11 ก.ย. 2021 เวลา 10:24 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
#ประกาศแล้ว! รางวัลอิกโนเบลประจำปี 2021
จากการวิเคราะห์เสียงแมว จนถึงการยกแรด
(เรียบเรียงโดย ธนกฤต ศรีวิลาศ จากเพจ Make a วิทย์ )
2
งานประกาศรางวัลอิกโนเบลจัดขึ้นในทุก ๆ ปีในช่วงเดือนกันยายน โดยรางวัลนี้มีเกณฑ์การตัดสินเพียงประการเดียวคือ ต้องเป็นงานวิจัยที่ ”ตอนแรกได้ขำ แต่ตอนหลังได้คิด” (make you laugh, then think) ในปีนี้มีสาขาอะไรบ้าง มาดูกัน
ที่มา : Wikipedia
1. สาขาชีววิทยา มอบให้แก่งานวิจัย “การวิเคราะห์เสียงร้องของแมวเหมียว ที่ใช้สื่อสารกับมนุษย์” ซึ่งผู้ได้รับรางวัลคือนักวิจัยจากสวีเดน ที่มีการตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับเสียงร้องของน้องแมวจำนวนมากหลายฉบับ ทั้งการวิเคราะห์รูปแบบเสียงทั้ง 538 แบบที่อัดมาจากแมว 3 ตัว หรือการวิเคราะห์การรับรู้ของมนุษย์ที่มีต่อเสียงของแมว
รอยหมากฝรั่งที่อยู่บนทางเดินเท้า ที่มา : Wikipedia
2. สาขานิเวศวิทยา มอบให้แก่งานวิจัย “การวิเคราะห์สารพันธุกรรมเพื่อระบุชนิดของแบคทีเรีย ที่เติบโตอยู่บนหมากฝรั่งที่ถูกถ่มทิ้งตามพื้นถนน ในหลายประเทศทั่วโลก” โดยงานวิจัยนี้ มีการเก็บข้อมูลจากหมากฝรั่งที่ถูกทิ้งตามพื้นถนนต่าง ๆ ใน 5 พื้นที่ทั่วโลก ทั้งฝรั่งเศส กรีซ สิงคโปร์ สเปน และตุรกี เพื่อระบุชนิดของแบคทีเรียในสภาวะแวดล้อม และสถานที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งพบว่ามีแบคทีเรียหลายชนิดมาก และพวกมันสามารถวิวัฒนาการตัวเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ภายในหมากฝรั่งที่ถูกทิ้งไว้เหล่านั้น บางชนิดก็เป็นแบคทีเรียก่อโรค งานวิจัยนี้จึงเป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับงานวิทยาศาสตร์ด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการควบคุมโรคติดต่อ และด้านนิติวิทยาศาสตร์ได้
ที่มา : Wikipedia
3. สาขาเคมี มอบให้แก่งานวิจัย “การวิเคราะห์อากาศในโรงภาพยนตร์ เพื่อทดสอบว่ากลิ่นที่ผลิตจากร่างกายผู้ชม ว่าสามารถบ่งชี้เนื้อหาความรุนแรง เพศ การใช้ภาษา การใช้ยาเสพติด และพฤติกรรมต่อต้านสังคม ในภาพยนตร์นั้นได้หรือไม่” ซึ่งทีมนักวิจัยใช้การตรวจจับสารเคมีหลายชนิดที่ถูกปล่อยมาจากร่างกายผู้ชม แต่สารเคมีที่ดูมีแววในการใช้ทำนายอายุของผู้ชมกับตัวเนื้อหาภาพยนตร์ได้ดีที่สุดคือ ไอโซพรีน (Isoprene)
ไอโซพรีน (Isoprene) ที่มา : Wikipedia
4. สาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้แก่งานวิจัย “การค้นพบว่าความอ้วนของนักการเมือง เป็นตัวบ่งชี้การคอร์รัปชันภายในประเทศนั้นได้” นักวิจัยได้ทำการเก็บภาพรัฐมนตรีกว่า 299 ภาพจาก 15 ประเทศที่แยกออกมาจากสหภาพโซเวียตพบว่าเมื่อวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ ดัชนีมวลกายของรัฐมนตรีทั้งหลายเหล่านี้ มีความเชื่อมโยงกับค่าดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชันของแต่ละประเทศที่ทำการทดลอง (เห็นแล้วก็น่าคิดว่า นักการเมืองบ้านเรามีดัชนีมวลกายเท่าไหร่กันบ้าง?)
4
เครื่องพ่นจมูก ที่มา : Wikipedia
5. สาขาการแพทย์ มอบให้แก่งานวิจัย “การอธิบายว่า การมีเพศสัมพันธ์จนถึงจุดสุดยอด มีผลต่อการลดอาการคัดจมูกได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยาพ่นจมูก” และจากผลการทดลองพบว่า การมีเพศสัมพันธ์จนถึงจุดสุดยอด สามารถลดอาการคัดจมูกได้ด้วยประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้ยาพ่นจมูก ซึ่งช่วยลดอาการคัดจมูกได้ยาวนานถึง 60 นาที (อ่านงานวิจัยนี้ไป ก็เริ่มหายใจไม่ค่อยออก)
สไตล์หนวดเคราต่างๆ ที่มา : Wikipedia
6.สาขาสันติภาพ มอบให้แก่งานวิจัย “การทดสอบสมมุติฐานว่า หนวดเคราของมนุษย์ ถูกวิวัฒนาการมาเพื่อป้องกันการโดนต่อยเข้าหน้า” เมื่อเปรียบเทียบกับสิงโต แผงคอของสิงโตตัวผู้ก็มีหน้าที่ในการปกป้องการโดนโจมตีที่จุดอ่อน อย่างเช่น คอ หรือกระดูกขากรรไกร ซึ่งมนุษย์ก็มีกระดูกที่สำคัญบริเวณใบหน้าอยู่เยอะ ทีมนักวิจัยจึงมีสมมุติฐานว่าหนวดเคราของมนุษย์ อาจมีไว้เพื่อป้องกันอันตรายต่อกระดูกบนใบหน้าเหล่านั้น ส่วนการทดสอบสมมุติฐาน ไม่ได้หาหนุ่มเครางามมาเป็นกระสอบทรายเรียงคน แต่ทดสอบด้วย อีพ็อกซี่ไฟเบอร์ (Epoxy fiber) ที่เป็นตัวแทนของผิวหนังและกระดูกมนุษย์ และใช้ขนแกะเป็นตัวแทนของหนวดเครา พบว่าหนวดเคราจากการทดลองนี้ ช่วยดูดซับแรงกระแทกได้มากถึง 37% (ถ้าจริง นักมวยน่าจะไว้หนวดเยอะๆนะ)
7. สาขาฟิสิกส์ มอบให้แก่งานวิจัย “การทดลองเพื่อศึกษาว่า ทำไมคนเดินตามท้องถนนถึง‘ไม่ชน’ กับคนอื่น” ซึ่งนักวิจัย เก็บข้อมูลและรูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้คนที่เดินตามท้องถนนและไม่ชนกัน โดยเลือกถนนที่มีระยะทางและพื้นที่ในการหลบหลีกคนอื่นที่คล้ายกัน ซึ่งสามารถดูกราฟและภาพรูปแบบการเคลื่อนไหวได้ภายในบทความวิจัย
ที่มา : Aleksandar Pasaric จาก Pexels
8. สาขาจลนศาสตร์ มอบให้แก่งานวิจัย “การทดองเพื่อศึกษาว่า ทำไมคนเดินตามท้องถนนถึง ‘ชน’ กับคนอื่น” ซึ่งนักวิจัย เก็บข้อมูลและรูปแบบการเคลื่อนไหวของผู้คนที่เดินตามท้องถนนและชนกัน โดยนักวิจัยพยายามเพิ่มปัจจัยต่าง ๆ รบกวนสมาธิกลุ่มทดลอง เพื่อให้ยากต่อการหลบคนอื่น ๆ งานวิจัยนี้ อาจมีอิทธิพลต่อการจัดการจราจร การวิจัยเรื่องการตัดสินใจของมนุษย์ และพลวัตของฝูงชน
ที่มา : Wikipedia
9. สาขากีฏวิทยา มอบให้แก่งานวิจัย “วิธีใหม่ในการควบคุมจำนวนแมลงสาบภายในเรือดำน้ำ” เพราะเรือดำน้ำก็ไม่เว้น เป็นต้องเจอแมลงสาบ อดีตทหารเรือผู้เป็นเจ้าของงานวิจัยนี้เล่าว่า วิธีปัจจุบันที่ใช้ในการกำจัดแมลงสาบ คือการใช้สารเคมีชื่อว่า คาร์บ็อกไซด์ (Carboxide) ซึ่งเป็นพิษ และเคยมีเหตุการณ์ที่สารพิษเหล่านี้มีผลกระทบต่อลูกเรือที่ต้องอยู่ในเรือดำน้ำนั้น งานวิจัยนี้มีการใช้สารเคมี ไดคลอร์วอส (Dichlorvos) ทดแทนคาร์บ็อกไซด์ ทำให้ผู้ใช้งานเรือดำน้ำมีความสุขมากยิ่งขึ้น (แต่ไม่น่าจะมากเท่าคนซื้อเรือดำน้ำ)
ไดคลอร์วอส (Dichlorvos)  ที่มา : Wikipedia
10. สาขาคมนาคม มอบให้แก่งานวิจัย “การขนย้ายแรดอย่างปลอดภัย ด้วยวิธีให้มันห้อยหัวกลางอากาศ” การขนย้ายสัตว์ในธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก แต่คนที่ทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ป่าก็คงอยากพาพวกมันไปในที่ปลอดภัย งานวิจัยเกี่ยวกับการขนส่งแรดนี้จึงเกิดขึ้น วิธีการคือ จับพวกมันไว้ มัดขาทั้งสี่ข้างไม่ให้ขยับได้ แล้วใช้เฮลิคอปเตอร์ดึงพวกมันขึ้นไปบนฟ้าด้วยวิธีการห้อยหัว คิดภาพแล้วอาจจะไม่เข้าใจว่ามันปลอดภัยยังไง แต่นี่แหละ คือจุดเริ่มต้นของการทำงานวิจัยนี้ ซึ่งอนาคตอาจเห็นการเคลื่อนย้ายสัตว์ชนิดอื่นอย่างช้าง หรือยีราฟ ด้วยวิธีที่ง่ายและปลอดภัยมากขึ้นเช่นกัน
ที่มา : Cornell University College of Veterinary Medicine
ทั้งหมดนี้คืองานวิจัยที่ได้รับรางวัลอิกโนเบลประจำปี 2021 ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ในเมื่อพวกคุณทำงานวิจัยหรือสร้างสิ่งใหม่ให้แก่โลกใบนี้ ไม่ว่ามันจะแปลกขนาดไหน หรืออาจดูตลกในสายตาใคร ก็ยังมีคนเห็นคุณค่าของมันเสมอ ใคระล่าจะรู้ว่าปีหน้า เจ้าของรางวัลอิกโนเบลอาจเป็นคุณ
โฆษณา