7 ก.ย. 2021 เวลา 10:08 • การศึกษา
ถอดบทเรียน : ความสำเร็จของขอนแก่นโมเดล
1
ก้าวแรกความสำเร็จของการพัฒนาเมืองขอนแก่นเกิดจาก 5 ปัจจัย และหากได้รับการสนับสนุนมาตรการจูงใจจากภาครัฐเพิ่มเติม จะเอื้อให้การพัฒนาเมืองในระยะต่อไป มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
5 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (5 Key Success Factors)
1.กลุ่มผู้นำภาคเอกชนท้องถิ่น (Leadership) : แม้ว่าความคิดการพัฒนาเมืองขอนแก่นจะถูกพูดถึงตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน โดยถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม จนเมื่อไม่นานมานี้ แนวคิดได้ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริงจากความร่วมมือของผู้นำท้องถิ่นที่สำนึกรักบ้านเกิด ได้แก่ 24 องค์กรจีน 5 เทศบาลท้องถิ่น 8 องค์กรเศรษฐกิจ และ 20 บริษัทเอกชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่แสวงหากำไรและไม่มีนัยทางการเมืองที่เล็งเห็นแล้วว่า ไม่สามารถปล่อยให้เมืองเติบโตแบบไร้ทิศทางและรอการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐได้ ภาคเอกชนขอนแก่นจำนวน 20 บริษัท จึงจัดตั้ง “บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT)” เมื่อปี 2556 ด้วยการสละเงินทุนส่วนตัว 200 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินตั้งต้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาให้ KKTT เป็นศูนย์รวม (One-Stop Service) แนวคิดและผลักดันการพัฒนาเมืองขอนแก่น
3
2.การเพิ่มบทบาทของท้องถิ่น (Decentralization) : นอกจาก KKTT แล้ว รัฐบาลท้องถิ่นคือ เทศบาล 5 แห่ง ในขอนแก่นเอง ก็ได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยให้สามารถร่วมกันจัดตั้ง “บริษัท ขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม จากัด (KKTS)” ได้ เมื่อปี 2560 ภายใต้ พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 ในรูปแบบวิสาหกิจของรัฐ โดย KKTS อาศัยเงินทุนจากภาคเอกชนในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อรักษาความเป็นเจ้าของของท้องถิ่น ช่วยให้เกิดความคล่องตัวใน การบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้า LRT และเป็นอิสระในการดำเนินโครงการ ซึ่งคล้ายกับการจัดตั้ง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่อยู่ภายใต้กรุงเทพมหานคร โดยว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ก่อสร้างและเดินรถเท่านั้น นอกจากนี้ KKTS ยังมีบทบาทในการช่วยสนับสนุนโครงการอื่นๆ ของการพัฒนาเมืองด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้ ทำให้รัฐบาลและภาคเอกชนท้องถิ่นทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
3
3.กระบวนการคิดและการเปิดใจรับฟัง (Mindset) : ขอนแก่นเองก็เผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายรูปแบบคล้ายกับเมืองอื่น แต่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ภาคส่วนต่างๆ มี Mindset ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนและเห็นเป้าหมายร่วมกันทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยกลุ่มผู้นำภาคเอกชนได้พยายามหาวิธีพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ หลังจากมีประสบการณ์ที่กระบวนการภาคัฐมักมีความล่าช้า จนเกิดการคิดนอกกรอบและได้ทางออกใหม่ คือ การหันมาพัฒนาท้องถิ่นด้วยตนเอง โดยไม่รอการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ นอกจากนี้ ในกลุ่มรัฐบาลท้องถิ่นเอง ก็มี Mindset ที่ไม่ยึดติดกับกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ พร้อมทั้งยังเปิดใจรับฟังความต้องการของภาคเอกชนและประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญให้การพัฒนาเมืองประสบความสำเร็จ
1
"กลุ่มพัฒนาเมืองขอนแก่นเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาระดมความคิดเห็นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่รัฐบาลท้องถิ่นและกลุ่มผู้นำภาคเอกชนของขอนแก่นมีความเป็นปึกแผ่นกันแล้ว การพัฒนาเมืองจึงมีบรรยากาศที่ดีขึ้น ประกอบกับผู้นำทั้ง 2 กลุ่มเองก็พยายามชี้ให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ของการพัฒนาเมืองด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การทดลองใช้ Smart Bus เป็นโครงการนำร่องเพื่อแก้ปัญหาการใช้รถสาธารณะที่ต้องรอนานและไม่มีตารางเวลาที่ชัดเจนโดยการติด GPS ซึ่งทำให้สามารถเช็คตำแหน่งรถและวางแผนการเดินทางได้ง่ายขึ้น
หลังจากนั้น เมื่อจะทำโครงการ LRT กลุ่มพัฒนาเมืองจึงเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาระดมความคิดเห็นและเปิดใจรับฟังอย่างจริงใจร่วมกัน โดยเริ่มจากการพูดคุยกับกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งก็คือ กลุ่มคนขับรถสองแถวที่เคยเป็นระบบขนส่งหลักในเมือง โดยให้มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วยการวิ่งรถมายังจุดเชื่อมต่อในแต่ละสถานี เพื่อให้มีรายได้ใกล้เคียงเดิมแม้วิ่งในระยะทางที่สั้นลง ก่อนจะขยายวงไปยังภาคส่วนอื่น เช่น กลุ่ม NGO สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาเมืองที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน
1
4.กระบวนการภาครัฐ (Government Procedure) : ขอนแก่นโมเดลเป็นการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อมกัน ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการผลักดันโครงการ ขอนแก่นเองก็ต้องปลดล็อกกระบวนการภาครัฐในหลายประเด็น ตั้งแต่ 1) การจัดตั้งบริษัท KKTS ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย 2) การได้รับความชัดเจนในการให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินโครงการ จากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และ 3) การได้รับพื้นที่เกาะกลางมิตรภาพเพื่อใช้ดำเนินโครงการ LRT จากกระทรวงคมนาคม และพื้นที่เพื่อพัฒนา TOD จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
1
อย่างไรก็ดี TOD อาจยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมายอยู่บ้างโดยเฉพาะ พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน ที่ยังไม่ได้ระบุถึงการพัฒนาในลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจน ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์จากการพัฒนา Smart City ไม่เป็นไปตามที่หวังไว้ นอกจากนี้ เพื่อให้นโยบายมีความต่อเนื่อง ขอนแก่นยังได้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อพัฒนาจังหวัด โดยให้มีประธานร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดและตัวแทนจากภาคเอกชน อีกทั้งยังพัฒนาโครงการ LRT ให้สอดรับกับนโยบายรถไฟฟ้าความเร็วสูงของรัฐบาลอีกด้วย แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากขอนแก่นสามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้ทั้งหมด ก็จะเป็นบทเรียนที่ดีให้กับเมืองอื่นต่อไป เพราะจะทำให้เมืองมี Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนาเมือง
1
5.การระดมทุน (Financing) : โครงการพัฒนาเมืองขอนแก่นที่ถูกขับเคลื่อนโดยเงินทุนของภาคเอกชนนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นรูปธรรมจากรัฐบาลกลาง ทำให้การกู้ยืมเงินจากธนาคารในประเทศทำได้ค่อนข้างยาก ขอนแก่นจึงหันไปพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการลงทุนสร้าง LRT และตั้งใจว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ขอนแก่นจะเปิดระดมทุนจากคนในท้องถิ่นเป็นลำดับแรก ในรูปแบบการระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านการมอบสิทธิ์การถือครองหุ้นจำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นจึงจะนำโครงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในรูปแบบกองทุน PIF ซึ่งจะยิ่งช่วยให้มูลค่าเพิ่มของหุ้นและเงินปันผลจากโครงการให้สูงขึ้นต่อไป
2
ที่มา: บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จากัด (KKTT) และ บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จากัด (KKTS)
ติดตามงานศึกษาฉบับเต็มได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/RegionalEconomy/Pages/SmartCityNew.aspx
1
โฆษณา