6 ก.ย. 2021 เวลา 02:00 • ข่าว
บราซิเลีย การทูตในประเทศที่ใหญ่เท่าทวีป
“คุยกับทูต” ทาง Podcast ของกระทรวงการต่างประเทศวันนี้จะพาไปท่องเรื่องราวของท่านทูตนิธิวดี มานิตกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย ประเทศบราซิล พี่ใหญ่จากฝั่งละตินอเมริกา (https://readthecloud.co/podcast/thai-ambassador-brisilia/) ...
ท่านทูตเปิดรายการด้วยการเปรียบเทียบให้เราได้เห็นภาพความใหญ่โตของบราซิลในทันที ใหญ่ถึงขนาดที่มีการแบ่งเป็น ๔ โซนเวลา ทวีปยุโรปทั้งทวีปมีขนาดเทียบเท่าเพียงครึ่งหนึ่งของบราซิลเท่านั้น หรือถ้าให้เห็นภาพแบบลึกลงไปอีก บราซิลมีพื้นที่กว่า ๘ ล้าน ตร.กม. ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ ๕ แสน ตร.กม. หรือเท่ากับรัฐบาเฮีย (รัฐหนึ่งของบราซิล) เท่านั้น สมกับการเป็นพี่ใหญ่แห่งฝั่งละตินจริงแท้ แถมไทยกับบราซิล ยังห่างไกลขนาดต้องใช้เวลาเดินทางด้วยเครื่องบินถึงสองวันเต็ม ๆ
ในส่วนภาพจำเกี่ยวกับบราซิล ถ้าถามหลาย ๆ คนว่า หากเอ่ยถึงบราซิลจะนึกถึงอะไร? แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นกาแฟ ฟุตบอล ความสนุกสนาน และงานคานิวัล แต่ในแง่การทูต บราซิลมีแนวทางการทำงานที่เป็นแบบเป็นแผน ไม่หวือหวา และด้วยความที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ บราซิลจึงมีบทบาทบนเวทีสากลที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม อาทิ กลุ่มเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่สำคัญ เช่น G20 BRICS (การรวมกลุ่มที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล - Brazil รัสเซีย – Russia อินเดีย - India จีน - China และแอฟริกาใต้ - South Africa) และล่าสุด บราซิลได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสมาชิกไม่ถาวรของสหประชาชาติ นับเป็นครั้งที่ ๑๑ ที่บราซิลได้รับเลือกตั้งให้ทำหน้าที่ในกรอบนี้
ทั้งนี้ การต่างประเทศของบราซิลให้ความสำคัญกับหลักการ ๔ ประการ ได้แก่ (๑) การไม่แทรกแซงกิจการซึ่งกันและกัน (๒) การกำหนดสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วยตนเอง (Self-Determination) (๓) การให้ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ และ (๔) การแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในเชิงสันติ ....เป็นบราซิลที่มีความจริงจัง ในภาพที่เราไม่คุ้นชินกันจริง ๆ ค่ะ
เมื่อพูดถึงการดำเนินงานทางการทูต ก็ต้องนึกถึงงานเลี้ยงรับรอง งานเลี้ยงรับรองแบบ New Normal ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ นั้น สามารถพบปะพูดคุย สร้างสีสันตามแบบสไตล์บราซิลได้หรือไม่? ท่านทูตเล่าว่า ในส่วนของงานเลี้ยงรับรองในช่วงการระบาดใช้วิธีการฉลองโอกาสต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสามารถสร้างสีสันได้ แต่ขาดการมีส่วนร่วมในแบบช่วงสถานการณ์ปกติ เช่น งานวันอาเซียนเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ของปีที่แล้ว ...
ส่วนวันชาติไทยในเดือนธันวาคมปีก่อน ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศของบราซิลขณะนั้นยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร พวกเราจึงสามารถจัดงานเลี้ยงแบบให้มีผู้คนมาร่วมงานได้ และเป็นการจัดงานเลี้ยงในที่แจ้ง โดยยังคงรักษามาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งการสวมหน้ากาก การรักษาระยะห่าง และอาหารในรูปแบบใส่กล่องกลับบ้าน ในขณะที่เครื่องดื่มก็แจกจ่ายเป็นแบบขวดหรือแบบกระป๋องแยกแต่ละคนแทน เพื่อลดโอกาสการสัมผัสและการแพร่เชื้อ
ในส่วนของการแสดง การหาทีมนักแสดงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงได้จัดงานแสดงเป็นรูปแบบการรำวง เพราะรำวงไทยเป็นการฟ้อนรำรอบวงที่ต้องมีระยะห่างกัน เมื่อนึกภาพตามที่ท่านทูตเล่ามา ภาพรำวงก็ลอยเด่นชัดมาในความคิด...จริงด้วย รำวงไทย ต้องมีเว้นระยะห่าง ไม่ได้รำฟ้อน เดินซ้อนตามเป็นเงา เหมาะสมยุคนิวนอร์มอล ท่านทูตบรรยายว่า บรรยากาศของงานเต็มไปด้วยความสนุกสนาน มีการเผยแพร่ความเป็นไทย สามารถดึงดูดการมีส่วนร่วมแขกในงานได้อย่างดี ที่สำคัญ ยังสามารถรักษามาตรการทางสังคมในห้วงการระบาดของโควิด-๑๙ ได้ด้วย แหม...ท่านทูตช่างเก่งในการสร้างสรรค์หาโอกาสดี ๆ เผยแพร่วัฒนธรรมไทยที่โดดเด่นได้ แม้ในสถานการณ์โรคระบาด...
โควิด-๑๙ ไม่ได้ทำให้สีสันของการดำเนินงานทางการทูตลดลง แถมยังพ่วงข้อดีที่สำคัญมาก มาอีกข้อ คือ ทำให้สถานทูตไทยสามารถสำรวจทราบจำนวนคนไทยที่แท้จริงในบราซิล เนื่องจากมีการติดต่อผ่านสถานทูตในการทำเรื่องกลับประเทศไทย โดยปัจจุบันมีคนไทยในบราซิลประมาณ ๒๐๐ คน และใน ๒๐๐ คนนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ไทยจากหลายหน่วยงานครึ่งหนึ่ง จำนวนคนไทยในบราซิลจึงถือว่าน้อยมาก
ท่านทูตยังพบว่า จริง ๆ แล้ว คนไทยนอกจากจะมีการตั้งรกรากเปิดร้านอาหารไทยแล้ว ยังมีสายงานวิศวกรขุดเจาะน้ำมัน รวมถึงธุรกิจไทยอีกหลายแห่งกระจายอยู่ในหลายรัฐของบราซิล เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ กิจการโรงแรม ธุรกิจฟาร์มกุ้ง รวมถึงโรงงานผลิตพลาสติกที่เป็นหนึ่งในกิจการของคนไทยและในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้อีกเช่นกัน การค้าระหว่างไทยและบราซิลกลับสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ไทยนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิล นอกจากนี้ ยังนำเข้าสินค้าประเภท เหล็ก และกำลังเปิดตลาดเนื้อวัวด้วย ส่วนภาคการส่งออก ไทยส่งออกเครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ไปยังบราซิล....โควิด-๑๙ ไม่ใช่เรื่องแย่เสียทีเดียวสำหรับไทยกับบราซิล
หากเจาะลึกลงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน ท่านทูตเห็นว่า เป็นความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความผูกพัน เพราะนิสัยใจคอและความชอบของคนไทยกับคนบราซิลคล้ายกันมาก คนไทยรู้จักบราซิลจากฟุตบอล กาแฟ และการเต้นแซมบ้า ส่วนคนบราซิลรู้จักประเทศไทยจากสถานที่ท่องเที่ยว อาหารไทย และมวยไทย ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ ท่านทูตได้ให้ข้อสังเกตว่า ประเทศไทยกับบราซิลมีความคล้ายกัน เพราะมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ จึงคล้ายคลึงในแง่การเปิดรับความแตกต่าง และมีความเป็นมิตรสูง
หากต้องให้นิยามความสัมพันธ์ไทยกับบราซิลผ่าน ๓ เรื่อง ท่านทูตเลือก “ฟุตบอล” ซึ่งไม่เพียงเป็นเรื่องคุ้นเคยสำหรับคนไทยเท่านั้น เพราะในระยะหลัง ประเทศไทยก็เป็นที่รู้จักในบราซิลมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะการดำเนินงานผ่านความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกับสโมสรฟุตบอลซาโตสของบราซิล ซึ่งทำให้คำว่า ‘Amazing Thailand’ ปรากฏอยู่บนเสื้อนักกีฬาออกสู่สายตาชาวโลก “กาแฟ” ไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิตกาแฟ หรือการตั้งชื่อร้านกาแฟยอดนิยมในไทยอย่างร้าน Amazon ต่างแสดงให้เห็นว่าไทยมีความคุ้นเคยอย่างดีกับกาแฟบราซิล และสุดท้าย “ขนมไทย” เช่น หม้อแกง ทองหยอด ฝอยทอง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส ในขณะที่ขนมของบราซิลก็ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสเช่นกัน ทำให้ไทยและบราซิลเหมือนมีสูตรครัวร่วมกัน แม้ชื่อเรียกต่างกัน แต่หน้าตาและรสชาติยังคงเหมือนกัน
OMG! ๔๐ นาที ผ่านไปไวเหมือนโกหก ยังอยากจะรู้จักกับบราซิลมากขึ้นอีกเรื่อย ๆ คงมีอีกมากมายที่เราไม่เคยรู้มาก่อน และดิฉันคิดว่าท่านผู้อ่านก็คงได้รับความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนเช่นกัน ทำให้ได้รู้จักกับบราซิลมากขึ้น จากประเทศที่ใหญ่มากและอยู่ห่างไกลออกไปอย่างบราซิล ขยับเข้ามาใกล้เรามากขึ้น ช่วยเปิดภาพจำของบราซิลในหลายแง่มุม และทำให้รู้สึกถึงความผูกพันผ่านความเหมือนของไทยกับบราซิล หากมีโอกาส ดิฉันสัญญาว่าจะกลับมาเล่าเรื่องบราซิลให้ทุกท่านอีกแน่นอนค่ะ!
ถ่ายทอดโดยนางสาวพิมพ์นารา กมลสินมหัต
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา