11 ก.ย. 2021 เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
จุดอ่อนของคุณคืออะไร?
มาตามหาสิ่งที่หายและพัฒนาไปสู่จุดหมายของตัวเองกันเถอะ!
เราคิดว่าเรารู้จักจุดอ่อนตัวเองดีแล้วหรือยัง?
จุดอ่อนในตัวเราเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงจริงๆ หรือ?
เราสามารถพัฒนาจุดอ่อนนี้ให้ดีขึ้นได้หรือไม่?
ในโลกการทำงานในปัจจุบัน ผู้ที่เข้าใจตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าใจอารมณ์ เข้าใจว่าเรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ อะไรทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า อะไรทำให้เรารู้สึกเบื่อ หรืออย่างการเข้าใจจุดอ่อน จุดแข็งของตัวเองและใช้สิ่งที่มีทั้งหมดไปในทางที่เกิดประโยชน์นับเป็นทักษะที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ถามตัวเองว่าพร้อมจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้ที่เข้าใจตัวเองแล้วหรือยัง หลังจากนั้นมาลองหาจุดอ่อนด้วยวิธีการเหล่านี้ดู
ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มค้นหาตัวเองอย่างไร ลองถามคนใกล้ตัวดูสิ
การถามคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อนหรือคนใกล้ชิดจะทำให้เราได้คำตอบ เจ๋งๆ ที่เราอาจไม่เคยรู้ว่าตัวเองเก่งก็เก่งในเรื่องนี้เหมือนกัน หรือบางเรื่องที่เคยทำอยู่บ่อยครั้งนั้นมีข้อบกพร่องต่างๆ ซ่อนอยู่ คนที่เราสนิทและคนที่เราให้ความเชื่อใจจะตอบและให้คำแนะนำเราอย่างตรงไปตรงมา ลองไปถามคนเหล่านี้ดู จดบันทึกเป็นข้อๆ เก็บไว้เป็นข้อมูลจะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
สังเกตว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข และเพราะอะไรเราถึงมีความสุข
อย่างแรกให้เราถามตัวเอง อะไรคือสิ่งที่เมื่อทำแล้วเราสนุกไปกับมัน ทำจนลืมเวลาหลักจากนั้นให้หาเหตุผลว่าเพราะอะไรเราถึงชอบมัน โดยส่วนมากจะมีอยู่สองเหตุผล เหตุผลแรกที่เราทำสิ่งนั้นแล้วมีความสุขเป็นเพราะเราชอบทำ เช่น ชอบวาดรูปเป็นเพราะทำให้เราคลายเครียด ปล่อยให้ตัวเองได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง
1
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรามีความสุขเป็นเพราะเรา “ถนัด” ความเชี่ยวชาญในการทำเรื่องนั้นๆ ทำให้เราสนุกไปกับมัน รู้สึกว่าเรามีความสามารถ มีพลังที่ควบคุมมันได้ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเราต้องถามก่อนว่าสิ่งที่เราชอบทำเป็นเพราะ ‘ความชอบส่วนตัว’ หรือเป็นเพราะ ‘ทำได้ดี’ กันแน่
1
หมั่นวิเคราะห์ตัวเองว่าเราทำสิ่งนั้นได้ดีแค่ไหน
บางคนหลงใหลกับสิ่งนั้นๆ เป็นเพราะความชอบส่วนตัว เราต้องพิจารณาว่าสิ่งที่ทำ เราทำได้ดีหรือไม่ ถ้าไม่ เรามีความตั้งใจและพร้อมที่จะพัฒนาทักษะนี้หรือเปล่า แต่ถ้าสิ่งที่เราชอบทำเป็นเพราะความสามารถ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะไม่เบื่อ เพราะว่าความชอบประเภทนี้ไม่ได้เกิดจาก Passion สำหรับบางคนการทำสิ่งที่ถนัดเป็นความสุขเพียง ‘ชั่วคราว’ เท่านั้น คิดวิเคราะห์และหาคำตอบว่าจริงๆ เราชอบมันและทำมันเพราะอะไร จะทำให้เราสามารถชั่งน้ำหนักได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรปล่อยให้เป็นงานอดิเรก สิ่งใดควรเก็บไว้เพื่อพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต
2
สำหรับคนที่ไม่รู้จักตัวเองจริงๆ แบบทดสอบจะช่วยเราได้
ปัจจุบันมีเว็บไซต์ให้เราเลือกหลากหลาย เช่น 16Personalities, Turity หรือ 123test เป็นต้น โดยเป็นแบบทดสอบจากนักจิตวิทยาที่มีความน่าเชื่อถือและมีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาจุดบกพร่องของตัวเอง นี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น
1
ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน
1
ความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวเราจะปรากฏก็ต่อเมื่อเราหลุดออกจากเซฟโซน การทำอะไรใหม่ๆ จะทำให้เรามีประสบการณ์ใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเราถนัดสิ่งนี้ ไม่ถนัดสิ่งนี้
1
การที่เรารู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อน มีทักษะที่ไม่ถนัดจะทำให้เราเข้าใจภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด การยอมรับความจริงว่าเราไม่เก่งในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป สิ่งนี้จะทำให้เราเข้าใจต้นตอของปัญหาและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ไม่เปลืองแรงไปกับสิ่งที่คิดว่าไม่เหมาะสมกับเรา
เราไม่ได้บอกว่าควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ถนัด แต่ก้าวแรกของการพัฒนาต้องเริ่มจาก “การยอมรับ” ให้ได้เสียก่อน เมื่อยอมรับจุดบกพร่องของตัวเองได้แล้ว เราถึงจะมีใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายในการซ่อมแซม แก้ไขจุดจุดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและปราศจากอคติ
เมื่อเราเข้าใจตัวเองแล้ว มาดูกันว่าเราจะพัฒนาจุดอ่อนได้อย่างไรได้บ้าง
The Law of Exercise or Repetition กฎการทำซ้ำนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่าง
การทำซ้ำคือการทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ในตอนแรกอาจจะยังไม่จำเป็นต้องทุ่มเทไปกับการพัฒนาอย่างเดียว เพราะความยากและอุปสรรคจะทำให้เราท้อ เพียงทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นกิจวัตรจนทำให้สมองเกิดความเคยชิน การทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
1
สร้างเป้าหมายเล็กๆ เพิ่มความท้าทายในการฝึกฝนตนเอง
เมื่อลองฝึกฝนจนเป็นนิสัยแล้ว จึงค่อยๆ เพิ่มเวลาและเพิ่มความระดับความยากที่ไม่ทำให้เราถอดใจไปเสียก่อน อย่างเช่น เราอยากแก้ไขการเขียนบทความที่เนื้อหาขาดแรงจูงใจ ในช่วงแรกอาจจะใช้เวลา 15 นาทีในการเขียน จะเป็นบทความที่เราสนใจสั้นๆ ก็ได้ หลังจากนั้นค่อยหาหัวข้อประเภทอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง และค่อยๆ เริ่มขยับมาเขียนบทความยาวๆ
1
มอบหมายให้ผู้ที่มีความสามารถทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้
แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากล่าวไว้ว่า “คุณไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง แต่คุณต้องเข้าใจหลักการของมัน เข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร” ส่วนเรื่อง ‘เทคนิคและกลยุทธ์’ เป็นเรื่องของคนที่เราจ้างมา เราไม่จำเป็นต้องรู้วิธีการเขียนโปรแกรม เราไม่ต้องรู้วิธีการสร้างเว็บไซต์ แต่เราต้องรู้ว่าสิ่งนี้จะทำเงินให้เราได้อย่างไร
1
เราสามารถหยิบยืมทักษะของคนอื่นมาใช้เกิดประโยชน์ เราเพียงเลือกคนให้เป็น เลือกคนให้เหมาะกับเนื้องานนั้นๆ
1
Steve Jobs เริ่มต้นธุรกิจ Apple โดยที่เขาไม่รู้จักเทคโนโลยี การเขียนโปรแกรม แต่เขาใช้ความสามารถของ Steve Wozniak ที่มีตำแหน่งวิศวกรฮาร์ดแวร์ใน Apple จากตัวอย่างการเปลี่ยนมุมมองการรับมือกับจุดอ่อนของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องการความช่วยเหลือ การสนับสนุนและทักษะจากผู้อื่นถึงจะทำให้งานที่ออกมามีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ
1
เปลี่ยนมุมมองและหาลู่ทางอื่นๆ
ภาพที่หลอกตา ภาพที่เรามองไม่ออกอาจเป็นเพราะเรายืนใกล้เกินไป สายตาเราจับจ้องไปที่จุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป เพราะฉะนั้น ลองถอยออกมาสักก้าว มองภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้น ถามตัวเองว่าเราสามารถทำสิ่งใดได้อีกบ้าง
สมมติว่าเราชอบอ่านหนังสือของนักเขียนคนนี้มาก นักเขียนคนนี้ทำให้เรามีแรงบันดาลใจและทำให้เราอยากเริ่มเขียนหนังสือ แต่หลังจากเขียนออกมา อ่านดูแล้วอย่างไรก็ไม่น่าจะเข้าท่า พยายามลองเขียนฝึกฝนแล้ว สุดท้ายก็ยังขาดจุดบกพร่องหลายจุด สิ่งนี้ทำให้เราท้อ กลับมาวิเคราะห์ตัวเองอีกครั้ง แล้วดูว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการอ่านหนังสือนี้บ้าง อาจจะลองเขียนรีวิวหนังสือลงเพจหรือขายหนังสือที่มีหน้าที่แนะนำหนังสือให้กับผู้อ่านดูก็ได้
ท่องไว้ ทำมันให้ดีที่สุดในแบบของเรา
ถึงเราจะไม่มีความสามารถทำสิ่งสิ่งนั้นได้ดี แต่อย่างน้อยเราก็เคยใช้เวลาทำในสิ่งที่ชอบอย่างเต็มที่แล้ว เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นแชมป์หรือเป็นยอดคน เราไม่สามารถทำทุกอย่างสมบูรณ์แบบ
ต้องยอมรับว่าทักษะบางอย่างสามารถพัฒนาได้อย่างจำกัด การพุ่งชนเข้าใส่เพื่อแก้ไขจุดอ่อน ทั้งๆ ที่เราพยายามจนเหนื่อย พยายามจนท้อก็ไม่อาจทำให้เราเก่งขึ้นได้ ทว่า สิ่งเดียวที่เราทำได้คือย้อนกลับไปบทเรียนแรก คือการยอมรับ เมื่อเรายอมรับว่าเรามีข้อบกพร่องแล้ว ถัดมาคือยอมรับว่ามันไม่สามารถแก้ไขได้
สิ่งที่ยิ่งใหญ่คือเราได้ทำมันด้วยความรู้สึกภูมิใจ โอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง แล้วเผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญ
การเข้าใจตนเองเพื่อให้รู้ว่าเรามีจุดอ่อนอะไรบ้าง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต เข้าใจเหตุและผลของสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ส่วนหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนตัวเองจากจุดอ่อนนี้คือ ‘การยอมรับ’ จุดด้อยของตัวเองและ ‘พยายาม’ พัฒนาแก้ไขอย่างตรงจุดและเต็มที่ สุดท้ายผลมันจะออกมาเป็นอย่างไร เราจะรู้ได้เองว่าสิ่งนั้นคู่ควรกับเราหรือไม่
1
#misssiontothemoon
#misssiontothemoonpodcast
#inspiration
โฆษณา