27 ส.ค. 2021 เวลา 13:00 • สัตว์เลี้ยง
รู้ได้อย่างไรพฤติกรรมแบบไหนไม่ปกติในสัตว์เลี้ยง
ก่อนที่หมอจะเล่าถึงรูปแบบความผิดปกติของพฤติกรรมน้องหมาน้องแมว อยากให้เจ้าของได้รู้จักพฤติกรรมที่ปกติของน้อง ๆ ก่อน ซึ่งการแสดงออกทางพฤติกรรมจะเกิดได้จาก 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือ สายพันธุ์ (genetics), การเรียนรู้ (learning) และสิ่งแวดล้อม (environment)
1. สายพันธุ์(genetics)
🐶 สุนัข
การแสดงออกของสุนัข จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ Retriever มักชอบเล่นน้ำ และมีความสามารถในการว่ายน้ำได้ดี ในขณะที่น้องหมาพันธุ์ Toy breed อย่างพุดเดิ้ลหรือชิวาวา ก็มักจะขี้อ้อนเจ้าของกว่าพันธุ์อื่น ๆ รวมทั้งยังชอบเล่น เห่าเก่ง และมีความไฮเปอร์สูง (เรียกว่าน้องจะค่อนข้างตื่นตัวตลอดเวลา) ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์อย่าง Guarding dog เช่น German Shepherd , Doberman และ Rottweiler ที่จะค่อนข้างนิ่ง แต่ก็มีความก้าวร้าวค่อนข้างสูงในบางโอกาส ดังนั้นพันธุ์นี้จึงเหมาะกับการนำไปฝึก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีการเรียนรู้ที่ดี
สำหรับสุนัขสายพันธุ์ Siberian Husky ใครที่เคยเลี้ยงจะเห็นว่า น้องมีความเป็นมิตรสูง ไม่ค่อยมีนิสัยที่ก้าวร้าว ดังนั้นจึงมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มได้ดี สามารถเลี้ยงร่วมกันกับสุนัขอีกหลายตัวได้ แต่ Siberian Husky จะมีความสามารถในการเรียนรู้ไม่มาก ทำให้การฝึกค่อนข้างยากกว่ากลุ่ม Guarding dog ในทางกลับกันสุนัขสายพันธุ์ pit bull จะมีความก้าวร้าวระหว่างสุนัขด้วยกันค่อนข้างสูง แต่ไม่ค่อยแสดงความก้าวร้าวต่อคน ยกเว้นเกิดความเครียดบางอย่างขึ้นมา อย่างที่เราเห็นตามภาพข่าวหนังสือพิมพ์
😽 แมว
สำหรับแมวไทยเมื่อเทียบกับแมวเปอร์เซีย เราจะพบทั้งลักษณะนิสัยที่เหมือนและต่างกันคือ ทั้งสองจะชอบความเป็นส่วนตัวหรือรักสันโดษทั้งคู่ แต่ในแมวไทยจะมีความขี้อ้อนหรือขี้เล่นมากกว่า รวมถึงมีสัญชาตญาณการล่าเหยื่อที่สูงกว่าแมวเปอร์เซีย
2. การเรียนรู้ (learning)
🐶 สุนัข
สัตว์เลี้ยงก็เหมือนเด็กเล็ก พวกเค้าจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ได้รับมา เช่น เมื่อถูกทำโทษด้วยไม้บ่อย ๆ สัตว์เลี้ยงจะแสดงอาการดุร้ายมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากการโดนทำร้าย ดังนั้นเราอาจจะเห็นพฤติกรรมก้าวร้าวที่น้องแสดงออกมา ในทุกครั้งที่เห็นใครถือไม้เดินเข้าไปหา หรืออย่างการข้ามถนนของสุนัข เราจะสังเกตว่าสุนัขที่อยู่ตามข้างถนนก็มีความสามารถในการมองและหลบหลีกรถบนท้องถนนได้ดี ซึ่งแตกต่างจากสุนัขเลี้ยงตามบ้านคนที่ขาดประสบการณ์เหล่านี้ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุก็มีสูงกว่า ถ้าน้องเกิดหลุดจากสายจูงแล้ววิ่งไปยังถนนที่มีรถยนต์พลุกพล่าน
พฤติกรรมการยกขาปัสสาวะก็เป็นการเรียนรู้ของสุนัขเพศผู้เช่นกัน บางครั้งเราจะพบว่าน้องหมาบางตัวยังคงนั่งปัสสาวะเหมือนสุนัขเพศเมีย ทั้ง ๆ ที่ควรจะยกขาเหมือนเพศผู้ทั่วไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในบ้านไม่มีสุนัขเพศผู้ มีแต่เพศเมีย หรือไม่เคยเห็นเพศผู้ตัวอื่น ๆ ยกขาปัสสาวะ แต่ไม่ว่าจะเป็นท่าการปัสสาวะแบบใดก็ถือว่าเป็นปกติในสุนัข
😽 แมว
ความสามารถในการเรียนรู้ของแมวจะมีสูงในช่วงที่ยังเป็นลูกแมว เช่น การเล่นหรือการล่าเหยื่อ ซึ่งเรามักพบบ่อย ๆ ว่าแมวที่มีปัญหาไล่กัดขาของเจ้าของหรือกัดที่มือ เกิดจากการที่เจ้าของนั้นเล่นกับแมวหรือหยอกแมวด้วยเท้า หรือใช้มือเล่นกับแมวค่อนข้างรุนแรง ซึ่งการป้องกันปัญหานี้ หมอแนะนำให้เจ้าของเล่นกับลูกแมวโดยใช้ของเล่นจะเหมาะสมกว่า
สิ่งแวดล้อม (Environment)
สภาพแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยนึง ที่ทำให้สุนัขแสดงพฤติกรรมแตกต่างกันไป เช่น สุนัขที่มีพื้นที่ในการออกกำลังและเล่น จะมีความเครียดน้อยกว่าสุนัขที่เลี้ยงแบบขังกรงหรือถูกจำกัดบริเวณ ซึ่งมักเกิดความเครียดสะสม จนอาจทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น การเลี้ยงสุนัขภายในบ้านแบบมีรั้วรอบขอบชิด เราจะพบการแสดงออกบางอย่างแตกต่างจากสุนัขทั่วไปนอกบ้าน เช่น การหวงพื้นที่หรือหวงของจะมีมากขึ้น เนื่องจากสุนัขมีอาณาเขตที่แน่นอน ทำให้อาจแสดงความก้าวร้าวเมื่อมีคนแปลกหน้า หรือสุนัขต่างถิ่นบุกรุกเข้ามา
===========
วิธีแยกแยะความผิดปกติทางพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง
ความไม่ปกติทางพฤติกรรมของน้องหมาน้องแมว มีได้หลายแบบด้วยกัน แต่ก่อนอื่นหมออยากให้เจ้าของรู้จักกับ 2 คำนี้ก่อน ปัญหาทางพฤติกรรม (Behavior problem) และ พฤติกรรมที่เป็นปัญหา (Problem behavior)
ปัญหาทางพฤติกรรม(Behavior problem)
หากพบว่าสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงนั้นแสดงบางอย่างออกมา แตกต่างจากพวกพ้องหรือสัตว์ชนิดนั้น ๆ พฤติกรรมนี้จัดเป็นปัญหาพฤติกรรมของสัตว์โดยตรง เช่น การไล่กัดขาเจ้าของของน้องแมว ถือว่าเป็นปัญหาทางพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้บางอย่างในวัยเด็ก หรือในสัตว์เลี้ยงที่ก้าวร้าวกับเจ้าของ ก็ถือเป็นปัญหาพฤติกรรมอย่างนึง ที่เกิดจากการป้องกันตัวเองไม่ให้โดนเจ้าของทำร้ายครับ อาการกลัวเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า การกัดแทะสิ่งของหรือร่างกายตัวเอง และการกินก้อนหิน ทั้งหมดนี้ยังคงจัดเป็นปัญหาพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวสัตว์ โดยอาจมีสาเหตุการเกิดต่าง ๆ กันไป
พฤติกรรมที่เป็นปัญหา (Problem behavior )
สัตว์เลี้ยงไม่ได้มีพฤติกรรมที่ผิดปกติใด ๆ แต่การแสดงออกนั้นไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของสัตว์ต้องการ พูดง่าย ๆ คือ น้องหมาน้องแมวทำนิสัยที่เจ้าของไม่ชอบใจนั่นเองครับ ซึ่งแบบนี้หมอจะเรียกว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
===========
ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยในสุนัขได้แก่
- ปัญหาความก้าวร้าวหรือดุร้าย แบ่งออกได้เป็น Play aggression, redirected aggression, intermale aggression, fear aggression, food-related aggression, territorial aggression, maternal aggression, pain aggression, predatory aggression และ impulse control aggression
- ปัญหาการกลัวเสียงดัง เสียงฟ้าร้อง-ฟ้าผ่า
- ปัญหาการกินสิ่งแปลกปลอมหรือกินอุจจาระ
- ปัญหาการหลงลืมในสุนัขชรา
- ปัญหาการกัดทำลายสิ่งของ
- ปัญหาการเห่าหอน เป็นต้น
ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยในแมวได้แก่
- ปัญหาความก้าวร้าวหรือดุร้าย แบ่งออกได้เป็น Play aggression, redirected aggression, intercat aggression, fear aggression, aggression when patted, territorial aggression, maternal aggression, pain aggression, predatory aggression และ impulse control aggression
- ปัญหาการทำเครื่องหมาย หรือ Spraying
- ปัญหาการกัดหรือข่วนทำลายเฟอร์นิเจอร์
- ปัญหาการกัดหรือเลียขนตัวเองมากเกินไป เป็นต้น
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ช่วงอายุก็จะมีผลต่อการแสดงออกของพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นก่อนที่เจ้าของจะมองว่าน้อง ๆ เกิดความผิดปกติทางพฤติกรรม จำเป็นต้องเข้าใจในพฤติกรรมที่เป็นปกติของสัตว์ก่อน และหากพบว่าน้องมีความผิดปกติเกิดขึ้นจริง สามารถนำสัตว์เลี้ยงมาปรึกษาคุณหมอได้ครับ
น.สพ.มนต์ชัย เล็กเจริญวงศ์
============
👉 Deemmi
ที่ปรึกษาออนไลน์เพื่อคนเลี้ยงสัตว์ (Televetmed)
ให้คำแนะนำโดยคุณหมอจากโรงพยาบาลสัตว์ทั่วประเทศ
👉 พบกับเราเร็ว ๆ นี้ผ่านช่องทาง
Website: www.deemmi.com (เร็ว ๆนี้)
Line: @deemmi
FB: Deemmi
โฆษณา