11 ก.ย. 2021 เวลา 00:00 • ความคิดเห็น
หลายวันนี้มีคนส่งข่าวให้ผมว่า มีคนอ่านบทความบางบทของผม แล้วตีความไปไกลถึงโลกพระจันทร์เลย ความหมายของผู้ส่งคือ "มันด่ามึงน่ะ"
ไอ โนว์ ไอ โนว์ นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โดนเป็นประจำ
ที่น่าเป็นห่วงก็คือหลายคนอ่านโพสต์ของผมไม่ค่อยถึงบรรทัดสุดท้าย บรรทัดสุดท้ายผมมักจะบอกที่มาของบทความ
ผมมักเอาบทความจากหนังสือมาโพสต์ จำนวนมากเขียนมานาน 10-20 ปีแล้ว ดังนั้นการวิพากษ์บทความโดยอิงกับบริบทหรือสถานการณ์ปัจจุบันจึงคลาดเคลื่อนได้
มันอาจเป็นสัญชาตญาณของคนเราก็ได้ที่ชอบโยง เช่น เห็นโพสต์นี้ก็ถามว่าเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองสองสามวันนี้เรื่องไหน หรือคนโพสต์ต้องการทิ่มใครหรือเปล่า "มันต้องคิดอย่างนี้แน่ๆ เลย กูรู้"
6
อย่าคิดมาก
1
มีคนถามเรื่อง Marshmallow Test กับการเปรียบเทียบในรูปภูเขา ก็ถือโอกาสอธิบายตรงนี้ก็แล้วกัน
Marshmallow Test เป็นแค่การทดลอง ไม่ใช่ข้อสรุป 100 เปอร์เซ็นต์ ผลการทดลองอาจได้ข้อสรุปในเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง
ฝรั่งก็ทดลองทุกเรื่องในโลกนั่นแหละ เราจึงต้องระวังเวลาอ่านงานวิจัยทุกชนิด ต้องอ่านให้ออกว่าคนเสนอต้องการบอกอะไร ประเด็นไหน เพราะต่อให้เป็นนักวิจัย บางทีก็มีการปักธงล่วงหน้า อาจในชั้นจิตใต้สำนึก
เราก็อ่านประดับความรู้ ไม่ใช่ให้เชื่อ อ่านแล้วก็คิด
ส่วนการบอกว่าอย่าเปรียบเทียบชีวิตเรากับคนอื่นนั้น ในบริบทนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งในการลดกิเลส ลดตัณหา ลดความอยาก เช่น เห็นคนอื่นมีรถเบนซ์ ก็อยากมี
พอไม่มีก็โกรธบ้าง บ่นบ้าง ชีวิตก็รุ่มร้อนเพราะไปเปรียบสิ่งที่เรามองว่าคนอื่นดีกว่าเรา
เรื่องนี้พระก็เทศน์ นักจิตวิทยาก็เทศน์ นักปรัชญาก็เทศน์ และมันก็อยู่ในสุภาษิตนานาชาติมาหลายพันปีแล้ว เช่น สนามหญ้าบ้านคนอื่นเขียวกว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า ฯลฯ ผมแค่เอามานำเสนอใหม่เป็นรูปภูเขา
ส่วนการเปรียบเทียบเพื่อพัฒนาตัวเอง นั่นเป็นอีกบริบทหนึ่ง ก็ทำไป เพราะถ้าไม่เปรียบ ก็ไม่รู้ แต่มันเป็นคนละบริบทกัน
สรุปก็คือ อ่านแล้วคิดเสมอ แต่อย่าคิดมากแบบพยายามโยงโน่นโยงนี้ โดยปักธงไว้ล่วงหน้าแล้วว่า คนนี้ต้องคิดแบบนี้แบบนั้น
อย่างนี้ไม่ใช่อ่านเพื่อเพิ่มปัญญาแล้ว
มันเพิ่มมิจฉาทิฐิ
โฆษณา