6 ก.ย. 2021 เวลา 05:33 • ความคิดเห็น
Ubang(อูบัง) หมู่บ้านที่ไม่เหมือนใครในโลก หญิง ชาย พูดคนละภาษา
ต่างคนต่างมีคำศัพท์เป็นของตัวเอง แต่พูดกันรู้เรื่อง...😳
หากมีคนเอ่ยด้วยน้ำเสียงเชิงประชดประชันว่า
"นี่เธอกับฉัน เหมือนพูดกันคนละภาษาเลยนะ"
แสดงว่าผู้พูดกำลังจะสื่อว่า เราสองคนพูดจากันไม่รู้เรื่อง ทั้งที่เรากำลังพูดจาด้วยภาษาเดียวกันแท้ ๆ
กับอีกความหมายหนึ่งคือ หากผู้พูดพูดด้วยเสียงเป็นปกติ ก็จะได้ความหมายอีกแบบที่หมายถึง
เรากำลังพูดคนละภาษาจริง ๆ เช่นคนหนึ่งพูดภาษาไทย ส่วนอีกคนพูดภาษาอังกฤษ เป็นต้น
นี่คือความหมายที่เราเข้าใจกันกับคำว่าพูดคนละภาษา
การพูดคนละภาษา ไม่ใช่เรื่องแปลก หากเป็นคนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างเผ่าพันธุ์กัน
แต่ถ้าจะบอกว่า คนที่พูดคนละภาษาเป็นคนเผ่าพันธ์ุเดียวกัน อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเดียวกัน
แต่เหตุที่พูดกันคนละภาษาเป็นเพราะพวกเขาเป็นคนต่างเพศกัน
หรือแปลความง่าย ๆ ก็คือ ผู้หญิงกับผู้ชาย พวกเขาใช้คำศัพท์ต่างกัน ในเรื่องเดียวกัน
แบบนี้คิดว่าเริ่มแปลกรึยังครับ?
..
เรื่องราวชวนน่าทึ่งนี้ เกิดขึ้นที่หมู่บ้านชุมชนเกษตรกรรม ทางตอนใต้ของประเทศไนจีเรีย ที่ชื่อว่าหมู่บ้านอูบัง(Ubang)
ชาวอูบัง เป็นชนพื้นเมืองที่มีความไม่เหมือนใครในเรื่องการใช้ภาษา
เพราะผู้ชายและผู้หญิงชาวอูบัง
พวกเขาใช้คำบางคำไม่เหมือนกัน ในการเรียกชื่อสิ่ง ๆ เดียวกัน
อาทิเช่น คำว่าต้นไม้ผู้หญิงเรียกว่า okweng ส่วนผู้ชายจะเรียกต้นไม้ว่า kitchi
คำว่า สุนัข ผู้หญิงจะเรียกว่า okwakwe ส่วนผู้ชายจะเรียกหมาว่า abu
หรือคำว่า น้ำ ผู้หญิงจะเรียกว่า amu ส่วนผู้ชายจะเรียกว่า bamuie
หรืออย่างคำว่า เสื้อผ้า ผู้หญิงจะใช้ว่า ariga ส่วนผู้ชายจะใช้ว่า nki
จุดเริ่มต้นของการใช้ภาษาแยกกันในศัพท์หลายคำของชาวอูบัง ไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่าเกิดจากอะไร
แต่ผู้เฒ่า ผู้แก่ชาวอูบังต่างเล่าว่า ชาวอูบังมีความเชื่อในตำนานการสร้างโลกของพระเจ้า ที่คล้ายกับเรื่องการกำเนิดมนุษย์คู่แรก
ชาวอูบังเชื่อว่า เมื่อครั้งพระเจ้าสร้างอดัมกับอีฟเป็นมนุษย์คู่แรก
เขาทั้งคู่เป็นชาวอูบัง โดยอดัมมีภาษาพูดของผู้ชาย ส่วนอีฟก็มีภาษาพูดของผู้หญิง
ชาวอูบังเชื่ออีกว่าพวกเขาเป็นผู้สืบสายเลือดมาจากอดัมกับอีฟ
พวกเขาจึงมีภาษาของผู้ชายที่แตกต่างจากผู้หญิง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้เวลาพวกเขาพูดเรื่องเดียวกันโดยใช้คนละคำศัพท์ แต่พวกเขาก็คุยกันรู้เรื่อง
เด็กชาวอูบังตอนเล็ก อาจใช้ภาษาปนเปกันไประหว่างคำศัพท์ของผู้ชายและผู้หญิง แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ หากใครใช้คำศัพท์ผิดเพศสภาพ พวกเขาจะถูกตำหนิจากผู้อาวุโสของชนเผ่า
1
ในปัจจุบันเมื่อความเจริญเข้าไปยังชุมชนมากขึ้น การใช้ภาษาในโรงเรียนเริ่มมีปัญหา เพราะพวกเด็ก ๆ เริ่มถูกบังคับให้ใช้ภาษาอังกฤษและห้ามพูดภาษาท้องถิ่นตามเพศของตัวเอง
นักมนุษยวิทยาที่ทำการศึกษาภาษาท้องถิ่นเหล่านี้ กำลังกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมกำลังทำลายภาษาท้องถิ่นจำนวนกว่า 500 ภาษาของไนจีเรียให้หายไป
ปัจจุบันเหลือภาษาท้องถิ่นที่ยังมีการใช้งานในชีวิตจริงเพียง 40 ภาษาเท่านั้น
..
หันมามองในบ้านเราเอง
การที่พ่อ แม่รุ่นใหม่หลายครอบครัว มีทัศนคติต่อภาษาถิ่นที่ผิด เช่นไม่อยากให้ลูกพูดภาษาถิ่นเกิดเพราะกลัวว่าลูกจะถูกล้อเลียนว่าพูดภาษากลางไม่ชัด จนเด็กพูดภาษาบ้านเกิดตัวเองไม่เป็น
2
สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กำลังทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น
เพราะอย่าลืมว่าภาษาเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่ถูกส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ จากรุ่นสู่รุ่น
โปรดหยุดทำลายรากเหง้า ด้วยการไม่พูดภาษาบ้านเกิดกันเสียเถิด
1
..
ติดตามอ่านบทความได้ที่
โฆษณา