้าหู้น้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์
ผู้ที่รับประทานอาหารที่ประกอบด้วยถั่วเหลืองน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม 2 เท่า และมะเร็งปอดเป็น 3.5 เท่าของผู้ที่กินอาหารที่ประกอบด้วยถั่วเหลืองทุกวัน
สำหรับมะเร็งปอด สารไอโซฟลาโวนจะช่วยถ่วงการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งไว้ (แต่ต้องไม่ใช้ถั่วเหลืองที่ผ่านการหมัก และจะได้ประโยชน์เฉพาะกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่)
เอสโตเจนจากนมถั่วเหลือง
ในนมถั่วเหลืองมีฮอร์โมน เอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนในเพศหญิง หากทานเข้าไปจะทำให้มีผิวใสละเอียด เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยที่อยากมีผิวพรรณดี โดยเฉพาะหญิงวัยหมดประจำเดือนที่จะมีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง
ถือได้ว่านมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ มีประโยชน์อย่างมากมาย เป็นพืชที่มีประวัติยาวนานและยังมีประโยชน์เยอะ แต่เช่นเดิมข้อดีมากแต่ก็ยังมีข้อเสีย
ภาพโดย bigfatcat จาก Pixabay
#ข้อเสียของนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้
นมถั่วเหลืองหลายๆยี่ห้อในไทยและร้านที่ขายน้ำเต้าหู้ มักจะเติมน้ำตาลมาก ถ้าทานทุกวันอาจจะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้ ถ้าหากจะทานทุกวันให้เลือก ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อยหรือไม่มีน้ำตาลเลย
ถั่วเหลืองทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
การดื่มน้ำเต้าหู้มากเกินไปจะส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมกับผู้หญิงได้ เนื่องจากโปรตีนที่มีมากในถั่วเหลืองซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญของน้ำเต้าหู้ ถ้าร่างกายได้รับมากเกินจำเป็นก็สามารถทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตอย่างรวดเร็วได้ ดังนั้นถ้าหากจะทานให้ได้ประโยชน์ควรทานแต่พอดี ประมาณ1-2แก้วต่อวัน
ผู้ป่วยไทรอยด์ไม่ควรรับประทานถั่วเหลือง
การดื่มน้ำเต้าหู้มากเกินไปอาจส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์จากการที่ถั่วเหลืองเข้าไปกั้นไอโอดีนที่จำเป็นต่อต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการอารมณ์แปรปรวน ร่างกายอ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลง นอกจากนี้โปรตีนในถั่วเหลืองอาจเกิดการจับตัวเป็นก้อนได้ ซึ่งจะทำให้การทำงานของเม็ดเลือดไม่มีประสิทธิภาพ
เรียงจากทางขวา แลคตาซอย ไวตามิลค์ ดีน่า โฮมซอย ซังซัง โทฟุซัง
ส่วนมากยี่ห้อนมถั่วเหลืองในประเทศไทยมักจะมีรสหวานนำ ถ้าหากต้องการทานเพื่อสุขภาพให้เลือก ผลิตภัณฑ์ ที่มีน้ำตาลน้อย อย่างเช่น แลคตาซอยน้ำตาลน้อย ดีน่าน้ำตาลน้อย โทฟุซังสูตรน้ำตาลน้อย และอีกหลายๆผลิตภัณฑ์ ถ้าเป็นร้านขายน้ำเต้าหู้ให้บอกแม่ค้าใส่น้ำตาลน้อยหรือไม่ใส่เลยก็ได้ ตามความชอบ นมถั่วเหลืองเป็นอาหารที่มีประโชน์มาก แต่ต้องกินให้พอดีและเหมาะสม
อ้างอิง
โฆษณา