10 ก.ย. 2021 เวลา 12:00 • กีฬา
เข้าใจ Wolff-Parkinson-White ภาวะโรคหัวใจของ Aldridge
มันเป็นข่าวดีหลังจาก ลามาร์คัส อัลดริดจ์ ยืนยันกลับมาลงเล่นอีกครั้งหลังประกาศเลิกเล่นด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่อาการของเขามันเป็นอย่างไรกัน
วันที่ 11 เมษายน ลามาร์คัส อัลดริดจ์ นักบาสของทีม Brooklyn Nets มีความรู้สึกว่าหัวใจตัวเองเต้นผิดจังหวะในระหว่างเกมที่ทีมของเขาเปิดบ้านพบกับ Lakers เช้าวันต่อมาเขาเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลและผลตรวจบอกว่าเขามีภาวะ ‘หัวใจห้องบนเต้นเร็วชนิดลัดวงจร’ (Supraventricular tachycardia)
แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาหรือคนทั่วไปการตรวจเจอโรคร้ายแรงก็มักจะส่งผลต่อจิตใจและวิธีการใช้ชีวิตเสมอ โดยเฉพาะนักกีฬาเพราะมันอาจหมายถึงการต้องเลิกเล่นอาชีพก่อนวัยอันควร
เช่นเดียวกับอัลดริดจ์ หลังจากที่เขาทราบผลการตรวจ เขาใช้วันหยุด 4 วัน คิดไตร่ตรองและปรึกษากับทีม ก่อนจะโพสต์ลง Instagram ในวันที่ 15 เมษา ถึงการประกาศยุติอาชีพการเล่นทันทีเพราะมีโรคหัวใจกำเริบซึ่งทำให้เขาอยู่กับทีมไม่ถึงจบฤดูกาล
มันเป็นเรื่องที่กะทันหันมากและไม่มีใครคิดว่านักบาสที่ภายนอกดูแข็งแรง ไม่ได้บาดเจ็บอะไรกลับต้องมาเผชิญกับโรคร้ายแรงขนาดนี้
ข่าวการเลิกเล่นแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว แต่ที่น่าตกใจกว่าเห็นจะเป็นเรื่องของอาการป่วย หลังมีการเผยว่าที่จริงอัลดริดจ์มีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจมาตั้งแต่เกิด ทำให้เขาต้องลงเล่นพร้อมกับโรคหัวใจมาตลอดทั้งอาชีพและการป่วยครั้งนี้ก็นับเป็นครั้งที่ 4 แล้ว
ภาพ successstory.com
ครั้งที่ 1 : 31 มีนาคม 2007 ซึ่งเป็นการลงเล่นลีกปีแรกของเขากับ Portland และในคืนนั้น Portland พบ Clippers ซึ่งเป็นเกมที่ 73 ของฤดูกาล อัลดริดจ์รู้สึกว่าหัวใจของเขาเต้นเร็วกว่าปกติตั้งแต่ควอเตอร์แรกและขอเปลี่ยนตัวออก ทำให้เขาอยู่ในสนามได้แค่ 7 นาที ทำไป 2 แต้ม 7 รีบาวด์
แพทย์ประจำทีมรีบนำตัวเขาส่งไปที่ Providence St. Vincent's Medical Center เพื่อเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จนทราบว่าเขามีภาวะโรคหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติในชนิดที่เรียกว่า ‘Wolff-Parkinson-White syndrome’ ทำให้เขาไม่ได้ลงเล่น 9 เกมสุดท้ายของซีซัน
.
ครั้งที่ 2 : 9 ธันวาคม 2011 อัลดริดจ์เข้ารับการผ่าตัดรักษาโดยใช้วิธี ‘การจี้ไฟฟ้าหัวใจ’ หลังเขามีอาการกำเริบในระหว่างการเก็บตัวซ้อมก่อนเปิดฤดูกาล 2011-12 ซึ่งการผ่าตัดทำโดยการใช้สายชนิดพิเศษสอดเข้าผ่านเส้นเลือดบริเวณขาหนีบสวนขึ้นไปเข้าที่หัวใจ และใช้คลื่นความถี่เท่าคลื่นวิทยุจี้ไปที่ผนังหัวใจซึ่งใช้เวลาผ่าตัดรวม 4 ชม.
หลังผ่าตัดเขาใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายเกือบ 2 อาทิตย์ และกลับมาช่วยทีมในเกมพรีซีซันกับ Jazz ในวันที่ 21 ธันวาคม
.
ครั้งที่ 3 : 11 มีนาคม 2017 เขาคือผู้เล่นของ San Antonio Spurs และทีมต้องพบกับ Warriors ในคืนนั้น แต่ช่วงเช้ามีรายงานว่า “อัลดริดจ์จะลงเล่นไม่ได้อย่างไม่มีกำหนดเพราะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะเล็กน้อย”
ทีมไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรมากกว่านั้น ทำให้นักข่าวต้องแห่ไปรุมถามโค้ชเกร็กก์ โปโปวิช ที่บอกว่า “พวกคุณช่วยคิดให้เยอะกว่านี้หน่อย ถ้ามีคนบอกว่าเขามีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ คุณต้องเริ่มวางแผนอะไรล่วงหน้าไว้แล้ว แต่คุณไม่ต้องวิ่งตามหาเขาหรอก วันนี้เขาก็มีตรวจ วันจันทร์ก็มีอีก เขาคงไปหาหมอวันจันทร์ แล้วพวกเราถึงจะได้รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ ตอนนี้ผมก็ไม่รู้อะไรเหมือนพวกคุณนั่นแหละ”
สุดท้าย 4 วันต่อมา อาการของเขากลับมาเป็นปกติ อัลดริดจ์ผ่านการตรวจร่างกายมีชื่อปรากฏอยู่ในผู้เล่นตัวจริงในเกมพบ Portland และช่วยให้ทีมชนะ 110-106
.
ทีนี้มาถึงคำถามว่าอาการ Wolff-Parkinson-White ของอัลดริดจ์ เป็นอย่างไร ?
จากข้อมูลทางการแพทย์บอกว่า ภาวะดังกล่าวเป็นหนึ่งในชนิดอาการที่ทำให้เกิด ‘ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ’ ซึ่งจะทำให้หัวใจมีอัตราการเต้นสูงถึง 180 ครั้งต่อนาที จากอัตราปกติที่อยู่ระหว่าง 60-100 ครั้งต่อนาที
และเพื่อให้เห็นภาพว่าหัวใจของคนทีป่วยด้วยภาวะ WPW ต่างจากคนทั่วไปอย่างไร
จุดเริ่มต้นจากในหัวใจของมนุษย์จะมีกลุ่มเซลล์ที่คอยควบคุมการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งจะมี 2 ตำแหน่ง
มากันที่จุดแรกเรียกว่า SA node ซึ่งอยู่บริเวณผนังหัวใจห้องบนขวาทำหน้าที่เป็นตัวจุดกระแสไฟโดยจะส่งกระแสไฟฟ้าผ่าน Internodal pathways หรือทางเดินกระแสไฟฟ้าของหัวใจห้องบนที่อยู่ในผนังหัวใจ (เส้นสีน้ำตาล) ไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องบนซ้ายและห้องบนขวาบีบตัวพร้อมกัน
ภาพ YouTube: Osmosis
จากนั้นปลายทางของทางเดินกระแสไฟจะไปบรรจบที่ AV node ซึ่งเป็นเซลล์ควบคุมตัวที่ 2 หน้าที่ของมันคือการควบคุมการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซึ่งอยู่ระหว่างรอยต่อของหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่าง
AV node จะทำงานโดยการส่งกระแสไฟฟ้าที่ได้มาจาก SV node ไปตามทางเดินกระแสไฟฟ้าห้องล่าง (Bundle of His) ซึ่งจะแยกออกเป็น 2 ทางและแตกแขนงเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายและขวา ทำให้สองห้องบีบตัวพร้อมกันอีกทีก่อนที่กระแสไฟจะหมดไป
.
ส่วนในเคสของอัลดริดจ์และผู้ป่วยคนอื่น สิ่งที่ต่างออกไปคือ ในผนังหัวใจของพวกเขาจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ตัวรับกระแสไฟฟ้าเกิน’ หรือจะเรียกว่า ‘ทางเดินกระแสไฟฟ้าเกิน’ (เส้นปะสีม่วง) เกิดขึ้นมาโดยจะอยู่บริเวณระหว่างผนังหัวใจห้องบนและห้องล่างซึ่งถ้าผู้ป่วยทำกิจกรรมใดๆ ที่ไม่ได้ทำให้หัวใจเต้นเร็ว การทำงานของหัวใจก็จะเป็นไปตามปกติ
ภาพ YouTube: Osmosis
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อาการกำเริบการทำงานของหัวใจก็จากต่างปกติตรงที่หลังจากกระแสไฟไหลไปกระตุ้นให้หัวใจ 2 ห้องล่างบีบตัวแล้ว ทางเดินรับกระแสไฟฟ้าเกินที่เชื่อมอยู่กับทางเดินหลักก็จะรับกระแสไฟฟ้าเดินทางกลับขึ้นไปกระตุ้นหัวใจห้องบนให้เต้นต่อและวกกลับมาห้องล่างวนไปเรื่อยๆ เกิดเป็นการลัดวงจร ทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าเดิมจนหายใจไม่ทัน
นี่คือความรุนแรงของมันและที่สำคัญคือ ภาวะ WPW สามารถเกิดย้อนทางได้ กล่าวคือ ในเคสของอัลดริดจ์ อาการของเขากระแสไฟฟ้าจะเดินทางจากหัวใจห้องบนลงไปห้องล่าง แต่ในบางครั้งกระแสไฟก็สามารถลัดวงจรจากหัวใจห้องล่างย้อนขึ้นมาหัวใจห้องบนได้เช่นกัน
นอกจากนี้ตามข้อมูลขององค์กรโรคหายากแห่งชาติ ยังบอกว่า WPW เป็นภาวะโรคหัวใจที่เกิดได้ยาก แต่กว่าจะมีการกำเริบรุนแรงจะอยู่ในช่วงที่ผู้ป่วยมีอายุระหว่าง 30-40 ปี และจะตรวจพบในสัดส่วน 1 คนใน 1,000 คน ในอเมริกา
.
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อัลดริดจ์ต้องเผชิญมาตลอดทั้งชีวิต แม้เขาจะเข้ารักษาโดยการใช้คลื่นจี้หัวใจเพื่อตัดทางเดินส่วนเกินออก แต่ก็ไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะกลับมาอีกเมื่อไหร่
ในท้ายที่สุดมันคือ หัวใจของเขาที่บอกว่าเส้นทางของเขายังไม่จบและพร้อมจะกลับสู้อีกครั้งด้วยการกลับมาเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมในเวลา 5 เดือน ทั้งการวิ่งบนลู่ 12 กม. ถึง 2 รอบต่อวันและใช้เวลาอยู่กับครอบครัว
กระทั่งได้รับอนุญาตจากแพทย์และผ่านการตรวจร่างกายกับทีมเพื่อกลับมาลงเล่นและสานต่อสิ่งที่เขาทำทิ้งไว้เมื่อฤดูกาลก่อน ดังนั้นการได้กลับมาเล่นก็เหมือนเป็นการคืนความสุขให้ชีวิต ทำในสิ่งตัวเองรักตามที่เขาบอกว่า
“คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าเรื่องบางอย่างจะเดินทางมาถึงตอนจบเมื่อไหร่ ดังนั้นจงมั่นใจว่า คุณได้สนุกไปการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน ซึ่งผมพูดได้เลยว่า ผมได้ทำมันแล้ว”
โฆษณา