30 ส.ค. 2021 เวลา 05:04 • หนังสือ
ว่าด้วยเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ
1
1.
นานมาแล้วผมเคยเห็นกระทู้หนึ่งใน pantip มีคนตั้งคำถามไว้ว่า "มีเงิน 10 ล้านบาท ถือว่ารวยมั้ย?" มีหลายคนเข้ามาคอมเมนต์กันมากมาย ซึ่งก็ไม่มีใครผิดถูกหรอกครับ แล้วแต่นานาจิตตัง แต่มันทำให้ผมคิดอะไรได้ในบางเรื่อง ซึ่งทั้งหมดที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ถือเป็น คหสต. นะครับ คุณไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย โดยจะเขียนเฉพาะประเด็นเรื่องเงินล้วน ๆ ละเรื่องความสุขด้านอื่น ๆ เอาไว้ในฐานที่เข้าใจ
ภาพถ่ายโดย Alexander Mils จาก Pexels
เรื่องแรก ผมเชื่อว่าเมื่อนึกถึงความร่ำรวย คนส่วนใหญ่จะนึกถึงภาพเงินกองเป็นภูเขา หรือไม่ก็ตัวเลขมหาศาลที่ฝากไว้ในธนาคาร ทั้งที่จริง คนรวยจริง ๆ ไม่ได้มีอะไรแบบนั้น พวกเขารวยที่ดิน อสังหา หุ้น และทรัพย์สินเพิ่มค่าต่าง ๆ ส่วนเงินสดนั้น ด้อยค่าลงเรื่อย ๆ พวกเขาจึงมีเงินสดส่วนหนึ่งไว้เพื่อความคล่องตัว และเพื่อเตรียมลงทุนบ้างเท่านั้นเอง
เรื่องที่สอง ความร่ำรวยไม่ค่อยเกี่ยวจำนวนเงินที่มีอยู่ "นิ่ง ๆ" แต่เกี่ยวกับการ "เคลื่อนไหว" ของกระแสเงิน จำนวนเงินที่นิ่ง ๆ นั้น ถ้าไม่มีเยอะจริง มันจะสร้างความกลัวให้กับผู้ครอบครองที่เห็นเงินกำลังร่อยหรอลงเรื่อย ๆ เพราะยิ่งมีเยอะ เราก็จะยิ่งใช้เยอะ หรือไม่ก็เขียม ไม่กล้าใช้ เพราะกลัวเงินหมด ในขณะที่ถ้ามีกระแสเงินไหลเข้ามาอยู่เป็นประจำ แบบนี้จะทำให้เกิดความมั่นใจว่า เงินออกที่ใช้ไปนั้น จะมีเงินไหลเข้ามาเพิ่มพูนอยู่เสมอ คนร่ำรวยจึงสนุกในการสร้างเครื่องมือผลิตเงินไหลเข้า
เรื่องที่สาม จำนวนเงินนั้นไม่อาจประเมินความร่ำรวยได้อย่างเที่ยงตรง เพราะเอาเข้าจริง คนร่ำรวยไม่รู้ว่าตัวเองมีสินทรัพย์เท่าไหร่ จะรู้ก็ตอนสื่อจัดอันดับความร่ำรวยให้พวกเขา
สรุปก็คือ ผมคิดว่า ความร่ำรวยอยู่ที่ทรัพย์สิน ไม่ใช่แค่เงินสด ความร่ำรวยอยู่ที่กระแสเงินสด ไม่ใช่จำนวนนิ่งๆ และความร่ำรวยไม่อาจประเมินเป็นตัวเลขแบบเป๊ะ ๆ ได้ และอยากจะเพิ่มอีกสักนิดว่า ความร่ำรวยยุคนี้อาจไม่ต้องมีโรงงานใหญ่โต ไม่ต้องมีคนงานมากมาย ไม่ต้องมีหน้าร้านหรู ไม่ต้องมีสำนักงานใหญ่ ๆ เพราะยุคนี้ที่เราขาดคือ "ไอเดีย" ไม่ใช่สินค้า
2
"ไอเดีย" เป็นของแพงมากในยุคที่สินค้าล้นตลาด แย่งกันขายราคาถูก
2.
"การประหยัด" อย่างมากก็ทำให้เราไม่ยากจน แต่มันแทบจะไม่มีทางพาให้เราไปสู่ความร่ำรวยได้เลย
ช้าก่อน...อย่าเพิ่งนึกค้านในใจ ขอผมอธิบายอีกนิดครับ ที่เขียนนั้นผมหมายถึง การประหยัด "เพียงอย่างเดียว" ไม่มีทางทำให้เราร่ำรวยได้ เต็มที่ก็แค่มีกินมีใช้ (แต่การประหยัดยังคงเป็นเรื่องดีกว่าการฟุ่มเฟือยแน่นอน)
สมัยก่อน คำแนะนำให้ประหยัดนั้นอาจจะพอทำให้รวยได้ แต่สมัยนี้ ไม่มีทางเลยครับ ยากมาก แค่ประหยัด อดออม เก็บเงิน แต่ทำให้มันงอกเงยไม่ได้ เงินของเราจะไม่มีทางโตทันเงินเฟ้อ เพราะของแพงขึ้นทุกวัน บ้านหลังที่ผมเคยอยู่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันถ้าไปหาซื้อบ้านใหม่เนื้อที่เท่ากัน ตัวบ้านพอ ๆ กัน อยู่ทำเลเดียวกัน ราคาจะแพงกว่าบ้านของผมถึง 3 เท่า
สิ่งที่ผมอยากจะสื่อก็คือ หนึ่งชั่วโมงที่เราคิดหาวิธีประหยัด กับหนึ่งชั่วโมงที่เราคิดหาวิธีสร้างรายได้ ผมคิดว่าอย่างหลังคุ้มค่ากว่า เพราะการประหยัดนั้นเต็มที่สุด ๆ ที่เราจะทำได้ก็คือ ลดค่าใช้จ่ายทั้งหมดจนเหลือ 0 บาท เราประหยัดไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่การคิดหาวิธีสร้างรายได้ ไม่ว่าจะทำงานเพิ่ม ทำธุรกิจส่วนตัว หรือลงทุน ทั้งหมดนี้ "ไม่มีเพดาน" จำกัดว่าจะไปได้สุดแค่ไหน
เพราะฉะนั้นในความเห็นของผม จงใช้เวลาส่วนน้อยไปกับการหาวิธีประหยัด (แต่ยังต้องประหยัดนะครับ มันคือวินัย) แต่ให้ใช้เวลาส่วนมากไปกับการหารายได้เพิ่ม (แต่ต้องจัดเวลาคิดนะครับ ไม่ใช่คิดทั้งวันทั้งคืนจนฟุ้งซ่าน)
ข้อเสียอีกประการของประหยัดแบบ "สุดโต่ง" ก็คือ มันสร้างนิสัย "ขาดแคลน" ให้จิตใจเรา มันจะมอบความรู้สึกให้เราว่า "ตัวฉันนั้นไม่คู่ควรกับสิ่งนี้" และมันจะทำให้เราคิดเสมอว่า "เงินทองนั้นหายาก" เราจะรู้สึกว่าไอ้นู่นก็แพง ไอ้นั่นก็จ่ายไม่ไหว ไอ้นี่ก็ต้องประหยัด เงินไม่ได้งอกมาจากต้นไม้นะเว้ย สมองมันก็เลยปิด คิดหารายได้เพิ่มไม่ออก ค้นหาช่องทางลงทุนใหม่ ๆ ไม่เจอ เพราะสมองคิดได้ทีละเรื่อง
1
"การประหยัด" อย่างมากก็ทำให้เราไม่ยากจน แต่มันแทบจะไม่มีทางพาให้เราไปสู่ความร่ำรวยได้เลย เราต้องรู้จัก "เพิ่มรายได้" และ "ลงทุน" ให้เป็น
1
ยุคนี้ของแพง ยุคหน้าแพงกว่านี้อีก ประหยัดเก่งเป็นเรื่องดีแล้ว แต่อย่าลืมเก่งเรื่องสร้างรายได้และการลงทุนด้วย
3.
ที่คนหนึ่งคนยังคงยากจน เงินไม่พอใช้ ไม่ใช่เป็นเพราะครอบครัวเขายากจน ไม่ใช่เป็นเพราะเขาเป็นคนไม่เก่ง ไม่ใช่เป็นเพราะเขาขาดโอกาส ...แต่เป็นเพราะเขาไม่ได้อยากร่ำรวย "อย่างแท้จริง"
คำว่า "อย่างแท้จริง" คือสิ่งที่แยก "คนจริง" กับ "นักหาข้ออ้าง" ออกจากกัน มันไม่ใช่อยากร่ำรวยแต่ปาก แต่คือการยอมลำบากลงมือทำ มันไม่ใช่อยากร่ำรวยแค่วันสองวัน แต่คือความฝันที่ต้องใช้ความพยายาม มันไม่ใช่อยากร่ำรวยเพราะถูกหวย แต่คือการตระหนักว่าฉันจะรวยด้วยการสร้างเอง มันไม่ใช่อยากร่ำรวยเพราะฝาชาเขียว แต่คือการตระหนักว่าคือฉันคนเดียวที่รับผิดชอบชีวิตเอง ...และมันไม่ใช่อยากร่ำรวยแล้วยังทำเหมือนเดิม แต่คือการเพิ่มเติมทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำ
เมื่อมีความต้องการ "อย่างแท้จริง" ทุกสิ่งจะเปิดทางให้ ทุกย่างที่ก้าวเหยียบ ถนนจะงอกมารองรับเท้าของคนกล้า ส่วนคนที่ไม่ได้ต้องการ "อย่างแท้จริง" ก็ได้แต่ยืนหาข้ออ้างอยู่กับที่ ว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่เขาไม่สามารถร่ำรวยได้
3
มีคนมากมายที่ "ยกฐานะ" ตัวเองขึ้นมาได้ เราไม่ใช่คนแรกที่เดินบนถนนสายนี้ อยู่ที่จะเอาจริงหรือเปล่าเท่านั้นเอง
1
ขอแค่มีความต้องการอย่างแท้จริง แล้วประตูทุกบานจะเปิดให้เราเอง
1
4.
หนึ่งในเรื่องแปลกของชีวิตก็คือ ถ้ามีใครสักคนพูดเรื่อง "ความร่ำรวย" ขึ้นมา จะต้องมีใครบางคนพูดตักเตือนไว้ว่า "เฮ้ย! ระวังศีลธรรมด้วย คนมีเงินมันชอบเอารัดเอาเปรียบ ขี้โกง" คล้ายความร่ำรวยเป็นสิ่งที่ต้องเขียนกำกับไว้เสมอว่า "โปรดระวัง ไม่ควรเลียนแบบ ผู้ปกครองควรแนะนำ อย่าลองสิ่งนี้ที่บ้านคุณ!"
ผมอาจจะโชคดีก็ได้ครับ เพราะลองนึก ๆ ดูแล้ว ชีวิตนี้นึกไม่ออกว่าผมเคยถูกคนรวยขาดศีลธรรม เอารัดเอาเปรียบตอนไหน (หมายถึงแบบเจอกับตัวเองตรง ๆ นะครับ) ที่ผ่านมา ผมเจอแต่คนรวยจิตใจดี อ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติลูกน้อง คิดว่าตัวเองรู้น้อย หาความรู้ใส่ตัวเสมอ เข้าวัด เข้าโบสถ์ ทำบุญแบบไม่ออกสื่อ ออกทุนให้คนมีไอเดียแต่ไม่มีเงิน ช่วยเหลือสังคม (แล้วพยายามบอกว่าไม่ต้องออกชื่อนะ ไม่อยากเป็นข่าว)
แน่นอน ผมไม่ได้บอกว่าโลกนี้ไม่มีคนรวยที่เป็นคนไม่ดี มีแน่นอนครับคนแบบนั้น เพียงแต่สงสัยว่า เมื่อใครก็ตามพูดถึงเรื่องความร่ำรวย ทำไมเราจึงต้องขึ้นคำเตือนเรื่องศีลธรรม ผมคิดว่าบางทีอาจเป็นตะกอนความคิดของยุคอุตสาหกรรม หรือไม่ก็เพลงเพื่อชีวิต วรรณกรรมเพื่อชีวิตทั้งหลายที่ต่างประโคมภาพของนายทุนหมูตะกละ เอาเลือดเนื้อคนงานยัดเข้าโรงงาน เพื่อเปลี่ยนเป็นธนบัตรให้นั่งนับกันเพลิน
2
โอเค มันอาจมีอยู่จริงครับคนรวยแบบนั้น แต่มันก็เป็น Stereotype หรือการเหมารวมด้านเดียว เพราะการเขียนนิยายต้องให้ตัวละครมีความชัดเจน ส่วนชีวิตจริงมันไม่มี Stereotype ขนาดนั้น ดี งาม จริง ลวง รวย จน มันปนเปกันไป ไม่มีใครขาวบริสุทธิ์หรือดำสนิท
ผมนึกไปถึงกฎแรงดึงดูดที่เราชอบพูดกันบ่อย ๆ ในยุคนี้ ผมอาจจะรู้สึกดีกับคนร่ำรวย ก็เลยเจอแต่คนร่ำรวยที่เป็นคนดี ในขณะที่คนที่รู้สึกไม่ดีกับคนร่ำรวย ก็จะเจอแต่คนร่ำรวยที่ไม่ดี (หรือต่อให้ผมเจอคนรวยที่ไม่ดี ผมก็จะคิดว่าไอ้หมอนี่มันไม่ดี เพราะมันเป็นคนไม่ดีอยู่แล้ว ไม่ใช่ไม่ดี เพราะมันเป็นคนรวย)
1
ผมคิดว่าแทนที่จะเกลียดคนร่ำรวย หรือระแวงระวังว่าคนร่ำรวยจะเป็นคนไม่ดี คำถามก็คือ ทำไมเราไม่สร้างตัวเราเองให้เป็นคนที่ "ทั้งรวยและเป็นคนดี" ล่ะครับ?
แบบนี้โลกจะน่าอยู่กว่าเดิมเยอะ เพราะเต็มไปด้วยคนมีจิตใจดีและมีกำลังทรัพย์พร้อมช่วยเหลือผู้อื่น
1
5.
จงยินดีปรีดากับคนที่ได้เงินจากเราไป ไม่ว่าเราจะซื้อสินค้า จ่ายค่าบริการ หรือมอบเงินให้ด้วยใจเมตตา จงยินดีปรีดาที่เขาได้เงินของเราไป เพราะเราก็ได้รับสินค้าหรือบริการ หรือไม่ก็ได้รับความสุขใจ ส่วนเขาอีกฝ่ายก็ได้เงินของเราไปเลี้ยงดูชีวิต จงยินดีปรีดาที่ผู้อื่นร่ำรวยด้วยความสุจริต แม้เราจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความร่ำรวยของเขาเลยก็ตาม
1
จงยินดีปรีดาที่ผู้อื่นร่ำรวยด้วยความสุจริต แล้วความร่ำรวยของเขา จะสะท้อนกลับมาหาเรา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การบ่นเสียดายเงินที่จ่ายไปแล้ว มีแต่จะทำให้เพิ่มพูนความรู้สึกขาดแคลน สินค้าหรือบริการที่ได้รับก็จะใช้การได้ไม่ดี จิตใจก็จะไม่สงบอย่างแท้จริง การอิจฉาริษยาผู้อื่นที่ร่ำรวยกว่า มีแต่จะทำให้จิตใจร้อนรุ่ม การเสียดสี หมั่นไส้คนที่มีมากกว่าเรา มีแต่จะทำให้เรามีน้อยลง
จงยินดีปรีดากับคนที่ได้เงินจากเราไป จงยินดีปรีดาที่ผู้อื่นร่ำรวยด้วยความสุจริต แล้ววันหนึ่ง จะมีคนยินดีปรีดาที่ได้จ่ายเงินให้กับเรา
แล้ววันหนึ่ง จะมีคนยินดีปรีดาที่เราร่ำรวยด้วยความสุจริตเช่นกัน.
โฆษณา