25 ส.ค. 2021 เวลา 12:53 • ธุรกิจ
ศึกรถยนต์ EV จีนและสหรัฐฯ
Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
 
หากมีความฝันหนึ่งของจีนที่ฝันไกล แต่ไปไม่เคยถึง นั่นก็คือการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งจีนมักมองสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ สัญลักษณ์หนึ่งของการเป็นประเทศเจ้าอุตสาหกรรมของโลก ก็คือ การยึดครองตลาดรถยนต์โลกให้ได้
9
40 ปี ที่ผ่านมา แม้จีนจะพยายามพัฒนารถยนต์แบรนด์จีนเอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในตลาดจีนและตลาดโลก
แต่จุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมรถยนต์สู่ยุครถยนต์ EV มอบโอกาสทองให้กับจีน และก็เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่อง รัฐบาลจีนมองเห็นโอกาสใหม่และทุ่มกระสุนเงินลงทุนชนิดไม่อั้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ภายในประเทศ
2
การเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนน่าตกใจ...
ในปี ค.ศ. 2016 ยอดขายรถยนต์ EV ในจีนอยู่ที่ 336,000 คัน
ผ่านไปเพียง 4 ปี
ในปี ค.ศ. 2020 ตัวเลขยอดขายรถยนต์ EV ของจีนขึ้นมาแตะที่ 1.3 ล้านคัน
(คิดเป็นสี่เท่าของยอดขายรถยนต์ EV ในสหรัฐฯ และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 41 ของยอดขายรถยนต์ EV ทั้งโลก)
11
จากการคำนวณการเติบโตของตลาดที่โตเร็วชนิดติดจรวด เชื่อกันว่า
ในปี ค.ศ. 2030 ยอดขายรถยนต์ EV จะสูงถึงร้อยละ 70 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในจีน
3
รัฐบาลจีนทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นใช้นโยบายขับเคลื่อนเรื่องซัปพลาย
โดยให้เงินทุนสนับสนุนบริษัทผลิตรถยนต์ EV ของจีน รวมทั้งให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องที่ดินการสร้างโรงงาน พร้อมส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ EV ที่สมบูรณ์ภายในจีน
2
โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ EV ภายในจีนรวมมากกว่า 400 บริษัท และซัปพลายเชนชิ้นส่วนมีพร้อมสมบูรณ์ เช่น CATL ที่มณฑลฝูเจี้ยนถือเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV เจ้าใหญ่ที่สุดในโลก
2
ในปี ค.ศ. 2020 จีนมีกำลังการผลิตรถยนต์ EV ที่ 1 ล้านคัน
แต่ภายในปี ค.ศ. 2028 จะมีกำลังการผลิตรถยนต์ EV ภายในจีนถึงปีละ 8 ล้านคัน
มากกว่ากำลังการผลิตรถยนต์ EV ในสหรัฐฯ และยุโรปรวมกัน (เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2020 สหรัฐฯ ผลิตรถยนต์ EV ที่ 410,000 คัน และภายในปี ค.ศ. 2028 กำลังการผลิตน่าจะขยับขึ้นมาได้ราว 1.4 ล้านคัน)
5
แต่กลยุทธ์เด็ดที่สุดของรัฐบาลจีนอยู่ที่การส่งเสริมด้านดีมานด์
รัฐบาลจีนให้สิทธิประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ EV เพื่อเป็นการสร้างดีมานด์ในตลาดและอาศัยประโยชน์จากตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ของจีน
3
สำหรับในเมืองใหญ่หลายแห่งในจีน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ จะมีการจำกัดโควตารถยนต์ดีเซลอย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มีทางเลือกเดียวคือต้องซื้อรถยนต์ EV
รัฐบาลจีนยังให้ความสนใจกับ Ecosystem ของการใช้งานรถยนต์ EV โดยติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่ 800,000 แห่งทั่วประเทศ นับว่าสถานีชาร์จในจีนมีจำนวนมากกว่าสถานีชาร์จในโลกทั้งหมดรวมกันเกือบเท่าตัว
5
ปัญหาใหญ่ที่สุดของรถยนต์ EV ในปัจจุบัน ก็คือต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ที่สูง ทำให้ราคารถยนต์สูงกว่ารถยนต์ดีเซล
1
ปรากฏว่าบริษัทรถยนต์ EV ของจีนมีการทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ โดยให้เช่าแบตเตอรี่ ทำให้ราคาขายรถยนต์ลดลง โดยผู้ซื้อรถซื้อแต่เปลือกรถและจ่ายค่าเช่าแบตเตอรี่เพิ่มเป็นรายเดือน
6
หากไบเดนได้ฟังรายงานพัฒนาการเหล่านี้ในจีน จะนอนหลับสนิทไหมครับ
4
แน่นอนว่า ผู้รายงานคงปลอบไบเดนว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีของบริษัทรถยนต์ของสหรัฐฯ ยังคงดีที่สุดและยังคงเป็นเจ้าตลาดโลก และนโยบายการอุดหนุนของรัฐบาลจีนใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายเสียหายไปไม่น้อย ส่งเสริมบริษัทรถยนต์ที่ไม่มีคุณภาพและถึงทางตันก็หลายราย
3
แต่ไบเดนคงอดจะหนาวๆ ร้อนๆ ไม่ได้ หากมองทะลุว่า อนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็คือ รถยนต์ EV และจีนกำลังเร่งสร้างซัปพลายเชนชิ้นส่วน และกดต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ลงอย่างรวดเร็ว
1
ที่สำคัญ อย่างที่คนจีนชอบพูดจุดแข็งของตนในหลายอุตสาหกรรม ชัดเจนมากว่า ตลาดอยู่ที่จีน
1
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่นอกจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แล้ว อีกอุตสาหกรรมที่ติดปากไบเดนเวลาหาเสียงและแถลงปลุกใจชาวอเมริกัน ก็คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ EV
โดยสำหรับไบเดนแล้ว นี่เป็นนโยบายที่ยิงนัดเดียวได้นกสองตัว คือได้ใจชนชั้นแรงงาน เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐฯ มีการจ้างงานที่สูงมาก และได้ใจกลุ่มหัวก้าวหน้าในพรรคเดโมแครตที่สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวและการแก้ไขปัญหาโลกร้อน
1
สหรัฐฯ กำลังเป็นผู้ตามเกม เมื่อปีที่แล้ว รถยนต์ EV คิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของจำนวนยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในสหรัฐฯ
แต่ไบเดนเทหน้าตักสู้..
แผนการใหญ่ของไบเดนสำหรับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.65 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีงบสำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ EV เป็นมูลค่าถึง 174,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีเป้าหมายว่าจะติดตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่ 500,000 แห่งทั่วประเทศ
6
ที่สำคัญก็คือ ไบเดนลอกกลยุทธ์จีน โดยมองว่าหัวใจคือการสร้างดีมานด์ แถมที่ปรึกษาไบเดนก็ชาญฉลาด แนะนำว่า รัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีความสามารถในการสร้างดีมานด์ปลุกอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ของสหรัฐฯ ให้คึกคักได้ทันที เพราะรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เป็นเจ้าของรถยนต์หลวงจำนวน 650,000 คัน
3
ไบเดนประกาศเป้าหมายจะเปลี่ยนให้เป็นรถยนต์ EV ทั้งหมด และคุยว่าเพียงนโยบายนี้อย่างเดียว จะทำให้มีการสร้างงานใหม่ 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ EV เพื่อตอบสนองดีมานด์ใหม่ของตลาด
ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เน้นไปที่การวิจัยคิดค้น (R&D) เพื่อพัฒนาแบตเตอรี่ยุคใหม่ และเน้นไปที่การสร้างดีมานด์ให้กับตลาด ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ
มาแนวเดียวกับที่รัฐบาลทรัมป์ซื้อวัคซีนโควิดล่วงหน้า จนเป็นการสร้างดีมานด์ให้เกิดการพัฒนาวัคซีนโควิดที่รวดเร็วที่สุดในโลก และแนวเดียวกับในยุคทศวรรษ 1960 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านองค์การนาซาเป็นผู้ซื้อเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุด จนเกิดอุตสาหกรรมเซมิคอนดักตอร์ขึ้นมาในสหรัฐฯ
4
บริษัทเอกชนสหรัฐฯ เองก็ขานรับทิศทางใหม่ของไบเดน
General Motors (GM) ประกาศว่าจะออกรถยนต์ EV ถึง 30 รุ่น ภายในช่วงเวลา 5 ปี ต่อจากนี้ แถมจะสร้างฐานการผลิตทั้งหมดภายในสหรัฐฯ ทั้งยังประกาศว่าจะผลิตแต่รถยนต์ EV เท่านั้น โดยเลิกผลิตรถยนต์ดีเซลภายในปี ค.ศ. 2035
6
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่ายุทธศาสตร์รถยนต์ EV ของ GM ไม่ได้เพียงตอบโจทย์ตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ GM ถูกกดดันให้ต้องเร่งปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ตลาดจีนด้วย เพราะในปัจจุบัน ร้อยละ 40 ของยอดขายของรถยนต์ GM อยู่ที่ตลาดจีน
1
หากหันมองตลาดโลก ปัจจุบัน ยอดขายรถยนต์ EV อยู่ที่ร้อยละ 2 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดของโลก แต่เชื่อกันว่าจะขยับขึ้นอย่างรวดเร็วจนแตะร้อยละ 24 ในปี ค.ศ. 2030 นับว่าเป็นโอกาสธุรกิจมหาศาล
2
ศึกรถยนต์ EV ระหว่างจีนและสหรัฐฯ นี้ จึงเดิมพันสูงยิ่ง เพราะเท่ากับกำหนดว่า ใครจะครองตลาดรถยนต์โลกในอนาคตที่มีมูลค่าตลาดขนาดมหึมา
3
โฆษณา