28 ส.ค. 2021 เวลา 16:44 • ข่าว
ประวัติศาสตร์เป็นงานเขียนที่ต้องอ่านโดยมีฐานคิดเบื้องต้นว่าเป็นการเขียนโดยมีมุมมองหรือวัตถุประสงค์ในการเขียนเสมอ ไม่มีประวัติศาสตร์เล่มใดไม่ว่าจะเขียนโดยใครหรือของชนชาติใดที่เขียนโดยไม่มีอคติ ไม่มีความลำเอียง ในสงครามเดียวกันระหว่างสองฝ่ายเราจะพบเสมอว่าการเขียนบันทึกเรื่องราวเดียวกันของสองฝ่ายแตกต่างกันเสมอ
การอ่านประวัติศาสตร์ทุกเล่มจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ ตีความ ต้องรู้ว่าใครเขียน เข้าข้างฝ่ายไหนเกลียดฝ่ายไหน ประวัติศาสตร์โดยทั่วไปมีตั้งแต่เขียนแบบนวนิยายสร้างเรื่องขึ้นมาล้วน ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ไปจนถึงเท็จปนจริง จริงปนเท็จ หรือเขียนเอาตามการรับรู้ของคนเขียนซึ่งก็ไม่แน่ว่ารับรู้มาจริงจังแค่ไหน
โดยทั่วไปประวัติศาสตร์มักจะเขียนแบบเทพปกรณัม ยกย่องเชิดชูเกียรติวีรบุรุษ ประนามทรราชหรือฝ่ายศัตรู ในอีกทางหนึ่งประวัติศาสตร์มักจะเขียนขึ้นโดยวัตถุประสงค์ของการสนับสนุนระบบการเมืองการปกครองในปัจจุบัน ที่เรามักเรียกว่าประวัติศาสตร์ชาติหรือประวัติศาสตร์สร้างชาติ สร้างตัวตนของรัฐในปัจจุบัน
ถ้าจะเอาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุดจึงต้องอ่านอย่างตีความเสมอ นอกจากนั้นต้องคิดวิเคราะห์กับหลักฐานทางโบราณคดีอื่น ๆ ถ้าเรื่องเดียวกันเกี่ยวข้องหลายฝ่ายต้องอ่านเปรียบเทียบจากทุกฝ่าย
โดยสรุปเมื่อเราอ่านประวัติศาสตร์เล่มใดเราจะยังเชื่อไม่ได้ว่ามันจะเป็นแบบนั้นทั้งหมด แต่มันจะให้ภาพลาง ๆ ของเหตุการณ์เท่านั้น นอกจากนั้นประวัติศาสตร์สมัยใหม่มักจะมีการค้นพบหลักฐานต่าง ๆ เพิ่มเติมมาหักล้าง มาเสริมเติมแต่งหรือมาอธิบายให้ชัดเจนขึ้นได้เสมอ
การอ่านประวัติศาสตร์ไม่แตกต่างจากการอ่านคัมภีร์ในศาสนาหรือตำนานเทพเจ้าเราไม่ได้หมายความว่ามันมีเรื่องราวจริงแบบนั้นตามตัวอักษรแต่เรารู้ว่านั่นคือคำสอนของศาสนาหรือเรื่องเล่าขานของวีรบุรุษหรือทวยเทพที่เขาสร้างขึ้นมา
โฆษณา