17 ก.ย. 2021 เวลา 11:39 • ข่าว
คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก กับการทูตพหุภาคี
ทุกท่านเคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่า อาหารที่เราทานในทุกวัน ที่พักอาศัย รวมไปถึงนโยบายและแนวปฏิบัติที่ไทยยึดถือและกระทำร่วมกันภายในประเทศนั้น มีความเกี่ยวข้องกับองค์การสหประชาชาติ (United Nations) โดยที่ตัวเราเองอาจไม่รู้ตัว เพราะเราอาจจะเห็นการต่างประเทศเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่แท้จริงแล้ว เราอาจคาดไม่ถึงว่าทุกคนได้รับประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างประเทศนี้อย่างมาก และโลกภายนอกในเวลานี้ เกี่ยวข้องกับประเด็นภายในประเทศอย่างแยกกันไม่ออก ผลประโยชน์ของไทยเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ไม่สมบูรณ์ หากปราศจากบุคคลสำคัญที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยในเวทีโลก ทำหน้าที่ “เชื่อมเราสู่โลกและเชื่อมโลกสู่ไทย”
วันนี้ ดิฉันมาพร้อมกับเรื่องราวจาก ท่านทูตวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ที่มาร่วมแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการทูตพหุภาคี ผ่านรายการ “Spokesman Live คุยรอบโลกกับโฆษก กต.” ประจำวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔
พูดถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนคงเริ่มอยากรู้ถึงหน้าที่และบทบาทของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติกันเต็มทีแล้ว บทสนทนาเริ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ ท่านทูตวิทวัสเปิดฉากด้วยภารกิจหลักของนักการทูตในเวทีพหุภาคีในองค์การสหประชาชาติว่า ต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนประเทศไทย เจรจา และเตรียมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสหประชาชาติในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นที่พูดถึงในเวทีโลก เพื่อเป็นการแสดงท่าทีของไทยต่อประเด็นนั้นๆ รวมถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและค่านิยมสากลต่าง ๆ เช่น หลักประชาธิปไตย เป็นต้น ท่านทูตยังได้เน้นย้ำว่า ไทยมีบทบาทที่สำคัญต่อวาระสำคัญอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และภารกิจสุดท้ายคือเป็นส่วนหนึ่งในการวางบรรทัดฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างแนวทางปฏิบัติร่วมกันในประเทศสมาชิกและประชาคมระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ท่านทูตยังได้พูดถึงการทำหน้าที่ “เชื่อมไทยสู่โลก” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยในการเจรจากับคณะกรรมการในสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการนำบรรทัดฐานจากต่างประเทศมาปรับใช้ในนโยบายของไทยให้เกิดประโยชน์อีกด้วย โดยประเด็นที่กำลังขับเคลื่อนหรือผลักดันอยู่ตอนนี้คือ วาระเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนของสหประชาชาติ เช่น การขจัดความยากจนให้หมดไปและการขจัดความ ยากจน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การผลักดันประเด็นเหล่านี้ ให้ได้รับการดำเนินการในประเทศไทย นอกจากทำให้สังคมไทยพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทยแล้ว ก็จะทำให้ประชาคมระหว่างประเทศยอมรับไทย และอยากร่วมมือกับไทยในด้านอื่น ๆ ต่อยอดต่อไป ทั้งการค้า การร่วมทุน การวิจัยและพัฒนา ฯลฯ ท่านทูตวิทวัสสรุปให้เราเห็นภาพกันง่ายๆ ว่า “เป้าหมายหลักของเราคือการทำให้ประเทศไทยกะพริบแสงอยู่ตลอดเวลาในเวทีโลก”
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ อีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญไม่แพ้กันคือภารกิจ “เชื่อมโลกสู่ไทย” ซึ่งคือการวางมาตรฐานระหว่างประเทศ ท่านทูตชี้แจงว่า บทบาทของสหประชาชาติอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ตั้งแต่ที่พักอาศัย มาตรฐานสุขอนามัย และการติดต่อสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงจากจดหมายเป็นอินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสากลที่สหประชาชาติร่วมกันคิดและกำหนดมาเพื่อให้ยอมรับร่วมกันในหลายประเทศ เราจึงเห็นได้ว่าภารกิจของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ จึงส่งผลถึงประชาชนในไทยเพราะประเด็นที่ถกเถียงกันในยูเอ็น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนทั้งโลก จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเราอีกต่อไป
แม้หลายคนจะมององค์การสหประชาชาติเป็นเพียงเกมทางการเมืองเพื่อถ่วงดุลอำนาจ แต่ในแง่ของชีวิตประจำวัน ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าองค์การสหประชาชาติมีบทบาทในการสร้างบรรทัดฐานที่สำคัญให้ทุกคนตลอดระยะเวลา ๗๖ ปีที่ผ่านมาเช่นกัน ทั้งนี้ ท่านทูตวิทวัสย้ำว่าทั้งสองแนวคิดเป็นสิ่งสำคัญในแง่การทูตพหุภาคีที่ไม่ควรละเลย
ในแง่การขับเคลื่อนท่าทีของประเทศไทยในเวทีพหุภาคี ประเทศไทยได้รับการชื่นชมว่าเป็นเสาหลักสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพโลก เนื่องจากเรามีบทบาทสำคัญในการส่งกองกำลังสนับสนุนหลากหลายภารกิจ นอกจากนี้ ในเวทีพหุภาคี ไทยมีความเกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียนอย่างมากในการผลักดันนโยบายร่วมกัน รวมไปถึงการเพิ่มอำนาจต่อรองให้มากขึ้น ดังรวงข้าวที่มัดรวมกันตามตราสัญลักษณ์ของอาเซียน และนอกจากการรวมกันแบบอาเซียนแล้ว ยังมีการรวมตัวกันอีกหลายกลุ่ม เช่น ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement; NAM) หรือกลุ่ม 77 (G-77) เพื่อช่วยเหลือกันและเพิ่มอำนาจการต่อรองในการเจรจา
เมื่อพูดถึงการส่งเสริมเยาวชนรุ่นใหม่ขององค์การสหประชาชาติ ท่านทูตเล่าว่าองค์การสหประชาชาติได้จำลองเวทีเสมือนจริง เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ลองทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศในการเจรจาและถกเถียงร่วมกันในหลากหลายประเด็น ทั้งนี้ ก็เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมวิสัยทัศน์ของเยาวชนรุ่นใหม่ให้ทันต่อเหตุการณ์และประเด็นสำคัญในโลก โดยการได้รับความร่วมมือที่ดีมาตลอดของกิจกรรมนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเยาวชนรุ่นใหม่มีความรู้ความสามารถและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล โดยท่านทูตได้ย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมความพร้อมทางทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย เพราะเยาวชนเหล่านี้ หลายคนอาจได้เข้ามาทำงานกับกระทรวงกับต่างประเทศซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญต่อการทูตพหุภาคีของไทยในอนาคตต่อไป
มาถึงจุดนี้ เชื่อว่าทุกท่านคงเริ่มจะเห็นภาพความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด และตราบใดที่ปัญหาต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นกลไกสำคัญในการหาทางออก ส่วนตัวของดิฉันเองมีความเชื่อมั่นว่า ความสำเร็จของการทูตพหุภาคีของไทย รวมถึงเยาวชนรุ่นใหม่และประชาชนโดยทั่วไปจะมีความตระหนักรู้มากขึ้น และจะสามารถช่วยกันเปล่งแสงไฟให้กับประเทศไทยให้สว่างและยังคงกะพริบแสงตลอดเวลาไม่แพ้ชาติใดในโลก ที่สำคัญ จะช่วยให้คนไทยเตรียมพร้อมที่จะเป็น global citizen หรือประชาชนของโลกในอนาคตด้วย
นางสาวอนงค์พิชา ปั้นทอง
ผู้ฝึกงานด้านการบริหารจัดการโครงการ
สำนักงานสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชีย
โฆษณา