6 ก.ย. 2021 เวลา 06:30 • ธุรกิจ
จับตาโปรเจ็กต์ใหม่ ‘เซ็นทรัลพัฒนา’ หลังคว้าสัญญา 30 ปี เช่าที่ดิน ‘สยามสแควร์’ จากจุฬาฯ
1
เป็นอีกประเด็นในแวดวงข่าวธุรกิจที่น่าจับตาไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับกรณีที่ ‘บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)’ หรือ CPN ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นผู้เช่าลงทุนพัฒนาพื้นที่บริเวณ Block A เขตพาณิชย์สยามสแควร์ ระยะเวลา 30 ปี หลังจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ประกาศเชิญชวนเอกชนมาตั้งแต่ พ.ย. 2563
2
โดยพื้นที่บริเวณ Block A ที่ว่า คือแปลงที่ดินตรงหัวโค้งสี่แยกปทุมวัน จุดตัดระหว่างถนนพระราม 1 และถนนพญาไทนั่นเอง
1
สภาพของที่ดินบริเวณนี้ ประกอบไปด้วยหมุดหมายสำคัญอย่าง ‘สกาล่า’ หนึ่งในโรงภาพยนตร์ที่อยู่คู่กับย่านสยามสแควร์มา 50 ปี ก่อนปิดตัวลงเมื่อ 5 ก.ค. 2563
นอกจากนี้ยังมีอาคารพาณิชย์สูง 3-4 ชั้น จำนวน 79 คูหา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการคลินิก, ร้านอาหาร, ร้านค้าสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง, ธนาคาร, โรงเรียนกวดวิชา ฯลฯ
ทั้งนี้ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ให้เหตุผลของการเปิดให้เอกชนเช่าลงทุนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวไว้ว่า
“เป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้พื้นที่สูงสุด เนื่องจากสภาพสิ่งปลูกสร้างและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในพื้นที่อยู่ในภาพเก่าและค่อนข้างทรุดโทรม จึงเห็นควรที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว”
2
และกลายเป็น ‘เซ็นทรัลพัฒนา’ ที่เป็นเอกชนที่มีศักยภาพ และคว้าสิทธิสัญญาในครั้งนี้ไปได้ในที่สุด
1
โดยในร่างรับฟังความคิดเห็น (ครั้งที่ 1) ระบุข้อกำหนดถึง ‘ค่าตอบแทน’ ที่ผู้ได้รับสิทธิจะต้องจ่ายให้กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ไว้ดังนี้
-ค่าตอบแทนการได้รับสิทธิทำสัญญา (Upfront) ต้องไม่ต่ำกว่า 742 ล้านบาท
-ค่าตอบแทนรายปี จำนวน 30 งวด
ปี 1-3 เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 108 ล้านบาทต่อปี
ปีที่ 4-6 ไม่ต่ำกว่า 119 ล้านบาทต่อปี
ปีที่ 7-9 ไม่ต่ำกว่า 131 ล้านบาทต่อปี
ปีที่ 10-12 ไม่ต่ำกว่า 144 ล้านบาทต่อปี
ปีที่ 13-15 ไม่ต่ำกว่า 158 ล้านบาทต่อปี
ปีที่ 16-18 ไม่ต่ำกว่า 174 ล้านบาทต่อปี
ปีที่ 19-21 ไม่ต่ำกว่า 191 ล้านบาทต่อปี
ปีที่ 22-24 ไม่ต่ำกว่า 210 ล้านบาทต่อปี
ปีที่ 25-27 ไม่ต่ำกว่า 231 ล้านบาทต่อปี
ปีที่ 28-30 ไม่ต่ำกว่า 254 ล้านบาทต่อปี
7
หรือรวมแล้ว 30 ปี ค่าตอบแทนส่วนนี้ต้องไม่ต่ำกว่า 5,160 ล้านบาท
หากมองดูแล้ว ก็น่าจะเป็นตัวเลขที่ CPN มองว่าคุ้มค่า ด้วยที่ดินสยามสแควร์ที่เป็นทำเลทองอันดับต้นๆ ของประเทศ เนื่องจากเป็นแหล่งรวมศูนย์การค้า ธุรกิจ การศึกษา มีทราฟิกสูง จนทำให้ใครๆ ก็อยากจับจองลงทุนพัฒนา
4
โดย มติชนออนไลน์ อ้างถึงแหล่งข่าวจาก CPN ระบุว่า หลังจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ส่งมอบพื้นที่ให้ในต้นปี 2565 บริษัทก็จะเดินหน้าดำเนินการทันที
1
โดยจะปรับปรุงและรีโนเวตโครงสร้างเก่าให้เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กๆ คล้ายคอมมูนิตี้มอลล์ เจาะกลุ่มนักศึกษาและคนทำงาน คาดว่าใช้เวลาราว 1 ปีเศษในการพัฒนา ซึ่งจะทำให้พร้อมให้บริการในปี 2566 นั่นเอง
2
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เซ็นทรัลพัฒนานั้นทำธุรกิจพัฒนาโครงการศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นที่เกี่ยวเนื่อง โดยในปี 2562 มีโครงการที่บริหารอยู่ คือ ศูนย์การค้า 34 แห่ง, ศูนย์อาหาร 30 แห่ง, อาคารสำนักงาน 10 อาคาร, โรงแรม 2 แห่ง และที่พักอาศัยพร้อมโอน 8 โครงการ
ที่น่าสนใจคือในปีนี้ CPN ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ หรือ SF ที่บริหารศูนย์การค้าหลายแห่ง เช่น เมกาบางนา, เอสพลานาด, ดิ อเวนิว เป็นต้น
ดังนั้น หากโครงการที่สยามสแควร์แล้วเสร็จ นอกจากจะเป็นการเสริมทัพขยายอาณาจักรของ CPN แล้ว
1
ยังเป็นอีกส่วนสำคัญที่มาสร้างความแข็งแกร่งให้กับ ‘กลุ่มเซ็นทรัล’ หลังจากที่ยึดหัวหาดแยกราชประสงค์ไว้ด้วยเซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัลชิดลม
1
ขณะที่โซนแยกปทุมวันมีสยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่บริหารโดยบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (โดย บมจ.เอ็มบีเค หรือ MBK เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสยามพิวรรธน์ในสัดส่วน 48.66%) และศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ของ MBK
เรียกได้ว่าคงทำให้การแข่งขันระหว่าง ‘ดีเวลอปเปอร์รายใหญ่’ ในย่านสยามสแควร์ ดุเดือดร้อนแรงขึ้นแน่นอน!
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK
ติดต่อโฆษณา E-mail: advertorial@workpointnews.com
1
โฆษณา