12 ก.ย. 2021 เวลา 01:09 • ท่องเที่ยว
นั่งรถไฟไปนครปฐม .. เครื่องตั้ง วัดไทร งานแห่งภูมิปัญญา ที่เกิดจากความศรัทธาต่อผู้วายชนม์
วัดไทร อ.นครชัยศรี .. เป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดนครปฐม กรมศิลปากรสืบค้นประวัติสันนิษฐานสร้างมาราว พ.ศ. 2360
"เครื่องตั้ง(ศพ)" … เป็นเครื่องไม้ไผ่ขนาดใหญ่ที่ใช้ไม้ไผ่ขนาดเล็กขัดสลักกันไปมาอย่างชาญฉลาด ลึกซึ้งด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งประกอบกันขึ้นจนมีความสูงใหญ่แข็งแรงสามารถเอาโลงศพขึ้นไปตั้งได้ และคนก็สามารถขึ้นยืนบนโครงไม้โปร่ง ๆ นี้ได้อย่างสบาย
1
รอบ ๆ เครื่องตั้งจะมีหุ่นวางแสดงอยู่มากมาย .. เครื่องตั้งจึงเป็นประธาน และหุ่นต่าง ๆ เป็นบริวารมาประกอบให้ตัวประธานมีคุณค่าทวีขึ้นไปอีก
เครื่องตั้ง หรือเครื่องตั้งศพของวัดไทร .. เป็นโบราณวัตถุที่ใช้ตั้งศพและโกศ มีขนาดใหญ่ฐานกว้างยาวประมาณ 3X6 เมตร จุดสูงสุดอยู่ที่ยอดหลังคาทรงมณฑป 3 ยอด สูงจากพื้นจนถึงเพดาศาลาการเปรียญ ราว 8 เมตร สิ่งที่น่าสนใจคือความคิดและภูมิปัญญาเชิงช่างที่สร้างงานเครื่องตั้งที่เกิดจากศรัทธามอบให้กับผู้วายชนม์เป็นครั้งสุดท้าย
1
เครื่องตั้งวัดไทร สร้างโดยหลวงตาโจ้ย จ้อยสวัสดิ์ .. ขณะสร้างท่านมีอายุ 50 ปี ใช้เวลาสร้าง 8 ปี ด้วยการใช้เครื่องมือที่ง่านแสนง่าย มีเพียงมีด 1 เล่ม และกระดาษทราย โดยใช้ไม้ไผ่สีสุก (ไม้ไผ่บ้าน) และไม้ไผ่ลำมะลอก (ไม้ไผ่ไม่มีหนาม) ขนาดเท่านิ้วชี้
1
ขั้นตอนการทำคือเลือกไม้ไผ่แก่ ๆ นำมาเหลา แล้วนำไปแช่น้ำ 10 - 20 วัน .. ต่อมานำไปรมควันเพื่อกันมอดและปลวก นำมาเหลาควั่นและคอดให้เป็นรูปที่ต้องการ ใช้กระดาษทรายขัดให้ไม้เรียบ ทาน้ำมันยางผสมแก่นขนุนและพริกแห้งต้มเพื่อกันมอดแล้วนำมาประกอบเป็นเครื่องตั้ง
1
การประกอบไม้ใช้วิธีเถรอดเพล ซึ่งเป็นของเล่นเข้าไม้ .. โดยเอาไม้สี่เหลี่ยม 7 - 8 อัน มีร่องตรงกลางมาขัดกันไปมาให้สำเร็จเป็นรูปกากบาทที่มาของชื่อเถรอดเพล เพราะเถรต้องใช้ความพยายามในการประกอบไม้จนเลยเวลาเพล จึงเรียกว่า"เถรอดเพล"
2
ส่วนที่เป็นช่องเล็ก ๆ ภายในเครื่องตั้ง มีหุ่นไม้และขวดปริศนา .. หุ่นไม้มี 2 แบบ คือหุ่นที่เคลื่อนไหวได้ และหุ่นที่เคลื่อนไหวไม่ได้ ทาด้วยน้ำมันยางจนเป็นสีน้ำตาล เช่น คนพายเรือ หัวล้านชนกัน หุ่นกลองยาว ชุดสวดคฤหัสถ์ คนเล่นหมากรุก ชุดตีกระบี่กระบอง ชุดเสือเผ่น
... ส่วนหุ่นเคลื่อนไหวไม่ได้ทาด้วยสีเขียวและสีแดง หุ่นเป็นตัวละครในเรื่องจันทโครพดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ และยังมีหุ่นรูปมัจฉานุในเรื่องรามเกียรติ์อีกด้วย
ขวดปริศนาหรือขวดแสนกล ... มี 7-8 ขวด มีขนาดเท่าขวดน้ำปลา ของที่ใส่ลงไป เช่น เสาธงไม้ ฝูงนกเกาะบนกิ่งไม้ ไพ่ซิกกาแรตใส่กรอบไม้ 8 รูป
วิธีทำคือใส่ชิ้นไม้ที่เป็นส่วนประกอบลงในขวดแล้วใช้เหล็กก้านร่มเขี่ยประกอบส่วนต่างๆทีละชิ้นเข้าด้วยกันทุกชิ้นมีสลักเชื่อมกันได้และสามารถถอดออกและประกอบใหม่ได้
เครื่องตั้ง .. นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเพราะสามารถนำไม้นับพันท่อนมาสอดสลักอย่างพิสดาร โดยไม่ใช้ตะปูหรือเชือก การทำหุ่นชักก็ใช้วิธีร้อยเชือกและคำนวณแรงดึงในการชักหุ่นไว้อย่างละเอียด นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สูงค่า สมควรได้รับการยกย่องตลอดไป
ชอบเก้าอี้ที่สร้างสรรค์จากการนำเอาไม้ไผ่มาเป็นส่วนประกอบมากค่ะ ..
พระพุทธรูปที่ถูกนำมาเก็บรักษาไว้
เราเดินชมรอบๆวัดกันต่อ ...
อุโบสถเก่า สันนิษฐานว่าสร้างสมัยอยุธยา แล้วมาซ่อมแซมสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4
หน้าบันลายมังกร รอบล้อมด้วยถ้วยชามกระเบื้อง ด้านหน้าทางเข้ามีรูปไก่ฟ้าแบบจีน
วิหารด้านข้าง .. ลักษณะรูปแบบคล้ายศิลปะพระราชนิยมในช่วงสมันยรัชกาลที่ 4
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา