20 ส.ค. 2021 เวลา 07:14 • ปรัชญา
"ฌานในปุถุชน VS พระอริยะ"
ฌานในปุถุชนและอริยชนนั้นมีข้อแตกต่างกัน
ฌานในอริยชนก็แตกต่างกันไป
อริยชนได้แก่ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี
พระอนาคามี และ พระอรหันต์
หรือเรียกว่าโลกียะฌาน และ โลกุตระฌาน
สิ่งที่ถูกรู้หรือองค์ฌานนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร
ปัญหาคือ สิ่งที่รับรู้
หรือ จิต มโน วิญญาน นั่นเอง
จะใช้คำไหนก็ได้
พระพุทธองค์ตรัสว่าคือไวพจน์ซึ่งกันและกัน
ใช้เรียกแทนสิ่งเดียวกัน
เห็นเหมือนกันแต่รู้สึกไม่เหมือนกัน
เพราะวิญญานไม่บริสุทธิ์
วิญญานจะบริสุทธิ์ในพระอรหันต์เท่านั้น
Photo by Jeppe Hove Jensen on Unsplash
ในปุถุชนการกระทำฌาน
เป็นไปเพื่อการออกจากทุกข์
ยังเป็นภพ ๆ หนึ่ง
เป็นเครื่องมือให้จิตได้อิงอาศัย
เป็นคูหาเพื่อให้วิญญานไปเกิด
แต่มันเป็นภพที่ละเอียด ปราณีต
วิญญานจะเกิดการเรียนรู้ว่า
ยังมีสิ่งที่ปราณีตยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ฌานแต่ละลำดับจะมีสิ่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นเครืองมือที่สำคัญ คือ เอกคัตตา
หรือ จิตที่ตั้งมั่น
จิตที่ตั้งมั่น จะทำให้เกิดการรู้การเห็น
ที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียง ไม่เอาเข้าตัว
รู้ซื่อ ๆ อย่างที่มันเป็น
จิตจึงจะเกิดการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
เริ่มต้นจะเป็นการเพียรพยายาม
เพื่อให้เข้าถึงสภาพธรรมในองค์ฌาน
แต่ภายหลังเมื่อชำนิชำนาญแล้ว
จะสามารถเข้าออกได้อย่างเป็นธรรมชาติ
คือไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ
เป็นธรรมชาติที่กลมกลืน
เรียกว่าเป็นวสีนั่นเอง
โดยไม่ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์
ว่ากำลังอยู่ในฌานขั้นไหน ๆ อยู่
เป็นเรื่องของสภาวะธรรมล้วน ๆ
ในปุถุชนมันคือการที่จิตเคลื่อนไป
คือยังมีจิตเคลื่อนไปเกิดในรูปภพ อรูปภพ
คือ รูปฌานที่ 1 - 4 และอรูปฌานที่ 4 - 8
เมื่ออยู่ในองค์ฌานทุกข์จะดับไปชั่วขณะ
ทุกข์จะเกิดไม่ได้เลย
เมื่อเข้าออกฌานได้จนเป็นวสี จะพบว่า
องค์ฌานขั้นต่าง ๆ ก็ไม่เที่ยง
ยังมีความแปรปรวนอยู่
ยังไม่ใช่ปลายทางที่แท้จริง
ยังมีการเคลื่อนของจิต
เกิดเป็นวิญญานขันธ์ที่ยังไม่บริสุทธิ์
มีการยึดถือในตัวเองอย่างเหนียวแน่น
องค์ฌานเป็นเสมือนหลุมหลบภัยชั่วคราว
หนีจากอารมณ์ที่รุนแรงไปหลบในอารมณ์ที่ปราณีต
จิตยังมีความดิ้นรนอยู่
ยังไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง
แต่ก็เป็นบันไดให้จิตได้เรียนรู้ต่อไป ก้าวไปสัมผัสสิ่งที่ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้น
หากเข้าถึงอรูปฌานแล้ว
จะเห็นเลยว่ากายกับจิตคนละส่วน
เพราะอรูปฌาน สภาพธรรมคือลมหายใจระงับ
จนลมหายใจหายไป ร่างกายดับหายไป
ส่วนใหญ่ครั้งแรกที่เข้าถึงสภาพธรรมนี้
จะเกิดอาการตกใจกลัว เพราะไม่คุ้นเคย
สิ่งที่ถูกรู้จะละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป
อรูป แปลว่า ไม่มีรูป
จุดที่สำคัญ คือ วิญญานยังไม่ดับ
ในคิริมานนทสูตร
พระพุทธองค์ได้ตรัสเปรียบเปรยเอาไว้ว่า
นิพพานโลกีย์ กับ นิพพานโลกุตระ นั้น
ประเสริฐเสมอเหมือนกัน
ต่างกันเพียงนิพพานโลกีย์ยังไม่ได้ดับวิญญาน
เมื่อวิญญานดับก็สามารถเข้าถึงโลกุตตระนิพพานได้
หากวิญญานไม่ดับ
ก็จะไปเกิดในพรหมโลก (อรูปพรหม)
เมื่อหมดวาระ ยังต้องวนเวียนไปในภพภูมิต่าง ๆ
ไม่มีที่สิ้นสุด
บุคคลที่เข้าสู่เส้นทางการปฏิบัติธรรม
แล้วจะปรารถนาไปพรมหมโลกนั้นไม่มีเลย
แต่ไปเพราะความหลง ไม่รู้แจ้งเห็นจริง
1
ยังไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔
ไม่เกิดวิชชา และวิมุตติ
ต้องทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตนี้เท่านั้น
วิธีที่จะดับวิญญาน (ดับจากความยึดถือ)
ก็คือการพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของวิญญานขันธ์
เจริญอริยมรรคมีองค์แปดให้ยิ่ง ๆ ขึ้น
ให้ถ้วนรอบ สมบูรณ์บริบูรณ์
บุคคลที่หลงในนิพพานโลกีย์
จะไม่ปฏิบัติต่อ เพราะหลงว่าถึงธรรมแล้ว
ต้องใช้คำว่า มันอดไม่ได้เลยจริง ๆ
เพราะสภาพธรรมเลิศโลกเสมอเหมือนกับโลกุตระนิพพานเลย
เห็นไตรลักษณ์ในทุกสรรพสิ่ง
ยกเว้นตัวเอง คือวิญญานขันธ์
เข้าถึงอรูปฌาน
และญานที่เป็นกลาง หรือ สังขารุเบกขาญาน
ทุกการกระทบในชีวิต ไม่มีกระเทือน
มันอดไม่ได้หรอกที่จะหลง
โยนิโสมนสิการด้วยปัญญาอันยิ่งจึงสำคัญมาก
ต้องหมั่นตรวจสอบตัวเองเนือง ๆ
ต้องย้อนมาให้เห็นตัวจิตเอง
ว่าจิตเองนั่นแหละที่เป็นต้นเหตุ
เป็นปัญหาของความทุกข์ทั้งปวง
จิตยึดถือในตัวเอง
จึงเกิดเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา
วิญญานก็เจริญงอกงาม
เป็นอาหารให้อวิชชาต่อไป
3
ดับวิญญานด้วยการตัดอาหาร 4
คือ ไม่ให้เกิดราคะ นันทิ ตัณหาในอาหาร 4
ได้แก่ คำข้าว ผัสสะ มโนสัญเจตนา วิญญาน
มันจะเห็นแต่ความยึดถือ
ยึดเมื่อไร ทุกข์ทันที ต้องเห็นจนมากพอจริง ๆ
แล้วมันจะเกิดการปล่อยออก คลายออกเอง
ไปตามลำดับตามธรรมชาติ
โสดาปัตติมรรค โสดาปัติผลจะเกิด
การปฏิบัติถัดจากนั้นจะง่ายขึ้น
เพราะเห็นเส้นทาง รู้เส้นทางมาแล้ว
แต่ก็ยังประกอบด้วยความหลงอยู่
การปฏิบัติในชั้นละเอียด
จะเห็นแค่ยึด กับ ไม่ยึด
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจะเป็นบันไดก้าวไปสู่ความพ้นทุกข์
พระโสดาบันเป็นผู้เห็นเหตุเกิดแห่งทุกข์
ความทุกข์จะตั้งอยู่ไม่กี่ขณะ เพราะจะย้อนไปเห็นเหตุ
คือยังมีอุปทานขันธ์อยู่ เห็นว่าไม่ใช่เราของเรา
แต่ยังหวงแหน หวงก้าง เพราะยังไม่รู้แจ้งแทงตลอด
พระพุทธองค์เปรียบเปรยไว้ว่า
ทุกข์ที่เหลือในพระโสดาบันนั้นเล็กน้อยมาก
เท่าฝุ่นนิดหนึ่งที่ช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บ
เทียบไม่ได้เลยกับมหาปฐพีคือกองทุกข์ที่สิ้นไปแล้ว
ทุกข์จะดับสนิทอย่างแน่นอน
เพราะเห็นเหตุอย่างแท้จริง จับทางได้แล้ว
เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า อย่างประมาทไม่เกิน 7 ชาติ
พระโสดาบัน : ศีลบริบูรณ์
สมาธิ และปัญญาเล็กน้อย
พระสกทาคามี : ศีลบริบูรณ์
สมาธิปานกลาง ปัญญาเล็กน้อย
พระอนาคามี : ศีลและสมาธิบริบูรณ์
ปัญญาปานกลาง
การเข้าฌานของแต่ละบุคคลแต่ละลำดับ
ต่างกันที่วิญญานถึงธรรมต่างกัน
สังโยชน์ที่เป็นเครื่องร้อยรัดจิตต่างกัน
สัญญาเวทยิตนิโรธ ตามตำรากล่าวไว้ว่า
ผู้ที่จะเข้าถึงฌานลำดับนี้ได้อย่างแท้จริง
หรือที่เป็นโลกุตระ
คือ พระอนาคามี และพระอรหันต์
ซึ่งชำนาญในสมาบัติ 8 (รูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 )
สภาพธรรมคือ สัญญา เวทนา ดับลง
ผู้เข้านิโรธสมาบัติ วจีสังขาร
กายสังขาร และจิตตสังขาร ดับไปตามลำดับ
ปุถุชนที่เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
ยังเป็นเพียงชั้นโลกีย์ ใช้สัญญาวิราคะ
สัญญาไม่ได้ดับลง เป็นสัญญาชั้นละเอียด
พระอรหันต์ : ศีล สมาธิ ปัญญา บริบูรณ์
เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ในทุกย่างก้าว
วิญญานบริสุทธิ์หลุดพ้น
พ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปวง
ไม่มีการเกิดการดับของจิต มโน วิญญาน อีก
จิตหลุดพ้นจากอุปทานขันธ์
ไม่คลุกเคล้าอยู่กับขันธ์ ไม่ประกอบด้วยอวิชชาอีก
จึงมีชื่อเรียกต่างไปจากจิตที่โดยทั่วไปจะหมายถึง
จิตที่ยังประกอบด้วยอวิชชา
ที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า "จิตเดิมแท้" ปราศจากอวิชชา
จิตเดิมแท้ประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา
การปฏิบัติจะถูกต้อง ตรงทางจริง ๆ
ต่อเมื่อเกิดอรหันตมรรค อรหันตผล
คำว่า กลาง มีหลายระดับ
ผู้ที่จะเดินในทางสายกลางอย่างแท้จริง
คือ พระอรหันต์ เท่านั้น
นอกนั้นคือกำลังคลำทางอยู่
ยังเป็นผู้ศึกษาทางอยู่ ...
" ... ดูกรอานนท์ บุคคลทั้งหลายที่หลง
ขึ้นไปบังเกิดในอรูปพรหมอันปราศจากความรู้นั้น
ก็ล้วนแต่บุคคลผู้ปรารถนาพระนิพพาน
แต่ไม่รู้จักวางใจให้สิ้น ให้หมดทุกข์นั้นเอง
ไม่รู้จักวางจิตวิญญาณอันตนเข้ามาอาศัย
อยู่กับด้วยลมของโลก
ทำความเข้าใจว่าเป็นจิตของตัว
และเข้าใจว่าพระนิพพานมีอยู่ในเบื้องบนนั้น
ตัวก็นึกเข้าใจ เอาจิตของตัวขึ้นไปเป็นสุขอยู่ในที่นั้น
ครั้นตายแล้วก็เลย พาเอาตัวขึ้นไปอยู่ในที่อันไม่มีรูป
ตามที่จิตตนนึกไว้นั้น
ดูกรอานนท์ ผู้ที่หลงขึ้นไปอยู่ในอรูปพรหมแล้ว
จะได้ถึงโลกุตตรนิพพานนั้นช้านานยิ่งนัก
เพราะว่าอายุของ อรูปพรหมนั้นยืนนัก
จะนับว่าเท่านั้นเท่านี้มิอาจนับได้
จึงเชื่อว่านิพพานโลกีย์
ต่างกันแต่มิได้ดับวิญญาณเท่านั้น
1
ถ้าหากดับวิญญาณก็เป็นพระนิพพานโลกุตตรได้
ส่วนความสุขความสำราญในพระนิพพานทั้ง ๒ นั้น
ก็ประเสริฐ เลิศโลกเสมอกันไม่ต่างกัน
แต่นิพพานโลกีย์เป็นนิพพานที่ไม่สิ้นสุดเท่านั้น
เมื่อสิ้นอำนาจของฌานแล้ว
ยังต้องมี เกิดแก่เจ็บตาย ร้ายและดี คุณและโทษ
สุขและทุกข์ยังมีอยู่ เต็มที่
เพราะเหตุนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งจะปรารถนานิพพานพรหมไม่มีเลย
ย่อมมุ่งต่อโลกุตตรนิพพานด้วยกันทั้งนั้น
แต่ไม่รู้จักปล่อยวางวิญญาณ
จึงหลงไปเกิดเป็นอรูปพรหม
ส่วนโลกุตตรนิพพานนั้นปราศจากวิญญาณ
วิญญาณยังมีที่ใด
ความเกิดแก่เจ็บตายก็มีอยู่ในที่นั้น
โลกุตตรนิพพาน ปราศจากวิญญาณ
จึงไม่มีเกิดไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บไม่มีตาย
มีแต่ความสุขสบาย ปราศจากอามิส
หาความสุขอันใด จะมาเปรียบด้วยนิพพานไม่มี
พระพุทธเจ้าตรัสแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล ..."
.
บางตอนจากคิริมานนทสูตร
"ลักษณะของพระอริยะ"
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้เองว่า
พระโสดาบันมีศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิ และปัญญาเล็กน้อย
พระสกิทาคามี มีศีลบริสุทธิ์ มีสมาธิปานกลาง มีปัญญาเล็กน้อย
พระอนาคามี มีสมาธิสมบูรณ์ มีปัญญาปานกลาง
พระอรหันต์สมบูรณ์พร้อมทั้งศีล สมาธิ และปัญญา
แต่คำว่ามาก ว่าน้อยนั้น
ไม่ได้หมายความอย่างที่เราเข้าใจกัน
เช่นสมาธิเล็กน้อย
ไม่ใช่ว่าเข้าฌานได้ขั้นต้น ๆ หรือเข้าฌานไม่ได้
เพราะแม้ปุถุชน เข้าได้ถึงอรูปฌาน 4 ก็มี
คำว่าสมาธิน้อย หมายถึงว่าจิตตั้งมั่นเจริญวิปัสสนาได้น้อย
พอได้พระอนาคามี จิตผู้รู้จะเด่นดวงตั้งมั่นเกือบตลอดเวลา
อย่างมากก็หมองลงนิดหนึ่งเท่านั้น
สมาธินี้จึงไม่เกี่ยวกับว่าจะต้องเข้าฌานหรือไม่
เพราะแม้พระอนาคามีที่เข้าฌานไม่ได้
ท่านก็มีสมาธิจิตที่เด่นดวงเช่นกัน
ท่านจึงว่าพระอนาคามีนั้นมีสมาธิบริบูรณ์
หรืออย่างปัญญามากปัญญาน้อย
ไม่ได้หมายถึงความฉลาดมากน้อย
แต่หมายถึงความสามารถของจิตที่จะรู้เห็นและปล่อยวางอารมณ์ได้หยาบละเอียดต่างกัน
โดย คุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2542
หลักจริง ๆ ก็คือ รู้เห็นแล้วยึด
หรือ รู้เห็นแล้วปล่อย
บางคนยิ่งรู้เห็นมาก ก็ยิ่งยึดมาก วนลูป
คีย์เวิร์ด จึงอยู่ที่คำว่า "ปล่อยวาง" "สละออก" "สลัดคืน"
การจะปล่อยได้ก็ต้องผ่านด่าน
การพิจารณาไตรลัษณ์ ( อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา )
โดยใช้เครื่องมือ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
จนรู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔
ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้ว พึงกำหนดรู้ คือ อุปาทานขันธ์ ๕
ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้ว พึงควรละ คือ อวิชชา และ ภวตัณหา
ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้ว พึงทำให้เจริญ คือ สมถะ และ วิปัสสนา
ธรรมที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาแล้ว พึงทำให้แจ้ง คือ วิชชา และ วิมุตติ
อ้างอิง :
ลักษณะของพระอริยะ
ธรรมที่ควรกำหนดรู้- ควรละ- ควรทำให้เจริญ- ควรทำให้แจ้ง
สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ มี ๒ อย่าง
ที่เป็นของปุถุชน และเป็นของพระอริยะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา