5 ก.ย. 2021 เวลา 06:03 • ข่าวรอบโลก
วิเคราะห์เบื้องลึกการเร่งตั้งทูตจีนประจำไทย หลังว่างไปเกือบ 2 ปี
เมื่อสหรัฐฯ รุกแรง ไทยรับศึกหนักคานอิทธิพลมหาอำนาจ
หลายคนอาจไม่รู้ว่า ประเทศไทยไม่มีเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการมาเกือบ 2 ปี จนมีการคาดเดาไปต่างๆ นาๆ ว่า จีนเริ่มเมินไทย ไม่สนใจไทย แม้แต่ในทางการทูตที่ไม่ควรเว้นว่างตำแหน่งสำคัญไว้นานขนาดนี้
แต่การขยับทาทีที่ชัดเจนของมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐฯ ที่ประกาศลงทุนสร้างสถานกงสุลฯ แห่งใหม่ที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับการสร้างอาคารสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงเทพฯ หลังใหม่ที่ใหญ่โต และใช้งบประมาณมหาศาลจนน่าตกใจนั้น กลายเป็นการเข้ามาลูบหน้าปะจมูกจีนอย่างเต็มตัว จนทำให้จีนต้องดิ้นอย่างรวดเร็วโดยการจัดส่งเอกอัครราชทูตคนใหม่เข้ามาประจำการอย่างเร่งด่วน
1
สื่อต่างประเทศอย่างเว็บไซต์ The Diplomat ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ถึงสถานการณ์เกมอำนาจของ 2 มหาอำนาจโลก ที่มีไทยเป็นเวทีสำคัญในการเข้ามามีอิทธิพลที่ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายถึงทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทะเลจีนใต้ ที่กำลังอยู่ในสภาวะคลุมเครือต่อความขัดแย้งในการแย่งชิงการแผ่ขยายอำนาจบนข้อพิพาทระหว่างประเทศที่รายล้อมอยู่ ซึ่งไทยเป็นเหมือนกับ ‘กันชน’ และ ‘สมรภูมิ’ ของการแสดงอำนาจของทั้งสองยักษ์ในเวลานี้
จากบทความของนักเขียนอิสระที่เผยแพร่ผ่าน ‘The Diplomat’ วิเคราะห์มุมมองว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเทพฯ ได้แจ้งข่าวถึงการมาของเอกอัครราชทูตจีนคนใหม่อย่างเป็นทางการคือ ‘นายหาน จื้อเฉียง’ วัย 58 ปี
เมื่อมองแวบแรก นี่ดูเหมือนเป็นข่าวที่ธรรมดาๆ ทั่วไปไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จำเป็นต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด เพราะการแต่งตั้งนายหาน ถือเป็นการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตอย่างเป็นทางการประจำประเทศไทย ที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตำแหน่งดังกล่าวว่างเว้นเป็นดังสูญญากาศมานาน
หลังจากการเดินทางออกจากประเทศไทยอย่างกระทันหันของอดีตเอกอัครราชทูต ‘หลู่ย์ เจี้ย’ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 โดยอ้างเหตุผลด้านสุขภาพ ตั้งแต่นั้นมา อุปทูต ‘หยาง ซิน’ ก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นรักษาการเอกอัครราชทูตจีน ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับประเทศไทย และความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยได้คล่อง นายหยาง จึงทำให้จีนยังคงถูกมองเห็นได้ชัดเจน อีกทั้งนายหยางยังได้ไปออกสื่อหลายช่องที่มีการประชาสัมพันธ์ รวมถึงรายการดีเบตยอดนิยมของ Thai PBS และพอดคาสต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วของ ‘สุทธิชัย หยุ่น’
1
ถึงกระนั้น การที่ตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนอย่างเป็นทางการไม่มีผู้นั่งเก้าอี้นี้ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับรอยร้าวในมิตรภาพระหว่างจีนและไทย ซึ่งเบ่งบานตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 ทฤษฎีความเชื่อที่ได้พูดถึงอย่างมากก็คือ การส่งทูตที่ล่าช้านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของปักกิ่งต่อกรุงเทพฯ ในการให้ไฟเขียววอชิงตันสร้างสถานกงสุลสหรัฐฯ แห่งใหม่ในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคเหนือของไทยที่อยู่ใกล้กับชายแดนทางตอนใต้ของจีน
1
การก่อสร้างสถานกงสุลซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 จะมีมูลค่าประมาณ 284 ล้านดอลลาร์ (9,224 ล้านบาท) ผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสนธิ ลิ้มทองกุล และจตุพร พรหมพันธุ์ บุคคลที่มีชื่อเสียงจากฝั่งการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลไทยมองว่า การลงทุนของวอชิงตันมีขนาดใหญ่อย่างน่าสงสัย ดูเหมือนว่าวอชิงตันกำลังพยายามใช้เชียงใหม่เป็นฐานในการสอดแนมดินแดนทางตอนใต้ของจีน ท่ามกลางการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจ
1
รัฐมนตรีต่างประเทศ ‘นายดอน ปรมัตถ์วินัย’ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยทัฟส์ ที่มีแนวคิดตรงกันข้ามเนื่องจากสนับสนุนสหรัฐฯ ต่างจากผู้นำที่มาจากทหารในรัฐบาลไทยซึ่งถูกมองว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนจีน ซึ่งที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากนายดอนได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าจากรัฐมนตรีที่ของอชิงตันที่เตือนไทย "ล่วงหน้าหนึ่งวัน" เกี่ยวกับการลอบสังหารนายพลกาเซ็ม โซไลมานี ของอิหร่านเมื่อปีที่แล้ว
การที่ประเทศไทยถูกมองว่ามีท่าทีกำลังโปรสหรัฐมากขึ้นนั้น ทำให้กระทรวงการต่างประเทศต้องออกแถลงการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาโดยยืนยันว่า แนวทางนโยบายต่างประเทศของไทยคือการรักษาจุดยืนคานอำนาจที่สมดุลระหว่างสหรัฐฯ และจีน
1
เอกอัครราชทูต หาน จื้อเฉียง ได้เดินทางถึงกรุงเทพฯ หลังจากที่มีแถลงการณ์ของบัวแก้วเมื่อ 2 เดือนก่อนหน้า โดยสาส์นแรกที่ส่งออกมาจากเอกอัครราชทูตคนใหม่ได้เน้นย้ำถึงแนวคิดของจีนและไทยว่าเป็น "ครอบครัวเดียวกัน" และให้คำมั่นที่จะให้ "การสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไข" แก่ประเทศไทยในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่
อีกด้านหนึ่ง การมาถึงของนายหานได้สยบข่าวลือเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน - ไทยที่เย็นชาลงได้ แต่ในทางกลับกันการรีบมาถึงของนายหานกำลังสะท้อนถึงแนวคิดที่ว่า ประเทศไทยกำลังหลุดมือจากอิทธิพลอำนาจของจีนและจำเป็นต้องถูกนำกลับคืนมา
ประการแรกคือ การปรากฏตัวของอิทธิพลจากมหาอำนาจตะวันตกกำลังเพิ่มขึ้นในประเทศไทย และบทบาทของพวกเขามีแนวโน้มที่จะเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของจีน สหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของ ‘โจ ไบเดน’ กำลังเพิ่มความพยายามในการทูตด้านวัคซีน สิ่งเหล่านี้กำลังดำเนินไปในทิศทางที่เป็นเกมของวอชิงตัน เพราะโดยทั่วไปแล้วคนไทยมองว่าวัคซีน mRNA ที่ผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งผลิตโดย Pfizer และ Moderna เป็นวัคซีนป้องกันไวรัสที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่สร้างความขุ่นเคืองให้กับจีนมากที่สุดคือ สหรัฐฯ ได้เริ่มใช้คำว่า "แม่น้ำโขงที่เสรีและเปิดกว้าง : Free and open Mekong" ซึ่งเป็นพื้นที่แผ่นดินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนสนับสนุนประเทศอาเซียนรวมทั้งไทย ให้มีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงที่เชื่อมโยงกับเขื่อนของจีนที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำโขง
ไม่ใช่แค่สหรัฐเท่านั้น ประเทศอังกฤษหลังจากที่มีการ Brexit แล้วกำลังเข้ามา "ปักหมุดสู่เอเชีย" ของตัวเอง โดยวันที่ 24 กรกฎาคม ไทยเข้าร่วมซ้อมรบทางทะเลกับสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 แม้ว่าไทยจะยืนกรานว่านี่เป็นการฝึกที่ผ่านไปโดยไม่มีเจตนาทางทหาร แต่จีนก็มีเหตุให้ต้องกังขาเนื่องจากเรือ HMS Richmond ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝึกซ้อมเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือบรรทุกเครื่องบินรบ Carrier Strike Group ของสหราชอาณาจักรในภารกิจที่ดูเหมือนมุ่งเป้าไปที่การตอบโต้ของจีนที่กำลังสร้างอิทธิพลเพิ่มขึ้น
2
นอกจากนี้ การฝึกร่วมยังเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ไทยเลื่อนการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนอีกครั้งด้วย
ประการที่สอง นายหานมีประสบการณ์หลายปีในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีความสำคัญอย่างสูงสำหรับประเทศจีน โดยเฉพาะการที่เขาเป็นทูตรักษาการในช่วงที่มีความเสี่ยงของการเผชิญหน้าระหว่างจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหนือหมู่เกาะเตี้ยวหยู หรือเกาะเซ็นกากุ ที่มีข้อพิพาททางดินแดนระหว่างกัน
1
ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “เศรษฐกิจร้อนแรง การเมืองเย็นชา” เป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ซับซ้อนที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย ความจริงที่ว่านายหานได้รับมอบหมายให้มีบทบาทสำคัญดังกล่าวบ่งชี้ว่าเขาเป็นนักการทูตที่มีทักษะสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการจัดการด้านความขัดแย้ง
เมื่อพิจารณาจากสัญญาณเหล่านี้และความท้าทายภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นของไทย กำลังจะต้องเผชิญกับงานที่ยากขึ้นในการพยายามรักษาสมดุลระหว่างทั้งจีนและชาติตะวันตกนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
โฆษณา