17 ส.ค. 2021 เวลา 12:21 • การศึกษา
คุณใช้สิทธิเกินส่วนหรือไม่..???
1
สวัสดีคุณผู้อ่านที่รักทุกท่าน การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลมีกำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ย่อมกระทำได้ ตราบใดที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพไม่กระทบกระเทือนและไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น เป็นหลักที่กำหนดไว้ในมาตรา 25 ในหมวดที่ 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
การแสดงออกที่ปรากฎขึ้นในสังคมไทยช่วงนี้ ตามเหตุผลของแต่ละกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าหากมีการยกเหตุผลของการแสดงออกแล้ว จะต้องได้รับเห็นชอบโดยไม่มีข้อโต้แย้งแต่อย่างใด เหรียญย่อมมีสองด้าน ซึ่งเราก็จะเห็นความคิดต่างที่ตรงกันข้าม เป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งเช่นเดียวกัน
แต่ความบทนี้ไม่เกี่ยวกับการชุมนุม..เพราะบอกแล้วการเมืองไม่ยุ่ง มุ่งการมุ้งการเมา..
บทความนี้ผมจะว่าด้วยเรื่องการ "ใช้สิทธิเกินส่วน" แต่สิทธินี้ไม่ได้หมายถึง "เสรีภาพ" นะครับ
ในกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ปกติการใช้สิทธิของเราเองนั้น สามารถทำได้หากเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายแม้อาจจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนบ้าง
แต่ถ้าการใช้สิทธินั้นถ้าเป็นการใช้สิทธิทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเกินควร หรือควรคาดคิดหรือคาดหมายได้ตามปกติ ซึ่งมีแต่จะเกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการละเมิดนั้นเอง
มาตรา 421 เขียนไว้ว่า การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นนั้นท่านว่าเป็นการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ... ซึ่งในมาตรานี้เป็นการขยายความเพิ่มเติมมาจากมาตรา 420 ซึ่งเป็นปฐมบทในเรื่องละเมิด
ภาพจาก pixabay
มาตรา 421 เป็นเรื่องของการแกล้งโดยผู้กระทำมุ่งต่อผลคือความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียว คือมีเจตนาหรือจงใจกลั้นแกล้งพูดง่าย ๆ ผู้กระทำมีสิทธิตามที่กฎหมายรับรอง แต่แกล้งหรือโดยกระทำไม่สุจริตทำให้เขาเสียหาย หรือ ใช้สิทธิเกินส่วนโดยไม่ชอบธรรมอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ยกตัวอย่างนะครับ
1
การปลูกบ้านบนที่ดินสาธารณะ แล้วปิดกั้นทางเดินที่เป็นทางสาธารณะทำให้ผู้อื่นเข้าออกไม่ได้หรือไม่สะดวก ( ฎีกาที่ 387-388/2550)
หรือนายสะดุด และนายสะเดา ใช้น้ำจากคลองชลประทานโดยน้ำจะไหลผ่านร่องน้ำในที่ดินของนายสะเดามาหลายสิบปี ปรากฏว่า นายสะเดาใช้รถไถกลบร่องน้ำในที่ดินซึ่งนายสะเดารู้ดีว่า จะทำให้นายสะดุด ไม่สามารถใช้น้ำได้ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่การทำนาและเลี้ยงปลาของนายสะดุด ถือว่าเป็นการทำละเมิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 12973/2555)
หรือ ..การปลูกตึกสูงจนปิดบังทางลมทำให้บ้านเรือนที่อยู่ติดกันนั้นไม่เกิดสุขอนามัยที่ควรจะได้รับ หรือเกินกว่าที่ควรคาดหมายได้ ซึ่งกรณีนี้จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องไปนะครับ เพราะมีคำพิพากษหลายเรื่องวินิจฉัยไว้แตกต่างกัน ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริง และความเสียหายเป็นเรื่อง ๆ ไป
ถ้าคุณยังมองภาพไม่ออก ลองนึกถึงมนุษย์คนหนึ่งที่ขับรถด้วยความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งช้ามากบนซุปเปอร์ไฮเวย์ ทีสำคัญ เขาขับกลางถนน
เขามีสิทธิขับรถบนถนน แต่สิทธิที่เขาใช้มันก่อความเดือดร้อนให้คนอื่น
นั้นแหละครับ
ฉะนั้นแล้วคุณผู้อ่านอาจจะมีข้อเท็จจริงกรณีที่มีการใช้สิทธิเกินส่วนตามปกตินิยม ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน
ทุกอย่างสามารถแก้ไขด้วยการพูด การเจราจา การไกล่เกลี่ย ในอันที่จะสามารถทำให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ขอบคุณภาพ www.parliament.go.th
พึงคำนึงไว้เสมอว่า แม้เราจะมีสิทธิที่กฎหมายรับรองก็ตามแต่ก็อย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพราะถ้าหากขาดสติก่อความรุนแรงขึ้นมาเมื่อไหร่...ก็อาจมีคนป้อนข้าวป้อนน้ำให้ก็ได้นะครับ..
😊😊😊 บุญรักษาทุกๆท่านครับ 🙏🙏🙏
โฆษณา