25 ส.ค. 2021 เวลา 17:16 • ข่าว
จากกรณีภาพกล้องวงจรปิดและคลิปจากสภ.เมืองนครสวรรค์ถูกส่งต่อผ่านอินเตอร์เน็ต เผยการทุจริตและความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ในระบบตำรวจ การตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษจะไม่เกิดขึ้น หากไม่มีเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นรวบรวมความกล้าหาญส่งข่าวออกมาแม้จะรู้ว่าอาจเกิดภัยถึงตัว
1
ทีมข่าว workpointTODAY รวบรวมอย่างน้อย 4 กรณี คนในระบบใจกล้าท้าอิทธิพล กล้าเปิดโปงเรื่องที่หลายคนเลือกจะปิดเงียบเพื่อรักษาประโยชน์ของสังคม และชะตากรรมของพวกเขาหลังจากนั้นถูกคุ้มครองอย่างไร
1
สาธารณชนห่วงนายตำรวจมือถ่าย-เปิดเผยคลิป หลังปรากฎคลิปการซ้อมทรมาณในสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์
ข่าวเด่นข่าวดังตลอดทั้งคืนวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมาหนีไม่พ้นกรณีผู้กำกับสภ.นครสวรรค์ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาตามหมายจับ กรณีคลิปซ้อมทรมาณเหยื่อว่อนอินเตอร์เน็ต
สังคมจะไม่สามารถรู้รายละเอียดได้มากขนาดนี้และภาวะกดดันจนมีการออกหมายจับอาจไม่เกิดขึ้น หากไม่ได้มือดีปล่อยคลิปวีดีโอนี้ออกมา
1
จากการอ้างอิงของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายความที่เผยแพร่คลิปดังกล่าวผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ” ระบุว่าได้รับคลิปนี้มาจากตำรวจชั้นผู้น้อย “ฝากบอกผมว่าให้ช่วยตามคดีนี้ก่อนที่พวกตนจะถูกฆ่า” ทำให้สาธารณชนจำนวนมากแสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวที่เป็นผู้อัดและเผยแพร่คลิปนี้ออกมา
1
ก่อนหน้านี้มีจดหมายจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใต้บังคับบัญชาในชุดจับกุม 05 รายหนึ่งแสดงให้เห็นกระบวนการในการอ้างอิทธิพลเพื่อปิดปากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
1
“ขอความเป็นธรรมกับน้องเค้าด้วยนะครับ และขอความเป็นธรรมกับพวกผมด้วยครับ เพราะท่านผกก.ท่านมักอ้างเสมอ ว่าท่านเป็นสายตรง พล.ต.ท.(ต) และเป็นลูกเขยกับท่านผู้บังคับบัญชาการภ.6 แถมยังอ้างกับพวกผมอยู่บ่อยๆว่า ท่านสนิทกับ ท่านชินภัทร” จดหมายระบุ
2
ส่วนหนึ่งของจดหมาย ยังระบุว่าแม้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต “พวกผมพร้อมจะให้รายละเอียดและปากคำครับ แต่ตอนนี้ขอยังไม่เปิดชื่อจริงนะครับ” และชี้ว่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา “รู้สึกแย่เข้าไปอีก” เมื่อพบว่าหลังเกิดเหตุมีการใช้เงินเพื่อปิดปากญาติผู้เกี่ยวข้องกับผู้ตาย
“ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” เป็นที่ได้ยินอยู่เสมอในวัฒนธรรมของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย บทความเรื่อง “อะไร คือ ความจริง” ของ ‘เขม่าปืน’ จากนิตยาสาร COP’s หนึ่งในนิตยสารตำรวจในไทยระบุเชิงตำหนิผู้นำความลับในวงการออกเปิดเผยสู่สาธารณชนว่า “มือปราบรุ่นเก่ารู้สึกสลดใจ” … “วงการนักสืบเขาไม่ทำกัน” เห็นได้ว่าวัฒนธรรมการเก็บงำความลับนี้ถูกผลิตซ้ำหนาแน่นเพียงใด
3
ชะตากรรม Whistleblower : ขณะนี้เรายังไม่ทราบตัวทั้งผู้นำวีดีโอออกเผยแพร่ และผู้เขียนจดหมายร้องเรียน แต่หากจดหมายร้องเรียนเขียนโดยชุดจับกุมจริงก็มีโอกาสที่ผู้เขียนจดหมายจะเป็นหนึ่งใน 7 ผู้ต้องหมายจับในคดีนี้ อย่างไรก็ดี สาธารณชนให้ความสนใจและจำนวนมากแสดงออกว่ากังวลถึงสวัสดิภาพและเป็นห่วงไม่อยากให้ถูก “จัดการ” ด้วยวิธีนอกกฎหมาย
4
มือดีปล่อยเอกการหลุดจากห้องประชุมกรมควบคุมโรค เราจึงรู้ว่ามีหนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมออกความคิดเห็นว่า ‘ไม่ควรใช้วัคซีน Pfizer ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์เพราะจะทำให้แก้ต่างให้วัคซีน Sinovac ยากกว่าเดิม’ ต่อมามีเสียงจากผู้มีอำนาจสลับกันบอกว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริงแต่ไม่ใช่เอกสารทางการ อย่างไรก็ดี คุณูปการของบุคคลปริศนาที่เป็นผู้ปล่อยเอกสารนี้ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ได้รับจัดสรรวัคซีน Pfizer เป็นกลุ่มต้นๆ ในที่สุด
วันที่ 4 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา หลายสำนักข่าวตีข่าวเอกสารหลุดจากการประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 21/2564 ณ ห้องประชุมชม เทพยสุวรรณ ชั้น 5 อาคาร 3 กรมควบคุมโรค วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ตัวเอกสารมีเนื้อหาระบุเกณฑ์การกระจายวัคซีนไฟเซอร์ โดยจุดที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางคือเนื้อหาในส่วนความเห็นข้อที่ 10 ซึ่งระบุว่า "ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 แสดงว่าเรายอมีรับว่าSinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น" (ต้นฉบับสะกดผิด)
1
หลังเอกสารดังกล่าวถูกเผยแพร่โดยสื่อ แฮชแท็ก #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ ทะยานขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ประเทศไทย เกิดกระแสทวงถามความรับผิดชอบว่าใครเป็นผู้พูดประโยคดังกล่าว
เมื่อถึงวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แจงต่อสื่อว่าเอกสารดังกล่าวไม่ได้เป็นเอกสารบันทึกการประชุมที่เป็นทางการแต่เป็นการสรุปประเด็นโดยผู้ที่ไม่ได้เป็นฝ่ายเลขานุการโดยชี้ให้เห็นลักษณะการเขียน อย่างไรก็ดีไม่ได้ปฏิเสธว่ามีผู้พูดเช่นนั้นจริง โดยกล่าวว่าเป็นความเห็นหนึ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุม
ปฏิกิริยาของสังคมต่อเอกสารดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการยืนยันฉันทามติที่ต้องการให้แพทย์ได้รับวัคซีน Pfizer ปฏิเสธไม่ได้ว่านำมาสู่การกำหนดนโยบายใหม่ในภายหลัง โดยกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้วัคซีน Pfizer ในประเทศไทย
ชะตากรรม Whistleblower : ผู้สื่อข่าวติดตามประกาศและความเคลื่อนไหวของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประชุมนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฎการดำเนินการใดเพื่อลงโทษในทางวิชาชีพที่สังเกตได้จากบุคคลาภายนอก อย่างไรก็ดีไม่อาจทราบแน่ชัดได้ว่ามีการกดดันทางอื่นหรือไม่
บุคลากรทางการแพทย์ชี้พิรุธรายชื่อวัคซีนโรงพยาบาลภูมิพล เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศเรียกพบ
กลางเดือนสิงหาคม 2564 กลุ่มแพทย์พยาบาลเพื่อมวลชน นักศึกษา ประชาชนร้องเรียนระบุว่ามีรายชื่อการจัดสรรค์วัคซีน Pfizer ผิดปกติ โดยรายชื่อเดิมมีจำนวนหลายร้อยคน จัดทำโดยสามารถระบุตัวได้ว่าทำงานหน่วยงานใด มีวันเดือนปีเกิดระบุ ต่อมากลับมารายชื่อเพิ่มขึ้น โดยเป็นลักษณะชื่อซ้ำๆ กันหลายชื่อแต่สะกดแตกต่างกันไปรวม 172 รายชื่อ โดยรายชื่อเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซันแล้วเมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคม 2564 จากเดิมที่วัคซีน Pfiser จัดสรรมายังโรงพยาบาลไม่เพียงพออยู่แล้วยิ่งทำให้บคลากรจำนวนมากตกหล่นยิ่งขึ้นไปอีก
ต่อมาโรงพยาบาลภูมิพลแถลงว่าข้อผิดพลาดนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก Google Forms ผิดพลาด และเนื่องจากเป็นรายชื่อที่ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้ว จึงจะแก้ไขข้อผิดพลาดโดยการขอรับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเพื่อให้ผู้ที่ตกหล่นได้รับการฉีดวัคซีนจนครบ
ด้านผู้เปิดเผยรายชื่อนี้รายแรกสุดเป็นบุคลากรทางการแพทย์และเป็นข้าราชการทหาร ระบุว่า “ต้องการให้สังคมรับรู้ว่าเกิดเรื่องแบบนี้จริง และไม่มีอะไรจะเสียแล้ว จึงยอมดับเครื่องชนแบบนี้ เพราะเป็นสิทธิ์ที่ควรได้ ที่ผ่านมา ยอมจองวัคซีนทางเลือก ทั้งที่เป็นด้านหน้าผู้ดูแลผู้ป่วยโควิด”
ชะตากรรม Whistleblower : พล.อ.ท.ธนวิตต สกุลแสงประภา เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศเรียกกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภูมิพลที่เกี่ยวข้องการเปิดเผยความผิดปกติของรายชื่อกว่า 10 รายเข้าพบในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ก่อนแถลงในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ว่าขออภัยในความผิดพลาดและจะจัดสรรวัคซีนให้บุคลากรด่านหน้าจนครบโดยด่วน
ปี 2561 ชญาดา สกุลรุ่งโรจน์ พนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) พบข้อมูลชื่อบุคคลที่ขอเบิกงานชดเชยจากโครงการรับจำนำข้าวปี 2555-2556 มีลักษณะซ้ำซ้อน สลับตัวเลขลำดับการเบิก รวม มูลค่า 3 ล้านบาท
หลังเธอแจ้งเรื่องนี้แก่ที่ทำงานผ่านแอปพลิเคชันบทสนทนา เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นจิตเภทและถูกพยายามนำตัวเข้ารักษาแต่ขัดขืน ก่อนที่จะยอมในที่สุดและพบว่าตนไม่ได้มีอาการดังที่ถูกกล่าวหา เหตุการณ์นี้ทำให้เธอถูกตั้งคณะกรรมการสอบครั้งที่ 1 และนำไปสู่การโยกย้ายเปลี่ยนสายงานจากฝ่านนโยบายรัฐ ไปยังฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ขณะเดียวกันมีการกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องชู้สาวจากคนในองค์กรควบคู่กันไป
วันที่ 6 สิงหาคม 2561 ธกส.ออกเอกสารชี้แจงสื่อมวลชนว่าโครงการจำนำข้าวมีหลักเกณฑ์การตรวจสอบอย่างเคร่งครัด บัญชีต่าง ๆ ต้องได้รับการตรวจสอบโดยสตง.และสตง.ไม่ได้มีข้อสังเกตใด ๆ ความผิดปกติที่ชญาดาพบเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบและแก้ไขตามกระบวนการปกติอยู่แล้ว เมื่อพบก็ได้มีการแก้ไขและไม่ใช่การทุจริตในองค์กร
หลังจากนั้น ชญาดานำเรื่องนี้โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย นำมาสู่การถูกตั้งคณะกรรมการสอบครั้งที่ 2 เรื่อง และ 3 เรื่องการขาดงาน-การมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ต่อมา 27 กรกฎาคม ธนาคารธกส.มีคำสั่งเลิกจ้าง ชญาดา ระบุสาเหตุผ่านการแถลงภายหลังว่า “มีพฤติกรรมจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามหรือคำสั่งของธนาคารอันชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำผิดซ้ำพฤติกรรมที่ถูกลงโทษภาคทัณฑ์และธนาคารได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วโดยเขียนข้อความในลักษณะที่ไม่เหมาะสมตำหนิดูหมิ่นผู้บังคับบัญชาพนักงานผู้อื่นและธนาคาร
ทั้งยังนำเอกสารข้อมูลของธนาคารที่ไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลที่ใช้สื่อสารภายในธนาคารโดยเฉพาะหรือข้อมูลอื่นใดที่จะก่อให้เกิดข้อสงสัยหรือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับธนาคาร เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีบุคคลอื่นมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ทำให้ธนาคารเสื่อมเสียชื่อเสียง”
1
ชะตากรรม Whistleblower : ชญาดาฟ้องผู้บริหารธกส. กรณีถูกย้ายมิชอบ และตนเองถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ขณะนี้หารายได้จากการเย็บถุงผ้าเพื่อสู้คดี
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
โฆษณา