5 ก.ย. 2021 เวลา 00:00 • ปรัชญา
บทความ วันสุดท้ายของหลวงปู่ดูลย์
จากหนังสือ ลำธารริมลานธรรม
เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล
1
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๓๐ ดังนั้นเมื่อถึงเดือนตุลาคม ๒๕๒๖ คณะศิษย์จึงจัดงานฉลองในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ ๘ รอบ หรือ ๙๖ ปีบริบูรณ์ โดยกำหนดจัดงานวันที่ ๒๙ ตุลาคม
หนึ่งวันก่อนเริ่มงาน หลวงปู่มีอาการผิดปกติตั้งแต่เช้ามืด คือ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย กระสับกระส่าย ตัวร้อนคล้ายจะเป็นไข้ หลังจากหมอมาตรวจร่างกายแล้วถวายยาให้ฉัน ร่างกายของท่านก็ดูเป็นปกติ แต่ยังเพลียอยู่
ตลอดทั้งวันท่านได้สนทนาธรรมกับลูกศิษย์ น้ำเสียงชัดเจน สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ตอบคำถามเกี่ยวกับปฏิบัติขั้นปรมัตถ์ได้เป็นอย่างดี คณะศิษย์จึงคิดว่าหลวงปู่คงไม่เป็นอะไร
มีช่วงหนึ่งท่านปรารภว่า “ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี”
เมื่อมีผู้ถามถึงความหมาย ท่านก็ขยายความว่า “คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติจนถึงสิ่งที่ไม่มี และอยู่กับสิ่งที่ไม่มี”
วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเริ่มงานฉลองอายุหลวงปู่ แต่เช้าท่านมีอาการกระสับกระส่ายเล็กน้อย และปวดเท้าซ้ายขึ้นมาถึงบั้นเอว อีกทั้งมีไข้ขึ้นเล็กน้อย ชีพจรมีอาการเต้นผิดปกติ อาการเปลี่ยนไปมาแบบทรง ๆ ทรุด ๆ
2
เมื่อหมอมาตรวจอาการ พบว่าความดันอยู่ในระดับปกติ ครั้นหมอจะถวายน้ำเกลือเข้าเส้น หลวงปู่ปฏิเสธสั่งให้เอาสายออก ท่านบอกว่าขออยู่เฉย ๆ ดีกว่า
ครั้นพระครูนันทปัญญาภรณ์ผู้เป็นศิษย์กราบเรียนว่า จะพาหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพ ฯ ท่านรีบตอบปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า “ถึงไปก็ไม่หาย”
ท่านพระครูฯ เรียนว่า “ครั้งก่อนหลวงปู่หนักกว่านี้ ยังหายได้ ครั้งนี้ไม่หนักเหมือนแต่ก่อน ต้องหายแน่ ๆ”
ท่านตอบว่า “นั่นมันครั้งก่อน นี่ไม่ใช่ครั้งก่อน”
ตอนบ่ายหลวงปู่หลับตาอยู่ในอาการสงบ หายใจเป็นปกติ
แต่แผ่วเบามาก เมื่อลืมตาขึ้นมา มีอาการผ่องใสสดชื่นมาก ท่านพระครูฯเรียนถามท่านว่า “หลวงปู่หลับหรือเข้าสมาธิขอรับ”
หลวงปู่ตอบว่า “พิจารณาลำดับฌานอยู่”
1
สี่โมงเย็นหลวงปู่ออกมานั่งรับแขกข้างนอก หลังจากนั้นได้กลับเข้าห้อง นอนนิ่งเฉย ศิษย์สังเกตว่า ผิวของท่านเปล่งปลั่งผิดธรรมดา ประมาณหนึ่งทุ่ม หลวงปู่ลืมตาขึ้น จากนั้นได้สั่งให้พระที่คอยดูแลรับใช้ท่านซึ่งมีประมาณ ๘-๙ รูปสวดมนต์ให้ท่านฟัง พระเหล่านั้นเริ่มฉงนสงสัย แต่ก็พร้อมใจกันสวดมนต์เจ็ดตำนานจนจบ
จากนั้นหลวงปู่บอกให้สวดเฉพาะโพชฌงคสูตรรวม ๓ จบ แล้วสวดปฏิจจสมุปบาท อีก ๓ จบ คืนนั้นบทสุดท้ายที่ท่านให้สวดคือ มหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อสวดจบหลวงปู่ยังอยู่ในอาการปกติ
มีช่วงหนึ่งท่านให้พาออกไปนอกกุฏิเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ หลวงปู่เพ่งมองไปที่ศาลาหน้ากุฏิของท่าน ซึ่งมีพระเณรและฆราวาสจำนวนมาก ชุมนุมปฏิบัติธรรมอยู่ จากนั้นท่านได้กวาดสายตามองไปรอบ ๆ วัด ราวกับจะให้ศีลให้พรและอำลาลูกศิษย์ของท่าน
ตีสองของวันที่ ๓๐ ตุลาคม หลวงปู่แสดงธรรมให้แก่ลูกศิษย์ในห้องเรื่อง “ลักษณาการแห่งพุทธปรินิพพาน” โดยอยู่ในอิริยาบถนอนหงาย น้ำเสียงปกติธรรมดา
ท่านได้บรรยายอย่างเป็นขั้นตอน สุดท้ายได้กล่าวว่า “พระองค์ไม่ได้เข้าสู่พระนิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อมไม่มีอะไรเหลือ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์ ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า 'มหาสุญญตา' หรือ 'จักรวาลเดิม' หรือเรียกว่า 'พระนิพพาน' อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้”
แล้วท่านก็สรุปว่า “เราปฏิบัติมาก็เพื่อถึงภาวะอันนี้”
3
หลังจากนั้นท่านก็ไม่พูดอะไรอีกเลย
ประมาณตีสามหลวงปู่นอนสงบนิ่ง หายใจเบา ๆ คล้ายนอนหลับปกติ ศิษย์ทุกคนรู้ดีว่าท่านใกล้จะละสังขารแล้ว จึงไม่รบกวนท่าน เพื่อให้ท่านปล่อยวางสังขารตามสบาย
1
ไม่มีใครทราบว่าหลวงปู่ละสังขารตอนไหน ผู้ที่พยาบาลด้านซ้ายเชื่อว่าหลวงปู่หยุดหายใจเวลา ๔.๑๓ น. ส่วนผู้ที่เฝ้าด้านขวา เข้าใจว่าลมหายใจของหลวงปู่สิ้นสุดเวลา ๔.๔๓ น. นับเป็นการละสังขารที่นุ่มนวลแผ่วเบามาก ราวกับใบไม้แห้งที่ค่อย ๆ ร่อนสู่พื้น
5
“นับเป็นลักษณาการมรณภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอย เป็นความงดงามบริสุทธิ์และสงบเย็นอย่างสิ้นเชิง” พระครูนันปัญญาภรณ์ตั้งข้อสังเกต
4
หลายปีก่อนหน้านั้น หลวงปู่ได้เคยไปเยี่ยมศิษย์รูปหนึ่งซึ่งใกล้จะมรณภาพ ท่านได้กล่าวแนะนำสั้น ๆ ว่า “การปฏิบัติทั้งหลายที่เราพยายามปฏิบัติมา ก็เพื่อจะใช้ในเวลานี้เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่จะตาย ให้ทำจิตเป็นหนึ่ง แล้วหยุดเพ่ง ปล่อยวางทั้งหมด”
9
เมื่อถึงวาระของหลวงปู่ ท่านได้ปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างอันงดงามแก่ลูกศิษย์ ที่ยากจะลืมเลือนได้
9
โฆษณา