27 ส.ค. 2021 เวลา 05:30 • ข่าว
พฤติกรรม "ผู้กำกับโจ้" สะเทือนวงการ ได้เวลาปฏิรูปตำรวจ โละระบบตั๋ว โควตา
สะเทือนวงการตำรวจอีกครั้ง นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง กรณี "ผู้กำกับโจ้" พ.ต.อ.ฐิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา ใช้ถุงคลุมศีรษะทรมานผู้ต้องหา จนแน่นิ่งเสียชีวิต ตามที่ปรากฏในคลิปอย่างชัดเจน
1
เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนพฤติกรรมอันเลวร้ายของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายเหตุการณ์ คงถึงเวลาต้องรื้อและล้างโครงสร้างตำรวจทั้งระบบได้แล้ว ในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้กับประชาชนอย่างเต็มที่
ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ยังคงค้างเติ่งอยู่ในสภา ตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมาอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ก่อนเข้าสู่วาระ 2-3 เท่ากับว่าผ่านไป 7 ปี หลังการรัฐประหารของคสช. ซึ่งแผนการปฏิรูปตำรวจ เป็นหนึ่งในการปฏิรูปประเทศหลายด้าน ล่าช้าไปมาก ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
1
"รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล" ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
1
โดยการปฏิรูปตำรวจ มีความพยายามมาตั้งแต่ปี 2549 จนมาปี 2557 ซึ่งสังคมได้เกิดคำถามว่าทำไมไม่ดำเนินการให้เป็นรูปธรรม โดยนอกเหนือจากเรื่องกฎหมาย ควรทำควบคู่กันไปกับนโยบาย ทำให้ตำรวจมีทักษะความเชี่ยวชาญเป็นมืออาชีพ มีความก้าวหน้าในอาชีพ และควรแยกตำรวจดีกับตำรวจไม่ดี ด้วยการกำหนดบทลงโทษ
“เท่าที่ติดตาม มีการมุ่งเน้นเรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะบ่อยครั้งได้มีตำรวจทำสิ่งไม่ถูกต้อง ไปเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนแรงงานผิดกฎหมาย ปล่อยให้มีการเปิดบ่อนพนัน มีเหตุยิงตำรวจในบ่อน และล่าลุดกรณีผู้กำกับโจ้ ทำให้เกิดความคลางแคลงใจว่าจะรอเฉพาะมิติกฎหมายอย่างเดียวหรือ และพ.ร.บ.ตำรวจปี 2547 ก็อยากให้มีคณะกรรมการปฏิรูประเทศ มีการศึกษามาว่ากลไกการใช้กฎหมาย อยู่ภายใต้ฝ่ายการเมือง”
หรือแม้แต่งานวิจัยของหลายสถาบัน มีการระบุว่าตำรวจถูกแทรกแซงจากการเมือง เพราะนักการเมืองสมประโยชน์ในการสั่งการได้ และขณะเดียวกันตำรวจยังคงอยู่ภายใต้นักการเมือง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ทั้งที่องค์กรตำรวจ ไม่ได้เป็นของตำรวจ หรือรัฐบาล แต่เป็นของประชาชน ไม่ว่าจะชนชั้นใด หรือรากฐานใดก็ตาม ตำรวจต้องใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
สงสัยเส้นทางเติบโต "ผู้กำกับโจ้" มาได้อย่างไร❓
กรณีผู้กำกับโจ้ ได้เกิดคำถามว่ามีระบบการแต่งตั้งอย่างไร ทำไมได้มาเป็นผู้กำกับสภ.เมืองนครสวรรค์ และทำไมมีเงินมากมายมหาศาล ทั้งที่เงินเดือน 4 หมื่นกว่าบาท แค่ภาระการจ่ายให้พ่อแม่ในแต่ละเดือน และรายจ่ายอื่นๆ แทบไม่เหลือ หรือแม้แต่ซื้อรถญี่ปุ่นก็ไม่เหลือ
จากสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าตำรวจส่วนใหญ่อยากทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ และทำไมสังคมไทยถึงยอมรับผู้กำกับหนุ่ม ให้เข้ามาดูแลพื้นที่ โดยไม่สนใจว่ามาได้อย่างไร ซึ่งปกติเมื่อมีผู้กำกับมาใหม่จะมีพ่อค้า ประชาชนเข้ามาแสดงความยินดีอยู่แล้ว แต่ไม่สนว่ามาจากเส้นทางใด และตามทฤษฎีอาชญาวิทยา เมื่อคนในส่วนงานใด หากเติบโตในหน้าที่ แม้รูปแบบการได้มาไม่ถูกต้องก็ไม่สน แต่เพื่อให้คนยอมรับ ทำให้ตำรวจส่วนใหญ่คิดว่าไม่เป็นไร และไม่สนใจวิธีที่ได้มา ทำให้การปฏิรูปตำรวจ ทั้งการพัฒนาให้เป็นมืออาชีพ และพัฒนาจริยธรรม ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
1
“ควรให้ความเป็นธรรมกับตำรวจที่เสียสละ ต่อสู้กับอาชญากรรม ให้ได้เติบโต และตำรวจที่ดี ต้องได้รับการปรับให้มีความก้าวหน้า เพราะป้องกันอาชญากรรมดีเยี่ยม ทำให้ประชาชนหลับสบาย ควรนำมาประเมิน ส่วนตำรวจไม่ดี ต้องถูกลงโทษ ถ้าทำได้จะทำให้ตำรวจทำดี ก็จะได้ดี มีความก้าวหน้า จะทำให้องค์กรตำรวจดีขึ้น”
1
🔸ปฏิรูปตำรวจ เน้นประชาชนมีส่วนร่วม ตรวจสอบผู้กำกับ
ทั้งนี้แนวทางปฏิรูปตำรวจ จากปัญหาการบริหารงานแบบรวมศูนย์ ควรเปลี่ยนมาเป็นการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในระดับภูมิภาค ไม่ใช่ระดับจังหวัด เพื่อให้ประชาชนทุกระดับ ร่วมแสดงความคิดเห็นและสะท้อนปัญหา ต้องคัดเลือกคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) จากตัวแทนประชาชนทุกสาขาอาชีพ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของตำรวจในชุมชน
2
“ต้องเลือกประชาชนที่มีความแตกต่างจากสถานะทางสังคม มาร่วมแก้ปัญหาในพื้นที่ ไม่ใช่เลือกคนในวงการสีเทา เป็นผู้มีอิทธิพล นักธุรกิจ มาทำหน้าที่ และควรให้ประชาชนให้ความเห็นการทำงานของตำรวจ รวมถึงการแต่งตั้งผู้กำกับในพื้นที่ ดูว่าเกี่ยวข้องกับใคร มีเส้นทางการเงินอย่างไร จากความช่วยเหลือของใครที่เป็นตัวละครทุกระดับ ไม่ให้เกิดคำถามตามมาว่าการแต่งตั้งวัดจากอะไร จนทำให้ตำรวจต้องวิ่งเข้าหาผู้บังคับบัญชาที่สามารถให้คุณให้โทษได้ เพื่อให้ได้ตำแหน่ง”
3
นอกจากนี้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตำรวจ ต้องลดภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ โดยตัดโอน หน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องไปยังหน่วยอื่น แก้ไขกฎหมายให้ตำรวจมุ่งเน้นเฉพาะงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาอาชญากรรม
แต่งตั้งโยกย้าย ต้องผ่านประเมิน ไม่มีระบบตั๋ว โควตา
ส่วนการแต่งตั้งโยกย้าย ต้องมีการประเมินที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยผู้บังคับบัญชา ตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ และองค์ความรู้ พร้อมกับมีระบบการฝึกอบรมให้ทันสถานการณ์โลก เพื่อความเป็นมืออาชีพ
“ระบบการโยกย้ายตำรวจ มีผลอย่างมากต่อการดูแลทุกข์สุขของประชาชน หากเป็นอย่างปัจจุบัน จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของตำรวจ ในการแก้ปัญหาอาชญากรรม หากไม่ได้แก้ไขยังคงมีระบบตั๋ว ระบบโควตา ปัญหาจะตกอยู่ที่ประชาชน ควรมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนคิดจากคะแนนประเมิน ทั้งในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และผ่านการประเมินสุขภาพจิต และวุฒิภาวะทางอารมณ์”
รวมถึงเงินเดือน สวัสดิการ ต้องมีการปรับค่าตอบแทนให้เทียบเคียงหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม โดยมีหลักเกณฑ์ประเมินที่ชัดเจน จากการแก้กฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องกับฐานเงินเดือนตำรวจ และปรับปรุงสวัสดิการต่างๆ
ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ เน้นให้คำนึงถึงศักดิ์ศรีและเกียรติยศของการเป็นตำรวจ ใช้หลักสังคมธรรมาธิปไตย และหลักธรรมะ โดยการอบรมตำรวจทุกระดับ และเน้นระบบการตรวจสอบในทุกระดับอย่างจริงจัง
เช่น การติดกล้องวงจรปิด เชื่อมไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ตำรวจทำงานอย่างโปร่งใส มีความระมัดระวังมากขึ้น เป็นมืออาชีพในการทำงานใกล้ชิดกับประชาชน.
โฆษณา