30 ส.ค. 2021 เวลา 07:40 • หนังสือ
ซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกงต้องทำยังไง?
ในยุคปัจจุบันที่การขายของ ซื้อของออนไลน์ สามารถกระทำได้อย่างง่ายดาย และค่อนข้างที่จะอิสระเสรี ผ่านการให้บริการด้านการขนส่งที่มีอยู่มากมายแทนการที่ซื้อขาย ส่งมอบสินค้ากันต่อหน้า
ย่อมมีมิจฉาชีพ หรือกลุ่มคนที่จะทำการหาผลประโยชน์ หรือทำผิดกฏหมายผ่านช่องว่างจากกระบวนการขนส่ง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
พนักงานส่งสินค้า รวมถึงผู้ประกอบการด้านการขนส่งทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น
มิใช่ผู้ขายหรือเป็นเจ้าของสินค้าที่จัดส่งนั้นๆ หากแต่เป็นเพียง “ผู้รับจ้างนำส่งพัสดุ” แม้จะเป็นการจัดส่งในลักษณะที่มีการเก็บค่าพัสดุปลายทาง หรือที่เรียกว่าเก็บค่า COD ก็ตาม ทางผู้ให้บริการได้นำยอดเงิน COD ที่จักต้องเรียกเก็บจากผู้รับปลายทางเข้าใว้ในระบบการจัดส่งใว้ก่อนแล้ว ตั้งแต่การรับพัสดุครั้งแรก
จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานขนส่งโดยตรงที่ต้องรับผิดชอบในการจัดเก็บค่าพัสดุจากผู้รับปลายทาง และนำส่งยอดเรียกเก็บทั้งหมดเข้าบริษัทฯ ให้ถูกต้องตรงตามยอดเงินในระบบ
กรณีที่ ผู้เสียหาย ต้องการเงินค่าสินค้าคืนจากพนักงานขนส่งในทันทีนั้น จึงไม่สามารถกระทำได้ทันที นอกจากจะผิดขั้นตอนทางกฏหมายแล้ว อาจยังส่งผลให้พนักงานคนดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนที่ต้องรับผิดชอบค่าพัสดุทั้งๆที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือมีความผิดทางวินัยฐานการทำงานผิดขั้นตอนอีกด้วย
[ข้อกฎหมายพื้นฐานที่ควรรู้]
พนักงานขนส่ง บริษัทขนส่ง หรือผู้ให้บริการด้านการขนส่ง มิได้อยู่ในข้อพิพาท ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย (เจ้าของพัสดุผู้ส่งกับผู้รับ) พัสดุที่ทำการรับเข้าระบบจัดส่ง ถือเป็น “ทรัพย์สินที่อยู่ในการครอบครองชั่วคราว” ของบริษัทขนส่ง ไม่สามารถอนุญาตให้มีการเปิดตรวจสอบได้ก่อนที่จะทำการส่งมอบ หรือก่อนที่จะมีการเซนต์รับในระบบเป็นที่เรียบร้อย เว้นแต่จะมีการร้องขอตรวจสอบจากหน่วยงานราชการ และต้องมีเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานรัฐรับรองในการตรวจสอบ
สัญญาจะซื้อจะขายนั้น ได้กระทำการสำเร็จไปแล้วตั้งแต่มีการตกลงซื้อขายไม่ว่าในช่องทางใด (ข้อความไลน์ แชทเฟสบุ๊ค โทรศัพท์ หรือข้อความต่างๆ) และไม่สำคัญว่าจะได้ทำการชำระเงินไปแล้วหรือไม่ และถือเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ตามขั้นตอนทางกฏหมาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการด้านการขนส่ง หรือพนักงานขนส่งแต่อย่างใด ฉะนั้น เมื่อลูกค้าถูกหลอกและตกเป็น "ผู้เสียหาย" สามารถแจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพได้ตามขั้นตอนของกฏหมาย โดยสามารถแจ้งความได้ทุกสถานีตำรวจท้องที่ ที่ท่านพักอาศัยอยู่ทันที แต่ต้องไม่เกิน 3 เดือน นับตั้งแต่ทราบเรื่องหรือตั้งแต่รู้ตัวผู้กระทำผิด (แม้ไม่รู้ก็สามารถดำเนินการแจ้งความได้โดยการแนบเอกสารหรือหลักฐานที่จะแนะนำในขั้นตอนต่อไป) โดยสามารถขอคำแนะนำจากผู้ให้บริการขนส่งนั้นๆได้โดยตรงตลอดเวลา
[กลโกงและลักษณะของความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น]
ลักษณะที่ 1.
การตกเป็นผู้รับพัสดุในการลักลอบส่งของผิดกฏหมาย
-ให้ทำการถ่ายภาพกล่องพัสดุ, ฉลากลาเบลพัสดุ ให้ชัดเจนเก็บใว้เป็นหลักฐาน
-ให้ดำเนินการโทรแจ้งตำรวจเข้ามาทำการตรวจสอบ ตรวจยึด เพื่อนำไปขยายผลทันที
-ต้องทำการแจ้งความเพื่อให้ปากคำลงบันทึกประจำวันใว้โดยละเอียด
-เก็บรักษาหรือทำการบันทึกหลักฐานการแจ้งความใว้ให้ดี
ลักษณะที่ 2.
การถูกหลอกขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพไม่ได้มาตรฐานไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ( มียอดเรียกเก็บ COD หรือชำระค่าสินค้าปลายทาง)
-ให้ทำการรวบรวมหลักฐานการสั่งซื้อ, ข้อมูลหน้าเพจ, ข้อมูลร้านค้า รายละเอียดการสนทนา เจรจาต่างให้ครบถ้วน(เอกสารหลักฐานควรปรากฎ ที่อยู่ หรือ URL ของพ่อค้า,แม่ค้า โดยทำการถ่ายภาพ หรือแคปเจอร์ผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ )
-ให้ทำการถ่ายภาพลาเบลพัสดุให้เห็นหมายเลขพัสดุชัดเจน รวมถึงถ่ายภาพสินค้า รวบรวมเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแจ้งความ
-นำหลักฐานไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่ โดยต้องแจ้งให้ระบุชัดเจนว่า “แจ้งความเพื่อดำเนินคดี”
1
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกเอกสารบันทึกประจำวันทางคดีให้กับท่าน โดยในเอกสารนั้นต้องระบุชัดเจนว่า “ให้ดำเนินการระงับหรืออายัติค่าพัสดุตามหมายเลข --------- ใว้” หรือ “ขอให้ทำการตรวจสอบข้อมูลผู้ส่งที่ต้องสงสัยว่ากระทำการฉ้อโกงแล้วส่งข้อมูลกลับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจร้อยเวรเจ้าของคดีที่รับแจ้งเหตุ” ซึ่งท่านสามารถนำเอกสารดังกล่าวนี้ ส่งเรื่องไปยังบริษัทฯ ที่ให้บริการขนส่งพัสดุ ให้ให้ประสานงานด้านข้อมูลทางคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป ซึ่งในขั้นตอนการส่งข้อมูลทางคดีนั่น อาจเป็นไปได้ทั้งการได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือการรับเรื่องจากผู้เสียหายโดยตรง ซึ่งทางบริษัทฯ เมื่อได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว จักดำเนินการตรวจสอบและส่งข้อมูลผู้กระทำผิดกลับไปยังผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร้องขอ ต่อไป
ลักษณะที่ 3.
การถูกหลอกขายโดยไม่นำส่งสินค้า (กรณีต้องโอนเงินค่าสินค้าไปก่อน)
- ให้ทำการรวบรวมหลักฐานการสั่งซื้อ, ข้อมูลหน้าเพจ, ข้อมูลร้านค้า รายละเอียดการสนทนา เจรจา หลักฐานการโอนเงิน หมายเลขบัญชี, ชื่อบัญชีที่ได้ทำการโอนเงินให้ครบถ้วน( เอกสารหลักฐานควรปรากฎ ที่อยู่ หรือ URL ของพ่อค้า-แม่ค้า โดยทำการถ่ายภาพ หรือแคปเจอร์ผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ )
-ให้ทำการถ่ายภาพลาเบลพัสดุให้เห็นหมายเลขพัสดุชัดเจน รวมถึงถ่ายภาพสินค้า รวบรวมเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแจ้งความ
-นำหลักฐานไปแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่ โดยต้องแจ้งให้ระบุชัดเจนว่า “แจ้งความเพื่อดำเนินคดี”
1
หลักจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกเอกสารบันทึกประจำวันทางคดีให้กับท่าน โดยในเอกสารนั้นต้องระบุชัดเจนว่า “ให้ดำเนินอายัติบัญชีหมายเลข -ดังกล่าวใว้” หรือ ซึ่งท่านสามารถนำเอกสารดังกล่าวนี้ ไปติดต่อยังธนาคารที่ได้ทำการโอนเงินไป(ทุกสาขา) เพื่อแจ้งระงับบัญชี ซึ่งในขั้นตอนการส่งข้อมูลทางคดีนั่น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการประสานกับทางบริษัทฯ โดยตรงเพื่อขอตรวจสอบข้อมูล เมื่อทางบริษัทฯขนส่งได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว จักดำเนินการตรวจสอบและส่งข้อมูลผู้กระทำผิดกลับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร้องขอ ต่อไป
ลักษณะที่ 4.
การถูกแอบอ้างข้อมูลเพื่อส่งสินค้าที่ไม่ได้มีการสั่งซื้อ ( มียอดเรียกเก็บ COD หรือชำระค่าสินค้าปลายทาง)
-ให้ทำการตรวจสอบข้อมูลการสั่งซื้อของท่าน ว่าได้ทำการสั่งซื้อสิ่งใดไปหรือไม่ หากไม่แน่ใจให้แจ้งปฏิเสธการรับพัสดุให้ชัดเจน
-หากตรวจสอบไม่ได้ ตรวจสอบไม่ทัน หรือได้ทำการรับพัสดุ และจ่ายเงินค่า COD ไปแล้วนั้น ให้ย้อนกลับไปดำเนินการตาม ความเสียหายลักษณะ ที่ 2 ทุกขั้นตอน
ในธุรกิจขนส่ง และการทำธุรกรรมการซื้อ การขายต่างๆนั้น มักเกี่ยวเนื่องกับข้อกฏหมายหลายฉบับ รวมถึงกฏหมายข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะถูกนำมาบังคับใช้ด้วย อย่างไรก็ตามข้อกฏหมายต่างๆเหล่านั้น ถูกเขียนใว้เพื่อปกป้อง ป้องกัน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม แต่ต้องยอมรับว่า การทำในสิ่งที่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฏหมายนั้นอาจต้องใช้เวลา ทางผู้เขียน จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คู่มือฉบับนี้ อาจมีประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องตกเป็นผู้เสียหาย หรือเป็นประโยชน์กับพนักงานขนส่ง ผู้ประกอบกิจการขนส่ง ในการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกค้าให้มีความเข้าใจเบื้องต้นในการดำเนินการขั้นตอนตามกฏหมายได้บ้าง ไม่มากก็น้อย
Ch. Chakri
โฆษณา