1 ก.ย. 2021 เวลา 02:00 • ความคิดเห็น
การทูตไทย...เริ่มจากความเข้าใจตนเอง
เมื่อพูดถึงการทูต หลายคนมักนึกถึงภาพการใช้ชีวิตในต่างแดน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก่อนที่นักการทูตจะสามารถออกไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างแดนได้นั้น สิ่งสำคัญ คือ นักการทูตต้องรู้จักประเทศของตนเองในหลากหลายมิติ เพื่อที่จะได้สามารถเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีของประเทศออกไปยังโลกกว้าง และในขณะเดียวกัน ก็จะได้นำพาองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์กลับเข้ามาในประเทศด้วยเช่นกัน ดังนั้น การทูตที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากนักการทูตยังมีความเข้าใจในประเทศของตนเองดีไม่พอ
1
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการต่างประเทศจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้นักการทูตไทยรู้จักประเทศไทยดียิ่งขึ้น ผ่านการจัดอบรมให้ "นักการทูตแรกเข้า" แบ่งกลุ่มไปลงพื้นที่ศึกษาดูงานในจังหวัดต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคของไทยให้ได้สัมผัสประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ตัวผู้เขียนและเพื่อนนักการทูตแรกเข้า ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงราย เป็นเวลา ๒ สัปดาห์
ณ จังหวัดเชียงราย เหนือสุดแดนสยาม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา อยู่ติดชายแดน ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในแง่ของการพัฒนาโดยการปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม นำจุดแข็งของพื้นที่มาต่อยอด โดยผู้เขียนได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้คนในหลากหลายสาขาอาชีพ ตั้งแต่เกษตรกร ผู้นำชุมชน ข้าราชการท้องถิ่น ไปจนถึงทหาร ครู และอาสาสมัคร รวมทั้งได้ศึกษาวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านการลงมือทำกิจกรรม อาทิ การทำเกษตรอินทรีย์ การผลิตและแปรรูปชาน้ำมัน การแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบในพื้นที่ การป้องกันพื้นที่ชายแดน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละพื้นที่ข้างต้น ล้วนเป็นพื้นที่ที่ผ่านการพัฒนาและเอาชนะอุปสรรคมากมายในอดีตได้สำเร็จ
ที่ผ่านมา บางพื้นที่ประสบปัญหาไม่สามารถทำการเกษตรได้ ก็สามารถพัฒนามาจนผู้คนสามารถผลิตพืชผักและเมล็ดชาน้ำมันเพื่อขายและนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บางพื้นที่ประสบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ก็สามารถพัฒนามาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น เรื่องราวเหล่านี้ยังคงมีรายละเอียดอีกมากมายให้ได้ศึกษา
อย่างไรก็ดี แม้ผู้คนในพื้นที่จะสามารถเอาชนะอุปสรรคในอดีตมาได้แล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีความท้าทายมากมายที่ต้องเผชิญ ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อาทิ ข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ตลอดจนปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการที่ผู้คนจะสามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้ ก็ยังคงต้องมีการเรียนรู้ ปรับตัวตามสภาพแวดล้อม รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปได้
ในฐานะนักการทูตไทย หน้าที่สำคัญที่สามารถทำได้ ก็คือการนำองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่เพื่อให้คนไทยสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสภาพภูมิสังคมได้ และในขณะเดียวกัน ก็สามารถทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเพื่อเผยแพร่ความสำเร็จที่ผ่านมาของแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยให้ต่างชาติได้เข้าใจ ซึ่งถือเป็นการ "เชื่อมไทยสู่โลก เชื่อมโลกสู่ไทย" เพื่อวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมผลประโยชน์ของประชาชนไทยทุกคน
โดย ฉัตรธิดา วิเศษสมิต
นักการทูตปฏิบัติการ
กรมสารนิเทศ
โฆษณา