13 ก.ย. 2021 เวลา 09:50 • คริปโทเคอร์เรนซี
โลกอีกใบของ Decentralized Finance
บทความโดย
นายวณัช บัณฑิตาโสภณ
เศรษฐกรปฏิบัติการ
สำนักนโยบายการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
credit: https://unsplash.com/photos/vBCVcWUyvyM
ราวกับว่าผมได้เดินเข้าไปสู่โลกอีกใบหนึ่ง มันเหมือนเป็นโลกใหม่สำหรับผม หลังจากที่ผมรู้จัก Bitcoin เมื่อหลายปีก่อนแต่ไม่ได้สนใจมัน เคลื่อนมาจนถึงวันที่ราคา Bitcoin พุ่งทะลุ 1 ล้านบาท ทะลุ 1.5 ล้านบาท ท่ามกลางความคลางใจว่าจะเกิดฟองสบู่ขึ้นหรือไม่ และลงมาอยู่ที่ราว 1 ล้านบาทอีกครั้ง
มูลค่า 1 ล้านบาท สามารถซื้อรถญี่ปุ่นดีๆ ได้ 1 คัน สามารถซื้อคอนโดขนาดย่อมชานเมืองได้ 1 ห้อง และทำอะไรได้อีกตั้งมากมาย การเดินทางของ Bitcoin ร่วม 10 ปีที่ผ่านมาเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่า “เงินคืออะไร” “มนุษย์เราให้คุณค่า รวมถึงมูลค่า (Value) กับสิ่งรอบตัวอย่างไร”
Bitcoin เป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีที่เรียกว่า Blockchain และเงินตรารูปแบบใหม่ซึ่งผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์เข้าไป โดยเรียกว่า Cryptocurrency
มันเป็นเรื่องของความเชื่อมากทีเดียว หากคิดง่ายๆ Bitcoin เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ไม่มีอะไรหนุนหลัง (หากพอรู้ประวัติศาสตร์การเงินอยู่บ้าง เงินที่เราใช้กันทุกวันนี้คือ เงินกระดาษ (Fiat Money) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา หลังจากที่เงินดอลลาร์สหรัฐเลิกผูกกับทองคำ)
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของเทคโนโลยี Blockchain และสกุลเงิน Cryptocurrency สร้างกระแส และจุดประกายแนวคิด Decentralized Finance หรือแปลตรงๆ ตัวว่า “การเงินแบบไร้ศูนย์กลาง” ซึ่ง ณ จุดนี้ หลายคนเชื่อมโยงปรากฏการณ์นี้เข้ากับสายธารการกระจายอำนาจ (Decentralization) และกระบวนการสร้างประชาธิปไตย (Democratization) ไปจนถึงประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) และกระบวนการแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม (Participatory Process)
Decentralized Finance เรียกย่อๆ ว่า DeFi (ดีไฟ) เป็นเหมือนโลกอีกใบ แม้จะมีพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์และการเงินอยู่บ้าง แต่โลกใบใหม่นี้มีกฎเกณฑ์หลายอย่างซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากโลกเก่า เป็นดินแดนที่เรียกได้ว่ายังไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว (Unsettled) วิวัฒน์ (Evolve) และถูกท้าทายจนต้องปรับตัว (Disrupt) อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้ามาใหม่ได้ทั้งตักตวงผลประโยชน์ และเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ที่ตัวเองเห็นสมควร เข้าทำนองยิ่งความเสี่ยงสูงก็ยิ่งได้ผลตอบแทนสูง (High Risk High Return) ซึ่งก็ต้องมาดูว่าจะมีคนในวงการเดิมเห็นด้วยมากน้อยอย่างไร
หากผมยกคำว่า Dai, Dot, Band, Stella หรือ Comp ขึ้นมาเชื่อว่ามีน้อยคนจะรู้จัก แต่หากยก Ethereum กับ USDT หลายคนอาจรู้สึกคุ้นๆ แต่อาจยังรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องของสาย IT ของพวกเนิร์ด Geek หรือเบียวทั้งหลาย ไม่แปลก ในทางการตลาดมีทฤษฎีหนึ่งที่แบ่งผู้บริโภคออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) ผู้ริเริ่ม (Innovators) 2) ผู้ใช้ส่วนน้อยกลุ่มแรก (Early Adopters) 3) ผู้ใช้ส่วนใหญ่กลุ่มแรก (Early Majority) 4) ผู้ใช้ส่วนใหญ่กลุ่มหลัง (Late Majority) และ 5) ผู้ใช้กลุ่มท้ายๆ (Laggards)
Innovators คือผู้ริเริ่ม ขณะที่ผู้ใช้กลุ่มแรก Early Adopters อารมณ์เหมือนคนรีวิว ไม่ได้เป็นคนสร้าง แต่เป็นคนในวงการที่มีความรู้และติดตามพัฒนาการของ Innovators อยู่เสมอ พอรีวิวแพร่สะพัดออกไป คนนอกวงการให้ความสนใจ เกิดเป็นกระแส Viral สักพักหนึ่งคนจำนวนมากกลุ่มแรก หรือ Early Majority เริ่มเข้ามาใช้ผลิตภัณฑ์
หากคิดดูให้ดี คน 3 กลุ่มนี้คือกลุ่มที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นกอบเป็นกำ เหมือนราคาหุ้นหรือสินทรัพย์สักอย่าง คนกลุ่มนี้จะได้ราคา IPO หรือซื้อได้ตั้งแต่ราคายังไม่ขึ้น ขณะที่ช่วงกลางหรือปลายของ Early Adopters ราคาจะอยู่ในขาขึ้นและพุ่งไปสู่จุดสูงสุดเมื่อ Late Majority เข้ามา ส่วนกลุ่มสุดท้าย Laggards คือกลุ่มคนที่อาจจะกล้าๆกลัวๆ ในเบื้องต้น แต่พอเห็นคนได้ประโยชน์จากมันเยอะจึงค่อยเข้ามาในเวลาที่ไม่ทันกาล
Ethereum, USDT, Dai, Dot, Band หรือ Ripple คือชื่อของเครือข่าย Blockchain และเหรียญ Cryptocurrency ใน Blockchain นั้นๆ โดยพื้นฐาน Blockchain ประกอบจาก Block วางตัวต่อเนื่องกันเป็น Chain โดย Block เหล่านั้นจะทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการทำธุรกรรม (Transaction) หรือมีคุณสมบัติเพิ่มเติมที่ซับซ้อนกว่านั้นซึ่งมักเรียกกันว่า Smart Contract ก็ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของ Blockchain
การที่ Smart Contract แต่ละอันจะเข้ามาต่อใน Chain ได้ ต้องได้รับการรับรอง (Validate) จากผู้ใช้ใน Blockchain นั้นๆ และผู้ใช้ที่มีส่วนร่วมเข้ามารับรอง (Validate) ในแต่ละ Block ก็จะได้รับเหรียญของเครือข่าย Blockchain นั้นๆ เป็นการตอบแทน
หากจะจำแนกแยกชัด Ethereum, Polkadot หรือ Ripple คือชื่อเครือข่าย Blockchain ขณะที่ชื่อสกุลเงิน Cryptocurrency หรือชื่อเหรียญประจำ Blockchain นั้น Ether, Dot, XRP ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ Ethereum นั้นมีคุณสมบัติพิเศษเปิดให้นักพัฒนาสร้างและออกเหรียญบน Ethereum Blockchain ได้ อาทิ Bancor Ox เป็นต้น ขณะที่ Polkadot ที่สร้างโดยผู้ร่วมก่อตั้ง (Co-founder) ของ Ethereum ต้องการพัฒนาไปให้ไกลขึ้น โดยออกแบบโครงสร้างและ Smart Contract ของ Polkadot Blockchain ให้สามารถทำงานข้าม Blockchain เช่น ระหว่าง Ethereum และ Non-ethereum Blockchain ได้ โดยมีโครงสร้างและ Smart Contract ของ Polkadot เป็นตัวกลาง
นอกจากนี้ ยังมีเหรียญที่ถูกออกแบบมาให้มีมูลค่าคงที่ (Stablecoin) ซึ่งทำได้โดยการผูกไว้กับสินทรัพย์ในโลกจริง (Real Assets) หรือสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) เช่น ผูก (Peg) ไว้กับ US Dollar อาทิ USDT (ออกโดยบริษัท Tether) USDC (ก่อตั้งโดยบริษัท Circle และ Coinbase ซึ่งเป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่) ขณะที่ Dai นั้นมี Cryptocurrency สกุลต่างๆ อยู่เบื้องหลัง แต่พยายามคงมูลค่าให้เท่ากับ 1 US Dollar (Dai ออกโดย Decentralized Autonomous Organization หรือ DAO ซึ่งเป็นความพยายามในการสร้างหน่วยงานกลางขึ้นมาในวงการ DeFi)
ยิ่งมีคนเข้ามาใช้ Blockchain มาก ทั้งคนทั่วไป นักลงทุน บริษัทห้างร้าน รวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ราคาของเหรียญชนิดต่างๆ ก็พุ่งทะยาน ยิ่งรัฐบาลบางประเทศพยายามออกสิ่งที่เรียกว่า DECP (Digital Currency Electronic Payment) หรือ CBDC (Central Bank Digital Currency) ซึ่งเป็นสกุลเงินของธนาคารกลางประเทศนั้นๆ ที่ตั้งอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain อาทิ หยวนดิจิทัล (Digital Yuan) ของรัฐบาลจีน (ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็มีโครงการลักษณะดังกล่าวที่เรียกว่า โปรเจคอินทนนท์) วงการ DeFi ก็ยิ่งครึกครื้น และดึงดูดกลุ่มคนในระบบการเงินแบบเดิม (Traditional Finance) เข้ามามากขึ้น
การซื้อขาย Cryptocurrency ทำได้ 24 ชั่วโมง ไม่เว้นแม้วันเสาร์ อาทิตย์ เหรียญหลายชื่อถูกผลิตโดยคนไทย มีสัญชาติไทย และโด่งดังในระดับโลก อาทิ Band Protocol (BAND) และ OmiseGo (OMG) ซึ่งราคาก็อยู่ที่ระดับหลายร้อยบาท และมีปริมาณ (Volume) การซื้อขายอย่างสม่ำเสมอ เรียกได้ว่าวงการ DeFi และ Cryptocurrency ของไทยก็มีชื่อเสียงพอสมควรในระดับโลกเหมือนกัน
กระนั้น Bitcoin ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวงการก็ยังเป็นหัวใจของโลกใบนี้ ยิ่งวงการขยายใหญ่ การใช้ Smart Contract บน Blockchain มีมากขึ้น ราคาเหรียญต่างๆ ถีบตัวสูงขึ้น ย่อมส่งแรงกระเพื่อมสู่ราคา Bitcoin ให้ปรับตัวสูงขึ้น แม้อาจไม่ก้าวกระโดดเหมือนอย่างที่ผ่านมาก็ตาม ซึ่งหากพิจารณามูลค่าในตลาด หรือ Market Capitalization ของเหรียญต่างๆ นั้น Bitcoin ยังนำหน้า Ethereum ที่เป็นอันดับสองอยู่กว่า 3 เท่าตัว (อ้างอิง Coinmarketcap ณ ก.ค. 64)
กระนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในโลกทุนนิยมคือทุกอย่างมีความเสี่ยง ราคาของสินทรัพย์มีขึ้นมีลงตามเรื่องราวข่าวสารที่ออกมาตลอดเวลา มีทั้งเหตุผลและทั้งอารมณ์ความรู้สึกมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องขอย้ำอีกทีว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน!!”
โฆษณา